จาก TWO NEWS IP:58.9.52.73
อังคารที่ , 25/9/2555
เวลา : 15:51
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน ถือเป็นแผ่นดินแห่งการสืบสานพระพุทธศาสนาสำคัญมาแต่ ครั้งโบราณ เมื่อแรกเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์สืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่มีการสถาปนามหาธาตุเจดีย์และปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วทั้งแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีองค์พระธาตุพนม ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มีตำนานกล่าวว่าคือพระอุรัง คธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้เมื่อพุทธศักราชที่ ๘ โดยพระมหากัสสปะผู้ทรงคุณด้านถือธุดงค์ ควัตร ผ่านการสักการบูชา บูรณปฏิสังขรณ์ของผู้คนในดินแดนที่ราบสูงสองฝั่งโขงทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชาและไทยมานับ พันปี มีกิจกรรมการส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวางทั่วทั้งภาคในวาระและโอกาสต่างๆ แทบตลอดทั้งปี ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของชาวพุทธไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ควรได้รับการขยายผล พัฒนาและยกระดับในวาระพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ที่ชาวพุทธทั่วทั้งโลก และ ชาวไทยทั้งมวลกำลังเตรียมการเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวาง ด้วยระลึกถึงความสำคัญและประเพณีอันดีงามที่สืบสานกันมา ประกอบกับวาระพุทธชยันตีอันเป็นมงคลยิ่ง วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร, คณะสงฆ์ภาคอีสาน, จังหวัดนครพนม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงได้ประสานบูรณาการเข้าเป็นงาน ปฏิบัติบูชาลาพรรษา ที่พระธาตุพนม พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เสาร์ที่ ๒๐ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ อาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ณ ลานวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
สำหรับกิจกรรมการจัดงานที่น่าสนใจในทางบุญอันเป็นมหากุศลครั้งนี้ ประกอบด้วย ขบวนแห่สุดยิ่งใหญ่ ๕ ขบวนจากภาคอีสาน ได้แก่ ขบวนแห่ต้นดอกไม้ วัดศรีโพธิ์ชัย อ.นาแห้ว จ.เลย ขบวนแห่ปราสาทผึ้งโบราณ จ.สกลนคร ขบวนแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด จ.ยโสธร ขบวนแห่มาลัยไม้ไผ่ งานข้าวประดับดิน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และที่พลาดไม่ได้กับสุดยอดขบวนแห่ต้นกระธูป อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่ถึอเป็นงานบุญเทศกาลออกพรรษา ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงกิจกรรมการแสดงการสาธิตงานฝีมือจากขบวนต่างๆ ธรรมกถาและนำภาวนาโดยพระครูที่มีชื่อเสียง ร่วมทำวัตรเช้าแล้วเจริญสติสมาธิภาวนา ณ ลานองค์พระธาตุพนม ทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ณ ประตูโขงหน้าวัด และกิจกรรม งานบุญอื่นๆอีกมากมาย สิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่นอกจากจะได้มหาบุญกุศล มงคลแก่ชีวิตแล้ว ยังจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปได้อย่างหลากหลาย อาทิ เส้นทางศรัทธามหามงคลไหว้ พระทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเกจิดังมากมาย อีกด้วย รวมไปถึงของดีอีกหลากหลายที่ทุกท่านไม่ควรพลาดในการเดินทางมาเยือนอีสาน แหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม...
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครราชสีมา ๒๑๐๒ - ๒๑๐๔ ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐ โทร. ๐ ๔๔๒๑ ๓๐๓, ๐ ๔๔๒๑ ๓๖๖๖ โทรสาร ๐ ๔๔๒๑ ๓๖๖๗
www.tourismthailand.org www.facebook.com/tat.korat E Mail : tatsima@tat.or.th
งานปฏิบัติบูชา ลาพรรษา ณ พระธาตุพนมปีพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้
ของ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร, คณะสงฆ์ภาคอีสาน, จังหวัดนครพนม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน ถือเป็นแผ่นดินแห่งการสืบสานพระพุทธศาสนาสำคัญมาแต่ครั้งโบราณเมื่อแรกเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์สืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่มีการสถาปนามหาธาตุเจดีย์และปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วทั้งแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีองค์พระธาตุพนม ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มีตำนานกล่าวว่าคือพระอุรังคธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้เมื่อพุทธศักราชที่ ๘ โดยพระมหากัสสปะผู้ทรงคุณด้านถือธุดงควัตร ผ่านการสักการบูชา บูรณปฏิสังขรณ์ของผู้คนในดินแดนที่ราบสูงสองฝั่งโขงทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชาและไทยมานับพันปี โดยเฉพาะมีหลักฐานการเป็นสถานบำเพ็ญเพียรภาวนาและบูรณปฏิสังขรณ์ของนานาบูรพาจารย์ พระสุปฏิปันโนตั้งแต่ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ยาคูขี้หอม) แห่งนครเวียงจันทน์ และ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (พระครูดีโลด) เมืองอุบลราชธานี โดยการดำริของบูรพาจารย์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตลอดจนชนทุกหมู่เหล่าจนถึงเจ้าอนุวงษ์แห่งเวียงจันทน์ และ นานามหากษัตริย์ไทย มีกิจกรรมการส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวางทั่วทั้งภาคในวาระและโอกาสต่างๆ แทบตลอดทั้งปี ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของชาวพุทธไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ควรได้รับการขยายผล พัฒนาและยกระดับในวาระพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ที่ชาวพุทธทั่วทั้งโลก และ ชาวไทยทั้งมวลกำลังเตรียมการเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวาง
ด้วยระลึกถึงความสำคัญและประเพณีอันดีงามที่สืบสานกันมา ประกอบกับวาระพุทธชยันตีอันเป็นมงคลยิ่ง วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร, คณะสงฆ์ภาคอีสาน, จังหวัดนครพนม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงได้ประสานบูรณาการเข้าเป็นงาน ปฏิบัติบูชาลาพรรษา ที่พระธาตุพนม พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ ระหว่างวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เสาร์ที่ ๒๐ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ อาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อบูชาคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงไว้ซึ่งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และ พระมหากรุณาคุณ ตลอดจนพระธรรม และพระสงฆ์ครูบาอาจารย์บรรพชนที่สืบสานพระพุทธศาสนาสืบมา
๒. เพื่อยกระดับพัฒนารูปแบบประเพณีงานบุญเจริญสติภาวนาปฏิบัติธรรมอย่างครบถ้วนทั้งทาน ศีล สมาธิ และ ภาวนา อันเป็นการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ให้เป็นแบบอย่างงานบุญอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากงานเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ที่มีอย่างมากมาย
๓. เพื่อจัดงานบุญภาวนาปฏิบัติธรรม ลาพรรษา บูชาพระธาตุพนม ปีพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี ณ วัดพระธาตุพนมวร-มหาวิหาร ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนกาลออกพรรษา ระหว่างวันที่ ๒๐ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
กำหนดการ
วันเสาร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕
คณะสงฆ์ และ พุทธศาสนิกชนเดินทางถึงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เตรียมเครื่องสักการบูชา แล้วเข้าร่วมเตรียมและจัดการสถานที่ตามที่ตกลงและกำหนดไว้
๑๒.๐๐ น. ชุมนุมผู้สาธิตเตรียมความพร้อม.... ประกอบด้วย
มาลัยข้าวตอกของข้าวเปลือกเหนียวที่ดีที่สุด จากบ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เสมือนดอกมณฑารพแห่งสรวงสวรรค์แห่พุทธบูชาในงานบุญเดือน ๓ มาฆบูชา
ต้นดอกไม้วัดโพธิ์ศรีชัย ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย จากนานาดอกไม้สดจัดเข้าช่อและพานพุ่มบายศรีเล็กใหญ่ขึ้นโครงไม้ไผ่บูชาพระรัตนตรัยในวันตรุษสงกรานต์ เดือน ๕ เพื่อความอยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล เรือกสวนไร่นาอุดมสมบูรณ์ บนเมืองร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ญาติมิตรและชุมชน
มาลัยไม้ไผ่บุญข้าวประดับดิน ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเครื่องห้อยแขวนถวายพระภิกษุสงฆ์วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๙ หรือ ๑๐
ต้นกระธูป ตำบลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่นำธูปมาพันกระดาษสีเป็นลวดลายแล้วประกอบเป็นต้นสูงเสมือนต้นหว้าประจำชมพูทวีปที่ยังความร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ ถวายสักการะและเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังโปรดพุทธมารดาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันออกพรรษา เดือน ๑๑
ปราสาทผึ้งโบราณ จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นพุทธบูชาอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเทศกาลออกพรรษา เดือน ๑๑
๑๖.๐๐ น. จัดวางเครื่องบูชาสักการะพระธาตุพนมและข่วงผญา ณ ลานพระธาตุชั้นนอก
๑๗.๐๐ น. ข่วงผญาบูชาพระอุรังคธาตุ ณ พระธาตุพนม ร่วมกับหนังสือ ทางอีศาน
ถวายเครื่องสักการบูชาชุดน้อยทั้ง ๕
๑๘.๐๐ น. ร่วมทำวัตรเย็นแล้วเจริญสติสมาธิภาวนา ณ ลานองค์พระธาตุพนม
๑๙.๐๐ น. ขบวนถวายเครื่องสักการบูชายามค่ำ
๑. ต้นดอกไม้ วัดศรีโพธิ์ชัย อ.นาแห้ว จ.เลย
๒. ปราสาทผึ้งโบราณ จ.สกลนคร
๑๙.๓๐ น. ธรรมกถาเปิดงานปฏิบัติบูชาลาพรรษา ณ พระธาตุพนม
โดยพระพรหมสิทธิ เจ้าคณะภาค ๑๐ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๒๐.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระราชภาวนาวิกรม (๑)
๒๑.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก (๒)
๒๒.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์สาลี กนฺตสีโล (สปป.ลาว) (๓)
๒๓.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์สุธรรม สุธมฺโม (๔)
๒๔.๐๐ น. พัก
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
๐๑.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์เฮ็นนิ่ง เกวลี (๕)
๐๒.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์จรัญ อนงฺคโณ (๖)
๐๓.๐๐ น. ธรรมกถาและนำภาวนา โดย พระอาจารย์ราวี จารุธมฺโม (๗)
๐๔.๓๐ น. ร่วมทำวัตรเช้าแล้วเจริญสติสมาธิภาวนา ณ ลานองค์พระธาตุพนม
๐๖.๐๐ น. ทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ณ ประตูโขงหน้าวัด
๐๘.๐๐ น. พระภิกษุฉันภัตตาหาร
๐๙.๐๐ น. ขบวนแห่เครื่องบูชาสักการะ ประทักษิณรอบองค์พระธาตุพนม
๑.มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด จ.ยโสธร
๒.มาลัยไม้ไผ่ งานข้าวประดับดิน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
๓.ต้นกระธูป อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
และแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ
๐๙.๓๐ น. ธรรมกถาลาพรรษาพุทธชยันตี ที่พระธาตุพนม
โดยพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
และ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม
ถวายผ้าป่าบำรุงพระธาตุแล้วกราบลาองค์พระธาตุ
............................................
โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ประเพณีบุญแห่กระธูป
ในวันออกพรรษา ชาวพุทธจะถวายการสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดพุทธมารดา ชาวพุทธทั้งหลายต่างเฉลิมฉลอง และในกาลนี้ ชาวพุทธในภาคอีสาน โดยเฉพาะชาวอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดทำต้นหระธูปโดยการนำธูปพันด้วยกระดาษสีให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วประกอบเป็นต้น
ร่วมสมโภชและนำไปจุดยังวัดต่างๆ ในการจัดทำกระธูปครั้งแรกเริ่มจัดทำที่บ้านราษฎร์ดำเนินโดยทำต้นกระธูปและจัดให้มีมหรสพสมโภชก่อนวันออกพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532
และเมื่อปี พ.ศ. 2545 อำเภอหนองบัวแดงได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของประเพณีแห่กระธูปจึงได้จัดให้ชุมชนและวัดต่างๆ ที่เคยมีการทำต้นกระธูป และที่ยังไม่เคยทำต้นกระธูปให้ร่วมกันประดิษฐ์ต้นกระธูป เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี และเป็นหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอหนองบัวแดง
ประเพณีแห่กระธูป ที่ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ในประเพณีบุญออกพรรษา ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอ ให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) ไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะเป็นธูปจุดไฟได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควร เพราะมันไม่ใช่กระธูปหรือธูปที่วางขายตามตลาด แต่มันเกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาเป็นผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษแก้วหลากสีสัน ก่อนที่จะนำไปมัดเข้ากับดาวก้านตาล(สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มาก ๆ เสร็จแล้วจึงจะนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงาม ก่อนที่จะนำออกไปจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา
ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของ กระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นธูปมีความยาวประมาณ 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไปใน 4 ทิศทาง กว้างเป็นปริมณฑลได้ 100 โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้ เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอา ต้นธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่าง ๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปีติและความสุขความเบิกบาน
คุณค่าทางจิตใจประดิษฐ์ขึ้นง่าย ๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว ใบอ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง 2 ชนิด มานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่มัดติดกับดาวซึ่งทำจากใบลานมามัดติดกับคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคัดเบ็ด แล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3-5 เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น 2 ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป
งานบุญจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการทำบุญตักบาตร นำขบวนแห่ต้นกระธูปวนรอบตลาดในเขตเทศบาลตำบลหนองบัวแดง จากนั้นนำต้นกระธูปไปตั้งสมโภชน์ที่วัดบ้านราษฏร์ดำเนิน บริเวณร้านประทีปหน้าพระอุโบสถ ลักษณะของร้านเป็นสี่เสาทำด้วยไม้ไผ่สูงประมาณ 1 เมตร พื้นร้านจะสานเป็นตาสี่เหลี่ยมแซมด้วยกาบกล้วย เสาแต่ละต้นถูกประดับประดาด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกระธูป และไต้น้ำมัน
ในตอนกลางคืนจะมีการแสดงฟ้อนรำ การละเล่นของแต่ละหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับ การจุดกระธูปบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา 3 คืน ได้แก่ ขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านเรียกว่า จุดไต้น้ำมันน้อย ขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่า จุดไต้น้ำมันใหญ่ และคืนข้างแรม 1 ค่ำ เรียกว่า ไต้น้ำมันล้างหางประทีป
งานประเพณีโฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูปประจำปี 2555
ในระหว่างวันที่ 26 - 29 ตุลาคม 2555 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
กิจกรรม:
- ขบวนแห่กระธูปขนาดใหญ่ / การประกวดกระธูปสวยงาม / การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน / การแสดงศิลปะพื้นบ้าน
/ มหรสพสมโภชกลางคืน / การละเล่นพื้นบ้าน / กิจกรรมการแสดงดนตรีพื้นบ้านจากนักเรียน
ข้อมูลเพิ่มเติม:
อำเภอหนองบัวแดง โทร. +66 4487 2123
เทศบาลตำบลหนองบัวแดง โทร. +66 4487 2140
สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ โทร. +66 4482 2502
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา โทร. +66 4421 3030, +66 4421 3666
|