จาก webmaster(นินจาฯ) IP:49.228.98.224
ศุกร์ที่ , 16/9/2559
เวลา : 14:59
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ข่าวประชาสัมพันธ์ที่ ๑๘ / ๒๕๕๙ วันที่ ๑๕ กันยายน 2559
ททท.สำนักงานนครราชสีมา ขอเชิญทุกท่านร่วมงานประเพณีออกพรรษาจังหวัดชัยภูมิ
ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา
จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา จัดงานบุญยิ่งใหญ่ งานประเพณีโฮมบุญออกพรรษา ประเพณีกระธูปออกพรรษา ในระหว่างวันที่ ๘ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ สนามหน้า ที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
งานบุญเทศกาลออกพรรษา ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง และถือว่า งานประเพณีโฮมบุญออกพรรษา ต้นกระธูป ที่สูงและใหญ่ ที่ชาวบ้านอำเภอหนองบัวแดง จัดแต่งตามสไตล์อันหลายหลากของพื้นที่สุดยิ่งใหญ่อลังการ การประกวดต้นกระธูปที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรีพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ โปงลาง การแสดงดนตรีจากนักเรียนโรงเรียนต่างๆของอำเภอหนองบัวแดงและมหรสพมากมาย รวมถึงการแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของเมืองชัยภูมิ เช่น หม่ำของดีเมืองชัยภูมิ ผ้าฝ้ายหมักโคลน อำเภอหนองบัวแดง หรือ ผ้าขิดผ้าทอมือบ้านโนนเสลา อำเภอภูเขียว เป็นต้น อันจะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวยังดินแดนแห่งนี้สามารถเชื่อมโยงไปได้อย่างหลากหลาย อาทิ เส้นทางร้อยรอยบุญ ๙ วัดเมืองชัยภูมิ วัดพระธาตุหนองสามหมื่น อำเภอภูเขียว หรือ วัดศิลาอาศน์(ภูพระ) อำเภอเมือง จากนั้นสามารถท่องเที่ยวตามเส้นทางธรณีวิทยา อาทิ รอยเท้าไดโนเสาร์อำเภอหนองบัวแดง หรือ ๔ อุทยานแห่งชาติเมืองพญาแล(ตาดโตน.ไทรทอง.ป่าหินงามและภูแลนคา) รวมไปถึงของดีอีกหลากหลายที่ทุกท่านไม่ควรพลาด ในการเดินทางมาเยือนจังหวัดชัยภูมิ
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง โทรศัพท์ ๐ ๔๔๘๗ ๒๑๒๓ ,ท้องถิ่นอำเภอ ๐๘ ๖๘๗๙ ๐๒๘๗ หรือที่ ททท. สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐ ๔๔๒๑ ๓๐๓๐, ๐ ๔๔๒๑ ๓๖๖๖
www.tourismthailand.org/chaiyaphum
www.facebook.com/tat.korat
E Mail : tatsima@tat.or.th
ประเพณีบุญแห่กระธูป
ในวันออกพรรษา ชาวพุทธจะถวายการสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดพุทธมารดา ชาวพุทธทั้งหลายต่างเฉลิมฉลอง และในกาลนี้ ชาวพุทธในภาคอีสาน โดยเฉพาะชาวอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดทำต้นหระธูปโดยการนำธูปพันด้วยกระดาษสีให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วประกอบเป็นต้น
ร่วมสมโภชและนำไปจุดยังวัดต่างๆ ในการจัดทำกระธูปครั้งแรกเริ่มจัดทำที่บ้านราษฎร์ดำเนินโดยทำต้นกระธูปและจัดให้มีมหรสพสมโภชก่อนวันออกพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532
และเมื่อปี พ.ศ. 2545 อำเภอหนองบัวแดงได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของประเพณีแห่กระธูปจึงได้จัดให้ชุมชนและวัดต่างๆ ที่เคยมีการทำต้นกระธูป และที่ยังไม่เคยทำต้นกระธูปให้ร่วมกันประดิษฐ์ต้นกระธูป เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี และเป็นหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอหนองบัวแดง
ประเพณีแห่กระธูป ที่ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ในประเพณีบุญออกพรรษา ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอ ให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) ไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะเป็นธูปจุดไฟได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควร เพราะมันไม่ใช่กระธูปหรือธูปที่วางขายตามตลาด แต่มันเกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาเป็นผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษแก้วหลากสีสัน ก่อนที่จะนำไปมัดเข้ากับดาวก้านตาล(สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มาก ๆ เสร็จแล้วจึงจะนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงาม ก่อนที่จะนำออกไปจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา
ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของ กระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นธูปมีความยาวประมาณ 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไปใน 4 ทิศทาง กว้างเป็นปริมณฑลได้ 100 โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้ เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอา ต้นธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่าง ๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปีติและความสุขความเบิกบาน
คุณค่าทางจิตใจประดิษฐ์ขึ้นง่าย ๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว ใบอ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง 2 ชนิด มานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่มัดติดกับดาวซึ่งทำจากใบลานมามัดติดกับคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคัดเบ็ด แล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3-5 เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น 2 ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป
งานบุญจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการทำบุญตักบาตร นำขบวนแห่ต้นกระธูปวนรอบตลาดในเขตเทศบาลตำบลหนองบัวแดง จากนั้นนำต้นกระธูปไปตั้งสมโภชน์ที่วัดบ้านราษฏร์ดำเนิน บริเวณร้านประทีปหน้าพระอุโบสถ ลักษณะของร้านเป็นสี่เสาทำด้วยไม้ไผ่สูงประมาณ 1 เมตร พื้นร้านจะสานเป็นตาสี่เหลี่ยมแซมด้วยกาบกล้วย เสาแต่ละต้นถูกประดับประดาด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกระธูป และไต้น้ำมัน
ในตอนกลางคืนจะมีการแสดงฟ้อนรำ การละเล่นของแต่ละหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับ การจุดกระธูปบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา 3 คืน ได้แก่ ขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านเรียกว่า จุดไต้น้ำมันน้อย ขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่า จุดไต้น้ำมันใหญ่ และคืนข้างแรม 1 ค่ำ เรียกว่า ไต้น้ำมันล้างหางประทีป
ช่วงเวลาการจัดงาน : ระหว่างวันที่ 8 11 ตุลาคม 2559 (ก่อนเทศกาลออกพรรษาของทุกปี) ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : อำเภอหนองบัวแดง โทรศัพท์ 0 4487 2123 เทศบาลตำบลหนองบัวแดง โทรศัพท์ 0 4487 2140
*พิธีเปิดงาน วันที่ 8 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 14.00 น.เป็นต้นไป
***ต้นกระธูปทุกต้น จะได้นำไปถวายวัดในพื้นที่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องในวันออกพรรษา ของทุกปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว ๒ วัน ๑ คืน มหัศจรรย์วันออกพรรษา ใต้ผืนฟ้าความแซ่บ@ชัยภูมิ
วันแรก
ช่วงเช้า - ออกเดินทางสู่ จังหวัดชัยภูมิ
ช่วงสาย - เข้าสักการะเจ้าเมืองคนแรกแห่งเมืองชัยภูมิ ณ ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งอยู่ริมหนองปลาเฒ่าเป็นที่สถิตดวงวิญญาณของพระยาภักดีชุมพล (แล) และเป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวเมืองชัยภูมิ เจ้าพ่อพระยาแล ตามประวัติเล่าว่า ในปี ๒๓๖๐ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ นายแล ซึ่งเป็นข้าราชสำนัก เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้อพยพครอบครัวและบริวารข้ามลำน้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านน้ำขุ่น บริเวณอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่โนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจาก ตัวเมืองชัยภูมิ ๖ กิโลเมตร ได้ส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น ขุนภักดีชุมพล ต่อมาจึงย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวง ในเขตอำเภอเมืองปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ไม่ขึ้นแก่ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
ครั้น พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ก่อการกบฏ ยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา ขุนภักดีชุมพลพร้อมเจ้าเมืองใกล้เคียงยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงย้อนกลับมาจับขุนภักดีชุมพลประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามริมหนองปลาเฒ่า ด้วยความดีที่ขุนภักดีชุมพลมีต่อแผ่นดินไทยจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีชุมพล (แล)
สายนิดๆ - เข้าชมศาสนสถานโบราณ ปรางค์กู่ สร้างขึ้นโดย "พระไภษชัยคุรุไวฑูรย์ประภา" ในสมัยเจนละ ขณะที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ครองราชย์ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ถนนบรรณาการ ตำบลในเมือง ปรางค์กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอมที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ๑ องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า ๑ หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ ๑ สระ ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๕ เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุข ยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก ๓ ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ สลักเป็นรูปไตรรัตนมหายาน ภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง ๑.๗๕ เมตร ประดิษฐานอยู่โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้ความเคารพสักการะ
เที่ยง - รับประทานอาหารกลางวันในเมืองชัยภูมิ
บ่าย - ออกเดินทางไป อำเภอหนองบัวแดง
2./...
- 2 -
บ่ายๆ - สัมผัสกับขั้นตอนกว่าจะมาเป็น ผ้าฝ้ายหมักโคลน ของดีเมืองชัยภูมิ ณ ชุมชนวิสาหกิจอำเภอหนองบัวแดง รอยเรื่องราวผ่านสายใยของผืนผ้าธรรมชาติที่ถูกสานและถักทอจนเกิดความสวยงามของผืนผ้าที่สวยงาม
บ่ายแก่ๆ - ร่วมกิจกรรมการทำ กระธูป หนึ่งเดียวของชัยภูมิและของโลก...ณ วัดเขต ตำบลหนองบัวแดง
ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จัดขึ้นในพื้นที่ ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ในงานประเพณีบุญออกพรรษา ของทุกปี พิธีกรรมสุดยิ่งใหญ่ของชาวหนองบัวแดง ที่นิยมทำก่อนออกพรรษา ๓ วัน เพื่อเป็นพุทธบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อโปรดพุทธมารดามายังโลกมนุษย์ โดยการจุด กระธูป สัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งชมพูทวีป แทนต้นหว้า ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกา พระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นกระธูปมีความยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ มีกิ่งใหญ่ ๔ กิ่ง แผ่ออกไป ใน ๔ ทิศทาง กว้างเป็นมณฑลได้ ๑๐๐ โยชน์ เปรียบเอา ต้นกระธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่างๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่น ย่อมเกิดปิติและความสุขความเบิกบาน คุณค่าทางจิตใจประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ใบอุ้ม ใบเนียม นำไปผสมกับขุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม แล้วนำที่มัดติดกันกับดาวซึ่งทำจากใบคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคันเบ็ดแล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ ๓-๕ เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกาลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น ๒ ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อจุดให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป ประดับตกแต่งงดงาม ก่อนที่จะนำไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในวันออกพรรษา หลังจากนั้นนำไปจุดบูชาพระพุทธรูปตามสถานที่ต่างๆในบริเวณวัด
เกือบเย็น - รับประทานอาหารเย็น ในแบบฉบับชาวบ้านตำบลหนองบัวแดง(ในแบบโตก)
เย็น - ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรมจากพระอาจารย์โดยเจ้าอาวาสวัดแขก
- ร่วมกิจกรรมเวียนเทียนและจุดต้นกระธูปออกพรรษา
ค่ำๆ - เดินทางเข้าที่พัก อำเภอเมืองชัยภูมิ
วันที่สอง
ช่วงเช้า รับประทานอาหารเช้า ณ ที่พัก
๐๘.๐๐ น. - ออกเดินทางไป วัดศิลาอาสน์(ภูพระ) อ.เมือง
๐๙.๐๐ น. - เข้าชมวัดศิลาอาสน์(ภูพระ) ภูพระ เป็นชื่อภูเขาเตี้ยๆลูกหนึ่ง ภายในบริเวณวัดมีเพิงผาหินซึ่งมีภาพจำหลักกลุ่มพระพุทธรูป และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาช้านาน ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบไว้ ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต สูง ๗ ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ (ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๕๑ (เหมือนเดินทางกลับเข้าตัวเมือง)ถึงสี่แยกราชภัฎชัยภูมิ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร)
3./...
- 3 -
๑๐.๓๐ น. - เข้าชม อุทยานแห่งชาติตาดโตน อ.เมือง รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยอดเยี่ยม กินรีทอง ๓ ครั้งซ้อน และความสวยงามของ น้ำตกตาดโตนที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี (จากตัวเมืองใช้ ทล. ๒๐๕๑ ชัยภูมิ-น้ำตกตาดโตน ระยะทางจาก ตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตลอดสาย) โทร. ๐ ๔๔๘๕ ๓๒๙๓
๑๒.๓๐ น. - รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารสวัสดิการของอุทยานแห่งชาติตาดโตน (อาหารอีสานสุดแซบ) หรือเลือก รับประทานอาหารกลางวันบริเวณเขื่อนลำปะทาว หลากร้านค้าและหลายเมนูสุดอร่อยโดยเฉพาะปลาแม่น้ำ ร้านน้องปุ๋ยปลาเผา(เขื่อนลำปะทาว) โทร. ๐๘ ๑๙๕๕ ๕๘๐๘, ๐๘ ๗๘๗๓ ๗๗๑๔(อาหารอีสาน ไทย)
๑๔.๐๐ น. - ชม มอหินขาว ๑๗๕ ล้านปี หนึ่งเดียวในโลก บ้านวังคำแคน อ.เมือง แท่งหินสีขาว ตั้งตระหง่าน ๕ แท่ง บนยอดผืนป่าภูแลนคาแท่งหินมหัศจรรย์ตั้งตระหง่านบนยอดเขาภูแลนคา(จากตัวเมืองไปทางเดียวกันกับอุทยานฯตาดโตนแยกซ้ายไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร)
- ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีเมืองชัยภูมิ กับ หม่ำ สุดยอดหนึ่งในโลก บริเวณห้าแยกโนนไฮ อ.เมืองชัยภูมิ
- ออกเดินทางกลับ ภูมิลำเนา
********************************************************
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ข้อมูลเพิ่มเติม:
อำเภอหนองบัวแดง โทร. +66 4487 2123
เทศบาลตำบลหนองบัวแดง โทร. +66 4487 2140
สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ โทร. +66 4482 2502
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา โทร. +66 4421 3030, +66 4421 3666
www.tourismthailand.org/chaiyaphum
www.facebook.com/tat.korat
E Mail : tatsima@tat.or.th
|