จาก ฝ่ายข่าว@WeekendHobby.Com IP:115.87.168.73
พฤหัสบดีที่ , 5/2/2558
เวลา : 09:48
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
อพท. เผยยุทธศาสตร์ปีงบประมาณ 2558 เตรียมใช้ 338 ล้านบาท ปั้น 66 โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ในด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน ประเดิม 2 กิจกรรมนำร่อง สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ โลว์คาร์บอน ทั้งแอ่วม่วนใจ๋ ไม่เอาถ่าน และ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ระบุปี 57 ชุมชนรายได้โตพรวด 92.26%
ประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่ AEC ในปลายปี 2558 การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะเข้าสู่การเปิดเสรีตามข้อตกลงนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายในวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กร คือ ต้องทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการพัฒนา ทั้งด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว องค์ความรู้ การพัฒนาคนและกิจกรรมทางการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายต้องเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยชุมชนเป็นผู้รับผลประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาและเติบโตของการท่องเที่ยว
ในปีงบประมาณ 2558 อพท. ได้รับจัดสรรงบประมาณ 505 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้เพื่อดำเนินโครงการ 338 ล้านบาท จาก 66 โครงการทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ใน 6 พื้นที่พิเศษ อีก 167 ล้านบาท เป็นงบดำเนินงานและค่าใช้จ่ายบุคลากร
****สานต่อการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย***
การพัฒนาเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามรูปแบบของ อพท. คือมุ่งให้เกิดความสมดุลใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ด้วยรูปแบบการทำงานผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม หรือโค-ครีเอชั่น (Co-Creation) ในรูปแบบการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม (Low Carbon Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)
ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวว่า การดำเนินงานของ อพท. ในช่วง 11 ปี ที่ผ่านมา มุ่งเน้น การพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่พิเศษ ทั้งด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ และศักยภาพบุคลากร ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานระบบการจัดการหลังบ้าน เพื่อให้ชุมชน พื้นที่ และผู้ประกอบการ มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว
***สร้างกิจกรรมนำร่องให้นักท่องเที่ยวรับรู้****
ในปี 2558 ซึ่ง อพท. เข้าสู่ปีที่ 12 ของการก่อตั้ง จะเพิ่มความเข้มข้นด้วยการขยายผลสำเร็จจากการวางรากฐานชุมชนในช่วง 11 ปี ที่ผ่านมา ออกมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้และสัมผัสกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบของ อพท. ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่นักท่องเที่ยวสัมผัสได้จริง
จากที่ อพท. พัฒนาระบบหลังบ้านให้พื้นที่และชุมชนมีความรู้และความพร้อมด้านการจัดการรองรับนักท่องเที่ยวมาระดับหนึ่งแล้ว ในปี 2558 อพท. ได้ขยายผลจัดทำโครงการนำร่อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในรูปแบบของ อพท. เป้าหมายให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจ และเป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว หรือเรียกว่าการปฏิบัติการทั้งระบบหลังบ้านและกิจกรรมหน้าบ้านควบคู่กันไป โดยมุ่งหวังให้ 6 พื้นที่พิเศษของ อพท. เป็นต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้แก่พื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ นำไปปรับใช้
ทั้งนี้กำหนดจัดกิจกรรมนำร่อง 2 กิจกรรมให้กับโครงการ Low Carbon Tourism คือกิจกรรมแอ่วม่วนใจ๋ ไม่เอาถ่าน ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เป็นกิจกรรมนำร่องให้กับโครงการ Low Carbon การท่องเที่ยวแบบปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ กิจกรรมนี้มีแผนจะขยายไปยังพื้นที่พิเศษอื่นๆ ของ อพท. ด้วย ส่วนชื่อและรูปแบบกิจกรรมสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
***ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวกว่า 92%***
อีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการโลว์คาร์บอน คือ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) นำเสนอเมนูโลว์คาร์บอนที่เป็นเมนูท้องถิ่นและใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารที่หาได้ในท้องถิ่นซึ่งไม่ต้องขนส่งจากพื้นที่อื่นไกล ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนการขนส่งวัตถุดิบ
ในด้านผลสำเร็จของการดำเนินงานปี 2557 ในส่วนของการจัดเก็บดัชนีชีวัดระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนในพื้นที่พิเศษ 33 ชุมชน 748 ตัวอย่าง จาก 6 พื้นที่พิเศษ พบค่าดัชนีอยู่ที่ร้อยละ 75.47 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ ที่ร้อยละ 60
กิจกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ปี 2557 ดำเนินการใน 12 ชุมชนต้นแบบจาก 6 พื้นที่พิเศษ ลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการท่องเที่ยวได้ 436,722 กิโลคาร์บอน หรือลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.65 ส่วนกิจกรรมการเพิ่มรายได้ชุมชนให้แก่ 6 พื้นที่พิเศษ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 92.26 เป็นรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยชุมชน การขายอาหารและของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนของตัวเองได้นั้น ย่อมส่งผลให้ชุมชนมีขีดความสามารถในการรองรับและจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนโดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
ข้อมูลเพิ่มเติมองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
(องค์การมหาชน) www.dasta.or.th
โทรศัพท์ 02-357-3580-7 คุณมัธนา เมนแก สำนักสื่อสารองค์กร
สอบถามข้อเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท โอเอซิส มีเดีย จำกัด โทร.02-937-4658-9
คุณศรัญญรัตน์ สุวรรณคาม 081-423-4121 / คุณวิชัย วงศ์พาสุข 086-326-0803, 086-525-3655
/ คุณยุวดี นุชดำรงค์ 083-090-3847
e-mail : saranyarat@oasismedia.co.th, wichaiw@oasismedia.co.trh, yuwadee@oasismedia.co.th
|