จาก บรรจง TCT 212 IP:202.57.145.98
ศุกร์ที่ , 1/8/2551
เวลา : 06:46
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2344 31 ก.ค. - 02 ส.ค. 2551
แอลพีจีพุ่งพรวด 11 บาท + กระทรวงพลังงานวัดใจคณะกรรมการบริการพลังงานอัดยาแรงสกัดผู้ใช้รถแห่ติดก๊าซ/ปตท.หนุนสุดตัว
ก.พลังงาน เตรียมใช้ยาแรง ปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคขนส่ง พรวด 11 บาทต่อกิโลกรัม ต้นส.ค.นี้ หวั่นนำเข้าแอลพีจีปีหน้าเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน และอาจขาดแคลนหนัก หากผู้ใช้รถแห่ติดก๊าซแทนน้ำมัน รับแก้ไม่ตกก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนรั่วไหล ส่วนรถแท็กซี่รัฐหาทางช่วย โดยหาปั๊มแอลพีจีให้ใช้ในราคาเดิมหรือแจกคูปองราคาถูก ปตท.ห่วงปีหน้า สภาพคล่องเหือด อุตฯเซรามิก-รถบรรทุกเล็กอ่วมแน่
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการปรับราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีเป็น 2 ราคาว่า จากการหารือของคณะกรรมการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีพล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วยนั้น ได้มีการเร่งรัดให้มีการปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับการประชุมคณะกรรมการบริการพลังงาน(กบง.)ในสัปดาห์หน้า หลังจากที่การพิจารณาล่าช้ามา 1 สัปดาห์
++นำเข้าปีหน้าเพิ่ม2ล้านตัน
ทั้งนี้จากการที่ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคดังกล่าวมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในภาคขนส่งมีการเติบโตกว่า 22 % ส่งผลให้ไทยต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีในปริมาณที่มากขึ้น จากที่นำเข้ามาแล้วกว่า 1 แสนตัน ทำให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.)ต้องแบกรับภาระส่วนนี้แล้วว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นว่า หากจะปรับราคาขึ้นไป ควรจะสะท้อนต้นทุนราคาตลาดโลกให้มากที่สุด จากที่เวลานี้ต้องชดเชยราคาหน้าคลังอยู่ที่กิโลกรัมละ 23 บาท ในขณะที่ราคาในประเทศจำหน่ายอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้การปรับราคาก็ควรดำเนินการเพียงครั้งเดียว เพื่อให้ผู้จะตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นแอลพีจีเปลี่ยนใจไปติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีที่มีราคาถูกแทน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีลดลงและเพื่อลดปริมาณการนำเข้า แต่หากมีการปรับราคาในระดับต่ำหรือทยอยปรับขึ้น จะส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ไม่เห็นความแตกต่างของราคามากนัก ก็จะหันมาติดตั้งแอลพีจีเพื่อหนีภาวะราคาน้ำมันแพงต่อ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอีกในระดับ 1-2 ล้านตันในปี 2552
++ถึงขั้นขาดแคลน
ที่สำคัญจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตามมา เนื่องจากระบบการรองรับนำเข้าก๊าซแอลพีจี มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นคลังก๊าซ และท่าเรือที่เขาบ่อยา ไม่มีศักยภาพพอที่จะรับก๊าซแอลพีจีนำเข้าในปริมาณที่มากขึ้นได้ ในขณะที่ปัจจุบันต้องลอยเรือขนถ่ายก๊าซแอลพีจีทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในเวลานี้
ดังนั้น หากรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจปรับขึ้นราคาที่สะท้อนราคาตลาดโลกได้ ก็จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน และในปีหน้าก็จะเข้าสู่เกิดภาวะขาดแคลนด้วยข้อจำกัดของท่าเรือและคลังก๊าซ
"แม้ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับขึ้นไปสูงก็ตาม แต่ผู้ใช้รถยนต์ที่ติดแอลพีจีอยู่แล้ว คงไม่หันกลับไปเปลี่ยนเป็นน้ำมันหรือเอ็นจีวี เพราะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และการปรับราคาขึ้นไปก็ยังถูกกว่าน้ำมัน ดังนั้น ยอดการใช้ก๊าซแอลพีจี จะไม่ต่ำกว่าปริมาณที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากไม่ใช้ยาแรง และหยุดการใช้แอลพีจีได้ จะทำให้ยอดการใช้โต และยากจะควบคุมภายหลังได้"
++ปรับพรวด11บ./กก.
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมยังไม่สามารถสรุปราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับราคาได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะนำไปพิจารณาเอง ที่มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นไปในราคาเท่ากับตลาดโลกที่เป็นอยู่เวลานี้ที่ลิตรละ 11-12 บาท และยังมีข้อเสนอให้ปรับตามปริมาณการนำเข้าก๊าซแอลพีจีเข้ามา ที่เวลานี้อยู่กว่า 1 แสนตัน ก็ให้ปรับขึ้นไปทีเดียว กว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม และหากยอดการนำเข้าต่อเดือนลดลงก็ให้ปรับราคาตามปริมาณที่นำเข้ามา เช่น หากในเดือนนั้นๆ นำเข้ามา 60,000 ตัน ก็ให้ปรับราคาอยู่ที่ 6 บาทต่อกิโลกรัมเป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนเห็นว่า หากใช้ก๊าซแอลพีจีในปริมาณมาก ก็จะส่งผลให้ต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นไปในแต่ละเดือน เป็นต้น
++ครัวเรือนรัฐอุ้มต่อ
แหล่งข่าว กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนวิธีการอุดการรั่วไหลของก๊าซภาคครัวเรือนไปยังภาคขนส่งนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปว่า จะประกาศราคาก๊าซหุงต้มหน้าคลังเป็นราคาเดียวทั้งหมด โดยในส่วนของภาคครัวเรือนจะยังใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่ตรึงอยู่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม โดยผ่านกลไกให้โรงบรรจุก๊าซเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ รับภาระจากผลต่างราคาหน้าคลังที่ประกาศขึ้นไปก่อน และนำส่วนต่างมาขอคืนภายหลังในแต่ละเดือน
โดยจะมีการติดตั้งมิเตอร์ที่โรงบรรจุทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบว่ามีปริมาณก๊าซหุงต้มที่บรรจุลงถังครัวเรือนในปริมาณที่เท่าใด เพื่อมาขอคืนเงินภายหลัง ในขณะที่สถานีบริการก๊าซแอลพีจี จะใช้ราคาที่ประกาศจากหน้าคลัง ซึ่งจะมีการตรวจสอบปริมาณจำหน่ายจากบัญชีในแต่ละเดือน ว่ามียอดจำหน่ายโตผิดปกติหรือไม่ ขณะที่การขนส่งก๊าซจากคลังมา จะต้องแจ้งปริมาณการขนส่งต้นทางและปลายทางที่ตรงกัน และจะต้องระบุต้นทางที่จะขนส่งไปอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีนี้ ในช่วงแรกอาจจะมีการรั่วไหลได้บ้าง แต่คิดว่าอยู่ในปริมาณที่รับได้ เพราะยังไม่มีวิธีการควบคุมที่ดีกว่านี้ เนื่องจากยังไม่สามารถหาสารที่จะไปเติมในก๊าซแอล
พีจีและทำให้เกิดเครื่องยนต์น็อกได้
++แจกคูปองLPGรถแท็กซี่
ส่วนการแก้ปัญหารถแท็กซี่จำนวน 50,000 คันที่ยังใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่นั้น ทางคณะกรรมการอยู่ระหว่างหาวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มรถแท็กซี่เดือดร้อนจากผลการปรับราคาแอลพีจีขึ้นไป โดยจะยังให้เป็นราคาที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัมอยู่ ซึ่งกำลังดูว่าจะหาปั๊มจำนวนกี่แห่งมาเข้าร่วมโครงการ หรือการแจกคูปองให้ใช้ก๊าซราคาถูก เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อรอการปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีเมื่อเกิดความสะดวกแล้ว
++ บอร์ดปตท.ห่วงสภาพคล่องปีหน้า
นายสุรงค์ บูลกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีว่า ขณะนี้มีสูงมากขึ้น ส่งผลให้ปีนี้จะต้องนำเข้ามาประมาณ 450,000 ตัน และปีหน้าคาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้ามาเพิ่มเป็น 1.161 ล้านตัน หากราคาแอลพีจียังเป็นอยู่อย่างนี้
ดังนั้นภาครัฐควรมีการปรับราคาแอลพีจีในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมขึ้นไปให้ราคาใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก ซึ่งอยู่ที่ 927 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ไม่ใช่ควบคุมราคาอยู่ที่ 332 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพราะหากปรับราคาขึ้นไปแล้วจะทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองสามารถไปใช้น้ำมันเตา แทนแอลพีจีได้ ก็จะช่วยให้ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีในปีหน้าลดลง จากที่ประมาณการไว้(1.161ล้านตัน) แต่หากภาครัฐปรับราคาในระดับต่ำก็จะไม่ช่วยหยุดการใช้แอลพีจีได้ และจะต้องมีการนำเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก และจะทำให้ปตท.ต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้นอีก โดยในปีนี้คาดว่าจะแบกภาระการนำเข้าแอลพีจีทั้งปีที่ ประมาณ 6,000 ล้านบาท
"เรื่องนี้บอร์ดปตท.เป็นห่วงว่าหากปีหน้าจะต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีกก็จะส่งผลถึงสภาพคล่องของปตท.ได้"
++ผู้เชี่ยวชาญพลังงานขานรับ
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่าเห็นด้วยถือว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะระยะยาวจะช่วยประเทศลดการนำเข้าก๊าซหุงต้ม และเป็นมาตรการที่ภาคครัวเรือนไม่กระทบเพราะมาตรการนี้ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ประกอบกับจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มเป็นเพดานราคาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้คนที่อยู่ในภาคขนส่งจะตัดสินใจได้เร็วขึ้นว่าจะใช้น้ำมันหรือใช้เอ็นจีวี ในขณะที่การใช้ก๊าซหุงต้มในภาคขนส่งจะลดลง เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ก็จะตัดสินใจไปใช้เชื้อเพลิงอื่นๆแทนได้
แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งมีพล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธานว่าจะตัดสินอย่างไร
สำหรับข้อเสียในการปรับราคาก๊าซหุงต้มในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านและไม่พอใจเกิดขึ้น เนื่องจากปรับรวดเดียว 11บาท/กิโลกรัม บางคนที่เพิ่งติดตั้งถังก๊าซหุงต้มไปแล้วก็จะเกิดความรู้สึกไม่ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วยเพราะ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายเพิ่งเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาไปเป็นก๊าซหุงต้ม
++อุตฯเซรามิกอ่วมต้นทุนLPGพุ่ง
นายโชคชัย เลิศเธียรดำรง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า หากผลการประชุมกบง.เคาะโต๊ะให้ราคาก๊าซหุงต้มสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นมาอีก 11บาท/กิโลกรัมจริงอุตสาหกรรมเซรามิกก็จะเหลือแต่ซาก เตรียมเก็บซากเซรามิกได้เลยที่จังหวัดลำปาง เพราะมีโรงงานด้านนี้จำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะผู้ประกอบการเซรามิกใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตมานานแล้ว
"ปัจจุบันต้นทุนด้านพลังงานของเซรามิกคิดเป็น 30%ของต้นทุนรวม ในสัดส่วนนี้ 25% เป็นต้นทุนที่มาจากการใช้ก๊าซหุงต้ม และ5% มาจากการใช้ไฟฟ้า"
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นอีก 11บาท ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เข้าใจว่าภาครัฐบาลคงพิจารณาแล้วว่าจะไปกระทบกับภาคอุตสาหกรรมไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา จะมีโรงงานเป็นส่วนน้อยที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง และการปรับราคาขึ้นอีก 11บาท/กิโลกรัมก็ยังถูกกว่าราคาน้ำมัน
++ห่วงรถบรรทุกขนาดเล็ก
นายวิโรจน์ รมเยศ ประธานชมรมรถบรรทุกภาคตะวันออก เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ถึงแม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีมติปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งรวดเดียว 11 บาทต่อกิโลกรัมก็คงไม่มีผลต่อผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำมันโซลาร์และก๊าซเอ็นจีวีเป็นหลัก เนื่องจากเห็นว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีนอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจึงควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นมากกว่าใช้ในภาคขนส่ง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในครั้งนี้คงมีผลกระทบต่อรถบรรทุกขนาดเล็กบ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก ซึ่งถือว่ายังถูกกว่าพลังงานชนิดอื่นมาก
|