คำตอบที่ 3
ตำนานเสาร้องไห้ เป็นตำนานของเจ้าแม่ตะเคียนทองที่ตั้งอยู่ในศาลนางตะเคียนทอง ณ วัดสูง ตำบลเสาไห้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสาไห้ประมาณ 500 เมตร เป็นเสาไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ โดยถือกันว่าเป็นเจ้าแม่ เพราะสิ่งของที่นำไปบูชาล้วนเป็นของสตรีทั้งสิ้น มีตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี ได้มีการเกณฑ์เสาจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกเสาที่มีลักษณะงดงาม เพื่อจัดเป็นเสาเอก ทางเมืองสระบุรีได้จัดส่งเสาต้นหนึ่งที่มีลักษณะงดงามมากล่องลงมาตามลำน้ำ ป่าสัก แต่มาถึงกรุงเทพฯ ช้าไปเล็กน้อย และได้มีการคัดเลือกเสาเอกไปก่อนแล้ว จึงได้เป็นเสารอง ซึ่งถ้าเสาต้นนี้มาทันเวลาก็ต้องได้เป็นเสาเอกอย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะใหญ่ และสวยงามมาก ด้วยความยาว 13 เมตร กล้าว 0.75 เมตร เสาต้นนี้จึงเกิดความเสียใจลอยทวนน้ำกลับขึ้นมาจมลง ณ ตำบลแห่งนี้อยู่ประมาณ 100 กว่าปี เมื่อปี พ.ศ. 2501 ได้มีชาวบ้านนำขึ้นจากน้ำไปไว้ที่ศาลหน้าพระอุโบสถวัดสูงจนถึงปัจจุบันนี้ พอตกเวลากลางคืนชาวบ้านมักได้ยินเสียงร้องไห้ จึงได้ให้ชื่อตำบลนี้ว่า ตำบลเสาร้องไห้ และได้กลายเป็น "อำเภอเสาไห้" ในปัจจุบัน
เมื่อประมาณปี 2501 นางเฉลียว จันทร์ประสิทธิ์ ได้ฝันว่ามีหญิงคนหนึ่ง บอกว่าเป็นนางไม้ประจำเสาที่จมน้ำอยู่ ให้บอกสามีเอาเสาขึ้นมาจากน้ำด้วย นายเผ่าผู้เป็นสามีก็ไม่เชื่อ มีคนเล่าต่อกันมาว่า นางไม้ของเสาต้นนี้ได้ไปเข้าทรงกับผู้อื่นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดชาวบ้านหลายคนก็ได้ไปร้องขอให้นายเผ่าเอาเสาต้นนี้ขึ้นมาให้ได้ ตามคำล่ำลือ จนนำมาสู่การนำเอาเสาขึ้นมาจากน้ำ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 และในวันนี้เอง ได้รับคำบอกเล่าจากนายจำลอง ขาววรรณะว่า วันนั้นแดดร้อนจัดมากขณะที่กำลังนำเสาขึ้นจากน้ำ ท้องฟ้าก็มืดครื้มไปหมดทันที มีเสียงฝ้าผ่าดังมากเป็นประกายสีเขียวไปทั่ว เสียงฟ้าร้องคำรามทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำให้ผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากต่างตื่นตาตื่นใจ
วันที่ 23 เมษายน 2501 เป็นวันที่เชิญเสาไปประดิษฐานที่วัดสูง เวลา 9.00 น. เริ่มพิธีเคลื่อนเสาไปสู่วัดสูง โดยตั้งศาลสูงเพียงตา มีหัวหมูซ้ายขวา บายศรี 3 ชั้น ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกที่เสาแล้วใช้เชือกผูกแพที่รับเสาไห้ประชาชนดึง เมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่บนฝั่งหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ก็ดึงเชือกแพลูกบวบให้เคลื่อน ไปทางทิศตะวันออก มีเรือแตรวงนำขบวน มีเรือต่างๆร่วมขบวนอีกเป็นจำนวนมาก
ในวันนั้นที่นำเสาขึ้นจากน้ำมีประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมากประมาณสามหมื่นคน นับเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอำเภอเสาไห้ที่ต้องจารึกไว้ ต่อมาจึงได้สร้างศาลถาวรขึ้นที่หน้าพระอุโบสถในวัดสูง เป็นศาลกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร มีมุขออกด้านตะวันออก พื้นคอนกรีต มีฐานก่ออิฐสูงรองรับเสาตะเคียน ต่อมาเมื่อวัดสูงได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม และอัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนมาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2530 มาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก /www.siamfreestyle.com ครับ