คำตอบที่ 116
ลำดับที่ 21 เมื่อ 18/09/2557
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล อ,สัตหีบ จ.ชลบุรี
ต้นแบบความสำเร็จของการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
กองทัพเรือดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลมาตั้งแต่ปี 2493 ด้วยการจัดตั้งศูนย์เก็บและเพาะฟักไข่เต่าทะเลขึ้นที่หาดหน้าบ้าน เกาะคราม เพื่อเก็บไข่เต่าทะเลจำหน่ายตามที่ได้รับสัมปทาน แต่จะเก็บไข่เต่าส่วนหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มาเพาะฟักและปล่อยลูกเต่าทะเลลงสู่ธรรมชาติ
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงจัดตั้ง "โครงการสมเด็จอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล" ที่เกาะมันใน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปี 2522 ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือได้ร่วมปฏิบัติงานถวาย ด้วยการให้เจ้าหน้าที่โครงการสมเด็จอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล 2 นาย มาเพาะฟักและเพาะเลี้ยงพันธุ์เต่าทะเลร่มกับกองทัพเรือ และส่งลูกเต่าทะเลปีละ 4,000 ตัว (ลูกเต่าตะนุ 3,000 ตัว และลูกเต่ากระ 1,000 ตัว) ไปให้สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของกรมประมง
กองทัพเรือได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ด้วยการงดจำหน่ายไข่เต่าทะเล นำมาเพาะฟักทั้งหมดและอนุบาลจนกระทั่งลูกเต่าทะเลมีอายุ 3-6 เดือน จึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติรวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสำนึกตามที่โอกาสจะอำนวย
กองทัพเรือได้สร้างศูนย์เพาะเลี้ยงเต่าทะเลขึ้น บริเวณชายหาดหน่วยบัญชาการ ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พร้อมกับมีอาคารและวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชม มีวิดีทัศน์ นิทรรศการ และนำชมความน่ารักของเต่าทะเลที่บ่ออนุบาล ทำให้ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน นอกเหนือจากเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านชีววิทยาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล และความสำเร็จในการเพาะฟักและอนุบาลเต่ากลับคืนสู่ท้องทะเลได้ ปีละกว่า 10,000 ตัว ซึ่งลูกเต่าที่ปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเลจะกลับขึ้นมาวางไข่ในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง