คำตอบที่ 45
มาชมในงานพืชสวนโลกค่ะว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง(ขอบคุณข้อมูลจากเวปไซด์พืชสวนโลก)
หอคำหลวง
หอคำหลวง เป็นส่วนแสดงสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ทรง อัจฉริยภาพและ ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย นั่นคือที่มาของอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา หอคำหลวง โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯหอคำหลวง
หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ท่ามกลางเนื้อที่กว่า 470 ไร่ ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สองข้างทางเดินสู่หอคำหลวงเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ ส่งให้หอคำหลวง เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดอีกทั้งตระการตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ประดับตกแต่งในบริเวณเสาซุ้ม ซึ่งออกแบบได้สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ ๆจำนวนมากถึง 30 ซุ้ม
หอคำหลวง ที่งดงามตระการตานี้ ผ่านกระบวนการคิด การออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา ให้งามสง่าท่ามกลางงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และหนึ่งในทีมงานสร้างครั้งนี้มี คุณรุ่ง จันตาบุญ หรือ ช่างรุ่ง สล่าล้านนา ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา
ช่างรุ่ง ผู้ออกแบบ หอคำหลวง เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้าง อาคารที่เป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมล้านนาในครั้งนี้ว่า เมื่อครั้งที่ได้รับมอบหมายให้คิดและออกแบบก่อสร้างอาคารสำหรับแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติมายาวนานถึง 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ทำให้นึกถึง หอคำหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระราชวงศ์เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ในอดีตจึงคิดที่จะสร้างหอคำหลวง ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยเคารพรักเทิดทูน ด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาว่ามีความงดงามและอ่อนช้อยระยะเวลาจากวันนั้นมาถึงวันนี้ผ่านไปเกือบสองปี อาคารหอคำหลวงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จากจินตนาการกลายมาเป็นแบบแปลน เรื่อยมาจนเป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น ตั้งอยู่บนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ลักษณะตัวอาคารชั้นล่างจะใช้การก่ออิฐถือปูนเป็นฐาน ส่วนพื้นที่ชั้นบนจะใช้ไม้แดงและไม้สักเป็นองค์ประกอบหลัก
สำหรับจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนาหลังนี้คือ
วิหารซด (หลังคา) ซึ่งจะซ้อนเกยกันตามลักษณะของการก่อสร้าง หอคำหลวง เช่นในอดีต นอกจากนี้ วิหารซด ยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกถึงความเป็นที่ประทับของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถปลูกสร้างเรือนเช่นนี้ได้ คือ มีหน้า 3 หลัง 2 โดยที่โครงสร้างของวิหารจะไม่ใช้ตะปูในการยึดติด แต่จะใช้ลิ่มสลักให้ไม้เชื่อมติดกันโดยที่ไม่หลุด เรียกว่าขึ้น ม้าต่างไหม การขึ้น ม้าต่างไหม นั้น โดยช่างจะนำท่อนไม้มาเรียงซ้อนต่อตัวกันสามระดับ (รูปทรงคล้ายปิรามิด) และจัดวางให้สมดุลกัน โดยมีการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นชั้นเชิงที่สวยงาม
มีเสาไม้ขนาดใหญ่เป็นขารองรับน้ำหนัก ซึ่งเสาไม้นี้ก็มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า เสาหลวง โดย เสาหลวง นั้นมีลักษณะทรงกลม ทาพื้นสีดำ และเขียนลวดลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งต้น
หมายเหตุ : ที่มาของชื่อนี้ ม้าต่างไหม มาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าไปขาย ของพ่อค้าม้าในล้านนา (ต่าง แปลว่า บรรทุก) ส่วนที่เป็นหลังคาก็ใช้ ดินขอ (กระเบื้องดินเผา) มามุง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรื้อถอนนำไปประกอบใหม่ได้
นอกจากโครงสร้างของตัววิหารแล้ว สิ่งที่น่าชมอีกอย่างคือ สิ่งละอันพันละน้อยที่ประดับอยู่ตามตัววิหาร ได้แก่
ช่อฟ้า ซึ่งอยู่เหนือจั่วของวิหารจะมีรูปแกะสลักนกการเวกประดับอยู่ นกการเวกเป็นสัตว์ในวรรณคดีมีปากเป็นจะงอยสวยงามมาก
นาคทัณฑ์ หรือ คันทวย ซึ่งเป็นไม้ค้ำยัน ช่างแกะสลักเป็นรูปนกหัสดีลิงค์สวยงามและอ่อนช้อยมาก ผู้รักในงานศิลปะต้องไปชมด้วยตาตนเอง
หน้าบันและเสาซุ้มประตูทางเข้า เป็นส่วนที่งดงามโดดเด่นที่สุด ซึ่งเป็นผลงานของช่างสิบหมู่พื้นบ้าน จากอำเภอต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือกว่า 60 คน ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ของศิลปินสกุลช่างชาวล้านนา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ทุกคนต่างวาดลวดลายการแกะสลักและปิดทองกันอย่างสุดฝีมือ ยิ่งเมื่อพิจารณา ชิ้นงานอย่างละเอียด จะพบความงามบนความเหมือนที่แตกต่าง นั่นคือ ในกรอบงานที่เหมือนกัน แต่ลวดลายภายในกรอบนั้นต่างช่างก็ต่างลาย ดูไกล ๆ อาจเหมือนกัน แต่เมื่อพิศดูใกล้ ๆ จะไม่เหมือนกัน เป็นการแสดงออกถึงจินตนาการและความคิดของช่างสิบหมู่ล้านนาแต่ละสกุลนั่นเอง แม้ว่าลายละเอียดที่ปรากฏในผลงานจะบ่งบอกว่าเกิดจากช่างฝีมือคนละสกุลกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากพิจารณาในภาพรวมของผลงานที่ปรากฏต่อสายตา ผลงานทุกชิ้นก็ยังอยู่ในองค์รวมที่เป็นแบบฉบับล้านนาเดียวกัน
หน้าบัน (หน้าแหนบ) ของหอคำหลวงนั้นจะมีการตกแต่งที่สวยงามเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างจาก เรือนไทยภาคกลางคือ บริเวณที่ต่ำลงมาจากหน้าบัน จะเป็นแผงเรียกว่า คอกีด ซึ่งช่างได้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงามประดับประดาไว้ มีทั้งลวดลายดอกไม้ ลายประจำยาม รูปสัตว์ต่าง ๆ สุดแท้แต่จินตนาการของช่างสกุลล้านนา
โก่งคิ้ว คือส่วนที่ต่ำจากคอกีดลงมา เรียกว่ามีลักษณะคล้ายกับสาหร่ายรวงผึ้งของภาคกลาง ส่วนด้านข้างที่เป็นปีกนกก็มีการแกะสลักลวดลายไว้อย่างสวยงามเช่นเดียวกับบริเวณหน้าบันที่กล่าวมาใน
ตอนต้นเป็นเพียงความงามของตัวอาคารหอคำหลวงเท่านั้น ถ้าใครมีโอกาสมาเห็นด้วยตาตนเองจะสังเกตเห็นว่าบริเวณโดยรอบอาคารหอคำหลวงนั้น ยังมีความงดงามตระการตารอให้ชมอยู่อีกมากมาย ผลงานแต่ละชิ้นตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบอาคารหอคำหลวง อันได้แก่
ปราสาทเฟื่องโคมไฟ ผลงานปูนปั้นที่ต้องการสื่อถึงความสว่างไสวโชติช่วง
พุ่มหม้อดอก ที่สื่อถึงความจงรักภักดี หรือแม้แต่รูปปั้นยักษ์ หรือ ช้างที่ยืนเฝ้าหอคำหลวงก็ยังมีหลากหลายอริยาบท
สถาปนิกชาวล้านนาจากอำเภอจอมทองท่านนี้ เล่าเพิ่มเติมให้ฟังว่า หอคำหลวง จะต้องเป็นอาคารที่ร่วมสมัย ด้วยรูปทรงและลักษณะการปลูกสร้างจะเป็นแบบล้านนาดั้งเดิม ภายในอาคารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองส่วนคือ
ชั้นบน จะจัดให้เป็นหอเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในจัดให้มีการแสดงจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาบอกเล่า เรื่องราวของพระองค์ท่าน อันเป็นพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตรงกลาง ห้องโถง กำหนดให้มีการสร้างต้นโพธิ์ทอง หรือ ต้นบรมโพธิสมภาร ประกอบด้วย ใบทั้งหมด 21,915 ใบ เป็น ต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรมที่ใบมีการดูนอักษรนูนต่ำที่มีคำที่เป็นธรรม 10 ประการ เป็นภาษาบาลี อันหมายถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมะที่พระองค์ท่านยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมีตราบเท่าปัจจุบัน
ชั้นล่าง เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในเหตุการณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 และ ปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และโครงการพระราชดำริเต็มรูปแบบสามมิติทั้ง แสง สี และ เสียง อลังการ แบ่งเป็น 9 โซน ได้แก่
โซน 1. บทนำ ธ ทรงมุ่งหวังที่จะเห็นความฟาสุขของประชาชนชาวสยาม เป็นการแสดงภาพ การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เป็นภาพแห่งความทรงจำที่ประทับใจ เป็นต้น
โซน 2. จากจิตรลดาสู่พสกนิกร นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในส่วนของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้แก่ ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง ปลานิลปลาหมอเทศ โรงโคนม ไบโอดีเซล สาหร่ายเกลียวทอง ผลิตภัณฑ์จากหนังปลานิล เป็นต้น
โซน 3. น้ำพระทัยอาทรชาวสยาม นำเสนอเรื่อง น้ำ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โครงกาฝายชะลอความชุ่มชื้น และพระราชดำริให้จัดทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะแห้งแล้ง โครงการกังหันชัยพัฒนาสำหรับเรื่องของขจัดน้ำเสีย การแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมภายใต้โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำ ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรได้เป็นอย่างมาก
โซน 4. พืชผลงามด้วยดินดี พระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินโดยไม่ลอกหน้าดิน และยังทรงสร้ารูปแบบระบบอนุรักษ์ดินในพื้นที่พรุ โดยใช้วิธีการแกล้งดิน และปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เปรียบเสมือนกำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์ และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
โซน 5. ปลูกป่าไม้เพื่อชีวีสำนึกดีในใจคน พระราชทานพระราชดำริหลายประการ คือ ปลูกป่า 3 อย่าง แต่ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่าเปียก การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก การปลูกป่าในที่สูง และการปลูกป่าในใจ รวามถึงโครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่เอื้อผลประโยชน์ที่ดีต่อกัน ของธรรมชาติกับธรรมชาติอีกด้วย
โซน 6. ขจัดต้นสิ่งเสพติด เพื่อชีวิตราษฎร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยขจัดปัญหายาเสพติด โดยปลูกพืชที่เป็นประโยชน์ทดแทนฝิ่น ให้ความรู้เรื่องถางป่าและปลูกโดยไม่ถูกต้อง รวมทั้งการรักษาป่า รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไปและยั่งยืน และเรื่องราวเกี่ยวกับ สวนสองแสน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป
โซน 7. เพิ่มศักยภาพเกษตรกรด้วยการศึกษา แนวพระราชดำริให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเรื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 6 แห่ง โดยทำหน้าที่เสมือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อทำการทดลองวิจัย แสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนา เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
โซน 8. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำมาสู่ผลผลิตแห่งความสำเร็จ ในส่วนนี้ เปรียบเสมือนบทสรุปของโครงการทั้งหมดที่กล่าวไว้ในส่วนจัดแสดง ซึ่งนำเสนอบทสรุปของเนื้อหาทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรและทรงงานมาโดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัติ เป็นเวลา 60 ปี และการเดินตามรอยพระราชดำรัสปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทุกคน เพื่อประโยชน์สุข และชีวิตที่พอเพียงสำหรับประชาชนทุกกลุ่มชั้น
โซน 9. นิทรรศการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำให้ออกมาในรูปวีดิทัศน์ บทสัมภาษณ์ของประชาชนทุกกลุ่มชนชั้นที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนนำพาซึ่งความสำเร็งในชีวิตที่ดีขึ้น ช่างรุ่ง สถาปนิกผู้ออกแบบผลงานชิ้นเอกนี้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า หอคำหลวง จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย ให้ได้ซาบซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพ ความอุตสาหะ และน้ำพระทัยของในหลวง ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ของโลก นอกจากนี้ หอคำหลวงจะเป็นอาคารมรดกของคนไทยทั้งชาติ ไว้สำหรับเรียนรู้และสืบสานงานศิลปะสกุลช่างล้านนาต่อไปในอนาคต และท้ายที่สุด หอคำหลวง จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศทั่วโลก ให้เดินทางมาชมความมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งใหม่บนผืนแผ่นดินไทย
ผู้ควบคุมการออกแบบ
นายรุ่ง จันตาบุญ สถาปนิกจากบริษัทช่างรุ่งคอนสตรัคชั่นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ มีผลงานการปลูกสร้างอาคารสถาปัตยกรรมล้านนามานานนับสิบปี ผลงานกล่าวขานในวงการช่างสกุลล้านนามากมาย อาทิ
- วิหารหลวงวัดป่าดาราภิรมย์พระอารามหลวงวรวิหาร
- วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
- หออินทขิลเสาหลักเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- งานบูรณะพระตำหนักเจ้าดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ออกแบบจิตกรรมฝาผนัง
อาจารย์ปรีชา เถาทอง ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ และศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรมปี พ.ศ. 2522
แก้ไขเมื่อ : 26/12/2554 12:26:10