คำตอบที่ 40
อานิสงส์ในการสร้างวิหารทาน
วิหารตามความหมายในทางพุทธศาสนามีหลายความหมาย เช่น หมายถึงที่พักอาศัยในป่ากระท่อม ที่อยู่อาศัย ที่พัก กุฏิ (สำหรับพระภิกษุ) สถานที่ประชุมของภิกษุ ตึกใหญ่สำหรับภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัย วัด วิหาร ฯลฯ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้
ความหมายว่า วิหาร น. วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับโบสถ์.
(ป. วิหาร). ปัจจุบันนี้ วิหารเปลี่ยนเป็นสถานที่กลาง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป การมีพระพุทธรูปไว้ในวิหารก็เพื่อหมายเอาว่าพระพุทธเจ้ายังคงเสด็จอยู่ ไม่ใช่เรือนพักอาศัย หรือ ที่อยู่ตามความหมายเดิม แต่ก็ยังพบว่าพระภิกษุบางรูปยังคงอาศัยอยู่ในวิหารเช่นเดียวกันกับสมัยพุทธกาล แต่มีไม่มากนัก
ในสมัยพุทธกาลเข้าใจว่าเวลาที่พระสงฆ์จาริกไปนั้น คงจะพักตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นของฆราวาสบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง ตามป่าบ้าง เพราะพระศาสดายังไม่ทรงอนุญาต ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงราชคฤห์เป็นครั้งแรก พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายเวฬุวนารามเป็นที่ประทับพร้อมเหล่าภิกษุ เข้าใจว่าน่าจะเป็นสวนหลวงที่ภายในสวนมีโรงเรือนศาลาที่พักเดิมอยู่แล้ว เช้าวันหนึ่งราชคหกเศรษฐีเข้าไปสู่อุทยานแต่เช้าเห็นเหล่าภิกษุนั้นอาศัยอยู่มีอาการอันน่าเลื่อมใส ท่านเศรษฐีถามเหล่าภิกษุนั้นว่าถ้าจะสร้างวิหารกุฏิถวายจะรับไว้ได้หรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอนุญาต ท่านเศรษฐีจึงขอเหล่าภิกษุให้ทูลพระพุทธเจ้าว่าพระองค์จะทรงอนุญาตหรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุแล้วกล่าวอนุญาตเสนาสนะ คือที่นอนที่พำนัก ๕ ชนิด ได้แก่ วิหาร ๑ (กุฏิมีหลังคา มีชายคาสองข้าง) อัฆฒโยค ๑ (โรงเรืองหรือร้านที่มุงซีกเดียว อีกด้านหนึ่งเปิดโปร่ง) ปราสาท ๑ (เรือนยอดหรือกุฎาคาร) หัมมียะ ๑ (เรือนแบบหนึ่ง หลังคาตัด) และคูหา (ถ้ำแห่งภูเขา) ท่านเศรษฐีสร้างวิหารเสร็จในวันเดียว ๖๐ หลังแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร พระองค์ตรัสแนะว่า ให้ตั้งอุทิศไว้เพื่อจาตุททิสงฆ์ คืออุทิศให้แก่ภิกษุอันมาถึงแล้วหรือยังมาไม่ถึงจากทิศทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาทานนั้นว่า การถวายวิหารก็เพื่อเป็นที่สำหรับภิกษุเพื่อเป็นที่เร้น เพื่อความสำราญ เพื่อบำเพ็ญสมถวิปัสสนา ยังประโยชน์แก่พระศาสนา เหตุนั้นบัณฑิตผู้เห็นประโยชน์ตนพึงสร้างวิหารถวายแล้วนิมนต์ท่านผู้พหูสูตให้พำนักอยู่ พึงถวายข้าวน้ำ เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะแก่ท่านด้วยจิตใจเลื่อมใสศรัทธา ท่านพหูสูตรเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์แก่ผู้ถวายทานนั้น เมื่อรู้ธรรมแล้วจักยังผลให้ผู้ถวายทานนั้นเป็นผู้หาอาสวะ (กิเลสที่นองเนื่องอยู่ในสันดาน) มิได้ พึงสำเร็จปรินิพพานในโลกนี้
อานิสงส์ของการสร้างวิหารเนื้อความในมิลินทปัญหา ตอนอนิเกตานาลยกรณปัญหา ความว่า พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามปัญหาซึ่งพระนาคเสนเกี่ยวกับการพักอาศัยของพระภิกษุในวิหารว่า บรรพชิตควรเป็นเพศที่หาที่อยู่มิได้ ไม่ควรอยู่เป็นหลักแหล่ง หาอาลัยที่อาศัยมิได้ พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามี พุทธฎีกาโปรดว่า พระองค์มิได้ทรงห้ามในเรื่องที่อยู่อาศัยของภิกษุ แต่ทรงห้ามไม่ให้ภิกษุติดในที่อยู่อาศัย เมื่อพำนักอยู่ชั่วคราวแล้วให้เที่ยวจาริกไป คือ สมควรแก่สมณะ เป็นสมณะสารูป ชอบแก่สมณะ ควรแก่สมณะ เป็นอารมณ์แก่สมณะ และเป็นที่ปรารถนาแก่สมณะ การที่ทายกได้สร้างวิหารที่พำนักอาศัยแก่ภิกษุ เป็นที่สรรเสริญ ยินยอมแก่สมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ก่อนมา อานิสงส์ของผู้สร้างวิหารถวาย ย่อมส่งผลให้ผู้ถวายอาจสำเร็จ พระนิพพาน พ้นจากทุกข์ ๔ คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์ อานิสงส์อีกประการหนึ่งของการสร้างวิหารถวายย่อมทำให้ภิกษุที่เที่ยวจาริกไป ทำให้ผู้มีศรัทธาพบได้ด้วยยากนั้น เมื่อสร้างที่พำนักอาศัยถวายแก่พระภิกษุให้เป็นที่พำนักอาศัยแล้ว ผู้มีจิตศรัทธาปสาทะย่อมไปพบเพื่อทำบุญให้ทานได้โดยง่าย นี้เป็นอานิสงส์ของการสร้างวิหารถวาย
ชัปนะ ปิ่นเงิน ผู้เขียน
ที่มา: วารสารเชียงใหม่ปริทัศน์ปีที่ 6 ฉบับที่58 มกราคม 2548