จาก bint IP:110.49.224.110
พฤหัสบดีที่ , 12/1/2555
เวลา : 15:32
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
วันอังคาร ที่ 10 มกราคม 2555
NGV + LPG ขึ้นราคาใครได้? มารับรู้จาก สว.รสนา
ข่าวจากทีวีช่องต่าง ๆ เล่นแต่ข่าว NGV แต่ไม่พูดถึง LPG ที่จะมีผลกระทบที่มากมาย สื่อหลักไม่ค่อยอยากเล่นข่าวประเภทนี้ เพราะทุกช่องหากสังเกตุให้ดี จะมีโฆษณาของปตท.ทุกช่อง ยกเว้นสื่อดาวเทียมที่พอมีจะเล่นมากหน่อย และจาก manager online ที่ได้เชิญ สว.รสนา ร่วมรายการในรายการ "คนเคาะข่าว" จึงขอนำมาให้อ่านกัน
“รสนา” ชำแหละ “ปตท.-รัฐบาล” สุมหัวสูบเลือด ปชช. ถามจะยอมต่อไปหรือ
“รสนา” ชำแหละต้นทุน NGV ที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อกิโลฯ แต่ ปตท.มั่วนิ่มตั้งสูงถึง 8.39 บาท ชี้ม็อบเสียรู้รัฐบาลอย่างจัง เพราะยอมให้ขึ้นราคาแล้วไม่มีทางลงแน่นอน รู้ทันใช้เทคนิคค่อยๆ ขึ้นทีละ 50 สต. จนคนไทยเดือดร้อนแบบไม่รู้ตัว พร้อมถามจะยอมถูกต้มอย่างนี้ต่อไปหรือ ด้าน “อิฐบูรณ์” แฉ LPG ยิ่งหนัก ปล่อยขึ้นราคาแบบไม่มีลิมิต อีกทั้งยังโกหกโทษรถยนต์ทำให้ขาดแคลน ที่แท้อุตสาหกรรมเครือ ปตท.เองคือต้นเหตุ
วันที่ 9 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และประธานคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV
น.ส.รสนา กล่าวถึงกรณีขึ้นราคาก๊าซ NGV ว่า ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการก็ตาม ปตท.ก็ตาม ชอบพูดว่าราคาก๊าซ-พลังงานต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ต้นทุนที่แท้จริงเคยเอามาเปิดเผยหรือไม่ ราคาจากเอกสารโฆษณาของ ปตท.เอง ระบุว่าราคา NGV อยู่ที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมันไม่ใช่ต้นทุนจริง มันเป็นราคาที่ขายให้กับ กฟผ. ซึ่งรวมค่าบริหารจัดการ รวมค่าผ่านท่อ รวมกำไร และยังบวกค่าขนส่งอีก 5.56 บาท เท่ากับค่าขนส่ง 40 เปอร์เซ็นต์ มันมีกิจการอะไรที่ค่าขนส่งมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ส่วนราคาก๊าซในตลาดโลกเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2554 อยู่ที่ 2 เหรียญ 79 เซ็นต์ต่อ 1 ล้านบีทียู 1 ล้านบีทียู เป็นค่าความร้อน ถ้าแปลงให้เป็นกิโลกรัมก็คือเท่ากับ 27.82 กก. พอเป็นเงินไทยเฉลี่ยตกที่กิโลกรัมละ 3.37 บาท นี่คือต้นทุนตลาดโลก มันสะท้อนต้นทุนตรงไหน
อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติปี 2007-2011 ขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2008 หลังจากนั้นต่ำลงเรื่อยๆ ทิศทางในตลาดโลกเป็นขาลง แต่คุณกลับสวนขึ้นและขึ้นในยามที่คนกำลังลำบากจากปัญหาน้ำท่วม
อีกทั้งความจริงแล้วราคาผ่านแนวท่อก๊าซมันถูกมาก เมื่อปี 2552 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตให้ปตท.ขึ้นค่าผ่านท่อได้ 2 บาท ต่อ1 ล้านบีทียู ก็คือรวมแล้ว 22 บาท กับอีกเศษนิดหน่อย ต่อ 27.82 กก. เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 1 บาทต่อกก. สมมุติเอาราคาตลาดโลก 3.37 บาท บวก 1 บาท อยู่ที่ 4 บาท แต่คุณบวกค่าขนส่งมหาโหดอย่างนี้ได้อย่างไร
ก๊าซถ้าส่งตามแนวท่อจะถูกที่สุด ตามธรรมชาติของก๊าซเหมาะกับรถที่ใช้วิ่งเป็นทางประจำเช่นรถเมล์ สามารถทำปั๊มเฉพาะที่เป็นจุดจอดรถ แต่นี่รัฐบาลมาสนับสนุนให้รถเล็กมาใช้ ใช้อำนาจรัฐทุกอย่างบังคับให้มาใช้ NGV
น.ส.รสนากล่าวอีกว่า วันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งทั้งหลายที่ออกไปต่อต้านการขึ้นราคา NGV เสียท่ารัฐบาลไปแล้ว สิ่งที่ทำวันนี้ไม่มีความหมายเลย เมื่อยอมเปิดบริสุทธิ์ให้ขึ้น 50 สตางค์แล้ว ไม่มีทางลด นั่นก็เพราะขาดข้อมูลในมือ ต้องให้ ปตท.เปิดเผยตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงออกมา
น.ส.รสนากล่าวว่า ทรัพยากรของไทยถูกขุดขายเพิ่มขึ้นทุกปีในขณะที่รายได้เข้ารัฐไม่ได้เพิ่มตาม ข้อมูลของ EIA (Environmental Impact Assessment) ไทยผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่อันดับ 23 ของโลก จาก 224 ประเทศ มากกว่าหลายๆ ประเทศที่เป็นกลุ่มโอเปก เรามีทรัพยากรมหาศาล แต่ทุกคนบอกว่าเราต้องพึ่งพา นำเข้าตลอด
สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ปตท.ใหญ่เกินไป มีอำนาจเหนือตลาดหลักทรัพย์ เหนือรัฐบาล และสื่อ เพราะไม่มีประเทศไหนที่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีขนาดเงินหมุนเวียนใหญ่กว่ากระทรวงการคลังเกิน 3 เท่า น่ากลัวที่รัฐบาลปล่อยให้ปตท.อยู่ในสภาพที่เป็นทั้งรัฐและเอกชน โดยให้รัฐถือหุ้น 51.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคงความเป็นรัฐอยู่ จะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอะไรที่มันใหญ่เกิน ถ้าล้มนี่ล้มดัง อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมด อีกทั้งยังปล่อยให้ควบรวมกิจการทั้งแนวดิ่ง คือครอบงำกิจการปิโตรเคมีทั้งหมด และควบรวมแนวนอน ซึ่งเป็นการยึดฐานลูกค้า จนมีอำนาจใหญ่มาก ตอนนี้ไม่มีภาคส่วนไหนกล้ากับปตท.เลย
น.ส.รสนายังกล่าวว่า การค่อยๆ ปรับเพิ่มทีละ 50 สตางค์ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแบบไม่รู้ตัว เหมือนกับการต้มกบ เมื่อต้มโดยปรับอุณหภูมิขึ้นทีละน้อยๆ กบจะไม่รู้ตัวเพราะมันปรับตัวตามอุณหภูมิ แต่ถ้าใส่ไปตอนร้อนๆ กบจะกระโดดหนี กรณีขึ้นราคาก๊าซก็เช่นกันประชาชนก็จะปรับตัวอยู่กับการขึ้น 50 สตางค์ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราจะยอมถูกต้มหรือเปล่า เลือกว่าจะเป็นกบตัวแรกที่ถูกต้มหรือกบตัวสองที่กระโดดหนี
ด้าน นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า กรณีเกิดโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยที่ 6 มีคำถามว่า เกี่ยวหรือไม่กับการพยายามทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลอยตัวขยับเพิ่มทันที ความจริงแล้วไม่สนใจว่าต้นทุนที่แท้จริงเป็นอย่างไร ขอแค่ขึ้นมาก่อน แล้วรัฐบาลก็ยอม ประชาชนเหมือนถูกมัดมือชก
ราคา NGV 14.50 บาท เป็นราคาที่ปตท.ต้องการขอขึ้นมานานแล้ว นี่คือต้นทุนที่เขาต้องการ โดยไม่ได้อิงกับราคาตลาดโลกเลย เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมาโดยตลอด แต่มาได้ในจังหวะรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง ในกลุ่มของพวกเขาเองก็คุยกันว่าเทคนิคการขึ้นราคา คือค่อยๆกินทีละ 50 สตางค์ จนสิ้นปี 2555 จะจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งหมด 6 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ จากราคาฐานเดิม ถ้าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่สามารถทำได้ แต่ธุรกิจนี้สามารถทำได้
ทางด้าน LPG ก็ขึ้นราคาเช่นกัน แต่กระแสเงียบไป ซึ่ง LPG นี่หนักกว่าอีก เพราะไม่มีลิมิต เขาใช้คำว่าจะไต่ราคาขึ้นไปถึงต้นทุนของโรงกลั่น ซึ่งถ้าโรงกลั่นบริหารงานย่ำแย่ ไม่ต้องควบคุมในเชิงประสิทธิภาพ อยากให้ขึ้นราคาก็ได้ กลไกแบบนี้เป็นธรรมหรือไม่
ประเทศไทยสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานเองได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เองเคยแถลงต่อสภาว่าต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ 55 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมราคาที่คนไทยใช้ถึงเป็นราคาตลาดโลก 100 เปอร์เซ็นต์ นี่เฉพาะราคาน้ำมัน ส่วน LPG ก็พยายามเกาะตลาดโลก แต่ NGV ดันไม่ยึดราคาตลาดโลก แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่
คำถามง่ายๆ ทรัพยากรเป็นของแผ่นดินไทย ส่วนใหญ่ก็มาจากอ่าวไทย สัมปทานที่รัฐได้น้อยมาก การเข้าถึงทรัพยากรมันไม่เป็นธรรม เราเจอคนโลภที่ตัวใหญ่มาก คุมตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ที่สำคัญคนที่เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน อีกตำแหน่งก็เป็นประธานบอร์ดของบริษัทเอกชน (ปตท.) แล้วคนๆนี้ก็มีหน้าที่ตั้งราคา จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
นายอิฐบูรณ์กล่าวอีกว่า เราพบกรณีไม่เป็นธรรมของก๊าซ LPG เป็นอย่างมาก เขากล่าวหารถยนต์ที่ใช้ LPG เป็นตัวการให้ก๊าซไม่พอใช้ แต่ตรวจสอบแล้วตัวการคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือปตท. พอกลุ่มนี้ใช้ไม่เคยแจ้ง แต่เวลาแถลงข่าวว่าต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปรากฎว่าไม่ใช่นำเข้า LPG แต่นำเข้าเป็นก๊าซองค์ประกอบ ซึ่งรถยนต์ใช้ไม่ได้ ปรากฎว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สามารถใช้ได้ แล้วเวลาสั่งจ่ายเงินชดเชย มติล่าสุดสั่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายแค่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆโดนกัน 5-10 กว่าบาท นี่คือหลายมาตรฐาน
นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อว่า ถ้าเราจ่ายแพงแล้วเกิดกระจายรายได้ไม่ว่า แต่นี่ไปอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เปรียบเหมือนเราเสียดินแดนโดยถูกกำลังผูกขาดทางเศรษฐกิจครอบงำ
ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้น คำนวณแบบทั้งปี ถึงสิ้นปี 55 เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนของ NGV เพื่อให้ได้ก๊าซ 40 กก. จะเพิ่มอีก 140 บาท จากเดิมแท็กซี่จ่าย 340 บาท ต้องจ่าย 480 บาท ฉะนั้นบัตรเครดิตอะไรต่างๆ อย่าลืมรัฐบาลแค่สำรองจ่ายให้ก่อน แล้วไปจ่ายหนี้เองทีหลัง หากไม่จ่ายอาจถูกฟ้องยึดรถได้
ส่วน LPG จากเดิมที่ 45 ลิตร 500 บาท จะเพิ่มมา 220 บาท ต่อไป 45 ลิตรจะต้องจ่าย 720 บาท ง่ายๆทั้งปีมันขึ้นทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อค่าตรงนี้เพิ่ม กลไกต่างๆ ทั้งระบบก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งภาระก็จะถูกผลักไปให้ผู้ที่ไม่มีปากมีเสียง
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/tiyapong/2012/01/10/entry-1
|