จาก krisharuno IP:203.107.249.206
พฤหัสบดีที่ , 5/7/2550
เวลา : 15:45
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
สำนักข่าวไทย ๒๕ พ.ย.-โรงพยาบาลศูนย์ตรัง รายงานเด็กได้รับบาดเจ็บจากปลาทะเลกระโดดแทงที่ลำคอ ชิ้นส่วนปากหักคา เลือดออกมาและแผลมีความเจ็บปวด ผู้อำนวยการสำนักงานระบาดวิทยาเตือนนักตกปลา ให้ระวังอุบัติเหตุจากการตกปลา ควรหาข้อมูลว่าปลาชนิดใดมีอันตรายร้ายแรง นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า นพ.โชคชัย ล้อพิริยะธรรม โรงพยาบาลศูนย์ตรัง รายงานอุบัติเหตุเด็กถูกปลาแทงที่บริเวณคอ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๕ โรงพยาบาลศูนย์ตรัง ได้รับการส่งต่อผู้ป่วย ๑ ราย จากโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากปลากระโทงแทง ผู้ป่วยเป็นเด็กชายไทย อายุ ๑๓ ปี ก่อนหน้าจะเข้ามารับการรักษาได้ออกไปหาปลาในทะเลกับบิดา ปลากระโทง ได้กระโดดจากทะเลแทงเข้าที่ลำคอด้านขวา มีเลือดออกจากบาดแผลมาก ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเรือ และโรงพยาบาลชุมชน หลังจากนั้น ได้ส่งต่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง ด้วยสาเหตุสิ่งแปลกปลอมที่ติดค้างอยู่ในคอ มีอาการปวดที่คอด้านขวา แพทย์ตรวจพบแผลที่คอด้านขวาบริเวณใต้คางเล็กน้อย ขนาด ๒.๕ เซนติเมตร ซึ่งได้รับการเย็บแผลมาจากโรงพยาบาลชุมชนแล้ว ได้ตรวจระบบประสาทพบว่า แขน ขา ยกได้ดี เป็นปกติ ได้เอกซเรย์ด้านข้างและด้านตรงของลำคอ พบสิ่งแปลกปลอมทึบรังสี ลักษณะคล้ายกระบอกฉีดยาขนาดเล็กยาวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ที่คอด้านขวาที่มีอาการปวด หลังจากวินิจฉัยแล้ว จำเป็นต้องนำสิ่งแปลกปลอมออก แต่เนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์ตรัง ยังไม่สามารถทำการตรวจเส้นเลือดด้วยวิธีฉีดสารรังสี แต่จากการคลำบริเวณลำคอ พบเส้นเลือดปกติทั้งสองข้างและคอบวมเล็กน้อย หลังจากผ่าตัด นำสิ่งแปลกปลอมออก พบว่า เป็นชิ้นส่วนปากของปลากระโทง ขณะที่ทำการผ่าตัด มีเลือดออกจากลำคอและแผลปริมาณมาก และเลือดออกเร็วมาก แพทย์ได้เย็บซ่อมแผลในช่องคอ และตรวจพบเส้นเลือดแดง Interan carotid เป็นรูขนาดเล็กอีกด้วย จึงได้ทำการเย็บเส้นเลือดนั้น หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว มีอาการดีขึ้นตามลำดับ และให้กลับบ้านได้ แพทย์ได้นัดให้ผู้ป่วยมารับการตรวจอีกครั้ง หลังจากนั้นอีก ๒-๓ เดือน พบว่า ผู้ป่วยหายเป็นปกติ ทั้งบาดแผล และระบบประสาท นพ.คำนวณ กล่าวว่า รายงานการบาดเจ็บจากปลากระโทง (Billfish) นาน ๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรจะทราบว่า อุบัติเหตุเกี่ยวกับกีฬาตกปลาเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับกีฬาอื่น ๆ ปลากระโทงเป็นปลาขนาดใหญ่ไม่มีเกล็ด มีครีบหลังยาวเป็นแผง ปากบนยาวมากและปากล่างสั้น ปลากระโทง มีหลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี ๒ ชนิดคือ ปลากระโทงแทง (Marlin) หรือปลากระโทงดำ (Black silver) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ เคยมีรายงานว่านักตกปลาในประเทศเปรู ตกปลาได้น้ำหนัก ๗๐๖.๖ กิโลกรัม โดยทั่วไปน้ำหนักที่ตกได้เกิน ๓๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป ปลากระโทงแทงนี้เมื่อเวลาติดเบ็ด จะไม่อวดครีบเหมือนปลากระโทงร่ม ซึ่งเป็นปลาที่นักตกปลาทั่วโลกถือว่าเป็นเกมส์ที่ยิ่งใหญ่ และชาวอเมริกันนิยมตกกันมากไม่แพ้ปลาทูน่าครีบเหลือง อีกชนิดหนึ่งคือปลากระโทงร่ม (Sailfish) หรือชาวประมงเรียกกันว่า ปลาใบ พบได้ในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน นักตกปลาใฝ่ผันว่าอย่างน้อยคงจะตกปลาชนิดนี้ได้สัก ๑ ครั้งในชีวิต มีขนาดเล็กกว่าปลากระโทงแทงมาก ที่ตกได้ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน น้ำหนัก ๒๐๗๐ กิโลกรัม เป็นส่วนใหญ่ ปลากระโทงร่มนี้ เมื่อติดเบ็ดจะต่อสู้อย่างรุนแรง บางตัวกว่าจะจับขึ้นจากน้ำได้ ใช้เวลานาน๓๐๖๐ นาที ต้องใช้อุปกรณ์ตกปลาขนาดใหญ่ ทั้งเบ็ด สายเบ็ด และรอก ปลากระโทงร่มเมื่อติดเบ็ด และถูกรอกชักขึ้น จะโผขึ้นผิวน้ำสะบัดตัวกางใบ (ครีบ) ด้วยลีลาอ่อนช้อย บางตัวเหมือนกับร่ายรำบนพื้นน้ำและเกลียวคลื่น ปลากระโทงร่มถูกจัดอันดับทำเนียบ Game fish บางคนจัดให้เป็น "ราชินีแห่งท้องทะเล" นอกจากนี้ยังมีปลากระทงสีน้ำเงิน (Blue Marlin), Spearfish, Triped Marlin, Swordfish และ White Marlin เป็นต้น อุบัติเหตุจากปลากระโทงนั้น คาดว่าจะเป็นนักตกปลาสมัครเล่นเพื่อการพักผ่อนและเป็นปลากระโทงร่ม เมื่อปลาติดเบ็ดแล้วผู้ตกจะต้องชักรอกเข้ามา โดยปกติการตกปลากระโทง ต้องทิ้งสายเบ็ดยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร เมื่อชักเข้ามาใกล้ลำเรือแล้ว จำเป็นต้องใช้ขอเหล็กสับเข้าที่ตัวปลาแล้วดึงขึ้นมา แต่ถ้าขาดประสบการณ์ในการใช้ขอสับ ปลาอาจจะกระโดดเข้ามาใกล้ตัวตามสายเบ็ด จึงทำให้ปากปลา ซึ่งมีความยาวและแหลมคม แทงเข้าที่ลำคอได้ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าว สำหรับ นักตกปลาสมัครเล่นในประเทศไทย เพื่อการพักผ่อน มักจะตกปลา เช่น ปลาอินทรี ปลาช่อนทะเล ปลานกแก้วหรือปลากู่ ปลาโฉมงาม ปลาสละ (สีเสียด) ปลาสาก ปลาทูน่า ปลาอีโต้มอญ ปลาตาเหลือก ปลาอังเกย ปลากระพง เป็นต้น ส่วนปลากระเบน และปลาฉลาม เป็นปลาที่ไม่นิยมตกกัน ปลาบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และบางชนิดก็ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น นักตกปลาควรจะต้องระมัดระวัง
|