จาก eak-bb IP:203.170.228.172
ศุกร์ที่ , 23/12/2548
เวลา : 02:40
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ราษฎรที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินก็ดี เพื่อแสดงความเป็นผู้ชายก็ดี มักมีปัญหาในการพกปืนทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมอยู่เสมอ ๆ ผู้ที่ถูกจับกุมจำนวนไม่น้อยเกิดจากการไม่รู้กฎหมายบ้าง เกิดจากรู้ไม่จริงบ้าง เกิดจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง เมื่อถูกจับกุมแล้วทำให้เสียเวลาทำมาหากิน เสียเงินเสียทอง หรือบางครั้งถูกรีดไถจากเจ้าพนักงานบางคนเป็นการซ้ำเติมอีก เรื่องทำนองนี้ ผมเองในฐานะเป็นนักกฎหมายฝ่ายทหารเคยพบเห็นว่าทหารชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุม เพราะไม่รู้กฎหมายและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้เจ้าตัวรวมทั้งผู้บังคับบัญชาของเขาได้รับความเดือนร้อนไปตาม ๆ กัน ผมเคยแนะนำสิ่งเหล่านี้ให้กับทหารในหน่วยงานของผมไว้โดยเขียนบทความง่าย ๆ ไว้ ซึ่งผมพิจารณาว่าถ้าตัดตอนมาให้ท่านทั้งหลายอ่าน ก็อาจจะพอเป็นผ้ายันต์ป้องกันอันตรายไม่ให้ถูกตำรวจจับกุมได้บ้าง จึงได้คัดย่อตัดตอนมาขอท่านค่อย ๆ อ่านพิจารณาไปตามลำดับก็แล้วกันนะครับ
การที่จะพิจารณาว่า จะพบปืนอย่างไรจึงไม่ถูกตำรวจจับนั้นต้องเรียนในเบื้องต้นว่า กฎหมายเกี่ยวกับปืน ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 กฎหมายฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อ ๆ กันมาอีกหลายครั้ง จนฉบับสุดท้ายคือ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2530 กฎหมายฉบับนี้ ถ้าจะเรียกชื่อเต็มก็จะยาวเหลือเกิน ดังนั้นต่อไปนี้ข้อเขียนนี้ จะขอเรียกว่า พ.ร.บ อาวุธปืนฯ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการพกปืนนั้น น่าจะมีมาตราหลักอยู่เพียง 3 มาตรา คือ 8 ทวิ เป็นบทบัญญัติเรื่องข้อห้ามข้อจำกัดในเรื่องการพกปืน มาตรา 22 เป็นบทบัญญัติเรื่องการอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และมาตรา 72 ทวิ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติใน มาตรา 8 ทวิ แต่ผมจะพยายามกล่าวอย่างเป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยสรุปหลักเกณฑ์ของกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาข้อชี้ขาดของอธิบดีกรมอัยการมาประมวบกับความเห็นส่วนตัวของผมเพื่อจะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น
ผมมีความเห็นว่า การที่จะพกปืนได้โดยไม่ถูกตำรวจจับนั้นน่าจะมีหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการคือ
1. เป็นอาวุธปืนของตนเอง และได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย (มีใบ ป.4) หรือจะกล่าวโดยย่อว่า ปืนมีทะเบียนและเป็นของตนเอง
2. ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว หรือกล่าวโดยย่อว่า มีใบพกปืน (มีใบ ป.12)
3. ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายกำหนด หรือ ถ้าไม่มีใบพกต้องเข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย
หลักเกณฑ์ประการแรกคือ ปืนมีทะเบียน และเป็นของตนเอง
อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคลนั้น ผู้ใดประสงค์จะซื้อ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ คือต้องยืนคำขอรับใบอนุญาตตามแบบ ป.1 มีใบอนุญาตให้ซื้อตามแบบ ป.3 และมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามแบบ ป.4 การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้น
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ กำหนดให้ออกได้ในสามกรณีเท่านั้นคือ ก. สำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน ข.สำหรับใช้ในการกีฬา หรือ ค.สำหรับใช้ในการยิงสัตว์ และใบอนุญาตใบหนึ่งให้ออกได้สำหรับอาวุธปืนหนึ่งกระบอกเท่านั้น ความทั้งหมดนี้ ผู้คุ้นเคยกับอาวุธปืนโดยทั่วไปก็ทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่มีบางประเด็นในเรื่องปืนมีทะเบียนที่หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไป กล่าวคือ เข้าใจว่า ปืนมีทะเบียนย่อมเป็นปืนที่ถูกกฎหมายเสมอ ไม่ว่าใครจะนำไปใช้หรือครอบครองไว้จึงปรากฎเสมอว่า ทหารชั้นผู้น้อยของเรา นำปืนมีทะเบียนของผู้อื่นมาไว้ในครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าไม่ผิดกฎหมาย จนกระทั่งถูกตำรวจจับกุมก็ยังโต้เถียงว่าไม่ผิด เรื่องนี้ขอเรียนว่า ตามหลักกฎหมายใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ นั้น การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ออกให้กับผู้มีชื่อในใบ ป.4 และออกให้ 1 ใบต่ออาวุธปืน 1 กระบอกเท่านั้น ผู้อื่นแม้จะเป็นบุตรภรรยาก็ไม่อาจใช้สิทธินั้นได้ดังนั้น การที่ทหารมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ครอบครองจึงยังมีความผิดตามกฎหมาย แต่อัตราโทษที่กฎหมายกำหนดต่ำกว่ามีปืนที่ไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง กล่าวคือ ถ้าปืนที่มีไว้ในครอบครองเป็นปืนที่ไม่มีทะเบียน (บางคนเรียกว่า ปืนเถื่อน) แล้วจะมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท แต่ถ้าปืนนั้นเป็นปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่น (บางคนเรียกว่า
ปืนผิดมือ) ผู้ครอบครองจะได้รับโทษน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง คือต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือน ถึง ห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
ดังนั้น หากท่านคิดจะพบปืน ต้องดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ข้อแรกเสียก่อน ถ้าไม่ผ่านหลักเกณฑ์ข้อนี้ อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึงถือเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือผิดกฎหมายตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ไม่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นอีกเลย
หลักเกณฑ์ประการที่สองคือ มีใบพก
ใบพก หรือที่เรียกตามภาษากฎหมายว่า ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวนั้น ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตมีใบพก ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามแบบ ป.1 ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี) ใบพกจะออกให้ตามแบบ ป.12 บุคคลที่ควรอนุญาตให้มีใบพกนั้น นอกจากจะเป็นผู้มีใบ ป.4 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเช่น เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินของรัฐบาล, ข้าราชการตั้งแต่ชั้นหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปรามหรือการปฏิบัติงานในหน้าที่การฝ่าอันตราย (ข้อนี้กระมังที่มีผู้เข้าใจผิดว่า นายทหารยศ ร.อ.สามารถพกปืนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อนหน้าที่ ยศ ร.อ.เทียบเท่าชั้นโทหรือหัวหน้าแผนก), บุคคลซึ่งอธิบดีกรมตำรวจเห็นสมควรอนุญาต เป็นต้น และการจะอนุญาตให้พบได้ทั่วราชอาณาจักรหรือเพียงภายในเขตจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง จะอนุญาตไว้ในใบพก ผ.12 โดยแน่ชัด
ดังนั้น เมื่อมีใบพกแล้ว ย่อมมีสิทธิพกปืนของตนเองได้โดยสะดวก แต่ไม่ สะดวกโยธิน เสียทีเดียว เพราะใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 9 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติขีดวงการพกปืนไว้ว่า ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชุนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการการรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้จะมีใบพบหรือมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวก็ตาม การพาอาวุธปืนใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ เป็นการต้องห้ามโดยเด็ดขาดคือ
1. การพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยโดยไม่จำกัดว่าเป็นเวลาและสถานที่ใดก็เป็นการต้องห้าม หมายความว่า การพกพาอาวุธปืนโดยเปิดเผยหรือประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะหรือในสภาพที่ปรากฎแก่สายตาของสาธารณชนได้โดยง่าย เป็นการต้องห้ามทั้งสิ้น ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวหรือใบพก ไม่อาจคุ้มครองได้
2. การพกอาวุธปืนไปในชุมนุมชนที่มีลักษณะพิเศษ อันได้แก่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด ดังนั้น แม้จะมีใบพกและพกโดยมิดชิดก็ตาม ดังนั้นถ้าพอเข้าไปในงานวัด งานทำบุญประจำปี ฯลฯ ก็ย่อมผิดกฎหมายในส่วนนี้ แต่หากชุมนุมชนที่พาอาวุธปืนเข้าไปนั้น เป็นชุมนุมชนประเภทอื่น เช่น ชุมชนชาวสลัมคลองเตย ชุมชนพัฒนาวัดลิงขบ ฯลฯ เช่นนี้ย่อมกระทำได้
หลักเกณฑ์ประการที่สามคือ ถ้าไม่มีใบพก ต้องเข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า ห้ามมิให้พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ กับวรรคท้ายของมาตรานี้บัญญัติข้อยกเว้นเกี่ยวกับเจ้าพนักงานลูกจ้าง หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานเกี่ยวกับงานของรัฐ ซึ่งให้มีสิทธพกพาอาวุธปืนได้โดยมิต้องมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวด้วย จึงอาจสรุปได้ว่า แม้จะไม่มีใบพกก็สามารถพกปืนติดตัวได้ถ้าเข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ คือ
1. มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ หมายความว่า ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นต้องมีอาวุธปืนติดตัวอย่างเร่งด่วนซึ่งในตัวบทของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องปืนไม่ได้อธิบายหรือให้คำจำกัดความไว้ คงให้ศาลฎีกาและนักกฎหมายทุกสาขาตีความกันไป เหตุผลลักษณะที่อ้าง จำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ นั้น จึงเป็นเรื่องที่กำหนดเป็นหลักตายตัวได้ยาก ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ลองพิจารณาดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. ต้องขับรถสิบล้อบรรทุกสินค้าไปส่งต่างจังหวัด อย่างนี้อาจถือว่า จำเป็นต้องมีอาวุธปืนติดตัวไปได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นกรณีเร่งด่วน เพราะการที่ นาย ก. อ้างว่าเพื่อป้องกันการปล้นรถบรรทุกของตนซึ่งเป็นการจำเป็นนั้น เป็นกรณีจำเป็นที่มีอยู่ตลอดไป กล่าวคือ การปล้นรถบรรทุกสินค้า อาจมีหรือไม่มีเมื่อใดก็ได้ จึงไม่ถือเป็นกรณีเร่งด่วน
ตัวอย่างที่ 2 นาย ก.ต้องนำภรรยาซึ่งเจ็บท้องจะคลอดลูกไปส่งโรงพยาบาลในตอนดึกอย่างนี้เป็นกรณีเร่งด่วน แต่ไม่มีความจำเป็นถึงกับต้องพกพาอาวุธปืนไปด้วย เพราะตามปกติไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างได้ว่า จำเป็นต้องพกพาไปเพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน
ตัวอย่างที่ 3 นาย ก. เพิ่งขายข้ายได้เงินเกือบแสนบาทและจำเป้นต้องนำไปฝากธนาคาซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปราวสิบกิโลเมตรในวันนั้น เพื่อความปลอดภัยจากโจรปล้น ซึ่งในท้องที่ของนาย ก. มีอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น การที่นาย ก. นำปืนที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้แล้ แต่ยังมิได้รับใบอนุญาตให้พกติดตัวไปพร้อมกับเงินที่ต้องนำไปฝากธนาคารไว้วันนั้น ดังนี้ถือว่า จำเป็นและเร่งด่วน ได้
ตัวอย่างข้างต้นนี้ คัดมาจากตำราของ นายสมพร พรหมหิตาธร อัยการอาวุโสของกรมอัยการ ซึ่งท่านผู้อ่านพอจะเห็นแนวคิดเบื้องต้นแล้ว ส่วนคำพิพากษาของศาลฎีกาที่พิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานรวมทั้งคำชี้ขาดของอธิบดีกรมอัยการ ใน เรื่องเหตุจำเป็นและเร่งด่วนนั้น ขอยกมาเป็นตัวอย่างอีกอังนี้
- ต้องการนำเงินสด 7,000 บาท ไปส่ง จึงนำปืนและเงินไว้ในลิ้นชักและขับไปส่งผู้อื่น และพากันไปนั่งดื่มสุราโดยทิ้งเงินไว้ในรถซึ่งจอดอยู่ห่าง 5-6 วา เช่นนี้แสดงว่ามิได้ห่วงใยเกี่ยวกับความปลอดภัยในทรัพย์สินจริง การที่พาอาวุธปืนติดต่อไป ถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3027/2526)
- มีผู้ลืมอาวุธปืนไว้ในร้านอาหาร เจ้าของร้านจึงมอบอาวุธปืนนั้นให้แก่ผู้รับประทานอาหารในร้านนั้นคนหนึ่งเพื่อนำไปมอบให้ตำรวจ ผู้นั้นจึงนำปืนใส่ไว้ในช่องเก็บของหน้ารถยนต์เพื่อนำไปมอบให้ตำรวจที่สถานีตำรวจในคืนเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามพฤติการณ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 761/2528)
- กรณีพกปืนที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้มีเดินทางไปซื้อขายพลอยต่างจังหวัดมีเงินสด 200,000 บาท และพลอยอีกมากติดตัวไปด้วย เป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ (คำชี้ขาดความเห็นแย้งของอธิบดีกรมอัยการที่ 61/2532)
- พาพานท้าย ลำกล้อง ไม้ประกบรางปืน โดยอ้างว่าจะนำไปล้างที่บ้านเพื่อนซึ่งอยู่ห่างราว 80 เมตร ไม่ใช่กรณีต้องมีอาวุธปืนตัดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ (อัยการนิเทศ เล่ม 42, 2523)
อย่างไรก็ตาม ที่จะเป็นความผิดตามนัยข้างต้นได้นั้น จะต้องอยู่ในสภาพของการพาอาวุธปืนติดตัวไป ถ้าไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้นก็จะไม่ผิดเลย ไม่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเร่งด่วนตามพฤติการณ์อีก เช่น อาวุธปืนใส่ไว้ในกระเป๋าถือไว้บนตะแกรงเหล็กเหนือศรีษะที่นั่งคนขับ หรือเอาปืนใส่ไว้ในกระเป๋าถือ และเอาไว้ในกระโปรงท้ายรถซึ่งใส่กุญแจ เป็นต้น
ผมเขียนหัวข้อนี้มาเสียยาว ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้บ้างนะครับว่า กฎหมายยังคงเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย นำติดตัวไปเพื่อป้องกันทรัพย์สินได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ ในทางปฏิบัตินั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้มีอำนาจจับกุมว่าจะมีเหตุผลและคุณธรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้ กรมตำรวจเคยมีบันทึก ตร. ที่ 0503 (ส) / 27663 ลง 30 ก.ย.25 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะเพื่อให้ตำรวจใช้ดุลยพินิจพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่สรุปได้ว่า มีแนวทางในการสั่งไม่ฟ้องถ้าการพกพาอาวุธปืนมีลักษณะดังนี้ คือ
1. ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าไว้ในช่องเก็บของท้ายรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2. เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋า ใส่กุญแจ แล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
3. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วยโดยแยกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารวางไว้ที่พนักเบาะหลักรถยนต์
4. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัดเป็นเงินหลายหมื่นบาทนำติดตัวมา แล้วมีอาวุธปืนได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว ใส่ไว้ในช่องเก็บของหน้ารถ เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน
5. ห่ออาวุธปืนและแหนบบรรจุกระสุน (แมกกาซีน) แยกออกคนละห่อ เก็บไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ
แนวทางของกรมตำรวจ 5 ข้อนี้ น่าสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในสภาพของการพาอาวุธปืนติดตัวมากกว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนสมควรแก่พฤติการณ์ ซึ่งผมมีความเห็นว่าแนวทางนี้จะมีประโยชน์ในเรื่อง ใช้ดุลพินิจพิจารณาในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตำรวจอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการที่ตำรวจบางนาย ปรับแต่งข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น (จริง ๆ) ให้เข้าแนวทางทั้ง5 ข้อ เพื่อความสะดวกในการสั่งไม่ฟ้องคดีด้วย
2. ข้อยกเว้นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าพนักงานบางประเภท ความข้อนี้จะบัญญัติรายละเอียดไว้ใน
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคท้าย ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้ เจ้าพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานของรัฐบางประเภท มีสิทธิพกพาอาวุธปืนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เช่น เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ พนักงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีความจำเป็นจะต้องมีและใช้อาวุธปืนเพื่อรักษาและป้องกันทรัพย์สินที่สำคัญของรัฐ เป็นต้น
จากการที่กล่าวมาทั้งหมด แม้จะมีเงื่อนไขและวิธีการค่อนข้างมากที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติมักขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจับกุมเป็นสำคัญว่า จะจับหรือไม่จับเท่านั้นดังนั้น ถ้าจะถามผมว่า พกปืนอย่างไรจึงจะไม่ถูกตำรวจจับ โดยไม่ต้องจดจำหลักเกณฑ์ให้มากมายนัก ผมขออนุญาตตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ปืนถูกกฎหมาย พูดจาถูกหู ก็พอจะเอาตัวรอดกระมังครับ
โดย"นาวาเอก วุฒิ มีช่วย" จากหนังสือกฎหมายเบื้องต้นสำหรับประชาชนสภาทนายความ
$$
|