คำตอบที่ 4
ขอยกรายละเอียดจาก นิตยสาร อาวุธปืน มาให้อ่านครับ (ซึ่งได้ทดสอบไว้แล้วครับ)
Walthter P99 QA
ในยุคที่ดูว่าปืนสั้นออโตโครงโพลิเมอร์กำลังเฟื่องในขณะนี้ วอลเธอร์ P99 ก็เป็นปืนสั้น ออโตโครงโพลิเมอร์อีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งทำท่าว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะ นักนิยมปืนในบ้านเราเริ่มหันมาสนใจกันมากขึ้น สาเหตุก็เนื่องมาจากชื่อเสียงเรียงนาม ของปืนวอลเธอร์ที่ได้รับความเชื่อถือมาก่อน กับฝีมือผลิตดูประณีตต่างจากปืนออโต โครงโพลิเมอร์ยี่ห้ออื่นที่มีมาเก่าก่อนอยู่บ้าง ข้อสำคัญ ความแม่นยำก็ไม่เป็นรองยี่ห้อใดในปืน ประเภทเดียวกัน นอกจากรูปทรงดูสวยงามไม่ผิดไปจากปืนออโตโครงโลหะธรรมดาแล้ว ยังมีคันบริหารกลไกที่บริหารได้สะดวกแทบไม่แตกต่างกัน
ความจริงแล้ว วอลเธอร์ P99 มีอะไรก้าวหน้ากว่าปืนออโตโครงโพลิเมอร์ ประเภทนกในทั้งหลายที่เห็นได้ชัดก็คือ ปุ่มหรือแป้นกดเพื่อลดเข็มแทงชนวน ไม่ต้อง เหนี่ยวไกยิงแห้งเมื่อต้องการลดเข็มฯในปืนเปล่าให้หวาดเสียวและเสี่ยงต่อเข็มแทงชนวน ชำรุดหรือไม่ก็ต้องหากระสุนดัมมี่มาใช้เพื่อลดเข็มฯให้วุ่นวายแต่อย่างใดครับ บางท่านอาจมี ความเห็นว่า การซื้อหากระสุนดัมมี่มาใช้ลด เข็มแทงชนวนตอนเก็บปืนเปล่าไว้ ไม่เห็นจะเป็นภาระอะไรเลย เพราะปกติก็ใช้ฝึกยิงแห้งเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ตอนพกปืนเตรียม พร้อมเอากระสุนเข้ารังเพลิงไว้ หากไม่มีแป้นลดเข็มแทงชนวน ก็จำเป็นต้องปล่อยให้เข็มฯ ถูกรั้งถอยหลังไว้ครึ่งหนึ่งโดยไม่มีทางเลี่ยงเลยครับ
ความจริงแล้ววอลเธอร์ P99 ได้รายงานการทดสอบในนิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 327 มกราคม 2545 คือฉบับต้อนรับปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไปนี่เองครับ แต่ครั้งนั้นเป็นปืน P99 QPQ ซึ่งแต่งผิวโลหะแบบพิเศษ ซึ่งช่วยให้ทนทานต่อการสึกหรอ หรือการกัดกร่อน มีระบบลั่นไกแบบดับเบิล/ซิงเกิล แอ๊คชั่นเช่นเดียวกับปืนสั้นออโตนกนอกทั้งหลาย แต่ปืน P99 ที่รายงานการทดสอบในฉบับ 329 มีนาคม 2545 นี้ เป็นปืนที่มีระบบไกที่เรียกว่า
"ควิก แอ๊คชั่น" เหมือนกับปืนสั้นออโตของกล็อกไม่มีผิด เพียงแต่วอลเธอร์ P99 QA นี้ มีแป้นกดให้ลดเข็มแทงชนวนได้ ทำให้สะดวกกว่ากันไปอีกขั้นหนึ่งครับ ความแตกต่าง ระหว่าง P99 QPQ กับ P99 QA มองเห็นได้จากภายนอกก็คือ ลำเลื่อนของแบบ QA เป็นแบบรมดำ แต่ลำเลื่อนของแบบ QPQ เป็นสีเงิน ถ้าไม่คำนึงถึงสีผิวโลหะแล้ว วอลเธอร์ P99 ทั้งสองแบบไม่มีอะไรแตกต่างกันตามลักษณะภายนอกเลยครับ
อย่างไรก็ตาม ปืนวอลเธอร์ P99 QPQ และ QA ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกประการก็หาไม่ เพราะถ้าเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ ทำออกมารุ่นเดียวก็พอแล้วครับ แต่นี่อย่างน้อยกลไกภายในก็ต่างกันที่ระบบลั่นไกอย่างที่กล่าวมาแล้ว ผู้ใช้ปืน บางท่านอาจเห็นว่า ระบบลั่นไกแบบดับเบิล/ซิงเกิลแอ๊คชั่นจริงๆกับควิกแอ๊คชั่น ไม่น่าจะต่างกันสักกี่มากน้อย เพราะถ้าเกิดกระสุนนัดใดนัดหนึ่งสับไม่แตก การดึงลำเลื่อน ถอยหลังเอากระสุนสับไม่แตกอยู่ในรังเพลิงออกไปไม่ต้องรั้งรอ ย่อมให้ความมั่นใจได้มาก ยิ่งกว่าการเหนี่ยวไกยิงซ้ำไปอีกครั้ง เพราะถ้ากระสุนด้านจริงๆ มันก็สับไม่แตกเหมือนเดิม จำต้องดึงลำเลื่อนเอากระสุนนัดนั้นออกจากรังเพลิง แล้วป้อนนัดใหม่จากแม็กกาซีนเข้าไปแทน ซึ่งก็ต้องเสียเวลาอยู่ดี ดังนั้น ข้อได้เปรียบเรื่องยิงซ้ำก็แทบจะไม่ถือว่าได้เปรียบนัก ยิ่งถ้ากระสุนด้านแน่นอนแล้วเหนี่ยวไกซ้ำอีกที กลับจะเป็นข้อเสียเปรียบมากกว่า เนื่องจากยิงนัดถัดไปได้ช้ากว่าปืนที่มีระบบเหนี่ยวไกเปล่าได้ครั้งเดียว เพราะต้องเสีย เวลาเหนี่ยวไกยิงซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจว่ากระสุนด้านแน่นอน ก่อนที่จะดึงลำเลื่อนถอยหลัง เอาออกไปจากรังเพลิง
ส่วนด้านการใช้งานต่อสู้ในสภาพเป็นจริง ระบบไกแบบ P99 QPQ กับแบบ P99 QA นั้นแตกต่างกันค่อนข้างมากครับ เพราะระบบไกแบบดับเบิล/ซิงเกิลแอ๊คชั่นที่แท้จริงนั้น ความรู้สึกยิงดับเบิลในนัดแรกกับซิงเกิล แอ๊คชั่นในนัดต่อๆไปนั้น ต้องปรับความรู้สึก ที่มือเป็นอย่างมาก จึงจะทำให้ยิงได้ผลดี ผู้ใช้ปืนสั้นออโตดับเบิลแอ๊คชั่นที่บ่นถึงปัญหาเช่นนี้ คือบรรดาตำรวจของสหรัฐอเมริกาครับ เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการใช้ปืนลูกโม่ ดับเบิลแอ๊คชั่นยิงต่อสู้โดยไม่ต้องง้างนกจนเคยชินมานานเพราะการเหนี่ยวไกยิงแบบ ดับเบิลแอ๊คชั่นทุกๆนัด ให้ความรู้สึกในการ ลั่นไกและคุมปืนสม่ำเสมออย่างเดียวกันโดยตลอด จึงเป็นต้นเหตุให้มีปืนออโตระบบไกแบบดับเบิลโอนลี่หรือดับเบิลล้วนขึ้นมาครับ
ส่วนปืน P99 QA หรือควิกแอ๊คชั่น แต่กล็อกเรียกว่า เซฟแอ๊คชั่น นั้น การเหนี่ยวไก ตั้งแต่นัดแรกไปจนถึงนัดสุดท้ายให้ความรู้สึกเหมือนกันตลอด ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า วอลเธอร์ P99 QA คงจะทำขึ้นมาเพื่อเอาใจตลาดด้านผู้รักษากฎหมายของอเมริกามากกว่าอื่นครับ แต่เคยอ่านพบว่า ทางตำรวจสหรัฐอเมริกาสรุปผลการยิงต่อสู้กับคนร้ายในสถานการณ์ทั่วไป ปรากฏว่า ตำรวจส่วนมากยิงถูกเป้าหมายเพียงหนึ่งในสี่นัดแค่นั้นเอง ถ้าจะว่าตำรวจสหรัฐฯ ไม่ค่อยได้ฝึกซ้อมยิงปืน เพราะไม่ค่อยมีงบประมาณก็คงไม่ใช่นะครับ หากคิดว่าตำรวจไม่ค่อยขยันซ้อมยิงปืน ก็พอเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ข้อเท็จจริงโดยธรรมชาติแล้ว การเหนี่ยวไกปืนด้วยแรงสม่ำเสมอ พร้อมกับไม่ต้องปรับการกำปืนของ มือข้างที่ถือปืนเมื่อยิงปืนออกไปแต่ละนัด ก็ต้องยอมรับว่ามันดีกว่าการเหนี่ยวไก แบบอื่นนอกเหนือจากนี้แน่นอนครับ
ลองหันมาดูรูปร่างลักษณะภายนอกของวอลเธอร์ P99 QA กันอีกครั้ง ถ้าจะพิจารณากันโดยละเอียดแล้ว ก็ย่อมจะเหมือนกันกับรุ่น P99 QPQ ยังกะแกะ เพราะแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน ผู้เขียนจึง ไม่อยากกล่าวถึงรายละเอียดนัก เพราะจะไปซ้ำกันกับปืน P99 QPQ ที่รายงานไว้ในฉบับที่ 327 มกราคม 2545 จึงขอเขียนถึงเฉพาะส่วนต่างที่เป็นสาระสำคัญนะครับ
ความแตกต่างที่มองเห็นได้ภายนอกก็คือ ลำเลื่อนของ P99 QA รมดำ ซึ่งเป็น รมดำแบบกรรมวิธีสมัยใหม่ที่บริษัทผลิตปืนชั้นแนวหน้าใช้แต่งผิวปืนสั้นออโตของตน ลักษณะผิวรมดำไม่ถึงกับเป็นเงา แต่ก็ไม่ถึงด้านทื่อๆ นัยว่าทนแล้งน้ำมันได้ดี จึงเกิด สนิมได้ยาก ซึ่งไม่หมายความว่ามีสนิมจับไม่ได้นะครับ ส่วนลำเลื่อนของ P99 QPQ นั้น มีสีเงินยวงเหมือนสเตนเลสส์ ซึ่งเป็นการแต่งผิวตามวิธีที่วอลเธอร์เรียกว่า "คิวพีคิว" ครับ ซึ่งลำเลื่อนนั้นจริงๆเป็นเหล็กสเตนเลสส์ หรือเหล็กกล้าแบบที่ใช้ทำปืนรมดำทั่วไป ก็เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง ผิวสีเงินไม่เป็นมัน และก็ไม่ด้านเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาจากระบบลั่นไกแล้ว วอลเธอร์ P99 QA (ควิกแอ๊คชั่น) เหมาะสำหรับใช้งานฉับไวหรือเป็นการยิงแบบฉับพลันเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นแบบพอยท์ชู้ตติ้ง หรืออย่างไรก็แล้วแต่ เพราะจับปืนมาถือในมือแล้วลองเหนี่ยวไกดู ความรู้สึกบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเล็งยิงอย่างประณีตเลย แต่ถ้าหากจะมีท่านผู้ใดนำไปยิงแข่งกับ ชาวบ้านเขาแล้วทำแต้มได้เหนือกว่าผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน ก็ต้องขอแสดงความยินดี ที่ท่านสามารถปรับตัวปรับความรู้สึกเข้ากับปืนได้ดีเยี่ยม แต่ถ้าสู้ผู้อื่นเขาไม่ได้ ก็ไม่ใช่ เรื่องที่จะมาโทษคนยิงหรือโทษปืน โดยเฉพาะตัวปืนมีความแม่นยำสูงอยู่แล้ว
แม้ว่าวอลเธอร์ P99 QA จะไม่มีจุดมุ่งหมายทำออกมาให้ใช้ยิงเป้าแข่งขัน แต่ ก็ยังคำนึงถึงเรื่องที่จะทำปืนมาให้เหมาะกับมือ และสายตาของทุกคน จึงทำปืนให้เปลี่ยน ขนาดสันหลังโครงด้ามได้ 3 ขนาด และมีใบศูนย์หน้าให้ 4 ขนาด โดยนับรวมกับที่ ติดมาพร้อมกับตัวปืนด้วยครับ ทั้งหลังด้าม และใบศูนย์หน้าดังกล่าวให้มาพร้อม เสร็จสรรพในกล่องปืนจากโรงงานเลยทีเดียวครับ ซึ่งท่านที่ซื้อรุ่น P99 QPQ ไปก่อน หน้านี้ก็คงได้เห็นแล้ว
เมื่อกระชากลำเลื่อนขึ้นลำ ท้ายเข็มแทงชนวนซึ่งแต้มสีแดงไว้ก็จะโผล่ออกมาตรง ช่องเว้าที่ท้ายลำเลื่อน แสดงว่าเข็มแทงชนวนได้ถอยหลังมาอัดสปริงไว้พร้อมแล้ว ไม่รู้สึก ว่าสปริงรีคอยล์จะแข็งไปหรือเกิดอาการฝืดฝืนแต่อย่างใด เมื่อเหนี่ยวไกให้เข็มแทงชนวน พุ่งไปข้างหน้า หรือกดแป้นลดเข็มฯบน ลำเลื่อนแล้ว ไกปืนจะไม่ค้างอยู่ให้ตำแหน่ง ถูกเหนี่ยวไปข้างหลังอย่างกล็อก แต่ดีดกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมข้างหน้าตามปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องขยับลำเลื่อนไปข้างหลังประมาณ 1 ซม. จึงขึ้นเข็มฯค้างไว้แล้ว เหนี่ยวไกได้อีก เมื่อยิงจริงแล้วกระสุนลั่นออกไป ลำเลื่อนก็จะถอยดีดปลอกที่ยิงแล้วออกไป เป็นการขึ้นเข็มแทงชนวนโดยปริยาย จึงไม่เกิดปัญหาขึ้นเหมือนเมื่อกระสุนด้านครับ นอกนั้นแล้วการบริหารกลไกต่างๆ ไม่มีผิดเพี้ยนกับรุ่น P99 QPQ ที่ผู้เขียน ได้รายงานการทดสอบไว้อย่างละเอียดในนิตยสารอาวุธปืนฉบับต้อนรับปีใหม่ 2545 อย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว
อาจารย์เทียนชัยปืนสองมือยิงรัวเร็วที่ระยะประมาณ 10 เมตร และเป้าที่ยิงได้ หลุดรูปขวดไป 1 นัด ถูกชายเสื้อหุ่นขาดเป็นรู
หลังจากตรวจตรากลไกในปฏิบัติการของปืน และทำความสะอาดเบื้องต้นเล็กๆน้อยๆแล้ว ก็ถึงคราวที่จะต้องยิงทดสอบกันดู อันเป็นการทดสอบขั้นสุดท้าย แต่นับว่าสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะทดสอบปืนอะไร กระบอกไหน เมื่อไหร่ หรือสถานที่ใด แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เมื่อตอนจะซื้อปืนมีคนไม่น้อยที่ยึดอยู่กับความคุ้นเเคยเหมือนตอนที่จะซื้อรถยนต์ ที่สามารถขอลองขับดูได้ ก็เลยอยากลองยิงดูก่อนซื้อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับปืนใหม่ ยกเว้นซื้อต่อกันเองโดยตรงระหว่างบุคคลต่อบุคคล จำต้อง ค้นคว้าหาอ่านจากหนังสือประเภทที่ท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ครับ
เมื่อบรรจุกระสุนลงในแม็กกาซีนแล้ว ผู้เขียนเริ่มออกไปยิงที่ระยะต่อสู้ตามปกติ 10 เมตร และเป็นการยิงเร็วแบบควิกแอ๊คชั่นไปยังเป้ารูปคน แล้วตามด้วยผู้ทดสอบท่านอื่นๆ ในระยะเดียวกัน ผู้ทดสอบส่วนมากห่างเหินกับการฝึกซ้อมยิงเร็วมานาน เพราะการยิงทดสอบโดยทั่วไปเป็นการทดสอบปืนอย่างเดียว ครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบทั้งปืน และทักษะคนยิงไปในเวลาเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมแต่ละท่านที่ออกไปยิงก็ ยืนซ้อมแห้งนิดหน่อยแล้วยิงเลย ผลการยิงก็ดีมากบ้าง ดีน้อยบ้าง ตามแต่ใครจะจัดวาง ท่ายิงได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ในตอนแรกไม่มีโอกาสได้ปรับตัวกันนัก ถ้าผู้อ่านท่านใดได้ อ่านนิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาแล้ว จะพบว่าผู้ทดสอบเขาไป สนามเพื่อยิงทดสอบถึง 2-3 เที่ยว ส่วนพวกเราเจอกับปืนที่สนามยิงปืนแล้วยิงดูภายในเวลา
3-4 ชั่วโมงเป็นอย่างมาก เพียงเที่ยวเดียวก็จบ เพราะพวกเราไม่สามารถ เอาปืนของห้างร้านต่างๆมาดองไว้ได้นานๆ ครับ ส่วนรายละเอียดผลการยิงโปรดดูใน ภาพประกอบนะครับ
สรุป วอลเธอร์ P99 ควิกแอ๊คชั่น เป็นปืนที่เหมาะสำหรับต่อสู้ป้องกันตัวของ บุคคลทุกสาขาอาชีพ แต่จะเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีหน้าที่ปราบปรามพิเศษ เพราะเป็นปืนที่สร้างมาให้มีลักษณะแข็งแรงและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาอะไรกันมาก ขอเพียงอย่ามีอะไรไปอุดตันลำกล้องเสียอย่าง ปฏิบัติการจะลื่นไหลโดยตลอดไม่มีติดขัดให้ต้องกังวลใจ ซึ่งไม่ใช่ของแปลกสำหรับปืน ชั้นดีทั้งหลายในยุคปัจจุบัน เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนมากในสมัยนี้ ขนาดหมดอายุ ถึงกำหนดต้องทิ้งแล้ว ยังปฏิบัติการเชื่อใจได้อย่างที่เป็นข่าวคราวกันนั่นแหละครับ
ห้างฯ สิงห์ทองไฟร์อาร์ม เลขที่ 1 ถนนอุณากรรณ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทร. 02 22 45 357 โทรสาร 02 22 45 222
เป็นผู้ส่งเข้ามาทดสอบครับ
(ไม่มีคนตอบ ผมตอบเองก็ได้ครับ และจะพยายามหาข้อมูลทุกรุ่นมาลงเองทั้งหมดเลยครับ สบายใจดี 555)