จาก wat IP:125.25.17.162
ศุกร์ที่ , 5/10/2550
เวลา : 21:59
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
คำชี้ขาดความเห็นแย้ง ที่ ๑๙/๒๕๓๗ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ
การพาอาวุธปืนติดตัวจะต้องอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ทันที การที่ผู้ต้องหาแยกอาวุธปืนกับกระสุนปืนออกจากกัน และบรรจุไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า ยังไม่ผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. สายตรวจสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีชายต้องสงสัยเดินอยู่บริเวณหน้าโรงงานถังเหล็กสากล ถนนสามวา ตำรวจกับพวกจึงได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวพบผู้ต้องหานี้เดินอยู่มีท่าทางพิรุธ จึงเข้าทำการตรวจค้น และพบว่าในกระเป๋าเสื้อผ้าของผู้ต้องหาที่สะพายอยู่มีอาวุธปืนพกสั้น ขนาด .๓๘ ทะเบียน กท. ๖๐๐๖๐๒ จำนวน ๑ กระบอก และกระสุนขนาด .๓๘ จำนวน ๕ นัด บรรจุอยู่ในซอง ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าดังกล่าว จึงจับกุมดำเนินคดีในข้อหาพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเข้าไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้นำเอาอาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนเป็นของผู้ต้องหาติดใส่กระเป๋าเสื้อผ้ามาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อติดตามหาภรรยาที่หนีมา และทราบว่ามาทำงานอยู่แถวที่เกิดเหตุ เหตุที่ต้องนำอาวุธปืนติดตัวมาเนื่องจากที่บ้านพักในจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่มีคนอยู่เกรงว่าจะสูญหาย
คดีมีปัญหาให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหามีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวหรือไม่
อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตร ๘ ทวิ นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันทีหากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใด ๆ อีก ฉะนั้น การที่ผู้ต้องหาแยกอาวุธปืนกับกระสุนปืนออกจากกันและบรรจุไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วนำกระเป๋าติดตัวมาด้วย จึงไม่ใช่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัวในความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ข้อ ๓ และโดยนัยเดียวกันการกระทำของผู้ต้องหาก็ไม่เป็นการพาอาวุธอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ด้วย จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
|