จาก baanbaan IP:180.183.246.198
ศุกร์ที่ , 7/11/2557
เวลา : 16:08
อ่านแล้ว = 535 ครั้ง
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 (ระยะเวลา 7 ปี) วงเงินรวมประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย 5 แผนงานหลักดังนี้
1.แผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง วงเงินประมาณ 6.7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการในการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 17 เส้นทางวงเงินรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ โครงการซ่อมบำรุงรถจักรและรถจักรดีเซลไฟฟ้า โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้าและโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้มีโครงการเร่งด่วนในปี 2557-2558 คือการพัฒนารถไฟทางคู่ แบ่งเป็น โครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยสร้างทางรถไฟเพิ่มขนานไปกับเส้นทางเดิมและใช้รางขนาด 1 เมตร หรือ Meter Gauge จำนวนทั้งสิ้น 6 โครงการ รวมทั้งสิ้น ระยะทาง 887 กิโลเมตร วงเงิน 127,472 ล้านบาท ได้แก่
- เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท
- เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท
- เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท
- เส้นทางมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท
- ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท
- หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท
อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นโครงการวางมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต โดยสร้างเส้นทางคู่ใหม่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ รวมระยะทาง 1,392 กิโลเมตร วงเงิน 741,460 ล้านบาท ได้แก่
- เส้นทางหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท
- เส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท
2.แผนงานการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล วงเงินรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โครงการในแผนงานนี้คือ โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย โดยมีโครงการเร่งด่วนปี 2557-2558 จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างประกวดราคา)
- เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร (พร้อมประกวดราคา)
- เส้นทางแคราย-มีนบุรี 36 กิโลเมตร (พร้อมประกวดราคา)
- เส้นทางลาดพร้าว-พัฒนาการ 30.4 กิโลเมตร (พร้อมประกวดราคา)
ทั้งนี้ได้มีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดสรรเงินลงทุนในปี 2557-2558 ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วนภายใน 30 วัน ส่วนในระยะต่อไป ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้า 8 สาย ระยะทางรวม 116.9 กิโลเมตร ได้แก่
- สายรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างเสนอ EIA ฉบับปรังปรุง)
- สายบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร (พร้อมประกวดราคา)
- แอร์พอร์ตลิงค์ (ARL) ส่วนต่อขยายดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร
(พร้อมประกวดราคา)
- สายบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร (กำลังศึกษาออกแบบ)
- สายจรัญสนิทวงศ์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร (กำลังศึกษาออกแบบ)
- ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างพิจารณา EIA)
- ศิริราช-ตลิ่งชัน ระยะทาง 6 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างพิจารณา EIA)
- สมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร (พร้อมประกวดราคา)
ทั้งนี้ถ้าสร้างเสร็จตามเป้าหมายในปี 2562 จะทำให้ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น 410 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,416 ล้านบาทโครงการก่อสร้างถนนและสะพานใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัว ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก แนวเหนือ-ใต้ และโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
3.แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสู่ประชาคมอาเซียน วงเงินประมาณ 6.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการสร้างโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนการเกษตรและการท่องเที่ยว การสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักและระหว่างฐานการผลิตหลักของประเทศ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา, บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด
รวมทั้งโครงการเชื่อมโยงประตูการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงทางหลวงระหว่างประเทศ โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงชนบท แหล่งผลิตและประตูการค้า และโครงการในกลุ่มการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งถนนและองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า 15 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก เป็นต้น
4.แผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น 20% วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือปากบารา, โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่, โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ เป็นต้น
5.แผนงานการพัฒนาท่าอากาศยาน วงเงินรวมประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย แผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท, การพัฒนาท่าอากาศดอนเมืองระยะที่ 2-3 (2561-2565) แผนพัฒนาท่าอากาศยานท่าอากาศยานภูเก็ต, โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา, โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก และแผนงานเตรียมความพร้อมสู่โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
ซื้อบ้าน-ขายบ้าน-ตกแต่ง-ฮวงจุ้ย-ข้อแนะนำการซื้อบ้านใหม่,มือสอง-รีวิวคอนโด www.home.co.th
|