คำตอบที่ 2
เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่านได้มีการดัดแปลงทำใส่กันอยู่บ้างแล้ว ผมจึงนำไอเดียหลายๆอย่างมาปรับใช้
ระบบเดิม
เครื่องยนต์ 4.0 L เมื่ออยู่ในห้องเครื่อง XJ ทำให้มีพื้นที่ว่าง สำหรับการระบายความร้อนค่อนข้างน้อย เมื่อดูที่หม้อน้ำ จะเห็นว่ามีการแบ่งส่วนการระบายความร้อนเป็น 2 ส่วนที่เกือบจะเท่าๆกัน คือ ส่วนของพัดลมเครื่องกับส่วนของพัดลมแอร์ โดยในส่วนของพัดลมแอร์เดิม จะทำงานที่ speed 1 (เบา) ก็ต่อเมื่อเปิดแอร์+คอมแอร์ทำงาน หากคอมแอร์ตัด พัดลมแอร์ก็จะตัดการทำงานไปด้วย
ฉะนั้นเวลาที่รถติด รอบของพัดลมเครื่องจะน้อย เนื่องเป็นรอบเดินเบา รวมทั้งพัดลมแอร์ก็ยังทำงานบ้าง หยุดบ้างตามจังหวะการทำงานของคอมแอร์ จึงทำให้ความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ(ในกรณีที่รถติดๆ) จนถึงประมาณ 107 องศา เทอร์โมสวิทซ์ที่อยู่ตรงท่อน้ำล่างก็จะต่อวงจรให้ พัดลมแอร์ speed 2 (แรง) เริ่มทำงาน จนเมื่อความร้อนลดลง เจ้าเทอร์โทสวิทซ์ก็จะตัดวงจร ทำให้พัดลมแอร์กลับไปทำงานที่ speed 1 เหมือนเดิม และเมื่อความร้อนถึง 107 อีกครั้ง พัดลมแอร์ก็หมุนที่ speed 2 ทำให้ความร้อนขึ้น ลงหมุนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ และหากพัดลมแอร์ไม่ค่อยดี ความร้อนก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องจอดล่ะครับ
ระบบใหม่
เปลี่ยนใส่พัดลมไฟฟ้าแทนพัดลมเครื่อง
เริ่มแรก เมื่อสตาร์ทเครื่องใหม่ๆ พัดลมไฟฟ้าทั้งสองตัวยังไม่ทำงาน
แต่ถ้าเราเปิดแอร์+คอมแอร์ทำงาน พัดลมแอร์จะทำงานตัวเดียว (โดยบังคับให้ทำงานเป็น speed 2 เพราะเราจะตัดเอาตัวความต้านทาน resistor ออก และต่อตรง โดยใส่ฟิวส์ขนาด 30 แอมป์ คั่นไว้ เหตุผลที่ทำเช่นนี้คือต้องการให้พัดลมแอร์ทำงานที่ speed 2 คือที่แรงที่สุดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ตัวมันสามารถดึงความร้อนจากหม้อน้ำขนาดครึ่งหนึ่งที่ตัวมันรับผิดชอบอยู่ ให้ได้มากที่สุด)
เมื่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์ร้อนจนถึงค่าที่เราต้องการ พัดลมไฟฟ้าทั้งสองตัวก็จะหมุนพร้อมกัน และเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าที่กำหนดพัดลมก็หยุดหมุน โดยการควบคุมผ่านตัวเทอร์โมสวิทซ์ ซึ่งผมเปลี่ยนไปใช้ที่ 86 องศา (เปลี่ยนแทนของเดิม) ซึ่งตัวเทอร์โมสวิทซ์ตัวนี้จะอยู่ที่ท่อน้ำล่าง