คำตอบที่ 109
อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า
สธ.สั่งห้ามนำเข้า บุหรี่ไฟฟ้า ชี้อันตรายสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
สธ.สั่งสกัดกั้นการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ชี้อันตรายสูง เสี่ยงหัวใจวาย ประสานงานศุลกากรคุมเข้มตามด่านชายแดน ฝ่าฝืนมีโทษติดคุกหัวโต
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขแนวชายแดนสกัดการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ชี้เป็นภัยอันตรายเนื่องจากมีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์สูงเท่า เฮโรอีนและโคเคน เสี่ยงหัวใจวายสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่าตัว ชี้ผู้ลักลอบนำเข้ามีความผิดตามกฎหมาย 3 ฉบับ มีโทษจำคุก 510 ปี และปรับหลายหมื่นบาท พร้อมประสานงานกรมศุลกากรคุมเข้มด่านชานแดนทั่วประเทศ หากพบการลักลอบดำเนินการตามกฎหมายทันที
จากกรณีที่มีวัยรุ่นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาบางกลุ่มนำบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบ เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น โดยเด็กสั่งซื้อมาจากอินเตอร์เน็ตในราคามวนละ 2,500 บาท ขายเป็นชุด มีบุหรี่ 1 ตัว และน้ำยาที่ระบุนิโคตินสกัด 1 ขวด และมีหลายกลิ่น เช่นกลิ่นวานิลลา ช็อคโกแล็ต กลิ่นมินต์ กลิ่นผลไม้รวม พร้อมกล่อง สายชาร์จแบตเตอรี่ โดยก่อนสูบบุหรี่จะต้องชาร์จแบ็ตให้เต็ม แล้วนำตัวบุหรี่มาถอด แล้วหยดน้ำยานิโคตินเข้าไป 2-3 หยด จากนั้นนำบุหรี่มาประกอบ เวลาสูบจะมีไฟคล้ายการจุดบุหรี่จริงๆ ปลายบุหรี่มีสีทั้งแดง ส้ม น้ำเงิน แต่ไม่มีความร้อน เมื่อสูบจะมีควันออกมาจากก้นกรองจริงๆ มีกลิ่นหอม
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าววันนี้ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าหรืออี ซิกาแร็ต (E cigarette) นี้ เป็นสินค้าเลียนแบบบุหรี่ ที่ผู้จำหน่ายโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่ แต่พบว่าปริมาณนิโคติน (Nicotine) สูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า นับเป็นภัยตัวใหม่ จึงมีผลเสียต่อผู้ที่สูบ หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวนจะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน แม้ว่าตัวน้ำยานิโคตินจะมีการปรุงแต่งกลิ่นให้หอมเช่นกลิ่นช็อคโกแล็ต กลิ่นผลไม้รวมก็ตาม แต่พิษภัยยังคงมีเหมือนเดิม หากนำไปใช้โดยปราศจากการดูแลของแพทย์ จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ หลายประเทศได้สั่งห้ามการใช้สินค้านี้แล้ว เช่น รัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย บราซิล อิสราเอล จอร์แดน ตุรกี เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่มีผลการวิจัยรองรับว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ จริง
กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใด ที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิการ์แรต หรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ฉบับที่ 2 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขายหรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ฉบับที่ 3 ได้แก่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบบุหรี่ไฟฟ้า ตามด่านชายแดนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การปล่อยให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดผลเสียหลายประการ อย่างแรกคือ ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นบุหรี่ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 2. ทำให้ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วหันมาสูบมากขึ้น เนื่องจากกลิ่นไม่เหม็นรบกวนผู้อื่น และเป็นผลจากการติดนิโคตินอย่างแรง 3. สารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูง เท่ากับเฮโรอีนและโคเคน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และ4.บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณสารนิโคตินได้ แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น แผ่นแปะและหมากฝรั่งนิโคติน ที่มีปริมาณนิโคตินแน่นอน และใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นางพรรณสิริกล่าว
ด้านนายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จับตามาตั้งแต่ปี 2551 โดยบริษัทผลิตบุหรี่แห่งหนึ่งได้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีใบยาสูบแต่มีสารนิโคตินและสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลที่มีลักษณะคล้าย ควันบุหรี่ โดยจะบรรจุในรูปแท่ง ควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว และเทคโนโลยีอะตอม โดยใช้แบตเตอรี่สำหรับอัดไฟไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานเมื่อเจ้าของต้องการสูบ
โดยบุหรี่ดังกล่าวได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว และเตรียมนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จากข้อมูลของบุหรี่ดังกล่าวระบุว่าบรรจุนิโคตินแท่งละ 18 มิลลิกรัม ขณะที่บุหรี่ทั่วไป 1 มวนจะมีนิโคติน 1.2 มิลลิกรัม ซึ่งนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์สูงเท่าเฮโรอีนและโคเคน การสูดสารนิโคตินแต่ละครั้ง ร่างกายจะได้รับนิโคตินประมาณ 50 ไมโครกรัม ซึ่งสารนี้มีพิษร้ายแรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในขณะสูบบุหรี่ระดับนิโคตินในเลือดจะเพิ่มสูงถึง 25-50 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าตัวทั้งผู้ชายและผู้หญิง