คำตอบที่ 680
การปรับปรุงบุคลิกภาพเพื่อสร้างสัมพันธภาพกับสังคม
สังคมไทยเป็นสังคมที่ยังถือความเชื่อดั้งเดิมมาก พฤติกรรมหรือการแสดงออกต่อสิ่งที่รับรู้รับเห็น จากบุคลิกภาพของคนในลักษณะต่าง ๆ เช่น ผมหยิก หน้ากร้อ ก็จะแสดงออกและรับรู้ในลักษณะต่าง ๆ ได้ การอคติต่อรูปธรรมนามธรรมยังคงฝังแน่นต่อลักษณะที่พบเห็นและได้รู้ได้ฟังจึงมีผลต่อพฤติกรรมที่จะแสดงความพึงพอใจหรือไม่พอใจ อย่างไรก็ตามก็หลีกเลี่ยงความเป็นปุถุชนไม่พ้นตามหลักจิตวิทยา กล่าวคือชอบพอสิ่งที่เจริญตาเจริญใจ อคติ4 ที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ อันได้แก่ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัวจึงเป็นสิ่งที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้น
คนไทยชอบลักษณะที่แสดงออกภายนอก (Extrinsic Value) ถือเอาความสะอาดสวยงาม กิริยามารยาทดีงาม หรือลักษณะการเป็นผู้นำที่ดีความพึงพอใจไม่พอใจและการกำหนดพฤติกรรมที่จะปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นผลจากดังกล่าว กว่าจะนึกนิยมชมชอบในอุปนิสัย (Character) ก็ปล่อยให้อคติครอบงำ และเป็นเครื่องรอนความยุติธรรมไปเสียแล้ว
บุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งที่ช่วยในการกำหนดพฤติกรรมและท่าทีของบุคคลอื่น ๆ ต่อตัวเรา ผู้ที่มีบุคลิกภาพดีนับว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์เกื้อกูลในกิจการทั้งปวง ในการคัดเลือกสรรบุคคลเข้าปฏิบัติงาน เพื่อที่จะได้บุคคลและคุณสมบัติที่เหมาะสมนั้น ก็พิจารณาจากองคาพยพของบุคลิกภาพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ความรู้ เชาวน์ปัญญา ความถนัด ความสนใจ นิสัยใจคอ ภูมิหลังหรือสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์จึงควรจะประจักษ์ในเรื่องบุคลิกภาพดังนี้
ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า บุคลิกภาพ (Personality) ว่า หมายถึง คุณลักษณะต่าง ๆ ที่รวมกันในตัวบุคคล ไม่จำเป็นว่าพฤติกรรมหรือคุณลักษณะเหล่านั้น จะต้องดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า บุคลิกภาพคือ บูรณาการ (Integration) อันหนึ่ง ประกอบขึ้นด้วยรูปร่าง ลักษณะ และพฤติกรรมซึ่งเป็นเครื่องส่อนิสัยของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งทำให้คนอื่นกำหนดคุณค่าของคนนั้นด้วยอาเวค และไม่ใช่ด้วยพุทธิปัญญาหรือเชาวน์
นักจิตวิทยาและสังคมวิทยา จึงยอมรับรูปแบบของบุคลิกภาพโดยทั่วไปว่า
นิสัย 1, นิสัย 2, นิสัย 3, นิสัย 4, ............., = บุคลิกภาพ
จากรูปแบบที่แสดงให้เห็น กล่าวโดยสรุปได้ว่า ประสบการณ์ในอดีตตลอดจนการฝึกอบรม การเรียนรู้ของคนเรา กอรปกับความมุ่งหวังแรงจูงใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม พฤติกรรมที่แสดงออกจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างหนึ่งอย่างใดจะมีผลเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมใหม่เสมอ หรือจะกล่าวได้ว่า กรรมหรือการกระทำในอดีตเป็นตัวกำหนดการกระทำในปัจจุบันคล้ายกับความเชื่อเรื่อง โชคชะตา ของคนไทย ที่ว่าชีวิตขึ้นอยู่กับกรรมลิขิตเพราะกรรมเป็นเครื่องบงการมันสมอง มันสมองทำให้เกิดแนวคิด แนวคิดทำให้เกิดนิสัย (นิสัยคือความเคยชินของจิต) นิสัยทำให้เกิดโชคชะตาดีร้าย
บุคลิกภาพกับอุปนิสัย
เมื่อกล่าวถึงบุคลิกภาพ (Personality) บางท่านก็เข้าใจว่า บุคลิกภาพกับอุปนิสัย (Character) เป็นอย่างเดียวกัน จึงขอทำความเข้าใจกันเสียก่อน
อุปนิสัย (Character) มีธรรมชาติเหมือนบุคลิกภาพ แต่กระสวนของการรวมหน่วยของอุปนิสัยไม่มีรูปร่างลักษณะ หากแต่ความรู้สึกเข้าไปแทนบุคลิกภาพไม่จำเป็นต้องตรงกับอุปนิสัยหรือส่อถึง อุปนิสัยแยกออกจากกันไม่ได้ บุคลิกภาพเป็นคุณสมบัติภายนอกซึ่งคนอื่น ๆ เห็นได้จากการที่มีจริตกริยา ท่าทีอย่างนั้นเป็นอาจิณ แต่อุปนิสัยหมายถึงมโนธรรม (Conscience) ที่ประจำอยู่ในจิตใจของแต่ละคนซึ่งใช้ควบคุมพฤติกรรมของตน
คนคนหนึ่งอาจจะมีบุคลิกภาพที่ดีเป็นที่ต้องเนื้อพึงใจของคนทั่วไปแต่ครั้นได้เข้าไปใกล้ ๆ คนนั้นจนเห็นเป็นอุปนิสัยของเขา อาจจะชังเขาอย่างมากได้
ตรงกันข้ามกับอีกคนหนึ่ง อาจบุคลิกภาพไม่ดี พูดจาเงอะงะไม่น่าดูไม่น่าเป็นที่ดึงดูดคนให้เข้าใกล้แต่อาจจะมีอุปนิสัยดี มีความเมตตาอารี มีธรรมเป็นหลักประจำความประพฤติและท่าทีความรู้สึกอยู่เสมอ
ถ้ากล่าวอย่างกว้าง ๆ บุคลิกภาพเป็นนิสัยที่แสดงตัวออกมาเป็นพฤติกรรม ส่วนอุปนิสัยนั้นแสดงตัวอยู่ในความรู้สึกของจิตใจก็ได้
ความสำคัญของบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพของคนเรามีความสำคัญมาก คนจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่ในอาชีพการงานต่าง ๆ ผู้ร่วมงานศรัทธาเชื่อถือ ให้ความเคารพนับถือให้ความร่วมมือ ผู้บังคับบัญชาสนับสนุนพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ก็ดี การสมัครงานก็ดี การพบปะติดต่อกับบุคลลต่าง ๆ นานาชนิดก็ดี แม้กระทั่งการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทั่ว ๆ ไป บุคคลอื่นจะมีความรู้สึกนิยมยกย่องนับถือให้ความรักเอ็นดู เกลียดหรือมีทัศนคติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของเราเอง (ณ ที่นี้หมายรวมไปถึงอุปนิสัยด้วย) บุคลิกภาพของคนที่แสดงออกมามีอิทธิพลต่อผู้พบเห็นคือ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พบเห็น
ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีลักษณะและคุณสมบัติให้เหมาะสมกับงานนั้น นอกจากนั้นก็อาจจะสอบประวัติจากนายจ้างเดิมแม้ในวงราชการถึงแม้จะมีการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ หรือสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนขั้นก็ใช้วิธีการสัมภาษณ์
ในการสัมภาษณ์หรือในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานนั้นก็มุ่งศึกษารายละเอียดแต่ละบุคคล คือ
1. ร่างกาย (Physigue) หมายถึงรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สุขภาพอนามัย น้ำหนัก ความสูง ผมเผ้า การเดินเหิน การแต่งเนื้อแต่งตัว ฯลฯ
2. ความรู้ (Knowledge or attainments) อันได้แก่ ความรู้ทางวิชาสามัญ วิชาชีพ ความรู้พิเศษ ประสบการณ์ในการทำงาน
3. เชาวน์ (Intelligence) คือ ความเฉลียวฉลาด ความรอบคอบไหวพริบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
4. ความสนใจ (Interests) เพื่อทราบความสนใจของแต่ละคนว่า มีความสนใจในเรื่องราวต่าง ๆ มากน้อยเพียงไร เช่น การเมือง กีฬา งานอดิเรก วิชาการที่ตนร่ำเรียนมา ฯลฯ
5. นิสัยใจคอ (Habit or disposition) เป็นคนเอางานเอาการหรือไม่ หนักเอาเบาสู้หรือเปล่า หรือเหลาะแหละ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขี้โมโห ฉุนเฉียว หรือเยือกเย็น
เหล่านี้ล้วนเป็นบุคลิกภาพของคนเรา ถ้าใครบุคลิกภาพดีก็ประสบความสำเร็จในการหางานทำ หรือได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่รวมทั้งประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานอีกด้วย เพราะเข้ากับเพื่อนฝูงได้เป็นอย่างดี การปรับปรุงบุคลิกภาพจึงต้องปรับปรุงบุคลิกภาพทุกชนิดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงแล้ว
สิ่งที่ช่วยให้บุคลิกลักษณะดีและเลว
1. ร่างกาย รูปร่าง หน้าตา ท่าทาง ของคนมีส่วนกำหนดบุคลิกภาพของคนเราได้มาก และมีผลต่อท่าทีที่บุคคลนั้นมีต่อบุคคลอื่น และการที่ผู้อื่นมีต่อตน บางคนรู้สึกว่าหน้าตาตนเองไม่ดีก็ไม่อยากคบหาเพื่อนฝูง บางคนหน้าตาไม่ดีเพื่อนบางคนก็ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ บางครั้งเรามักเชื่อว่า บุคลิกภาพของคนเป็นไปตามลักษณะของร่างกาย เช่น คนหัวล้านใจน้อย คนอ้วนอารมณ์ดี จมูกเชิดแสนงอน เป็นต้น
2. โลหิต มีผลต่อใจคนและกิริยาของคนได้มาก ความเปลี่ยนแปลงโลหิต ซึ่งมีผลมาจากอาหาร เครื่องดื่ม คนที่มีร่างกายขาดวิตามินทำให้อ่อนเพลีย เจ็บไข้ ออด ๆ แอด ๆ ฉุนเฉียวหรือหงุดหงิดง่าย ๆ เป็นต้น
3. ต่อมต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) ถ้าขับฮอร์โมน (Hormone) มากเกินไป ทำให้เป็นคนตกใจง่าย คนอารมณ์อ่อนไหว ถ้าขับฮอร์โมนน้อยไปก็ทำให้เป็นคนง่วงซึม
4. สุขภาพ คนที่มีสุขภาพที่ดี ก็ทำให้จิตใจอารมณ์และการกระทำต่าง ๆ ดีไปด้วย ร่าเริงแจ่มใส ถ้าสุขภาพไม่ดีมักทำให้เฉื่อยชา ดื้อดึงโกรธง่าย และอาจทำให้เกียจคร้านได้
5. สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมนอกจากจะมีอิทธิพลต่อสติปัญญาแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อบุคคลและบุคลิกภาพอย่างมาก เป็นต้นว่ามีอิทธิพลต่ออุดมคติ ทัศนคติ กิริยามารยาท จนทำให้เกิดความแตกต่างของบุคลิกภาพได้ นอกจากนี้ครอบครัวทำให้บุคลิกภาพของคนเปลี่ยนแปลงได้ ยังคงจำกันได้ว่าสมัยก่อนนิยมให้ลูกหลานที่เป็นสตรีเข้าไปอยู่ในรั้วในวังที่เรียกว่า ชาววัง เมื่อบรรดาสตรีเหล่านั้นได้รับการอบรมบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปทั้งกิริยามารยาท การเดินการเหิน การพูดจาก็กลายเป็น ชาววัง ไป
การปรับปรุงบุคลิกภาพ
ได้กล่าวมาแล้วว่า บุคลิกภาพ หมายถึงหลายสิ่งหลายอย่างในตัวตน การจะปรับบุคลิกภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ ต้องปรับปรุงหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันไปเพราะบุคลิกภาพของคนเราย่อมเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่
เวอร์จิเนีย แบลลาร์ด (Virginia Bailard) และรัท สตรังค์ (Ruth Strang) ได้กล่าวถึงวิธีการปรับปรุงบุคลิกภาพไว้ในหนังสือ Ways to improve Your Personality (Mc Graw-Hill, Company. New York; Toronto, London) ดังนี้
1. ถ้าท่านเป็นสมาชิกใหม่ในวงงาน
- จงเข้าหาเพื่อนก่อนที่จะทำให้เพื่อนเข้าหาเรา
- โอภาปราศัย และจงเอาใจใส่ต่อเพื่อนร่วมงานฉันมิตร
- กล่าวสิ่งที่น่าสนใจของเพื่อน อย่ากล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจของตนเอง
- หาโอกาสร่วมงานสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานด้วยความเต็มใจ
2. การสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักของเพื่อนฝูงให้ดีขึ้น
- จงตรวจสอบ และปรับปรุงในส่วนที่ตนเองบกพร่อง
- จงตรวจสอบตัวเองว่ามีส่วนดีอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง
- จงปรับปรุงข้อบกพร่องของตัวอง เช่น ถ้าไม่ชอบออกกำลังกายต้องพยายามเล่นกีฬาต่าง ๆ
- อย่าท้อใจว่าผู้อื่นมองตนในแง่ไม่ดีเสมอ
3. การทำตนเป็นที่พอใจในหมู่เพื่อนฝูง
- จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา
- จงคิดก่อนพูด
- จงคิดถึงเพื่อนทุกคนของท่านในแง่กุศลเสมอ อย่าคิดในแง่อกุศล
- วิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเที่ยงธรรม
4. การสร้างอารมณ์ขัน
- จงมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสนุกขบขัน
- จงสัมพันธ์กับคนที่มีอารมณ์ขัน
- จงพยายามศึกษาว่าวิธีการพูดอย่างไร จึงจะทำให้คนขบขัน
- หมั่นอ่านบทการ์ตูนและขำขันในหนังสือ และหนังสือพิมพ์เสมอ
5. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง
- จงนับหนึ่งถึงสิบเมื่อท่านคิดจะขอร้องให้คนช่วย จงพิจารณาช่วยตนเอง
- จงพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของท่านเอง ถึงแม้จะยากเข็ญอย่างไร
- จงเขียนรายการบางสิ่งบางอย่างที่ท่านไม่กล้าทำตามลำพังคนเดียวและจงพยายามแก้ไข
- พยายามแก้ไขสิ่งที่ท่านไม่กล้าทำคนเดียวและจงทำเมื่อรู้ว่าท่านมีความสามารถอย่างสูงส่งอยู่
6. ถ้าท่านต้องการเพื่อน
- จงคล้อยตาม พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงกันบ้างพอสมควร
- จงช่วยเพื่อนของท่าน เพื่อให้เขาช่วยตัวเองที่สุด
- จงสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เขาช่วยตัวเองมากที่สุด
- จงสร้างความเชื่อมั่น และนับถือความเชื่อมั่นในเพื่อนของท่านเสมอ
- จงเข้าใจในตัวเพื่อน ว่าเพื่อนมีความรู้สึก ความสนใจ และต้องการอะไร
7. การแก้ความรู้สึกอิจฉาริษยาต่อเพื่อนฝูง
- จงทำบางสิ่งบางอย่างที่ท่านทำได้ และจงทำให้ดีที่สุด
- จงสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองโดยคิดถึงผลงานที่ดีเด่นของท่านที่ล่วงมาแล้ว
8. เทคนิคในการครองใจบุคคลอื่น ๆ
- จงแสดงความพอใจต่อเพื่อนฝูง
- จงกระตุ้นให้เขาเกิดความต้องการ
- จงให้การสนับสนุนในสิ่งที่ดีงามแก่เพื่อนของท่าน
- จงฟัง และแสดงว่าท่านเอาใจใส่ต่อเขา
9. ศิลปะบางประการในการสนทนา
- คุยเรื่องที่น่าสนใจ และใคร ๆ ก็สนใจ
- ถึงแม้เขาจะสนุกขบขันกับเรื่องราว และประสบการณ์ของเราเพียงไรก็ตาม จงกล่าวถึงเรื่องราวของเราแต่น้อย
- ให้โอกาสแก่เพื่อนได้พูดบ้าง
- อย่าพยายามอวดฉลาด เท่ห์ หรือตลกเสียคนเดียว
10. การปรังปรุงอุปนิสัยบางอย่าง
- ลดความโกรธของท่านโดยการทำงานบางอย่างที่จะเกิดประโยชน์ แทนที่จะบันดาลโทสะออกมาโดยไร้เหตุผล
- หลีกเลี่ยงการเล่นแบบเด็ก ๆ และการตลกโดยผู้อื่นได้รับความอับอาย
- เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่เล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ
- พูดว่าจะทำอะไรแล้วจงทำในสิ่งนั้น
11. การปรับปรุงสิ่งที่ดีบางอย่าง
- พยายามให้รูปร่าง การแต่งกายของท่านดึงดูดจิตใจแก่ผู้พบเห็น
- จงสนใจบุคคลอื่นให้มากกว่าตัวท่านเอง
- รู้จักกาลเทศะว่า โอกาสไหนควรจะทำอย่างไร
- จงสงบเสงี่ยม ถึงแม้ในเวลาที่ท่านเคอะเขิน
12. การแก้การตื่นเต้นเมื่อท่านต้องการพูดต่อหน้าชุมนุมชน
- ต้องเชื่อมั่นและเข้าใจในเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ค้นคว้ามาแล้ว
- พยายามฝึกหัดพูดมาล่วงหน้าก่อน
- จ้องสายตาไปยังคนที่หนึ่ง แล้วจ้องไปยังบุคคลอื่น ๆ ขณะพูด
- พยายามพูดให้เป็นการคุยกับฟัง อย่าให้เป็นปาฐกถาเกินไป
13. สิ่งที่ต้องจำ เมื่อท่านประสบความล้มเหลว
- ทุกท่านประสบความล้มเหลว และมีโอกาสแก้ตัวเสมอ
- ความล้มเหลวคือบทเรียน
- ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสัมฤทธิผลไปหมด
- ทุก ๆ คนจะต้องทำงานบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นให้สัมฤทธิผล
14. ทัศนคติที่ดีจะสร้างความพึงพอใจในการทำงาน
- จงทำให้มากกว่าที่ท่านคาดหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ
- จงให้ความร่วมมือในการทำงาน ถ้าท่านได้รับคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน
- จงสนใจในงานของผู้อื่นบ้างพอสมควร
15. ทัศนคติที่ดีย่อมสร้างความสุขใจในการแต่งงาน
- อ่านตำรับเพื่อหาความรู้ ความเข้าใจในชีวิตสมรส
- หางานอดิเรก กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายชอบมาร่วมทำกัน
- ต้องระลึกเสมอว่า การแต่งงาน คือการให้และการรับระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
- ต้องมีความรักนับถือ เห็นอกเห็นใจ และรับผิดชอบร่วมกัน
ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ ก็พอจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงบุคลิกภาพของท่านให้ดีขึ้น มีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้นกับบุคคลทุก ๆ คนในวงงาน ในวงสมาคม แต่ก็มิอาจกล่าวให้หมดได้ ถึงกระนั้นก็เชื่อแน่ว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นลู่ทางในการปรับปรุงบุคลิกภาพได้พอสมควร พร้อมกันนี้ขอเสนอแนวทางปฏิบัติซึ่งบางท่านได้วางหลักการไว้ ดังนี้
1. รักษาอนามัยของร่างกายและจิตใจให้ดีเลิศอยู่เสมอ
2. ทำจิตใจให้ผาสุก อดทน ร่วมมือกับทุกคนในบ้าน เริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วเป็นสามี ภรรยา แล้วเป็นพ่อเป็นแม่
3. ทำจิตใจให้ผาสุก อดทน ร่วมมือกับทุกคนในเรื่องเกี่ยวกับประเพณี มารยาท และการศาสนา
4. ทำจิตใจให้ผาสุก อดทน และร่วมมือกับสังคม รัฐ ชาติ และโลก
5. ทำจิตใจให้ผาสุก อดทน และร่วมมือกับผู้ร่วมงาน ให้มีรายได้อันสมควรและออมไว้บ้าง
6. ทำจิตใจให้ผาสุก อดทน ร่วมมือกับผู้อื่นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการออกกำลังกาย
7. ความคิดวิตกกังวลที่ไม่เป็นมงคล จงขับไล่ไสส่งไปเสียให้เป็นประโยชน์ในการออกกำลังกาย
8. การอิจฉาริษยาผู้อื่น คือ การสุมไฟในอกตัวเอง
9. ขยายขอบเขตความสนใจให้กว้างขวางอยู่เสมอ
10. จดจำบุญคุณของผู้อื่นไว้ มีความกตัญญู ทำตัวให้เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น และคิดถึงแต่สิ่งที่ดีในอนาคต
11. สร้างนิสัยที่ไม่ลำเอียงเดียดฉันท์ ยอมเชื่อฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่ยอมเชื่อว่าตนเองแก่เกินไปที่จะเรียนรู้
แฟรงค์ เอ แวนเดอร์ลิป ประธานธนาคารแนชันนัล ซิตี้ แห่งนิวยอร์ค กล่าวว่า คุณลักษณะประการหนึ่งในบุคคลซึ่งเขาพิจารณาก่อนสิ่งอื่นในการจ้างมาทำงานขั้นรายได้ปีละ 25,000 เหรียญก็คือ บุคลิกลักษณะ วอลเตอร์ เอส กิฟฟอร์ค ผู้ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากเสมียนจ่ายเงินเดือน สู่ตำแหน่งประธานบริษัท อเมริกัน เทลีโฟน แอนด์เทลีกราฟ ผู้ถือว่า บุคลิกลักษณะ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่พามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จ แวนเดอร์ลิป กิฟฟอร์ด และมอร์กัน ถือว่า บุคลิกลักษณะ เป็นขุมทรัพย์ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ เนื่องจากมันมีพลังชนะใจผู้อื่นให้รักชอบและกระตุ้นให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา
มีบุคคลหลายท่านที่ประสบความสำเร็จเพราะบุคลิกลักษณะ นอกจาก ดไวท์ มอร์โรว์ ผู้ซึ่งอดีตเป็นเสมียนในสำนักงานทนายความ แต่กลับพุ่งพรวดขึ้นไปสู่ฐานะสำคัญในทางธุรกิจและการเมืองของอเมริกา
การสร้างบุคลิกลักษณะที่ดีให้กับตนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ หากมีบุคคลลักษณะดีก็จะเป็นที่ชื่นชอบแก่ใคร ๆ ที่คบหาสัมพันธ์ด้วย แอนดรู อาร์เนกี ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอันยิ่งใหญ่ของอเมริกา ได้ถือเอาบุคลิกลักษณะเป็นความสำคัญสิ่งแรกที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ
การเป็นบุคคลที่ชื่นชมยินดีของบุคคลอื่น ๆ นั้น ต้องประกอบด้วยสมบัติหลายประการ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้เข้าถึงจิตใจคน
2. มีจุดมุ่งหมายอันแน่นอน ทำอะไรก็ทำจริงจัง
3. มีการแต่งกายที่เหมาะสม
4. มีท่าทีและกิริยาอาการเคลื่อนไหวที่ดี
5. น้ำเสียงนุ่มนวลชวนฟัง
6. มีความสัตย์ซื่อต่อความตั้งใจ
7. รู้จักใช้ถ้อยคำพูดเหมาะกับกาลเทศะ เหมาะแก่ผู้ฟัง
8. เป็นคนคงเส้นคงวา
9. มีอารมณ์ขัน
10. ไม่เห็นแก่ตนมากเกินไป
11. แสดงสีหน้าเป็นมิตรกับคนทั่ว ๆ ไป
12. นึกคิดไปแต่ในส่วนที่ดี
13. มีความกระตือรือร้น
14. มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรงดี
15. มีปฏิภาณไหวพริบ
16. มีศิลปในการคบหาสมาคมกับคน และเพื่อนร่วมงาน
17. มีความรู้รอบตัวดี
18. เป็นนักฟังที่ดี
19. มีศิลปในการพูด พูดด้วยความจริงใจ
20. มีศิลปดึงดูดจิตใจผู้พบเห็น
จากคุณสมบัติ 20 ประการนี้ ลองตรวจสอบดูว่า ท่านขาดอะไรบ้างก็จงพยายามปรับปรุงแก้ไข ถ้าหากพยายามปรับปรุงผลที่จะได้รับการตอบแทนมีมาก ตัวท่านก็จะมีคุณค่ายิ่งขึ้น
การแต่งกายเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ
การเป็นผู้มีบุคลิกลักษณะที่ดีจะต้องรู้จักศิลปในการแต่งกายเพื่อเพิ่มบุคลิกลักษณะ ใคร ๆ ก็วินิจฉัยท่าน โดยอาศัยการแต่งกายของตัวท่าน
ลองนึกถึงความจริงสิ่งหนึ่ง ขณะที่ท่านซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ กระป๋อง ขวด กล่อง และห่อ ท่านจะต้องดูปกและฉลากสินค้าก่อนเสมอ
การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ จึงมีความสำคัญยิ่ง อย่าเปิดโอกาสให้ใคร ๆ พูดถึงท่านในฐานะบาดตาจนมองไม่เห็นตัวท่าน เช่น
ทาปากแดงเหมือนนกแก้ว
ทาปากเห็นแต่ปาก
หน้าขาวเหมือนตกลงไปในกระด้งแป้ง เหล่านี้
ลอร์ด เชล์เตอร์ฟิล กล่าวว่า
แต่งตัวเรียบร้อยเมื่อผู้อื่นแต่งตัวเรียบร้อย แต่งตัวเรียบ ๆ เมื่อผู้อื่นแต่งตัวเรียบ ๆ
เครื่องแต่งตัวของท่านบอกผู้อื่นว่า ท่านเป็นคนหยาบคาย เมตตากรุณา ขาดการอบรม ไม่มีระเบียบ เลินเล่อ กล้าหาญ ชอบความสงบ ก้าวร้าว สุขุม รอบคอบ อวดดี สงบเสงี่ยม หรือเป็นผู้มีวัฒนธรรม
เครื่องแต่งกายสามารถเปลี่ยนความรู้สึกได้ เวลาใดที่ท่านแต่งตัวไม่เรียบร้อยท่านจะขาดความภาคภูมิ ผิดกับเวลาท่านแต่งตัวดี ท่านจะรู้สึกผึ่งผาย ผู้แต่งตัวไม่ระมัดระวังย่อมส่อมารยาท
ผู้แต่งตัวระมัดระวัง หมายถึงระมัดระวังมารยาทและความคิด
ผมเผ้ายุ่งเหยิงจิตใจก็ยุ่งเหยิง
รองเท้าไม่เป็นเงา มีความหมายว่า ท่านไม่มีความสุข ไม่รื่นเริง บุคลิกลักษณะท่านหม่นหมอง
เท้าของท่านดำสกปรก เพราะนิสัยของท่าน
การแต่งตัวเรียบร้อยไม่ได้หมายถึง การใช้เสื้อผ้าราคาแพง แต่หมายถึงแต่งตัวอย่างประณีตด้วยเสื้อผ้าธรรมดา ๆ ได้รูปทรงพอเหมาะ และสะอาดหมดจด
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ก็จริง แต่มิได้หมายความว่าจะต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีราคาแพง ทำผมจากร้านแพง ๆ หรือสวมรองเท้าแบบใหม่เอี่ยม การแต่งกายให้งามหมายถึง การแต่งกายให้เหมาะสมตามกาลเทศะต่างหาก จะทำให้คนยกย่องชื่นชม ไม่ใช่แต่งตัวจนเป็นเครื่องสำอางเคลื่อนที่ พิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกายเคลื่อนที่
ความสะอาดเป็นข้อแรกในการแต่งกาย ตั้งแต่เส้นผม ฟัน เสื้อผ้า เล็บเท้า ต้องได้รับความเอาใจใส่โดยสม่ำเสมอ เลือกแบบเสื้อให้เหมาะสมกับตัว ตัดเย็บให้ได้รูป อย่ารุ่มร่ามและไม่นิยมแบบที่นำอยู่ได้สมัยเดียว ควรเลือกซื้อแบบผ้าเรียบ ๆ อยู่ในความนิยมได้นาน
ผู้หญิงที่ดีต้องรู้จักซ่อมแซมสิ่งของของตน ซึ่งนับรวมอยู่ในเสื้อผ้าด้วย
การเลือกสีผ้าให้เหมาะสมกับสีของผิว สีของผ้า ลวดลายของผ้าแสดงถึงรสนิยมอุปนิสัยใจคอของคน
การพยายามทำตัวให้แลดูสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความนับถือ น่าเลื่อมใส
สตรีบางคนมีความเห็นว่า การแต่งกายให้หรูหราที่ตนเข้าใจว่าทันสมัยนั่นแหละ เป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาเอาใจใส่จ้องดูตน อาจจะมีหวังในการงาน แต่ที่จริงผู้บังคับบัญชาก็เป็นผู้บังคับบัญชา ย่อมถือเอาการงานเป็นใหญ่เสมอ ที่ผู้บังคับบัญชาดูตนอาจจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นก็ได้
คนที่พยายามแต่งตัวอย่างมาก มักไม่ค่อยจะทราบงาน การแต่งกายเรียบร้อยสุภาพทั้งหญิงทั้งชายย่อมอำนวยผลดีกว่า ยิ่งกว่านั้นการแต่งตัวหรูย่อมเป็นเหตุให้ผู้อื่นและผู้บังคับบัญชาเห็นนิสัย ทราบการอบรมแต่อดีต อาจจะเป็นเหตุให้หย่อนความไว้วางใจ การหรูหรามีประโยชน์อย่างเดียว คือ อวดผู้อื่น ตบตาผู้อื่นเท่านั้น เครื่องแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยเป็นเครื่องเพิ่มความนิยมหวังผลได้มาก การฉูดฉาดบาดตาหรือเครื่องแต่งกายที่ขาดวิ่นทรุดโทรมไม่เรียบร้อยเป็นเครื่องแสดงความฟุ้งเฟ้อและไม่มีระเบียบ
อนึ่ง มักจะพบเห็นว่าไม่เหมาะสมอยู่บ่อย ๆ คือการแต่งกายเมื่อไปในงานต่าง ๆ เช่น งานศพ พิธีต่าง ๆ ทางศาสนา ไปในวัดวาอาราม ไปสมัครงาน ที่เห็นความสำคัญของการแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ แต่งเรียบร้อย สะอาดแต่พองามดีที่สุด ถ้าเป็นผู้หญิงก็อย่าประเดสวมใส่อาภรณ์ลงไปให้มาก ส่วนผู้ชายที่พบเห็นว่าไม่เหมาะสมก็คือ ใส่เสื้อแขนยาวพับแขนไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเรามักพบเห็นบ่อย ๆ ว่าในการสมัครทำงาน บุคคลที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้หน้าตาไม่ดีแต่งกายถูกกาลเทศะไม่ฉูดฉาด เรียบร้อย สะอาดเป็นสิ่งที่ต้องการ สำหรับผู้ชายก็เช่นกัน บางคนผมเผ้ารุงรัง ใต้หูมีขี้ไคล เล็บมือดำเป็นสิ่งที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง
บุคคลในวงงานถ้าจะแบ่งแยกออกไปมีอยู่ 4 กลุ่ม ด้วยกันคือ
(1)กลุ่มข้างบน คือ ผู้บังคับบัญชาเหนือเราทุกระดับ ถ้าเป็นหัวหน้างานก็หมายถึงหัวหน้างานขั้นสูงขึ้นไป
(2)กลุ่มข้างล่าง คือ ใต้ผู้บังคับบัญชาของเรารวมตลอดไปถึงคนงาน คนยามเฝ้าประตู
(3)กลุ่มข้างขวา คือ เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่เสมอกับเรา
(4)กลุ่มข้างซ้าย คือ ประชาชน ลูกค้าที่มาติดต่อที่เราปกครองหรือรักหรือรับใช้เขา
ดังนั้น การที่จะเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี หรือเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ต้องเข้ากับบุคคลทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าวแล้ว เพราะ
1. ถ้าเข้ากับผู้บังคับบัญชาได้ ผู้บังคับบัญชาจะไว้วางใจเราและสนับสนุนการงานของเรา เราสบายใจได้ไม่กลัวจะถูกคอยจับผิด ผู้บังคับบัญชาไม่ระแวง แต่เราระวัง
2. ถ้าเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ หรือคนที่เสมอกับเราได้เขาจะช่วยงานของเราได้ผลและไม่เป็นศัตรูกับเรา เราจะสบายใจ เมื่อผู้บังคับบัญชาดึงเพื่อนร่วมงานดัน จ้ำจี้จ้ำไช ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราวางใจได้ทำให้เรารักคนรักงานได้
3. ถ้าเข้ากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบุคคลผู้ต้องช่วยเหลือเราในการดำเนินงานให้สำเร็จได้ โดยได้รับความเคารพนับถือเป็นที่ยกย่องก็จะทำให้อยู่ในที่ทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่จ้ำจี้จ้ำไชทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราวางใจได้ ทำให้เรารักคนรักงานได้
4. ถ้าเข้ากับประชาชน ลูกค้าผู้มาติดต่อได้ เขาจะเป็นมิตรของเราช่วยทำงานบางอย่างให้เราได้ เช่น ช่วยโฆษณาความดีของเรา งานของเราหรือสรรเสริญเยินยอ เขาช่วยเราได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
ถ้าเราเข้ากับคนทั้ง 4 กลุ่มนี้ได้ จะทำอะไรก็ได้ผลดี มีความสบายในการปฏิบัติงานตัวเราก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าอยู่ที่คนทั้ง 4 กลุ่มนี้
ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรคนทั้ง 4 กลุ่มจึงจะชอบเรา ไม่เกลียดเรา เป็นพวกเรา
วิธีการนั้นมีอยู่หลายอย่างมากนักทั้ง เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม เข้าฝูงหงส์เป็นหงส์ เข้าฝูงกาเป็นกา ล้วนต้องประกอบด้วย จิตวิทยา มนุษยสัมพันธ์ วัฒนธรรม ประเพณี กิริยามารยาท บุคลิกภาพหลักในทางพุทธศาสนา ได้มีผู้เสนอไว้เป็นข้อ ๆ ในการปฏิบัติงาน และจะขอเสนอไว้เป็นแนวทางปฏิบัติงานดังนี้
วิธีทำให้ผู้บังคับบัญชาชอบ
1.ทำงานให้ดี หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ ประจบได้แต่อย่าสอพลอ
2.ช่วยให้ความคิด คือ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้ผล
3.ไม่ควร ครับ หรือ ไม่ ตลอดไป จนเสียประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน
4.อย่าก่อกวนศัตรูให้กวนใจผู้บังคับบัญชา
5.เรียนนิสัยการทำงานของผู้บังคับบัญชา
6.อย่ารบกวนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จุก ๆ จิก ๆ
7.จะเข้าหาให้ดูเวลาและโอกาสที่เหมาะสม
8.อย่านินทาลับหลัง (ต่อหน้าละครับผม)
9.ประเมินตัวเองเสียบ้าง (อย่าเข้าข้างตัว)
-เงินเดือนขึ้น ไม่ขึ้นเพราะอะไร
-ถูกถามความเห็นบ้างไหม ?
-ได้รับการสนับสนุน ยกย่อง ชมเชย บ้างไหม
-ถูกตำหนิบ้างหรือเปล่า เรื่องอะไร
-มีความรู้เกี่ยวกับตัวหัวหน้า และครอบครัวดีเพียงไหน
10.อย่าแสดงความโกรธเมื่อผู้บังคับบัญชาไม่เห็นด้วยกับท่าน เพราะท่านอาจผิดและไม่ละเอียดรอบคอบเพียงพอ
11.เมื่อท่านดีต่อเรา ต้องหาทางแสดงความกตัญญูและกตเวทิตาคุณ
12.อย่าบ่นถึงความลำบากในการทำงานต่อผู้บังคับบัญชา เพราะเท่ากับอ้างว่าไม่มีเวลาเพียงเพื่อจะได้อยู่เฉย ๆ เท่านั้น
เทคนิคของการเข้ากับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน
1.เข้าหาเขาก่อน
2.มีความจริงใจต่อเขา
3.หลีกเลี่ยงการนินทาเขา
4.อย่าซัดทอดความผิดให้เขา
5.ยกย่องชมเชยเขาในกรณีที่สมควร
6.ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจเสมอ
7.แจ้งให้เขาทราบโดยด่วนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ
8.ฟังความเห็นเขาบ้าง
9.หลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือเขา
10.เสมอต้นเสมอปลาย
11.สรรเสริญเขาในโอกาสอันควร
12.หลีกเลี่ยงการขอร้องหยุมหยิม
13.พบปะสังสรรค์กันตามสมควร
เทคนิคการบำรุงรักษาน้ำใจผู้ใต้บังคับบัญชา
1.รู้จักคุมอารมณ์ตัวเอง
อย่าหลงตัวเองว่า ตัวเองเก่งกว่าคนอื่น
อย่าโมโหฉุนเฉียว
อย่าใช้อำนาจเกินความจำเป็น
อย่าตัดสินใจเวลาโกรธ
อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง
2.เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ยกย่องเมื่อเขาปฏิบัติดี
อย่าจู้จี้จุกจิก
เอาใจใส่ในความยากลำบากในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
มีความจริงใจ และเห็นอกเห็นใจ
3.รู้จักให้รางวัลล่อใจ
4.รู้จักศิลปของการวิพากษ์วิจารณ์
อย่าวิพากษ์วิจารณ์ใครต่อหน้าคนอื่น
ควรทำในที่ลับตาตัวต่อตัว
พูดเรื่องดีก่อน ของเสียตำหนิภายหลัง
หลีกเลี่ยงการตำหนิอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย
ให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็น
เคารพความคิดเห็นของเขา
วิพากษ์วิจารณ์โดยอาการสุภาพ
แนะนำภายหลัง
5.รู้จักศิลปของการฟัง
ฟังคนอื่นมาก
อย่าพูดมาก
อย่าขัดจังหวะหรือโต้แย้งก่อนจบเรื่องของเขา
แสดงความเอาใจใส่ในการฟัง
ฟังให้มากเป็นพิเศษ เมื่อจะกระทำสิ่งใดที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของเขา
6.ชี้แจงความเคลื่อนไหวในวงงาน
ชี้แจงนโยบาย แผนงาน ปัญหาต่าง ๆ ให้กระจ่างทันเหตุการณ์
อย่าให้เขารู้สึกว่านายเท่านั้นควรรู้ ลูกน้องไม่มีความสำคัญอย่างใด
อย่าปล่อยให้เก็บเรื่องราวจากข่าวลือ
หาคำตอบที่ถูกต้องมาทำความเข้าใจเมื่อเขาข้องใจ
ชี้แจงเหตุผลให้เขาทราบ ในเมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามความเห็นเขาได้
7.รักษาผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา
เอาใจใส่ผลประโยชน์ของเขา
ปูนบำเหน็จเลื่อนขั้นฐานะให้ผู้ที่สมควร
สนับสนุนผู้มีความสามารถอย่ากดไว้
ควรปรับปรุงตัวเองเสียบ้าง
1.ยอมรับผิดหรือข้อบกพร่อง เมื่อผิดหรือบกพร่อง
2.ปรับปรุงความรู้ ความชำนาญ เปลี่ยนทัศนคติให้ทันกับงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
3.ปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ประชาชน ลูกค้าและคนเสมอกันได้
4.ส่งเสริมความสามัคคี ร่วมมือ ระหว่างคนใต้บังคับบัญชาและอื่น ๆ
5.มีใจรัก เอาใจใส่ในหน้าที่