คำตอบที่ 1051
ศาลไม่รับไต่สวนระงับก่อสร้าง76รง.มาบตาพุด
แกนนำชาวบ้านเขตมาบตาพุด ยกคำขอไต่สวนฉุกเฉิน ให้ระงับการก่อสร้าง 76 โครงการ แต่ศาลไม่รับ เหตุผู้ฟ้องมีข้อมูลไม่ครบถ้วน
ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เวลา 10.30 น.- นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายน้ำภาคตะวันออก จ.ระยอง พร้อมด้วยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองจำนวน 43 คน ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง ไต่สวนฉุกเฉินในคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมใด ทั้ง 76 โครงการที่ผ่านความเห็นชอบเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 เป็นต้นมา ซึ่งจะก่อสร้างในเขต อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาต่อไป
หลังจากเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ รับมอบอำนาจ ในฐานะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน , สมาคมสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พม.) , นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงพลังงาน, นายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม, นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ถกฟ้องที่ 1-8 เรื่อง เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
จากการที่ร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไปดำเนินการก่อสร้างหรือขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียง ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือกระทำการโดยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ 3 ประการ คือไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน , กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่ง คือ จ.ระยอง รวมทั้งต้องจัดให้มีองค์กรอิสระด้วยสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินการ
อย่างไรดี เมื่อเวลา 13.30 น. นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายน้ำภาคตะวันออก จ.ระยอง เปิดเผยว่า หลังจากที่ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากผู้ฟ้องยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการจัดตั้งโรงานทั้ง 76 โครงการไม่ครบถ้วนว่าจะเริ่ม และสิ้นสุดเมื่อใด ขณะที่ศาลต้องการให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเห็นชอบอนุญาตทั้ง 76 โครงการด้วย จึงเห็นว่ากรณียังไม่เป็นเรื่องฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตามศาลยังจะคงให้มีการไต่สวนคู่ความทั้ง2ฝ่าย เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลจะให้ทั้งสองฝ่ายยื่นข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป
นายสุทธิ กล่าวด้วยว่า หากการดำเนินการทางกฎหมายที่ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องคดีตามช่องทางกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นผลแล้ว ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะทำการชุมนุมใหญ่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ชาวบ้าน จ.ระยอง ไม่ได้ต้องการขัดขวางการลงทุน แต่อยากให้การลงทุนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางการเคลื่อนไหวที่วางไว้เห็นว่า อาจต้องมีปิดล้อมท่าเรือและนิคมอุสาหกรรม รวมถึงโรงงานที่จะเปิดใหม่ เพื่อส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายได้ทราบว่า ปัญหามลพิษในจังหวัดยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และอาจจะเป็นปัญหาระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา 1.ขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่ง ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ หรือ เลขาธิการสำนักงาน สผ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2 เพิกถอนรายงานการประเมิน หรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาทั้งหมด และขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
เนื่องจากในวันที่ 9 ก.ย.นี้ มีข่าวว่า เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะทำการชุมนุมใหญ่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งอาจจะมีการปิดล้อมในสถานที่ ดังต่อไปนี้
1. ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง
2. การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
3. บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด
4. โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)