จาก เขียว IP:203.155.212.88
จันทร์ที่ , 11/4/2548
เวลา : 15:18
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
1 มกราคม อันเป็นวันปีใหม่สากลของคนทั้งโลกเพิ่งผ่านพ้นไป แต่วันปีใหม่ของเราชาวอุษาคเนย์อันหมายความถึงชาวมอญ พม่า เขมร ลาว รวมถึงชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆ ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของจีน อินเดียและพม่า เช่น ไทลื้อ ไทคำตี่ ไทเขิน กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 เมษายน หรือ "วันสงกรานต์" นั่นเอง
ในยุคนี้ พุทธศักราชนี้ หากเอ่ยถึงคำว่าสงกรานต์ขึ้นมาเมื่อไหร่คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไปถึงแต่การนั่งรถกระบะตระเวนไปรอบเมืองแล้วกระดกเหล้าเข้าปากไปพลาง สาดน้ำรถกระบะคันข้างๆ ไปพลาง บ้างก็คอยจ้องแต่จะประแป้งสาวๆ บ้างก็คอยคิดแต่จะหาวิธีเล่นน้ำแบบสุดพิสดารมานำเสนอให้ต่างชาติที่มาร่วมงานได้ตื่นเต้นตกใจ ทั้งน้ำแช่น้ำแข็งสาดแล้วเย็นถึงใจ บ้างก็สรรหาแป้งซึ่งบางครั้งก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นแป้งร่ำ ดินสอพองหรือปูนซีเมนต์ ผสมสีทาบ้านบ้าง สีย้อมผ้าบ้างแต่ขอให้มีป้ายหน้า ป้ายตาให้เกิดสีสันรับกับหน้าร้อนที่สดใสเป็นพอ
สงกรานต์กำลังจะเปลี่ยนไป สงกรานต์กำลังจะเปลี่ยนจากวันปีใหม่ไทยเป็น "วันสงครามน้ำแห่งชาติ" อย่างล่าสุดเว็บไซต์ MTHAI.COM ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ "คุณคิดว่าสิ่งใดคือสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์" ผลปรากฏว่าร้อยละ36.8 คิดถึงคนเล่นน้ำ ร้อยละ 28.3 คิดถึงน้ำ ส่วนที่เหลือนึกถึงแต่อุปกรณ์เล่นน้ำไม่ว่าจะเป็น ปืนฉีดน้ำ ขันน้ำ สายยาง แป้งหอม น้ำอบ ดอกไม้ รวมทั้งนางสงกรานต์ด้วย แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าแท้จริงแล้วความหมายของวันสงกรานต์คืออะไร เหตุใดตามตำนานต้องมีนางสงกรานต์ เหตุใดคนโบราณต้องขนทรายเข้าวัด เหตุใดต้องมีวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก และเหตุใดจึงใช้น้ำเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ของวันนี้???
"คนเดี๋ยวนี้เขาไม่รู้จักวันสงกรานต์กันจริงๆ หรอก เขารู้จักแต่วันสาดน้ำ อย่างงานสงกรานต์มอญที่เขามีแห่น้ำหวาน แห่ข้าวแช่ กวนกะละแม คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยเข้าร่วมมีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้น คนเดี๋ยวนี้เขาไปทำงานทำการกันหมด คนแต่ก่อนไม่ได้เรียนเลยไม่ได้ไปไหนไกลทำงานอยู่แถวบ้านถึงปีใหม่ทีก็เลยว่างมาช่วยกันทำของไปวัด คนเดี๋ยวนี้มีความรู้ จบปริญญากันหมดเลยต้องไปทำงานไกลๆ ไม่ว่างมานั่งกวนกะละแมเข้าวัดอยู่หรอก" คุณยายเชาวลิ เกตุกาย ชาวมอญที่เกาะเกร็ดเล่าด้วยน้ำเสียงตัดพ้อถึงความเปลี่ยนไปของสงกรานต์
ตำนานวันสงกรานต์
หากพูดถึงตำนานวันสงกรานต์เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะขมวดคิ้วด้วยความสงสัย แต่สำหรับบางคนที่เติบโตมาพร้อมกับนิทานก่อนนอนของคุณตา คุณยาย ก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง ตำนานของวันสงกรานต์นี้มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธผสมผสานกัน โดยตามตำนานได้กล่าวขานไว้ว่า...
มีบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานก นอกจากนั้นยังมีความสามารถเรียนจบไตรเภทซึ่งถือเป็นตำราวิชาการ เป็นคัมภีร์ของศาสนาอินดูประกอบด้วยฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จากนั้นก็ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวงซึ่งในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมแล้วในบรรดาท้าวมหาพรหมก็มีกบิลพรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้แสดงมงคลทั้งปวงแก่มนุษย์เช่นกัน เมื่อท้าวกบิลพรหมทราบว่าธรรมบาลกุมารเป็นผู้ให้มงคลแก่มนุษย์ก็อยากจะตรวจสอบว่าธรรมบาลกุมารผู้นี้มีความรู้จริงหรือไม่ จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยสัญญาไว้ว่าถ้าธรรมบาลกุมารตอบปัญหาได้ท้าวกบิลพรหมจะตัดเศียรตัวเองบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ตนจะตัดศีรษะของธรรมบาลกุมารเสีย โดยคำถามมีอยู่ว่าตอนเช้าราศีอยู่แห่งใด ตอนเที่ยงราศีอยู่ที่ใด และตอนค่ำราศีอยู่ที่ใด ธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จึงขอผลัดไปก่อน 7วัน ครั้นล่วงไปได้ 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาลคู่ซึ่งเป็นต้นตาลที่ขึ้นคู่กัน 2 ต้น
บนต้นตาลนั้นยังมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมีย ทำรังอาศัยอยู่ ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า "พรุ่งนี้จะได้อาหารจากแห่งใด" สามีจึงตอบว่า "จะได้กินศพธรรมบาลกุมารซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ได้" นางนกจึงถามสามีต่อไปว่าปัญหานั้นเป็นอย่างไร สามีจึงบอกไปว่า "ท้าวกบิลพรหมถามว่าตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ตอนกลางวันราศีอยู่ที่ไหน ตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน" นางนกจึงถามต่อว่า "แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร" สามีนกอินทรีย์จึงตอบว่า "เราตอบได้ เรารู้ว่าตอนเช้าราศีจะอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนเวลาค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า"
พอรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็ตอบไปตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสว่าคำตอบนั้นถูกแล้ว และทำตามสัจจะที่ให้ไว้คือตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารแต่ก่อนที่จะตัดเศียรท้าวกบิลพรหมได้เรียกลูกสาวซึ่งเป็นเทพธิดาทั้ง 7 อันเป็นบริจาริกาของพระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่า "เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าทิ้งไว้ในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง" จึงให้เทพธิดาทั้ง 7 เอาพานมารับศีรษะ แล้วจึงตัดศีรษะส่งให้ธิดาคนโต นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้วแห่ทำประทักษิณ คือเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ รอบหนึ่งใช้เวลา 60 นาที จากนั้นก็อัญเชิญพระเศียรของบิดาไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลี เขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ และเมื่อถึงกำหนดครบ 365 วัน ก็จะให้เทพธิดาทั้ง 7 ผลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแห่เวียนขวารอบเขาพระสุเมรุเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เป็นบิดาอีกครา
ตำนานวันสงกรานต์ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางคนถึงกับเล่าได้ตั้งแต่ต้นยันจบ แต่ก็ไม่เคยได้ตั้งคำถามกลับไปที่เรื่องราวเหล่านั้นว่าทำไมคนแต่เก่าก่อน จึงเพียรถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือทำไมคุณทวดของเราจึงพยายามธำรงวัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ให้ตกทอดสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน แต่กลายเป็นว่าคนรุ่นลูก รุ่นหลานพยายามจะแปลงโฉมสิ่งดีงามเหล่านี้ให้สมกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์โดยมองข้ามความหมายที่ถูกแอบซ่อนอย่างแยบคายอยู่ในตำนานและเรื่องราวเหล่านั้น
เผยปริศนาจากจารึก
สำหรับความหมายที่แอบซ่อนอยู่ในตำนานวันสงกรานต์นั้นรศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง ได้เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่ท่านยังจัดรายการวรรณกรรมสองแคว ของคลื่นวิทยุ107.25 ซึ่งเป็นสถานีของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในตอนที่100 เรื่อง "วรรณกรรมวันสงกรานต์" โดยครั้งนั้นอาจารย์ประจักษ์ได้ให้แนวคิดซึ่งนำมาจากตำนานวันสงกรานต์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน อย่างในเรื่องที่ธิดาของท้าวกบิลพรหมแห่แหนรอบจักรวาลนั้นเป็นการบอกว่าชีวิตคนเรานั้นผันแปรอยู่เสมอ ให้เห็นถึงวัฏจักรของชีวิตเพราะในปีหนึ่งเศียรของท้าวกบิลพรหมจะวนรอบจักรวาลครั้งหนึ่ง การวนครบรอบจักรวาลในหนึ่งครั้งย่อมเห็นถึงความผันแปรของฤดูต่างๆ เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ก็ไม่ต่างจากชีวิตคนเราที่มีหนาว มีร้อน แล้วก็มีฝน ซึ่งในทางจิตใจ คนเราก็มีทั้ง ร้อนใจได้ เย็นใจได้ ชุ่มใจได้
"วัฏจักรอย่างนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นในรอบปีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นเสมอในชีวิตของเรา ไม่มีใครหรอกครับที่จะร้อนใจตลอดปี แล้วก็ไม่มีใครหรอกครับที่จะสุขใจตลอดปียกเว้นเข้าสู่นิพพานแล้วจึงจะพ้นวัฏจักรนี้ เชื่อเถอะว่าถ้ามีทุกข์วันนี้ก็อาจจะมีสุขได้ในวันต่อไป จะไม่มีอะไรอยู่คงทนตลอดไป จะมีทุกข์ทั้งปีเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะแม้แต่ฤดูยังผันแปรเป็นร้อน เป็นหนาว เป็นฝน ชีวิตก็จะต้องผ่านอย่างนั้น หลายคนบอกว่าฉันผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะแล้วก็แปลว่ามีทุกข์มีโศก มีสุขมาเยอะแล้ว " อาจารย์ประจักษ์กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่าในวันสงกรานต์เศียรของท้าวกบิลพรหมจะถูกนำออกมาแห่อีกรอบทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้กลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง
การแห่เศียรของท้าวกบิลพรหมไปรอบเขาพระสุเมรุยังเป็นการประกาศว่าพระพรหมเป็นผู้ที่รักษาวาจาสัตย์เป็นอย่างยิ่ง ลั่นวาจาไว้อย่างไรก็ทำได้อย่างนั้น แม้แต่พระวิษณุกรรมก็มาเนรมิตแก้ว 7 ประการไว้ในถ้ำคันธุลี แล้วให้ถ้ำนี้เป็นที่ประชุมของเทวดาซึ่งเวลาที่เทวดามาประชุมก็จะกล่าวแต่วาจาสัตย์ รวมทั้งรักษาสัจวาจาโดยใช้เศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจ แต่ไปๆ มาๆ คนรุ่นหลังก็ไม่ได้ใช้ตำนานเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจอย่างที่คนแต่ก่อนตั้งใจไว้ รู้เพียงนี่เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา รู้เพียงท้าวกบิลพรหมแพ้พนันจึงถูกตัดหัว รู้เพียงธรรมบาลกุมารเป็นคนเก่งเรียนจบตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่การรับรู้แต่ไม่มีการซึมซับ ไม่มีการถอดรหัสสิ่งที่ได้รู้มา และที่สำคัญคือไม่มีการหันกลับมามองตัวเองทั้งๆ ที่ปีใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น อย่างน้อยก็ควรจะรู้ว่าผ่านมาหนึ่งปีเราเคยรักษาสัตย์ และทำตามสัจวาจาที่เคยพูดไว้มากน้อยแค่ไหน....
คุณค่าของสงกรานต์
สำหรับการรดน้ำ หรือการสาดน้ำในวันสงกรานต์นั้นไม่ได้เป็นเพียงการละเล่นเพื่อดับร้อนเพียงเท่านั้น จริงอยู่ว่าน้ำช่วยให้ความร้อนในเดือนเมษายนคลายลงได้ ซึ่งไม่ต่างไปจากชีวิตคนเราถ้ามันร้อนนักก็สามารถแก้ได้เสมอ น้ำโดยปกติจะไม่มีรูปร่างที่คงที่ ถ้าไปอยู่ในภาชนะรูปทรงใดก็จะผันแปรไปตามภาชนะนั้นๆ อยู่ในถ้วยรูปร่างก็เป็นถ้วย อยู่ในขวดรูปร่างก็เป็นขวด
"เหล่านี้ล้วนเป็นความสอดคล้องต้องกัน ไม่ขัดแย้งทางอารมณ์ ไม่ขัดแย้งทางร่างกายเหมือนน้ำ นี่คือความสุข หากมีทุกข์ก็จะสามารถแก้ได้เองไม่ต้องไปวิตกให้มันมาก ฉะนั้นให้เบิกบานไว้ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง ต้องคิดว่าการแก้ปัญหานั้นทำได้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่เรียกว่าปัญหาเหมือนอย่างธรรมบาลกุมารที่คิดไป6 วันก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จะมีทางออก" " อาจารย์ประจักษ์กล่าวพร้อมทั้งทิ้งท้ายให้เราได้ขบคิดว่า "การรดน้ำ สาดน้ำ หรือตำนานวันสงกรานต์ล้วนเป็นปริศนาธรรมที่สำคัญสำหรับชีวิต คนรุ่นก่อนจึงได้เพียรถ่ายทอดให้เราได้สืบต่อ"
ประเพณีสงกรานต์นอกจากจะมีความงดงามทางวัฒนธรรมแล้วสายน้ำที่ประพรมใส่กันในวันนี้ยังเปรียบเหมือนสายใยที่เรียงร้อยให้ทุกคนได้กลับมารวมกันเพื่อแสดงความเอื้ออาทรต่อกันอีกครั้ง ทั้งคนในครอบครัวที่ต่างก็มารวมตัวกันเพื่อรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ บังสุกุลผู้ที่ล่วงลับ ทั้งคนในชุมชนที่กลับมาทำบุญทำทาน ร่วมกันขนทรายเข้าวัดอันแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนที่นับวันจะลดน้อยถอยลงให้กลับมามีพลัง และน้ำที่สาดใส่กันยังเป็นสายใยเชื่อมโยงภาพอดีตกับปัจจุบันที่กำลังจะก้าวห่างออกจากกันให้กลับมาใกล้กันได้อีกครั้ง
วัฒนธรรมมิได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง วัฒนธรรมเป็นของคนไทยทั้งชาติ วัฒนธรรมเปี่ยมด้วยความงดงามและในขณะเดียวกันวัฒนธรรมก็เปี่ยมไปด้วยความหมาย ในยุคโลกไร้พรมแดนวัฒนธรรมต่างก็ต้องมีการผสมผสานทั้งเก่าและใหม่ สิ่งใหม่ทยอยเข้ามาแต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเก่าจะต้องหายไป อย่างที่กล่าวไว้ วัฒนธรรมเป็นของคนไทยทั้งชาติแต่หากคนทั้งชาติไม่ร่วมกันดูแลและสืบสาน สักวันสิ่งเก่าที่มีคุณค่าเหล่านี้ก็คงจะเลือนหายไปเป็นแน่.....
|