คำตอบที่ 4
อีกบทความครับ.... ตามนั้น..
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากการที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นประมาณ 6,681,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการปลี่ยนแปลงในทางที่ถดถอยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และจากรายงานการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พบว่า ผู้สูงอายุซึ่งมีอายุระหว่าง 60-75 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคปวดข้อ (ข้อเสื่อม) ซึ่งโรคข้อเสื่อมเป็นสาเหตุอันดับแรกของการปวดข้อในผู้สูงอายุและพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยโรคดังกล่าวเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะในเพศหญิงคิดเป็นจำนวน 117,963 ปี สำหรับเพศชายคิดเป็น 93,749 ปี และเป็นอันดับที่ 16 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในเพศชาย
สำหรับโรคข้อเสื่อมเกิดจากความเสื่อมในข้อ โดยการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อฝืด มีปุ่มกระดูกงอกบริเวณข้อ การทำงานของข้อเสียไป ระยะการเคลื่อนไหวของข้อลดลง และทำให้ข้อผิดรูปและพิการในที่สุด ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อเข่า ข้อกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวและกระดูกสันหลังคอ ข้อนิ้วมือส่วนปลาย ข้อกลางนิ้วมือ ข้อโคนหัวแม่มือต่อกับข้อมือ ข้อโคนหัวแม่เท้า และข้อสะโพก โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อไม่สามารถระบุตำแหน่งชัดเจนได้และปวดเรื้อรัง เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้มีอาการปวดตลอดเวลาหรือปวดในช่วงกลางคืนร่วมด้วย ซึ่งการยึดติดของข้อหลังตื่นนอนในตอนเช้าไม่ควรเกิน 30 นาที จึงจะถือว่าเป็นโรคข้อเสื่อม นอกจากนี้ ยังทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบากเป็นภาระต่อตนเอง ผู้อื่น ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านคุณภาพชีวิตและจิตใจตามมาอีกด้วย
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคข้อเสื่อมสามารถทำได้หลายทาง ซึ่ง เป้าหมายของการรักษามุ่งที่จะรักษาและบรรเทาอาการปวด แก้ไขและคงสภาพการทำงานของข้อให้ปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ป้องกันและชะลอภาวะแทรกซ้อน โดยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ ทั้งนี้ การรักษาข้อเสื่อมโดยการไม่ใช้ยาก็สามารถทำได้ โดยการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลให้มีความเข้าใจในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค การลดน้ำหนัก กายภาพบำบัดและอาชีวบำบัด และการออกกำลังกาย ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ การอบอุ่นร่างกาย (Warm up) ประมาณ 5 10 นาที การออกกำลังกายจริงจัง (Exercise) ประมาณ 20 30 นาที การทำให้ร่างกายเย็นลง ( Cool down ) ประมาณ 5 10 นาที ซึ่งผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น ว่ายน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน โดยการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ควรนานติดต่อกันครั้งละ 20 30 นาที สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายควรเริ่มทำครั้งละน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่อย่าหักโหม น้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ทั้งนี้การออกกำลังกายนับว่าเป็นยาวิเศษขนานแท้ เพราะทำให้เกิดความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและมวลกระดูก การเคลื่อนไหวของข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อที่มีผลต่อความอ่อนตัว