คำตอบที่ 3
อาการปวดเข่าเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง แต่ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มักเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ซึ่งเป็นการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติแต่ช้าเร็วไม่เท่ากันในแต่ละคน
อาการสำคัญ
1. ปวดหัวเข่า และมีอาการเมื่อย ตึงที่น่องและใต้ข้อพับ
2. หัวเข่าบวม
3. เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ไม่เต็มที่ งอ และเหยียดไม่สุด
4. เวลาเคลื่อนไหวข้อจะมีเสียงดัง
5. อาจมีการผิดรูปของข้อเข่า เช่นเข่าโค้งงอ
อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ในระยะแรกมักจะเป็นๆหายๆแต่เมื่อเป็นมากขึ้น ก็จะมีอาการปวดรุนแรงขึ้นและปวดตลอดเวลา
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์ เพราะในหัวเข่าของคนสูงอายุทั่วไปเมื่อถ่ายเอ็กซเรย์ก็จะพบว่ามีช่องว่างของข้อเข่าแคบลงและมีหินปูนจับอยู่ตามขอบของข้อได้โดยที่ไม่มีอาการผิคปกติแต่อย่างไร
การรักษา
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดแต่สามารถชลอความเสื่อมให้ช้าลงได้ทำให้อาการดีขึ้น ไม่ปวดทรมานและสามารถช่วยเหลือตัวเอง ใช้ชีวิตอยู่อย่างคนปกติทั่วไปได้ซึ่งมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
- การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมลงมากขึ้นได้แก่การลดน้ำหนักตัว อย่าให้น้ำหนักมากเกินไป หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆนั่งพับเพียบคุกเข่า ขัดสมาธิ หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หลีกเลี่ยงการยืนท่าเดียวนานๆ
- การออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังที่ไม่มีการลงน้ำหนักที่เข่ามากนักได้แก่การเดินเร็ว การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ การบริหารกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า
มีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยหัวเข่าเราโดยการออกกำลังกายเอ็นและกล้ามเนื้อรอบเข่า นั่งลงบนเก้าอี้ที่ความสูงปกติ เตะขาไปข้างหน้าช้าๆจนตึง จะกระดกปลายเท้าเข้าหาตัวก็ได้ด้วย ค้างไว้สัก 1-2 วินาที ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง ทำบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆเข่า ซึ่งจะช่วยพยุงเข่าเรา ได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุไม่ควรละเลยในเรื่องนี้
- การใช้ยาแก้ปวด และลดอาการอักเสบของข้อ แต่ต้องระวังเพราะยาในกลุ่มนี้มักจะมีฤทธิ์รบกวนเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทะลุได้
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยลดอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรง
- สุดท้าย...การผ่าตัด
ได้รับคำแนะนำโดยหมอ ออโธปิดิกส์