จาก trek000 IP:203.148.176.209
จันทร์ที่ , 15/12/2546
เวลา : 08:43
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
เส้นทางชีวิต วัชรพงษ์ ดารกานนท์ สิงห์ธุรกิจ..เสือภูเขา
Friday, December 12, 2003
โดยMGR ONLINE
ในแวดวงนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงขณะนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า หนึ่งในบุคคลที่น่าจับตามองนั่น ย่อมมีชื่อของ วัชรพงษ์ ดารกานนท์ หรือคุณหมอก ทายาทของตระกูล "ดารกานนท์" รวมอยู่ด้วยซึ่งปัจจุบัน วัชรพงษ์ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและกรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ที่มีธุรกิจมากมายหลายแขนง โดยเขารับผิดชอบในส่วนของอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอและธุรกิจรองเท้าภายใต้แบรนด์ "ดีแมค" (D-maQ) ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น "ปฐมบท" ของผู้บริหารเลือดใหม่อย่างเขา
"ค่อนข้างเป็นงานที่หนักครับ" วัชรพงษ์ เปิดฉากการสนทนาพร้อมยอมรับถึงเนื้องานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจสิ่งทอที่เจ้าตัวถือว่าเป็นมือใหม่ และยังต้องเรียนรู้อีกมาก
ทั้งนี้ แม้งานที่ทำอยู่จะต้องมีความรับผิดชอบสูง และเต็มไปด้วยความเครียด เพราะต้องคิดงานด้านการบริหารอยู่ตลอด ว่าทำอย่างไรธุรกิจจึงจะเติบโตก้าวหน้า แถมยังมีพนักงานในความดูแลมากกว่าสามพันคน
หากแต่ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เจ้าตัวยังไม่ปฏิเสธที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุดกับงานอดิเรกหลายๆ อย่างที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น สร้างเครื่องบินบังคับวิทยุ เล่นเรือใบ ว่ายน้ำ การขี่จักรยานเสือภูเขา โดยเฉพาะอย่างหลัง (การขี่จักรยานเสือภูเขา) ดูจะเป็นกิจกรรมที่เขาให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
"ปกติเป็นผมจะเป็นคนที่ชอบรับประทาน โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนฝูง ผมจะเป็นมือวางอันดับหนึ่งเลย คือทานมากที่สุด" วัชรพงษ์ ให้เหตุผลที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการกิจกรรมสุดโปรดในวันพักผ่อน แต่จริงๆ แล้วกับมีผลต่อกันโดยตรง นั่นก็คือ เรื่องของรูปร่างและสุขภาพ
"ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกที่จะขี่จักรยาน เพราะต้องการการออกกำลังกาย และสามารถเผาผลาญพลังงานได้มาก ในเวลา เดียวกัน การขี่จักรยานก็ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติและไม่จำเจ ที่สำคัญเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับครอบครัวได้ด้วย"
ย้อนเวลากลับไป ปฐมบทแรกของประสบการณ์การขี่จักรยานของวัชรพงษ์ ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ โดยเขาเริ่มสัมผัสความท้าทายของจักรยานเมื่ออายุ 5 ขวบ
"ตื่นเต้นมาก" วัชรพงษ์ ยังจำความรู้สึกครั้งนั้นได้ดี
เวลานั้นเขามีสภาพไม่ต่างไปจากลูกนกที่กำลังหัดบิน โดยเริ่มจากการใช้ขาไถจักรยานคันเก่งไปมาๆ โดยทำแบบนี้อยู่เพียงไม่กี่วันจนเริ่มจับจุดและคุ้นเคยกับจักรยาน วัชรพงษ์จึงขยับสู่ขั้นตอนของการขี่จริงๆ
"เชื่อมั้ยว่า วันแรกที่ขี่จักรยานได้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของผมพอดี" วัชรพงษ์ ย้ำความทรงจำอีกครั้ง เพราะมันเป็นวันแรกและวันสุดท้ายสำหรับความตั้งใจที่อยากจะหัดขี่จักรยานของเขา
"ด้วยความที่ผมคงดีใจมากไปหน่อย ก็เลยขี่ค่อนข้างเร็ว แต่ลืมไปว่าตัวเองยังขี่ไม่แข็ง ก็เลยพลาดล้มหน้าไปครูดกับพื้นถนน ต้องทายาอยู่หลายอาทิตย์"
จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วัชรพงษ์ถึงกับไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะใบหน้าที่เต็มไปด้วยบาดแผล แถมยังบอกกับตัวเองอีกว่า "จะไม่ขี่จักรอีกต่อไป"
แต่นั่นก็เป็นเพียงความรู้สึกของเด็กวัย 5 ขวบ ที่ย่อมต้องเข็ดและกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา โดยหลังจากนั้นอีก 5 ปี (อายุ 11 ปี) วัชรพงษ์จึงหันมาหัดขี่จักรยานอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทำท่าว่าจะไปได้สวยกว่าเมื่ออดีตที่ผ่านมา ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้น
"พอเริ่มจะขี่เป็น ก็เกิดอุบัติเหตุอีก โดยผมขี่ไปชนกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่บริษัท แล้วตัวเองก็ตกจากจักรยาน เป็นแผลยาวตลอดหน้าแข้ง ต้องใส่ยาอยู่เป็นอาทิตย์อีกเหมือนกัน" วัชรพงษ์ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ แต่นั่นก็ทำให้เขาต้องหยุดความตั้งใจเดิม (ขี่จักรยาน) ไประยะเวลาหนึ่ง
กระทั่งอีก 1 ปีถัดมา จึงเริ่มกลับมาหัดขี่อีกครั้งพร้อมรอยแผลเป็นบริเวณหน้าแข้ง ที่กลายเป็นเครื่องย้ำเตือนตัวเอง ว่าจะต้องใจเย็นและมีความระมัดระวังให้มากขึ้น พร้อม พัฒนาฝีมือการขี่จนดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีจักรยานที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพี่ชาย (บวรรัตน์ ดารกานนท์) เป็นพาหนะคู่กาย
จนเมื่อบินลัดฟ้าไปเรียนต่อที่อเมริกา วัชรพงษ์จึงมีโอกาสได้สัมผัสคำว่า "เจ้าของ" เป็นครั้งแรก เมื่อเขาตัดสินใจทุบกระปุกซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง
"จักรยานก็เหมือนอุปกรณ์กีฬาทุกประเภท คือยิ่งเบายิ่งประหยัดพลังงานของผู้เล่นหรือผู้ขี่ เพราะทำมาจากวัสดุที่เบาแต่แข็งแรงมาก เช่น Taitanium, Aor craft grade Aluminium, Carbon fiber หรือพวก composite material ประเภทอื่นๆ ทำให้ขี่ได้เร็วขึ้น นานขึ้น ที่สำคัญทำให้เราสามารถขี่ร่วมกับผู้อื่นที่อายุน้อยกว่าได้ง่ายขึ้น" วัชรพงษ์ อธิบายถึงคุณสมบัติของจักรยานที่ดี และสามารถใช้มันได้อย่างคุ้มค่าด้วยการขี่ตระเวณไปรอบๆ เมืองที่อยู่
"บางครั้งผมขี่ไปจนถึงสะพานโกลล์เดนต์เกต และก็วนกลับมาที่พัก" เจ้าตัวกล่าวเสริมกลั้วเสียงหัวเราะ เพราะครั้งนั้นระยะทางที่เขาขี่รวมแล้วกว่า 30 กิโลเมตร ซึ่งเคล็ดไม่ลับในการขี่จักรยานของเขาก็คือ จะเลือกขี่ในวันที่อากาศดี และแดดดี
"ตอนนั้นในอเมริกาการขี่จักรยานยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนในยุโรป ผมจึงมักจะขี่คนเดียว แต่ก็ต้องคอยระวังท่อน้ำ เพราะช่องตะแกรงของท่อน้ำที่นั่นจะพอดีกับล้อรถเลย ซึ่งค่อนข้างอันตรายพอสมควร"
หลังเรียนจบ วัชรพงษ์บินลัดฟ้ากลับเมืองไทยพร้อมเข้าช่วยงานในธุรกิจของตระกูล ซึ่งแม้จะต้องเรียนรู้และรับผิดชอบงานมากมาย หากแต่เขากลับไม่เคยทิ้งการขี่จักรยานซึ่งถือเป็นกิจกรรมโปรด แถมยังเพิ่มความท้าทายด้วยการเปลี่ยนจากการขี่จักรยานเสือหมอบมาเป็นจักรยานเสือภูเขา ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยถึงเสน่ห์ของการขี่จักรยานชนิดนี้ ว่าสามารถไปได้ในทุกสภาพภูมิประเทศโดยไม่มีขีดจำกัด และทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ดังเช่นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เขาและครอบครัว พร้อมเพื่อนๆ ในกลุ่ม "Weekend Hobby" ต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง บนระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร เพื่อขี่จักรยานขึ้นไปท้าลมหนาวบนยอดเขาเขียว ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของภาคกลาง
"เสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ คือเราสามารถไปได้ในทุกพื้นที่ ทุกสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น บนภูเขา ชายทะเล ในป่า ทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งการขี่จักรยานไม่จำเป็นต้องขี่อยู่บนถนน
"และเวลาเราขี่กันเป็นกลุ่ม เวลาที่ใครเริ่มขี่ช้า ก็จะมีล้อกันบ้างว่า หมดแรงแล้วเหรอ เร่งหน่อยๆ ไม่ฟิตเลย หรือบางทีก็ท้าบ้างว่า ใครขี่ไม่ถึงยอดเขาเป็น...อะไรก็ว่ากันไป ล้อกันตามประสาผู้ชายแบบมีทะลึ่งบ้างนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการขี่"
ทั้งนี้ ระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร สู่ยอดภูเขียว ไม่ใช่ระยะทางไกลที่สุดที่วัชรพงษ์เคยขี่ หากแต่สถิติการขี่จักรยานไกลที่สุดของเขาอยู่ที่ 80 กิโลเมตร โดยใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง
"สำหรับผมจริงๆ แล้วเรื่องสถิติไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราได้ระหว่างการเดินทางนั้นสำคัญกว่า" วัชรพงษ์ พยายาม จะบอกเล่าถึงคุณค่าของประสบการณ์ที่ได้รับ ว่านอกจากจะได้ความสนุกสนาน พบปะเพื่อนฝูงหลายๆ วงการแล้ว ยังทำให้ได้พบปะกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป ได้รับรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และได้สุขภาพที่ดี
"ในกลุ่มเพื่อนที่ขี่จักรยานด้วยกัน มีพี่คนหนึ่งที่เป็นไวรัสตับอักเสบ และมีน้องอีกคนหนึ่งที่เป็นต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ แต่พอเขาเริ่มมาขี่จักรยาน สุขภาพก็ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ ไม่ต้องไปหาหมออีก
"แต่การขี่จักรยานเสือภูเขา มีข้อควรระวังคือ ความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ จึงไม่ควรประมาท"
คำว่า "ความเสี่ยงและไม่ควรประมาท" ในที่นี้ของวัชรพงษ์ ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การขี่จักรยานหรือเล่มกีฬาอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงวิธีคิดและการบริหารธุรกิจของเขาอีกด้วย เช่น เมื่อครั้งที่เขาต้องตัดสินใจในเรื่องของการสั่งเครื่องจักรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาใช้ในโรงงาน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมูลค่านับพันล้านบาท เขาก็ได้นำแง่คิดจากการขี่จักรยานมาพินิจพิเคราะห์ ด้วยการนำความเสี่ยงมาพิจารณาควบคู่กับความสามารถของตนเอง ผนวกกับบทเรียนในอดีต มาประเมินผลได้ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
ทุกวันนี้ เขาจะใช้เวลาว่างของทุกวันอาทิตย์ในการขี่จักรยาน โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะต้องขี่จักรยานให้ได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรต่อเดือน และหากเป็นไปได้ก็อยากขี่จักรยานไปจนถึงอายุ 60 ปี
"ผมหวังว่า วันหนึ่งจะได้ขี่จักรยานทริปยาวๆ กับลูกชาย เพราะตอนนี้เขาสามารถขี่ได้ระยะทาง 30 กิโลเมตรในทริปเดียวแล้ว" วัชรพงษ์ ทิ้งท้ายถึงเป้าหมายสูงสุดนอกเหนือจากการบริหารธุรกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทให้เจริญเติบโตเช่นคนรุ่นพ่อที่ได้ปูรากฐานเอาไว้
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
http://www.manager.co.th/weekly/viewNews.asp?newsid=2000000045420
|