จาก นายแป๊ะ[15] IP:203.148.176.195
อังคารที่ , 10/4/2544
เวลา : 08:47
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
จากทริปถ้ำประทุนครั้งที่แล้ว 31 มีนาคม 44 กลุ่มของเรามีสมาชิกได้รับอุบัติเหตุ ที่ดูแล้วค่อนข้างรุนแรงมาก จากการเล่าของผู้ที่เห็นการณ์ ขณะที่ มีการล้มแล้วศีรษะลงไปกระแทกอย่างเร็ว จนผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ ต้องนอนราบกับพื้นไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ ทีแรกเราก็ตกใจ นึกว่าคงต้องมีอาการสาหัส ขนาด กระดูกคอ หรือ สมองได้รับความกระเทือน แต่หลังจาก ที่ได้รับการตรวจจากนายแพทย์ รพ. สมิติเวช แล้วผลปรากฏว่า แค่กระดูกคอ ช้ำเล็กน้อย แต่เมื่อเราไปดูหมวกกันน้อค ที่สมาชิกผู้ได้รับอุบัติเหตุใส่อยู่นั้น สภาพที่เห็นคือ หมวกแตกร้าวไปทั้งลูก หลายคนที่ไม่เข้าใจอาจจะคิดว่าที่หมวกแตกแสดงว่าหมวกไม่ดี แต่อันที่จริงแล้ว นั่นเป็นการเข้าใจผิด เพราะหมวกกันน้อค ถูกออกแบบมาให้ทำงานเช่นนั้นเอง พอดีผมได้อ่านเจอเกี่ยวกับเรื่องหมวกกันน้อคเลยเอามาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ
--------------------------------------------------------------------
องค์การนิรภัยสากลแห่งสหรัฐฯ ได้ทำการวิจัยออกมาแล้วพบว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักปั่นที่รอบคอบหรือเป็นสุดยอดนักปั่นเพียงใด เมื่อคุณปั่นจักรยานได้โดยเฉลี่ย 4500 ไมล์ คุณจะต้องล้มวัดพื้นอย่างน้อยก็ 1-2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่าในสหรัฐฯ นั้นมีประชากรที่ต้องตายด้วยอุบัติเหตุจากการปั่นจักรยานบวกกับรถยนต์ หรือสิ่งกีดขวางอื่นประมาณปีละ 800 กว่ารายและ 75 เปอร์เซนต์ ของ 800 รายนั้นได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และร้อยละ 80 ของอุบัติเหตุที่เกิดที่ศีรษะนั้น ถ้าหากสวมหมวกกันน้อค จะทำให้ผ่อนหนักกลายเป็นเบาได้ หรืออาจจะไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เลยแม้แต่น้อย
-----------------------------------------------------------------------
หมวกกันน้อคช่วยเราได้อย่างไร หลักการของมันก็คือ มันจะต้องลดแรงที่มากระทำกับศีรษะได้อย่างเฉียบพลัน สิ่งที่มาประกอบเป็นชั้นรับแรงนั้น จะต้องมีความแข็งพอที่จะป้องกันศีรษะของผู้สวมใส่ได้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ต้องสามารถดูดซับแรงกระแทกที่มากระทำกับศีรษะได้เหมือนกัน ( นี่เป็นเหตุผลที่หมวกกันน้อคที่ได้รับแรงกระแทกแรง ๆ จะแตกออก ) ในปัจจุบันวัสดุที่นิยมใช้มาทำหมวกกันน้อค คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่า โฟม ชนิดที่มีชื่อทางการค้าว่า Expanded Polystyrene (EPS) ซึ่งเป็นโฟมแบบเดียวกับที่อยู่ในกระติกน้ำแข็งนั่นเอง และวัสดุที่ช่วยให้หมวกมีความกระชับกับศีรษะนั้น ก็คือฟองน้ำนั่นเอง นอกจากก็ยังมีโฟมอีกสองสามชนิดที่นิยมนำมาใช้ทำหมวกกันน้อคได้แก่ Expanded Polypropylyne (EPP), Expanded polyuretene (EPU) ตัวนี้จะใช้กับหมวกกันน้อคที่ผลิตในไต้หวัน ซึ่งก็มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับ EPS จึงถือได้ว่าได้ระดับมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ในชั้นนอกยังมีการเคลือบพลาสติกบาง ๆ อย่าง โพลี่คาบอเนทหุ้มเป็นเปลือกชั้นนอกอยู่ ไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่เพื่อให้หมวกมีความลื่น เพื่อให้มันมีการแฉลบ เมื่อมีการกระแทก อันเป็นลดแรงปะทะ โดยการหักเหทิศทางของแรงไม่ให้กระแทกใส่ศีรษะตรง ๆ
------------------------------------------------------------------------
การสวมใส่หมวกันน้อคที่ดีและถูกต้องนั้น จะต้องให้หมวกอยู่ติดกับศีรษะของผู้สวมใส่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ปั่นอยู่ หรือในขณะที่เสียหลักล้มแล้วศีรษะกระแทกพื้น ดังนั้น ผู้ใส่จะต้องจัดรัดสายรัดใต้คางให้มั่นคง แข็งแรง โดยที่หมวกต้องได้ระดับที่พอดี ไม่เอนไปข้างหน้า ข้างหลังหรือซ้ายขวา
-----------------------------------------------------------------------
มาตรฐานของหมวกกันน้อค ในสหรัฐฯ นั้นจะใช้มาตรฐาน CPSC (US Consumer Product Safty Commission) หรืออาจจะเทียบได้กับอีกมาตรฐานหนึ่งก็คือ ASTM, SNELL B-95 และ N94 ส่วนมาตรฐาน ANSI Z90.4 นั้น ไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะยังไม่ปลอดภัยพอกับศีรษะของเรา
-------------------------------------------------------------------
เมื่อใดควรเปลี่ยนหมวกกันน้อค ตามมาตรฐานองค์กรนิรภัยสากลได้กำหนดให้เปลี่ยนเมื่อมันได้รับแรงกระแทกไปแล้วอย่างหนักเพียงครั้งเดียว หรือบางยี่ห้อก็จะระบุว่าให้เปลี่ยนเมื่อใช้ไปแล้วครบ 5 ปี ถึงแม้นหมวกจะไม่ได้รับแรงกระแทกอย่างหนัก เนื่องจากโฟมอาจเสื่อมสภาพจนไม่อาจให้ความปลอดภัยกับศีรษะได้ หรือ หรือเมื่อดูแล้วสภาพแล้วเห็นว่าไม่ปลอดภัย เช่น สายรัดคางชำรุด โฟมเปื่อยยุ่ย ก็ควรเปลี่ยนหมวกทันที
----------------------------------------------------------------
คัดย่อจาก Sports Street ฉบับที่ 40 เดือน พ.ย. 43 Riding Technique โดย คุณ คูการ์
-----------------------------------------------------------------------
|