จาก tinang IP:203.156.171.253
พฤหัสบดีที่ , 28/8/2551
เวลา : 09:13
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
http://www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=4544
กระทรวงทรัพย์ ฯ เปิดเอกชนเช่า10อุทยานแห่งชาติ สัมปทาน 30 ปี สร้างโรงแรม-รีสอร์ทครบวงจร
22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 08:09:00
กระทรวงทรัพยากรฯ เปิดแผนดึงเอกชนสัมปทานพื้นที่ 10 อุทยานแห่งชาติยอดนิยม ระยะเวลา 30 ปี เผยให้บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวครบวงจรทั้งร้านค้า ที่พัก วงในระบุมีนักธุรกิจหลายรายวิ่งขอพื้นที่หมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ เขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ เกาะลันตา ทั้งยังบีบให้ลดราคาจาก ตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน เหลือ 3 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ออกมาประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดบริการ ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีนักธุรกิจหลายรายเสนอแผนจัดการอุทยานแห่งชาติ ที่ต้องการบริหารมายังกรม โดยส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปบริหารพื้นที่อุทยานฯ ที่ทำรายได้ดีอยู่แล้ว อาทิเช่น เขาใหญ่ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ อีกทั้งยังพยายามให้กรมลดราคาค่าเช่าลง
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติกำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน แต่เอกชนมองว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป และต่อรองให้ลดราคาลงเหลือแค่ตารางเมตรละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งการต่อรองราคาดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเปิดประมูลอย่างเป็นทางการ
สำหรับแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการ ได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นหลายข้อ อาทิเช่น จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึก รีสอร์ท โรงแรม โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี มีเงื่อนไขว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปลูกป่าเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการกำหนดสัญญาลักษณะเดียวกับที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเช่าพื้นที่บริเวณแยกลาดพร้าว
ชี้ต้องการมืออาชีพบริหาร
นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานการท่องเที่ยวและการลงทุนดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรมได้วางหลักการเบื้องต้นให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการให้การบริการพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ดูแลรับผิดชอบ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพและยั่งยืน ประเด็นทางสังคม ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม และประเด็นเศรษฐกิจ ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่
"กรมอุทยานฯ ต้องการให้มืออาชีพเข้ามาบริหารพื้นที่บริการ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ นักธุรกิจขนาดใหญ่ หรือขนาดกลาง โดยกรมจะแบ่งพื้นที่ของอุทยานฯ เป็นกลุ่มๆ คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลาง และกลุ่มทั่วไป เพื่อเปิดให้มีตัวเลือกหลากหลาย ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงธรรมชาติ"
ถกระเบียบเอกชนเช่าสัปดาห์หน้า
นายวิชิต กล่าวต่อว่า กรณีที่กลัวว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานเข้าดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ จะเข้าไปทำลายธรรมชาติและป่านั้น คิดว่าขณะนี้ความคิดของนักธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นักธุรกิจยึดถือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพราะกระแสโลกกระแสสังคมกำลังให้ความสำคัญเรื่องนี้
ดังนั้น การจะไปสร้างขยะ ตัดต้นไม้ เอกชนคงทำไม่ได้ และอุทยานจะวางกรอบระเบียบให้ดำเนินการตามความเหมาะสม โดยในสัปดาห์หน้า นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสรุปแผนการจัดการก่อนจะเปิดให้เอกชนประมูล
ส่วนที่มีการเข้าใจว่า แผนงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะความจริงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และไม่ได้ทำเพื่อรองรับการปรับแก้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ
"แผนการนี้ เป็นการคิดภายใต้ระเบียบเก่า ที่เปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ และต้องการขยายเขตพื้นที่บริการในอุทยานฯ ต่างๆ ที่มีความพร้อม เพื่อกระจายการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว"
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การให้สัมปทานเอกชนเข้าบริหารจัดการในพื้นที่อุทยานฯ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยต่างประเทศหลายประเทศมีการดำเนินการรูปแบบนี้มานานแล้ว และเป็นไปตามโครงงานการจัดการพื้นที่คุ้มครองตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพที่มี 191 ประเทศเป็นสมาชิก
การจัดดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อหาเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนไปบริหารจัดการพื้นที่ป่า เพราะงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศภาคีควรทำในเรื่องนี้ภายในปี 2010 สำหรับไทย UNDP ได้ให้งบเกือบ 3 ล้านบาท จ้างผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาเรื่องนี้แล้ว และจะสรุปผลปลายปีนี้ จากนั้นกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจะให้งบอีก 200 ล้านบาทมาวิจัย โดยเป้าหมาย คือ พื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติบนบก 1 แห่ง อุทยานแห่งชาติทางทะเล 1 แห่ง และพื้นที่ที่ชุมชนดูแล
ประกาศอุทยานฯ ใหม่ 17 แห่ง
นายไพศาล กุวลัยรัตน์ รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการดำเนินการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น 38 แห่ง และมีมติยืนยันให้มีการประกาศให้อุทยานแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 17 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จ.พะเยา อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน จ.น่าน และพะเยา อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง อุทยานแห่งชาติดอยจง จ.ลำปาง-ลำพูน
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จ.น่าน อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร-อุดรธานี-กาฬสินธุ์ อุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน อุทยานแห่งชาติขุนพระวอ (แม่กาษา) จ.ตาก อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา จ.เชียงใหม่-เชียงราย อุทยานแห่งชาติแม่วาง จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี จ.น่าน อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ จ.นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี
เสนอครม.ประกาศเพิ่ม 21 แห่ง
นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้สำนักอุทยานแห่งชาติ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ประสานงานกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการประกาศเพิ่มอีก 17 แห่ง พร้อมทั้งหารือถึงการผนวกพื้นที่ชายหาดที่สวยงามเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต
ขณะเดียวกัน ยังมีอุทยานแห่งชาติอีก 4 แห่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ และเตรียมรอนำเข้าครม. รอบที่ 2 เพื่อให้ความเห็นชอบให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศบังคับใช้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่ปืม จ.เชียงราย-พะเยา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.หนองคาย-นครพนม และอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน โดยเมื่อรวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติใหม่ จะมีทั้งสิ้นอีก 38 แห่ง คิดเป็นเนื้อที่ 11,289738.25 ไร่
นักวิชาการค้านเอกชนเข้าบริหาร
ศาสตราจารย์ นิวัติ เรืองพานิชย์ นักวิชาการด้านวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างการประชุมเรื่อง "การวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้" ว่า รู้สึกเป็นห่วงแนวความคิดในการให้สัมปทานอุทยานแห่งชาติแก่ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการคิดถึงแต่เงินด้านเดียว ไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักในการดูแลรักษาป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งในที่สุดแล้ว จะทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย จึงขอเรียกร้องข้าราชการอย่าตามใจฝ่ายการเมืองมากเกินไป
|