จาก จิงโจ้ป่า IP:203.150.217.112
ศุกร์ที่ , 5/11/2547
เวลา : 13:58
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
"เราถูกหลอก เขาย้ายเราออกมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน"
หลายหนหลายที่ชาวบ้านท่าตาฝั่งคนหนึ่งระบายความอัดอั้นในใจแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนที่ลงพื้นที่ในเวทีพี่น้องไทย-ลาว สัญจรสู่สาละวินของการประชุมภาคีแตร์เดซอมไทย-ลาว ครั้งที่ 7/1 ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม ที่ผ่านมา
บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านชาวปกาเกอญอ กว่า 300 หลังคาเรือนแห่งนี้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะต้องได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนสาละวินตอนล่าง ที่มีชื่อว่า "เขื่อนดากวิน"
"จนวันนี้ เรามาอยู่ที่นี่ บ้านท่าตาฝั่งจะเป็นสถานที่สุดท้าย เราจะไม่ไปไหน เราต้องอยู่ เราหนีไปไหนไม่ได้อีกแล้ว" ชาวบ้านคนเดิมยืนยันน้ำเสียงหนักแน่น
โครงการเขื่อนสาละวินตอนล่างจุดดากวินแห่งนี้ คือ จุดหนึ่งในโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนประเทศไทย-เมียนมาร์" ได้รับการสนับสนุนการลงทุนและสำรวจโครงการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า
เขื่อนดากวิน เขื่อนนี้มีความสูง 49 เมตร กำลังผลิต 792 เมกะวัตต์ เป็นอ่างเก็บน้ำ 2 อ่างที่เชื่อมต่อกัน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนตอนบนท่วมพื้นที่ยาวไปตามลำน้ำ 380 กม. รวมทั้งชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งจากคำบอกเล่ามีการประเมินกันว่า "ชุมชนแห่งนี้จะตกอยู่ภายใต้ลำน้ำทั้งชุมชน
ผลสำรวจระบุว่า จุดที่ตั้งสันเขื่อนบริเวณท่าตาฝั่งแห่งนี้ไม่มีชุมชนหรือคนอยู่อาศัยทั้งที่หมู่บ้านท่าตาฝั่งมีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 300 หลังคาเรือน
"การทำประชาพิจารณ์ แสดงความเห็น เขาทำกันในอำเภอจะให้เราเดินทางเข้าไปในเมืองบ่อยๆ เราก็ลำบาก กว่าจะเดินทาง กว่าจะเข้าไปในเมือง ต้องเสียค่าเรือ เสียค่าใช้จ่าย ทำไมเขาไม่ถามเราบ้าง"
"เราจะไม่ยอมให้เกิดการสร้างเขื่อน เพราะหมู่บ้านของเราจะจมหายไปกับผืนน้ำ เราต้องการธรรมชาติ เราต้องการระบบนิเวศอย่างเดิม เราต้องการอยู่ที่เดิม และมีอาชีพเดิม
ก่อนเราจะถูกอพยพโยกย้ายมาอยู่ที่นี่มีข่าวว่าบริเวณนี้จะเป็นจุดที่ตั้งของสันเขื่อน เราถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ว่า ชาวบ้าน คือ ผู้ลักลอบตัดไม้ ก่อนจะจัดการทยอยชาวบ้านออกมาทีละคนๆ จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินด้วยความชอบธรรม
เรายืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง ชาวบ้านมีการจัดการและการดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี ไม่มีการแตะต้องป่าเกินกว่าความจำเป็น
ดินน้ำป่า คือ คุณประโยชน์ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ หากเป็นคุณ คุณจะทำลายสิ่งที่ทำให้ชีวิตคุณดำรงอยู่ได้อย่างนั้นหรือ" ชาวบ้านคนเดิมย้ำชัดหนักแน่น
แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านท่าตาฝั่ง ยังคงรู้สึกหนักอกหนักใจถึงโครงการเขื่อนที่จะมาถึง เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่อาจทำความเข้าใจแก่สาธารณะได้ว่า พวกเขาคัดค้านโครงการไปเพื่ออะไรหรือต้องสูญเสียสิ่งใดไปบ้าง และชาวบ้านอีกหลายคนยังคงมีความเห็นที่แตกต่างออกไป
"เราเคารพความเห็นที่แตกต่าง เราฟังและจำเป็นต้องทำให้สาธารณะชนเข้าใจชัดเจนว่า เราจะสูญเสียอะไรไปบ้าง เราเชื่อว่า หากเราไม่ยอม เขื่อนย่อมไม่มี"
(คัดลอก บางส่วนจาก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5/11/47
|