คำตอบที่ 1
ไฮลักซ์ ไทเกอร์ D4D
โตโยต้า ประกาศออกมาอย่างจริงจังว่า พร้อมที่จะแย่งชิงตำแหน่งผู้นำรถปิกอัพ 1 ตัน จากอีซูซุ ให้ได้ในปี 2545 ที่กำลังจะก้าวมาถึงในอีกไม่นาน ความมั่นใจของโตโยต้าเกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัว ไฮลักซ์ ไทเกอร์ D-4D (Diesel 4 Stroke Direct Injection) ที่วางเครื่องยนต์รหัส 2KD-FTV และทำให้เมื่อรวมกับเครื่องยนต์เดิมอีก 2 รหัส คือ 2L(2400 cc.) และ 1KZ (3000 cc.)แล้ว จะทำให้รถในตระกูลไทเกอร์ทุกแบบ ทั้ง สแตนดาร์ด แค็บ, เอ็กซ์ตร้า แค็บ ,สปอร์ต ครุยเซอร์ (4 ประตู) หรือพีพีวี อย่างสปอร์ต ไรเดอร์ มีถึง 25 รุ่นด้วยกัน ซึ่งความหมายของตัวเลขนี้อย่างน้อย ก็ทำให้เห็นว่าเป็นการวางสินค้าให้ครอบคลุมตลาดแทบทั้งหมด
สิ่งที่โตโยต้าเชื่อมั่นว่า ไฮลักซ์ ไทเกอร์ D-4D จะช่วยให้เป้าหมายสูงสุดของโตโยต้าเป็นจริง ประเด็นหลักก็คือ เครื่องยนต์ 2KD-FTV นั่นเอง เครื่องยนต์ไดเร็ค อินเจคชั่น 4 สูบ 16 วาล์ว เทอร์โบ คอมมอนเรล หากจะนับกันว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของปิกอัพเมืองไทยก็คงจะไม่ผิดนัก แม้ว่าก่อนหน้าไทเกอร์ ใหม่ ไม่นาน นิสสัน จะชิงเปิดตัวปิกอัพ ฟรอนเทียร์ เครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร ไดเร็ค อินเจคชั่น ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว เป็นรายแรกในประเทศไทย
สำหรับเครื่องยนต์ ดีเซล ในรถปิกอัพของบ้านเราล้วนแต่ เป็นแบบ 4 สูบ 8 วาล์ว เป็นหลัก จะมีก็เพียงเครื่องยนต์ WL 2.5 ลิตร เทอร์โบของมาสด้า กับฟอร์ด เท่านั้นที่เริ่มต้นนำเครื่องยนต์ 3 วาล์ว/สูบ เข้ามาใช้ นั่นคือ 4 สูบ 12 วาล์ว และได้รับการยอมรับพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เมื่อโตโยต้าเปิดตัว ไทเกอร์ ใหม่ สิ่งที่ D-4D แตกต่างไปจากคู่แข่งก็คือ การนำระบบคอมมอน เรลมาใช้เป็นค่ายแรก ซึ่งเครื่องยนต์ตัวนี้ เพิ่งพัฒนาแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ และปัจจุบันก็มีการติดตั้งในรถโตโยต้า 3 รุ่นคือ รถตู้ไฮเอช กับรถบรรทุกเล็ก ไดน่า ที่จำหน่ายในยุโรป ส่วนเครื่องที่วางอยู่ในปิกอัพ เปิดตลาดที่ไทยเป็นแห่งแรก
โตโยต้าจัดให้มีการทดสอบรถรุ่นนี้ที่ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว มีบรรดาสื่อมวลชนเกือบร้อยชีวิตรวมถึงผมด้วยที่ เป็นหนึ่งในการทดลองขับ ครั้งนี้
ผมเหมือนอีกหลายคนอยากรู้ว่า "ทำไมโตโยต้า ถึงได้มั่นใจนักว่าจะสามารถครองเจ้าตลาดปิกอัพได้ ทั้งที่ในตลาด โดยเฉพาะในปี 2544 นี้ คู่แข่งสำคัญ (เข้าใจร่วมกันได้ว่าเป็นอีซูซุ) ยืดระยะห่างออกไปมากทุกทีๆ"
ผู้บริหารโตโยต้า ตอบเบาๆ เข้ากับเสียงฝนที่พรำ บนหลังคาเต็นท์ผ้าใบข้างสนามทดสอบ ของ โตโยต้า เพิร์ล ตัวแทนจำหน่ายที่ภูเก็ตว่า 2KD จะมาอุดรอยรั่วของโตโยต้าที่เป็นต้นเหตุให้เพลี่ยงพล้ำก่อนหน้านี้
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ก็คือเรื่องของการประหยัดน้ำมันที่จากการสำรวจพบว่าระยะหลังๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจบ้านเราไม่แน่ไม่นอนนี้ ความต้องการของลูกค้าที่มีต่อรถก็คือ "ความประหยัด" ซึ่งคำๆ นี้ ปรากฏว่า อีซูซุ นำไปใช้จนแทบจะเปรียบเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้ามาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับคำว่า ไดเร็ค อินเจคชั่น (DI) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า อีซูซุ หวงแหนคำนี้มาก แม้ว่าเมื่อนิสสัน หรือ โตโยต้า เปิดตัวเครื่องยนต์เทคโนโลยี ดีไอ บ้าง เราก็ยังได้ยินโฆษณา เชิงตีกันของอีซูซุ ประมาณว่า เป็นผู้นำหรือว่าผู้บุกเบิกในการใช้ไดเร็ค อินเจคชั่นมาถึง 16 ปี
ผมก็หยิบคำโฆษณานี้ไปถามโตโยต้าว่า ทำไมแต่ไหนแต่ไรมา โตโยต้าไม่ทำดีไอ ออกมาบ้าง ซึ่งคำตอบก็คือว่าก่อนหน้านี้เมื่อกระแสความนิยมของคนพุ่งไปที่ดีไอมากขึ้น โตโยต้าก็สนใจที่จะทำตลาดเช่นกัน แต่ว่ายังมีโจทย์ที่ต้องการแก้ไขให้ได้ก่อน อย่างน้อยก็ 2 ข้อ นั่นคือ "เสียง" และ "มลพิษ" ซึ่งในแง่มลพิษนั้น เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ลูกค้าบางคนกลับคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องเสียงนั่นละ คือเรื่องใกล้ตัวที่คิดว่าใกล้ตัวจริงๆ เช่นเดียวกับเรื่องของการประหยัดน้ำมัน
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ โตโยต้า สรุปออกมาให้ฟังว่า เครื่องยนต์ตัวใหม่นี้ สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งความประหยัดที่เหนือกว่า คู่แข่งสำคัญประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องเสียงก็ได้ระบบคอมมอนเรล ช่วยให้เงียบ ขณะเดียวกัน เรื่องของมลภาวะ ก็ผ่านมาตรฐานยูโร 3 เป็นค่ายแรก และค่ายเดียวในขณะนี้
ขณะเดียวกันเรื่องของสมรรถนะ ผมกำลังลองขับ ซึ่งโตโยต้าได้แบ่งการขับ ออกเป็น 2 ช่วง 2 รูปแบบคือ ทางเรียบ และเส้นทางออฟโรด
ในเส้นทางตรง ผมได้ขับ ทั้งสิ้น 6 คัน 2 เครื่องยนต์ เป็น 1KZ 2,892 ซีซี. 1 คัน ในรุ่น สปอร์ต ครุยเซอร์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ (4x4) ที่เหลือเป็นเครื่องยนต์ 2KD 2,494 ซีซี. ประกอบด้วย สแตนดาร์ด แค็บ ขับเคลื่อน 2 ล้อ (4x2) เอ็กซ์ตร้า แค็บ 4x2 เอ็กซ์ตร้า แค็บ 4x4 สปอร์ต ครุยเซอร์ 4x4 และ สปอร์ต ไรเดอร์ 4x4 ทุกคันติดตั้งเกียร์ธรรมดา และขับคันละประมาณ 7-8 กม.บนถนนหลวงที่สุราษฎร์ธานี
1KZ ให้กำลังสูงสุด 85 กิโลวัตต์ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิด 315 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที 2KD ในรุ่น 4x2 ให้กำลังสูงสุด 75 กิโลวัตต์ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิด 200 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,200 รอบ/นาที
ส่วน 2KD ในรถ 4x4 ให้กำลังสูงสุด 75 กิโลวัตต์ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 260 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600-2,400 รอบ/นาที
คันแรกที่ผมขับคือ เครื่องยนต์ 1KZ ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดของเครื่องยนต์ปิกอัพโตโยต้า จุดเด่นหลังออกตัวไปก็คือ อัตราเร่งของเครื่องยนต์ที่ทำได้ดีมาก การเร่งรอบเครื่องยนต์ทำได้เร็วทันใจ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็ว บาลานซ์ ชาฟท์ ช่วยให้ 1KZ เงียบ ในระดับความเร็ว 120-155 ความเงียบในห้องโดยสารน่าพอใจมากสำหรับรถปิกอัพ เมื่อบวกกับช่วงล่างที่ทำมาได้ค่อนข้างนุ่มนวล การบังคับควบคุมรถที่ทำได้ดี พวงมาลัยกระชับ แม่นยำ ลูกค้าที่ต้องการปิกอัพสำหรับใช้งานแบบรถยนต์นั่งน่าจะพึงพอใจ สำหรับความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ประมาณ 157 กม./ชม.
ส่วน 2KDให้ความรู้สึกเหมือนกันในทุกตัวถัง นั่นคือ เรื่องของอัตราเร่งที่ทำได้ดี การเพิ่มความเร็วตั้งแต่ 0-130 กม./ชม.ทำได้ต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งแซงในความเร็วช่วงกลาง ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดที่โตโยต้าเองก็ต้องการจะให้ลูกค้าได้เห็นว่า 2KD นั้น เป็นรถยนต์ 2.5 ลิตร แต่ทำอะไรได้เทียบเท่ากับ 3.0 ลิตร แถมยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า
จุดเด่นของ 2KD อีกประการหนึ่งคือ หากยกคันเร่ง ผ่อนความเร็วลงมาอยู่ในระดับ 50-60 กม.แม้จะอยู่ที่เกียร์ 5 เมื่อต้องการเร่งก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องลดเกียร์แต่อย่างใด
เรื่องของการเสียงรบกวนก็จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ที่ความเร็วสูงจะมีเสียงลมที่ปะทะกระจกมองข้างและเสียงเครื่องยนต์เข้ามาให้ได้ยิน แต่หากใครจะเอื้อมมือไปเปิดวิทยุฟัง ก็ช่วยกลบเสียงนั้นได้ไม่ยากนัก วิทยุมีค่าขึ้นแยะเวลารถเคลื่อนที่
สำหรับความเร็วสูงสุดที่ทำได้ ในเอ็กซ์ตร้า แค็บ 4x2 ความเร็วประมาณ 154 กม./ชม.เอ็กซ์ตร้า แค็บ 4x4 ประมาณ 150 กม./ชม. สปอร์ต ครุยเซอร์ 4x4 ประมาณ 148 กม./ชม. สปอร์ต ไรเดอร์ 4x4 อยู่ราวๆ 145 กม./ชม.และ สแตนดาร์ด แค็บ ซึ่งมีน้ำหนักตัวต่ำสุด ทำความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม.โดยเมื่อขับที่ความเร็วสูงสุด รอบเครื่องอยู่ที่ประมาณ 4,000 รอบ
ซึ่งหากจับตัว สปอร์ต ครุยเซอร์ 2 เครื่องยนต์มาว่ากัน จะเห็นว่า 2 KD ทำความเร็วสูงสุดได้ใกล้เคียงกันมาก จะต่ำกว่าก็เล็กน้อยเท่านั้น แทบจะไม่เห็นความแตกต่าง
สำหรับการทดสอบการใช้งานแบบออฟโรด ผมเลือกที่จะขับ 2 คัน 2 เครื่องยนต์ คือ 1KZ และ 2 KD ผ่านไปตามสถานีต่างๆ 15 สถานี ซึ่งสภาพสนามก็คล้ายๆ กับสนามขับออฟโรดทั่วไป ที่มีทางหิน บ่อน้ำ ท่อนซุงขวาง สะพานซุง ทางเอียงซ้าย/ขวา เนินชันประมาณ 42 องศา หลุมเล็ก หลุมใหญ่ ที่ทดสอบการทำงานของลิมิเต็ด สลิป เพื่อช่วยให้รถสามารถเดินทางต่อไปได้ แม้ว่าจะมีล้อที่สัมผัสกับพื้นผิว 2 ล้อ หรือ 1 ล้อ ก็ตาม เพราะระบบจะตัดการส่งกำลังไปยังล้อที่ลื่นไถลหรือไม่สัมผัสพื้น และถ่ายเทกำลังนั้นไปยังล้อที่สัมผัสกับพื้นผิวแทน
ซึ่งทุกสถานีทั้ง 2 คัน ก็ผ่านไปได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนว่า 2KD เหนือกว่าคือเรื่องของแรงบิดที่อยู่ในช่วงกว้าง ซึ่งมีผลทำให้การขับขี่ทำได้นุ่มนวลกว่า และที่เห็นชัดเจนก็คือช่วงการไต่เนินเมื่อเลือกระบบขับเคลื่อน ที่เกียร์4L และใช้เกียร์ 1 เครื่อง 1KZ จะใช้รอบประมาณ 1,300-1,500 รอบ แต่ 2KD จะใช้รอบประมาณ 1,000 รอบ และสามารถที่จะปล่อยให้รถไต่ขึ้นเนินด้วยตัวเอง โดยคนขับทำหน้าที่แค่บังคับพวงมาลัย โดยไม่ต้องยุ่งกับคันเร่งแต่อย่างใดทั้งสิ้น
โดยรวมของไทเกอร์ ใหม่แล้วผมถือว่าทำมาได้ค่อนข้างดี เห็นความแตกต่างทั้งเรื่องของเครื่องยนต์ ช่วงล่าง การทรงตัว การยึดเกาะถนน ระหว่างของใหม่และของเก่า อย่างเด่นชัดทีเดียว