คำตอบที่ 211
เป็นบทความที่ไม่เจาะลึกทางเทคนิคมากเกินไป ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางอิเล็คโทรนิคก็สามารถเข้าใจได้ เลยเอามาให้ดูนะครับ ความเข้าใจผิดๆหลายๆอย่างกับการเล่นเครื่องเสียงนั้นมีมากมาย ทำให้เราเสียเงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อประสบการณ์ที่แสนแพงในหลายครั้งหลายหน กว่าจะเห็นแนวทางก็หมดไปเยอะล่ะครับ
นานาเรื่องน่ารู้เพาเวอร์แอมปลิไฟร์เออร์
ในบรรดาอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ "ซิสเต็มเครื่องเสียง" ที่มีความสำคัญด้วยกัน
"แอมปลิไฟร์เออร์" มักจะถูกประเมินคุณค่ากันผิด ๆ เสมอมา
บ้างก็คำนึงถึงแต่ขนาดกำลังขับของภาคขยายเสียง
บ้างก็ให้ความสนใจลักษณะวงจร
และหลายคนก็มักจะให้ความสำคัญของเรื่องเกรดอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในเครื่องนั้น ๆ แต่การให้ความสนใจถึงเรื่องโครงสร้างและระบบพลังขับ ดูจะได้รับความสนใจมากมายเกินกว่าการคิดคำนึงถึงเรื่องคุณภาพเสียง
คำถามที่ว่า "แอมป์เครื่องนั้นกำลังขับกี่วัตต์" ดูจะเป็นคำถามท็อปฮิตเสียจริง ๆ ต่อเมื่อมีการเข้ามาคลุกวงในเล่นเครื่องเสียงอย่างจริง ๆ จัง จนถึงระดับหนึ่ง นักเล่นเครื่องเสียงจะพิจารณารายละเอียดในการเลือกซื้อเครื่องหลายประการประกอบกันไป มิใช่การพิจารณาแต่เฉพาะกำลังขับของแอมปลิไฟร์เพียงอย่างเดียว
เครื่องที่จัดเป็นแอมปลิไฟร์เออร์ที่ให้พลังขับเสียงนั้น คือ "เพาเวอร์แอมป์" ซึ่งเป็นภาคขยายเสียงแท้ ๆ กับ "อินทิเกรทเดดแอมป์"
เพาเวอร์แอมป์ มีเพียงวงจรขยายเสียงเท่านั้น จะต้องจัดซิสเต็มคู่กับภาคขยายเบื้องต้น คือ "ปรีแอมป์" เพื่อทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในขณะที่อินทิเกรทเตดแอมป์มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งภาคขยายกำลัง การเลือกเล่าเพาเวอร์แอมป์โดด ๆ กับอินทิเกรทเตดแอมป์นั้น ย่อมจะมีข้อถกเถียงกันอีกมากกว่าอย่างไหนจึงจะเหมาะสมกัน ในบทความตอนนี้ ผมคงจะเน้นถึงวิธีการพิจารณาเพาเวอร์แอมป์จากรายละเอียดทั่ว ๆ เพราะโอกาสที่คุณจะเข้าไปนั่งฟังโดยไม่รูแบ็กกราวด์ต่าง ๆ ของเครื่องเลย คงยากจะตัดสินใจได้ว่าจะเล่นแอมปลิไฟร์เครื่องใดดี
ทำความเข้าใจกันง่าย ๆ เสียก่อนเป็นการเริ่มต้นว่าแอมปลิไฟร์ที่พูดถึงนี้ ก็คือเพาเวอร์แอมป์นั่นเอง ความจริงอยากจะให้ท่านผู้อ่านย้อยกลับไปอ่านบทความตอนต้น ๆ ว่าด้วยเรื่องการขยายเสียง ผมจึงขอพูดถึงรายละเอียดที่ง่าย ๆ ในการทำความเข้าใจก็แล้วกันครับ
เพาเวอร์แอมป์ หรือพูดกันอย่างตรงตัวก็คือ "เครื่องขยายเสียง" นั่นเองหน้าที่หลังของมันจะรับสัญญาณที่มีปริมาณเหมาะสม จากปรีแอมป์แล้วทำการขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกก่อนส่งต่อไปยังลำโพงให้เปล่งเสียงออกมา เพาเวอร์แอมป์ที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญยิ่งก็คือ สามารถถ่ายทอดและขยายสัญญาณได้อย่างเที่ยงตรงถูกต้อง หรือมีความเพี้ยนต่ำที่สุด
เพาเวอร์แอมป์ในอุดมคตินั้น เมื่อมีสัญญาณใด ๆ เข้ามา จะต้องทำการขยายสัญญาณให้ออกไปทางเอ๊าท์พุท ให้เหมือนเดิมทุกประการ แต่ก็อย่างว่าแหละ เรื่องความเพี้ยนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก เพียงแต่ว่ามันจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้นเองแอมปลิไฟร์ที่แพง ๆ จึงเป็นแอมป์ที่มีความเที่ยงตรงสูงในการขยายสัญญาณ
เพาเวอร์แอมป์ เมื่อแบ่งออกตามลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ในการขยายเสียงแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1. เพาเวอร์แอมป์แบบทรานซิสเตอร์
2. เพาเวอร์แอมป์แบบหลอดสูญอากาศ
ซึ่งทั้งนี้คุณสามารถสังเกตได้จากลักษณะอุปกรณ์ภายในเครื่องได้ว่า มีลักษณะเป็นหลอดสูญญากาศหรือแบบทรานซิสเตอร์ เพราะว่าข้อแตกต่างจากกันอย่างชัดเจน ตามลักษณะของอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม เพาเวอร์แอมป์นั้นยังแบ่งออกไปได้ตามลักษณะของการจัดวงจรขยาย และลักษณะในการถ่ายทอดสัญญาณได้อีก เช่นถ้าแบ่งกันตามลักษณะในการจัดวงจรไบอัสในการขายเสียง ก็จะมีการแบ่งออกเป็นคลาสต่าง ๆ เช่น คลาส A, คลาส B, คลาส AB, คลาส C, คลาส D, คลาส H ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ออกแบบจะทำการเลือกสรรวิธีการไบอัสกระแสของวงจรขยายแบบไหนที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด
ในปัจจุบัน แอมป์คลาส AB ได้รับความนิยมมากที่สุด
นอกจากนี้ ถ้าแบ่งประเภทตามวิธีออกแบบในการถ่ายทอดสัญญาณในภาคขยายสุดท้าย ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ภาคขยายแบบ OTL (OUT PUT TRNAS FOMER LESS) ภาคขยายชนิด OCL (OUT PUT CONDENSER LESS) เป็นหลัก ส่วนวิธีการในแบบวงจรอื่น ๆ ดูจะไม่เป็นที่นิยมกันเช่นแบบ OPT ของหลอดสูญญาอากาศ
เพาเวอร์แอมป์ชนิดที่ออกแบบอุปกรณ์โดยใช้หลอดสูญญากาศล้วน ๆ นั้น ในปัจจุบันเป็นที่นิยมน้อยกว่าแอมปลิไฟร์ภาคขยายชนิดทรานซิสเตรอื เนื่องจากหลอดสูญญากาศจะมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะ มีน้ำหนักมากใช้ไฟในการเลี้ยงวงจรสูงกว่าทรานซิสเตอร์ และมีความร้อนสะสมภายในตัวเครื่องสูงด้วย แต่ก็ยังมีผู้คนนิยมคุณภาพเสียงที่ได้จากแอมป์หลอด ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากบุคลิกเสียงของหลอดสูญญากาศมีความนุ่มนวลเสียงกลางดีเลิศ มีความละมุนละไม ถูกหูผู้ฟังมาก
และอีกประการหนึ่ง ในแง่ของเทคนิคสำคัญก็คือ หลอดสูญญากาศจะใช้ไฟเลี้ยงวงจรที่สูงมาก สูงกว่าวงจรทรานซิเตอร์ จึงสามารถสะวิงสัญญาณเอ๊าท์พุทให้สูง หรือมีพลังสำรองที่ดี อีกทั้งเพาเวอร์แอมป์ชนิดอหลอดสูญญากาศนั้น เมื่อคุณได้ใช้กำลังขับจากมันอย่างเต็มที่ จนถึงอากาศคลิปปิ้ง (CLIPPING) เสียงที่ขับเกินกำลังของแอมป์หลอด จะไม่พร่าเพี้ยนปรากฎชัดเจนเหมือนแอมป์ทรานซิสเตอร์
ด้วยเหตุผลข้างต้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพาเวอร์แอมป์หลอด ยังได้รับความนิยมจากออดิโอไฟล์กลุ่มหนึ่งอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าแอมป์หลอดจะมีข้อเสียบางประการอยู่ เช่น มีค่าความต้านทานทางเอ๊าท์พุทที่สูงไม่สามารถนำไปขับลำโพงที่มีความต้านทานต่ำ ๆ ได้โดยตรง แอมป์หลอดทุกเครื่องจึงต้องมีหม้อแปลง หรือ OUT PUT TRANSFORMER (OPT) สำหรับปรับค่าความต้านทานของหลอดสูญกาศให้เหมาะสมกับค่าความต้านทานของลำโพง เอ๊าท์พุททรานสฟอร์เมอร์ที่ว่านี้ จะต้องมีคุณภาพที่ดีเลิศจริง ๆ ไม่เช่นนั้น มันจะกลายเป็นตัวการทำลายคุณภาพเสียงของแอมป์หลอดไปเสียเอง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าหลอดสูญญากาศจะมีความร้อนสะสมในตัวสูงอยู่แล้ว การจัดตำแหน่งแห่งที่ทรานสฟอร์เมอร์ จึงค่อนข้างยุ่งยากว่าจะวางตำแหน่งใดดีจึงจะเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้นเอง ได้ทำให้แอมป์หลอดสูญญากาศมีขนาดใหญ่โตเทอะทะทั้ง ๆ ที่มีกำลังขับนิดเดียว
เพาเวอร์แอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์ ซึ่งก็จะมีการออกแบบวงจรที่หลากหลายกันออกไป อุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำก็มีอยู่หลายแบบให้เลือกใช้ อุปกรณ์จำพวกนี้ได้แก่ทรานซิสเตอร์, ไอซี, มอสเฟท เป็นต้น ตามปกติในเวลานี้ ทรานซิสเตอร์ชนิดไบโพล่าดูจะได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ในบรรดาผู้ออกแบบวงจรเพาเวอร์แอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์
ข้อดีของอุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำนี้มีอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของน้ำหนักขนาดที่เล็กและมีน้ำหนักเบากว่า มีความร้อนสะสมในอัตราที่น้อยกว่าแอมป์ชนิดหลอดสูญญากาศมาก อีกทั้งยังใช้ไฟในการเลี้ยงวงจรที่ต่ำกว่า ที่น่าแปลกมากก็คือหากใช้เครื่องมือจับวัดสัญญาณแล้ว เพาเวอร์แอมป์ ชนิดทรานซิสเตอร์จะมีค่าความเพี้ยนที่ต่ำกว่าแอมป์ชนิดหลอดสูญญากาศแต่ในเวลาฟังจริง ๆ ในทางภาคปฏิบัติ นักฟังมักจะชื่นชอบเสียงจากแอมป์หลอดมากกว่า ดังนั้นค่าความเพี้ยนต่าง ๆ ที่กำหนดเอาผู้ฟังไว้ในสเปกของเครื่อง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเครื่องรุ่นใด ชนิดใดให้เสียงดีกว่า จากแค่การพิจารณาความเพี้ยนของสเปกเครื่อง
เพาเวอร์แอมป์ประเภททรานซิสเตอร์ยังต้องมีการออกแบบฮีทซิ้งหรือแผงระบายความร้อนในอุปกรณ์ เพื่อให้การระบายความร้อนสะสมที่เกิดกับอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำไปได้รวดเร็วที่สุด ความร้อนสะสมภายในตัวทรานซิสเตอร์ จะทำให้มันมีอายุการใช้งานสั้นลงมากกว่าปกติ ความร้อนยิ่งมากตัวอุปกรณ์เหล่านี้จะมีกระแสไหลผ่านมาก และถ้ายังมีกระแสไหลผ่านตัวมันมากขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะทำให้อุปกรณ์นั้นเสียหายได้ ถ้าหากว่าอุปกรณ์ที่เป็นทรานซิสเตอร์ล้วน ๆ จะต้องมีวงจรช่วยในการจำกัดกระแสที่ไหลผ่านตัวทรานซิสเตอร์นั้น ๆ ไม่ให้ร้อยจนเกินกว่าตัวอุปกรณ์นั้นจะรับได้
ในช่วงระยะหลัง ๆ ได้มีการนำเอาทรานซิสเตอร์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า "มอสเฟท" เข้ามาทำงานแทนที่ทรานซิสเตอร์ธรรมดาทั่วไป ข้อดีจของมอสเฟทก็คือ ไม่ต้องมีระบบวงจรชดเชยอุณหภูมิ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษในการจำกัดจำนวนกระแสดที่ไหลผ่านตัวของมันได้เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น มอสเฟทจึงไม่เสียหายง่าย ๆ อย่างทรานซิสเตอร์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป
เพาเวอร์แอมป์วงจรทรานซินเตอร์นั้นมักจะมีการออกแบบที่แตกต่างหลากหลายมากคงไม่สามารถนำมาแจกแจงทั้งหมดได้ แต่ข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนของแอมป์ประเภทนี้ก็คือ เมื่อเวลามีการใช้กำลังขับมาก
จนคลิปแอมป์ทรานซิสเตอร์จะมีความเพี้ยนในระดับที่สูงมาก ผู้ฟังจะได้ยินเสียงแตกพร่าชัดเจนรุนแรงว่าแอมป์หลอดสูญญากาศหลายเท่าตัวดังนั้นการเลือกเล่นแอมปลิไฟร์ชนิดทรานซิสเตอร์ จึงน่าเลือกแอมป์ที่มีพลังขับสูง ๆ เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในกรณีที่คุณมีห้องฟังขนาดใหญ่ ๆ และจำเป็นต้องใช้แอมป์ไปขับลำโพงซึ่งมีค่าความต้านทานสูง หรือลำโพงที่มีความไวค่อนข้างต่ำ
สิ่งที่ดีกว่าของแอมป์ทรานซิสเตอร์ก็คือ เรื่องของค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ ซึ่งจะมีอัตราที่สูงกว่าแอมป์ไฟร์แบบหลอดสูญญากาศ ค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ คือการหยุดยั้งการสั่นค้างของลำโพง ในการฟังเสียงแอมปลิไฟร์ประเภทหลอดสูญญากาศ คุณจะพบได้ง่ายว่าความถี่ต่ำของมันจะมีความพร่าเลือนไม่ฉับไว (ในความถี่ต่ำมาก) แอมปลิไฟร์ที่หยุดยั้งการสั่นค้างของลำโพงได้ดี ๆ จะทำให้เสียงกระชับฉับไวสมจริงมากยิ่งขึ้น นี่เป็นคุณสมบัติที่แอมป์ทรานซิสเตอร์จะให้ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทั้งหลายในทางปฏิบัติ จะมีข้อปลีกย่อยอีกมากมาย มิใช่เพียงแค่คุณสมบัติเพียงด้านเดียวของ DAMPING FACTOR เท่านั้น
ข้อที่น่าสังเกตคือ ในระดับไฮเอ็นด์สูงสุดแล้ว แอมป์หลอดกับแอมป์ทรานซิสเตอร์ล้วนมีราคาสูงสูดโต่งด้วยกันทั้งคู่ น้ำเสียงบุคลิกของมันก็ยอมเยี่ยมมีรายละเอียดดี ยากจะนำข้อจำกัดความของลักษณะเสียงมาชี้ขาดได้ว่าใครดีกว่าใคร
แต่ในแอมปลิไฟร์ระดับราคาตลาดแล้วแอมปลิไฟร์ทรานซิสเตอร์มักจะก่อความเพี้ยนได้รุนแรง หรือฟังออกได้ง่ายกว่า เพราะทรานซิสเตอร์ที่มีอาการผิดเพี้ยน จะผิดเพี้ยนที่ฮาร์โมนิคคี่ ซึ่งมีผลต่อการรับฟังของหูมากกว่าฮาร์โมนิคคู่ แอมปลิไฟร์ทรานซิสเตอร์ชั้นดี จึงมักออกแบบพลังสำรองให้สูง ๆ เพื่อป้องกันอาการผิดเพี้ยนของเสียงดังกล่าวข้างต้น
ตามปกติทั่วไป แอมปลิไฟร์หรือเพาเวอร์แอมป์หลอดสูญญากาศ มักจะเป็นแอมป์ที่มีราคาแพงเสมอ ในขณะที่แอมป์ทรายซินเตอร์นั้น จะมีทั้งสนนราคาแพงและไม่แพง
แต่บทสรุปอื่น ๆ เกี่ยวกับหลอดหรือทรานซิสเตอร์นั้น ยังไม่มีบทสรุปที่แน่นอนว่าควรเลือกเล่นแอมป์แบบใด ?
อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในวงจรเพาเวอร์แอมป์ต่อไปนี้ ล้วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสองประการ ซึ่งผมจะขอแจกแจงเอาไว้ พอเป็นที่ประดับความรู้ในการเลือกซื้อแอมปลิไฟร์เออร์
MOSFET หรือ METAL OXIDE SEMI-CONDUCTOR FIELD EFFECT TRANSISTOR ซึ่งเป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่มีการทำงานคล้ายหลอดสูญญากาศมาก คือเมื่อได้รับอินพุทโวลเตจ ก็จะเกิดสนามไฟฟ้าเล็ก ๆ ขึ้นในตัวของมัน เพื่อใช้ในการควบคุมปริมาณกระแสที่จะวิ่งผ่านตัวของมัน และมอสเฟทนั้น ก็จะมีค่าความต้านทานขาเข้าสูงมาก สูงกว่าไบโพล่าร์ทรานซิสเตอร์โดยทั่วไป
BIPOLAR TRANSISTOR หรืออุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมาก ทรานซิสเตอร์นั้นมีการทำงานที่แตกต่างไปจนมอสเฟท และหลอดสูญญากาศ คือมันจะทำการตอบสนองต่อกระแส ไม่ใช่โวลเตจอินพุทอย่างเป็นกับมอสเฟทเมื่อมีกระแสเข้าปริมาณหนึ่งที่อินพุทของมัน แต่ในทางเอ๊าท์พุท กระแสจะไหลออกเป็นปริมาณมากกว่า นั่นคือการทำงานขยายเสียงของมันนั่นเอง
TUBE หลอดสูญญากาศ เป็นอุปกรณ์ดั้งเดิมที่รู้จักกันมาก่อนทรานซิสเตอร์ ขั้วของหลอดจะประกอบด้วยคาโธค เพลท และกริด (CATHOD, PLATE, GRIE) การไหลผ่านของอีเล็กตรอน จะเกิดการจุดไส้หลอดโดยที่ขั้วของคาโธคจะเป็นขั้วลบ และเพลทเป็นขั้วบวก เมื่อหลอดถูกจุดให้ร้อน อีเล็กตรอนก็จะกระโดดจากคาโธคไปยังเพลทเป็นเหตุให้มีการไหลของกระแสปริมาณกระแสนั้นจะถูกควบคุมโดยกริด ซึ่งอยู่ในระหว่างทางเดินของอีเล็กตรอน และจากการที่ขั้วของหลอดทั้ง 3 ขั้ว ไม่ได้ต่อให้ถึงกัน ดังนั้นจึงมีค่าความต้านทานทางด้านอินพุทที่สูงมาก
POWER SUPPLY เป็นภาคจ่ายไฟเพาเวอร์แอมป์ ส่วนของวงจรนี้มีหน้าที่หลักในการจ่ายกระแสให้กับตัวเครื่องทั้งหมด วงจรเบสิกทั้งไปจะประกอบด้วย ไดโอด 4 ตัว คาปาซิเตอร์จำนวน 2 ตัว นอกจากกรณีของการต่อพ่วงกัน เพื่อให้วงจรมีเสถียรภาพที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
POWER TRANSFORMER คือส่วนหนึ่งของวงจรเพาเวอร์ซัพพลาย เป็นหม้อแปลงไฟฟ้า สำหรับแปลงไฟบ้านขนาด 220 โวลท์ ให้เหมาะสมกับวงจรที่ต้องการใช้หากวงจรของเพาเวอร์แอมป์มีกำลังขับสูงก็ย่อมต้องการไฟเลี้ยงวงจรที่สูงขึ้น สมมติว่าเป็นแอมป์ที่มีกำลังขนาด 100 วัตต์ (ขชนิดทรานซิสเตอร์) จะต้องแปลงไฟจาก 200 โวลท์ให้ลงมาเหลือ 40 โวลท์โดยประมาณ ส่วนเพาเวอร์แอมป์หลอดสูญญากาศ อาจจะต้องแปลงไฟให้สูงกว่า 220 โวลท์ ข้อสังเกตก็คือตัวเพาเวอร์แอมป์วงจรเดียวกัน หากเพาเวอร์ซัพพลายของเครื่องตัวใดตัวหนึ่งออกแบบได้ดีกว่า ก็จะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
เรื่องที่น่ารู้ เกี่ยวกับเพาเวอร์แอมป์นั้นยังมีอีกมากมาย แต่คำศัพท์ที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพเสียงนั้นจะมีในวงจำกัดไม่กี่คำ ยกตัวอย่างเช่น
SLEWLATE หมายถึงค่าความไวของเพาเวอร์แอมป์ ในอันที่จะตอบสนองต่อสัญญาณอินพุท ซึ่งมักจะบอกกันเป็นค่าของโวลท์ต่อไมโครเซกั้นด์ เช่น อัตราการสรูว์เรทของเพาเวอร์แอมป์เครื่องหนึ่งมีอัตรา 60 โวลท์ต่อไมโครเซกั้นด์ ก็หมายถึงเมื่อสัญญาณอินพุทมีการเปลี่ยนแปลงค่าต่อเอ๊าท์พุท เอ๊าท์พุทจะสามารถเปลี่ยนจากศูนย์ถึง 60 โวลท์ ได้ภายในเวลา 1 ไมโครเซกั้นด์ (หรือหนึ่งในล้านวินาที)
การเปรียบเทียบค่า SLEW RATE นั้นจะต้องเปรียบเทียบจากแอมปลิไฟร์ที่มีกำลังขับระดับเดียวกันจึงจะเหมาะสม ไม่ควรนำแอมป์ขนาด 100 วัตต์ ไปเปรียบเทียบอัตราสรูว์เรทกับแอมป์ขนาด 20 วัตต์ เพราะแอมป์ขนาดกำลังขับทั้ง 2 ขนาดนี้ ย่อมจะต่างกันโดยเบสิกของการออกแบบอยู่แล้ว
คลาสของเพาเวอร์แอมป์ ที่จริงผมเคยเขียนถึงลักษณะการทำงานของแอมปลิไฟร์วงจรต่างๆ เหล่านี้มาแล้ว ด้วยกลวิธีในการออกแบบภาคขยาย และวิธีการจัดไบอัสให้กับทรานซิสเตอร์นั่นเอง ได้แบ่งให้เกิดแอมป์คลาสต่าง ๆ มากมาย แต่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ แอมป์คลาส A และคลาส AB จะขอสรุปสั้น ๆ เพื่อเป็นการทบทวนเรื่องคลาสของแอมป์ซึ่งเคยพูดถึงมาบ้างแล้ว ซึ่งจะขอยกเว้นภาคขยายประเภทอื่น ๆ อันไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน
CLASS A
การจัดวงจรภาคขยายแบบนี้ จะมีการไบอัสกระแสให้กับทราสซิสเตอร์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณมาให้ขยาย ตัวทรานซิสเตอร์ก็ยังจะจต้องมีปริมาณกระแสไหลผ่านในปริมาณค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเครื่องของแอมป์คลาส A จะมีความร้อนสูงกว่าการจัดวงจรแบบคลาสอื่น ๆ ข้อดีก็อาจจะมีตรงที่ค่าความเพี้ยนต่าง ๆ จะมีต่ำกว่าวงจรแบบอื่น ๆ และแอมป์คลาส A มักจะทำให้มีกำลังขับได้ไม่สูงนัก ถ้าผลิตแอมป์คลาส A ที่มีกำลังขับสูง ๆ ตัวเครื่องและส่วนของแผงระบายความร้อนจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก
CLASS B
เป็นการจัดวงจรที่ต่างจากคลาส A โดยสิ้นเชิง คือเมื่อไม่มีสัญญาณอินพุทเข้ามา ก็จะไม่มีกระแสไหลผ่านทรานซิสเตอร์ จะมีกระแสไหลผ่านได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณอินพุทเข้ามาเท่านั้น แอมป์คลาส B มักจะมีค่าความเพี้ยนสูงมาก แต่มันมีข้อดีที่จะทำเป็นแอมป์กำลังขับสูง ๆ ได้ ปัจจุบันไม่มีแอมป์คลาส B แท้ ๆ อีกแล้ว เนื่องจากคุณภาพเสียงไม่เป็นที่น่าพอใจ
CLASS AB
แอมปลิไฟร์หรือเพาเวอร์แอมป์ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน การออกแบบจะนำข้อดีของแอมป์ทั้งคลาส A และคลาส B มาผสมผสานกัน คือ มีการปล่อยให้มีกระแสปริมาณน้อย ๆ ผ่านทรานซิสเตอร์จำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณอินพุทเข้ามาเลย การทำงานปิดเปิดก็จะเป็นไปตามสัญญาณอินพุททั่วไป เพียงแต่ว่าวงจรนี้ จะไม่มีการ OFF ของกระแสทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มีอินพุทเข้ามา
คุณสมบัติของเพาเวอร์แอมป์ที่ดีนั้นไม่อาจจะสรุปได้โดยง่าย ในแง่ของเทคนิคพื้นฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงพื้นฐานที่ท่านผู้อ่านควรทราบไว้บ้าง เพื่อจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอมปลิไฟร์เออร์ แต่ถ้าพิเคราะห์กันถึงวิธีการเลือกซื้อแล้ว เรามักจะจัดให้เพาเวอร์แอมป์ได้มีโอกาสจับคู่กับปรีแอมป์ แล้วทำงานขับลำโพงจริง ๆ เพื่อฟังผลของคุณภาพเสียง มากกว่าการพิจารณาคุณสมบัติของเพาเวอร์แอมป์เพียงเครื่องเดียว
บทสรุปที่เห็นเด่นชัดในทางปฏิบัติของเพาเวอร์แอมป์ที่ดี คือ
1. พลังขับจะต้องสมบูรณ์ตลอดย่านความถี่ และระดับความดังไม่มีเสียงพร่าเพี้ยนเมื่อทำงานในระดับความดังสูง ๆ
2. มีน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ผิดเพี้ยนความเป็นจริง เช่น เสียงจัด เสียงขุ่นมัว หรือเบลอ
3. ในระดับความดังแบบแบ็กกราวด์มิวสิก (เบา ๆ) เพาเวอร์แอมป์ที่ดี จะให้รายละเอียดของชิ้นดนตรีได้มากกว่าเพาเวอร์แอมป์ที่ไม่ดี ข้อสังเกตคือ แอมป์ขนาดกำลังขับสูง ๆ แม้จะเปิดในระดับความดังเท่ากับแอมป์ขนาดกำลังขับต่ำ ๆ แอมป์กำลังขับสูงจะให้เสียงที่มีรายละเอียดมากกว่าเสมอ
4. มีความเป็นกลางของน้ำเสียงสามารถจัดเข้ากับปรีแอมป์ได้หลากหลายและยังคงลักษณะบุคลิกเสียง ที่เป็นแฟล็ทได้เสมอ
5. ควรมีวงจรโพรเท็คชั้น ป้องกันตนเองได้ กรณีเอ๊าท์พุทช้อต โดยไม่ทำให้คุณภาพเสียงโดยรวมเสียหาย
6. การออกแบบ จะต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงอันเหมาะสม ไม่ใช่แค่สวยงามที่รูปทรงของเครื่องแต่อย่างเดียวเท่านั้น
7. เพาเวอร์แอมป์ที่ดี ย่อมไม่เกี่ยงลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ซับซ้อน และต้องไม่มีอาการเสียงเครียดเมื่อเปิดฟังนาน ๆ
นั่นคือคุณสมบัติบางประการ ที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเลือกเฟ้นเวอร์แอมป์ที่ดีได้ แม้จะไม่ใช่สูตรสำเร็จทั้งหมด
ข้อสำคัญก็คือ คุณจะต้องคำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ถูกใจ และถูกหูของคุณด้วย