จาก DK549 IP:169.252.4.21
พฤหัสบดีที่ , 9/6/2554
เวลา : 09:46
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
บทความพิเศษ : จะเลี้ยงลูกอย่างไรในยุคหน้า?
โดย : TonyMao_NK51
E Mail : tonymao_nk51@hotmail.com
สังคมโลกในขณะนี้กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน จากยุคแห่งการ ศรัทธาและเชื่อฟัง กลายเป็นยุค ตรรกะและการตั้งคำถาม สังคมไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เราเองมิอาจหลีกหนีกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะยุคที่รัฐไม่อาจกุมอำนาจชี้นำทางสื่อ ค่านิยมจากต่างประเทศทะลักเข้ามาราวกับเขื่อนแตก โดยเฉพาะค่านิยมประเภทปัจเจกนิยม ซึ่งสวนทางกับแนวคิดแบบหมู่ชนนิยมแบบที่โลกเราเคยมีมา
ช่วงนี้หากใครติดตามกระทู้ของผู้เขียนตามบอร์ดต่างๆ จะพบข้อเขียนแนวตัดพ้อสังคมอยู่ประปราย ว่าด้วยการล่มสลายทางศีลธรรมนิยม ศาสนนิยม และการรุกคืบของทุนนิยม กิเลสนิยม บางท่านอ่านถึงจุดนี้คงจะบอกว่าผู้เขียนไม่เลิกเพ้อเจ้อ ก็อาจจะจริง ผู้เขียนอาจจะเพ้อเจ้อไปเองก็ได้ แต่ผู้เขียนก็คิดไปเรื่อย และขอทำนายว่าในยุคต่อไป เราไม่อาจจะใช้แนวทางเดิมๆ ได้อีกต่อไป
หลายปีมานี้ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องปัญหาเด็กยุคใหม่จากพ่อแม่ผู้ปกครองก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ผู้เขียนพบว่าเด็กในยุคใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะ เชื่อฟัง ในตัวพ่อแม่และครูบาอาจารย์ลดลง สังเกตได้จากคำบ่นของครูตาม ร.ร.ต่างๆ ที่มักจะมาตัดพ้อกันตามกระทู้เรื่องการศึกษา ว่าเด็กเดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ให้ตั้งใจเรียนเลย แค่ให้รู้จักความเกรงใจบ้างก็ยากแล้ว ยกตัวอย่างในชั้นเรียน เดี๋ยวนี้เด็กบางคนเล่นเกมมือถือ Chat BB กันอย่างไม่เกรงใจอาจารย์หรือเพื่อนนักเรียนที่กำลังเรียน แน่นอนอาจารย์จะตีก็ไม่ได้ อย่าว่าแต่ตี แค่ดุด่าก็ไม่ได้ เพราะเด็กมันจะถ่ายคลิปไปประจาน ไปฟ้องพ่อแม่ ครั้นจะเอาโทษด้วยการพักการเรียน ไล่ออก ให้ออก เด็กมันก็ไม่สนใจ มันก็ไปเล่นเกมต่อ พอกลับมาดูที่บ้าน พ่อแม่ก็ไม่ทำอะไรนอกจากปลง ไม่ทำงาน ก็ยังให้ข้าวไว้กิน ให้เงินไว้ใช้ บางคนขู่พ่อแม่ว่าถ้าไม่ซื้อมือถือแพงๆ หรือมอเตอร์ไซค์ให้ก็จะไม่ไปเรียน ( แล้วแน่นอน บางคนเรียนแล้วก็ไม่จบ ) กลายเป็นว่าเด็กเดี๋ยวนี้กลายเป็นลูกเทวดากันมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าให้ผู้เขียนพูดกันตามตรง ก็ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการเลิกการใช้ไม้เรียวไปเมื่อสัก 10 ปีก่อน
สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่จะต้องเจอจากเด็กยุคนี้และยุคถัดไป?
เด็กจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนจากที่บ้าน แนวคิดเช่นนี้เป็นความจริงมาตลอด แต่แนวคิดนี้จะเป็นจริงต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อสังคมยังมีค่านิยมหลัก ( Value ) ให้ผู้คนในสังคมยึดถือ จะเรียกว่าวิถีประชา จารีตหรือขนบธรรมเนียมก็แล้วแต่ ทว่าในยุคใหม่นี้ กระแสคำสอนต่างๆ สามารถเผยแพร่ได้เต็มที่ เนื่องด้วยภาครัฐมิอาจกุมระบบการสื่อสารได้อีกต่อไป ในอดีตเราอาจจะตั้งข้อสงสัยแค่ในแง่ของบุคคลว่าคนๆ นั้น คนๆ นี้เป็นคนดีไหม? มีศีลมีธรรมไหม? ถ้าไม่มี ก็อาจจะต้องได้รับการตำหนิติเตียน โดยรัฐจะมีชุดความคิดหนึ่ง อันเป็นรากแห่งประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐออกมาใช้ ถ้าไม่ใช่ในรูปของกฎหมายโดยตรง ก็จะเป็นรูปของการรณรงค์ปลูกฝังความเชื่อ เช่นของบ้านเราอาจจะว่าด้วยเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ความมีน้ำใจ เกรงใจ รู้กาลเทศะ ขณะที่สังคมอย่างญี่ปุ่นอาจจะว่าด้วยการเสียสละ ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ฯลฯ ให้คนในสังคมนั้นๆ ปฏิบัติตาม ตลอดมาเราไม่เคยตั้งคำถามกับชุดความเชื่อเหล่านี้ จนกระทั่งในยุคไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อความเป็นชาติก็ดี ความเป็นหมู่ชนนิยมก็ดี ถูกทำให้สั่นคลอนด้วยชุดความคิดแนวปัจเจกนิยม สุขนิยม สะท้อนโดยคำพูดประมาณว่า ไม่แคร์สื่อ , ฉันไปทำอะไรบนหัวใครมิทราบ? และอื่นๆ ในทำนองนี้ เท่ากับว่าต่อไปนี้คนในยุคใหม่จะกลายเป็นพวกตั้งคำถามกันถึงราก ( Radical Thinking ) กันมากขึ้น โดยอาจจะไม่เชื่ออะไรที่ไม่สามารถอธิบายด้วยตรรกะ ( Logic ) คือไม่อาจจะเห็นเป็นรูปธรรมเลยด้วยซ้ำไป
ว่าด้วยชุดความคิดของพ่อแม่ประเภทต่างๆ ในสังคมไทย
ต่อไปจะเป็นการกล่าวถึงชุดความคิดที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ใช้สอนลูก ผู้ใหญ่ใช้สอนเด็กและเยาวชนในความปกครองดูแล ซึ่งผู้เขียนจะแบ่งออกเป็นชุดความคิดต่างๆ โดยขออนุญาตเล่าโดยประสบการณ์การถกเถียงกับผู้อาวุโสคนหนึ่งที่ผมได้พบซึ่งเชี่ยวชาญและมีแนวคิดเชิงสุขนิยม กิเลสนิยมเมื่อหลายปีก่อนมาอธิบายประกอบในแต่ละประเภทดังนี้
- ชุดความคิดแบบศาสนนิยม
ลักษณะเด่น : ชุดความคิดนี้เป็นชุดความคิดพื้นฐานที่สุดของสังคมไทย สังคมที่มีรากทางประวัติศาสตร์มาจากศาสนาพุทธเป็นสำคัญ ชุดความคิดหลักที่ว่านี้คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว , ความกตัญญู , สัมมาคารวะ โดยคร่าวๆ คือพ่อแม่ลักษณะนี้จะปลูกฝังให้ลูกส่วนมนต์ไหว้พระ ทำบุญตักบาตร มุ่งให้ทำดี ไม่ทำชั่ว เพื่อที่ตายไปจะได้ไปสวรรค์ ไม่ตกนรก บุญและบาปคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ประเภทนี้
จุดอ่อนที่ถูกท้าทาย : กระแสแห่งกิเลสนิยม ได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกับศาสนาประมาณว่า นรกสวรรค์มีจริงไหม? , บุญบาปคืออะไร เหมือนกันทุกที่หรือเปล่า? , ความดีวัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ งั้นก็คงไม่น่าเชื่อถือใช่ไหม? หรือแม้แต่ นักบวชคือพวกล้มเหลวในทางโลก จึงเอาทางธรรมที่วัดค่าไม่ได้มาหลอกคนหรือเปล่า? เหล่านี้คือคำถามที่ฝ่ายศาสนนิยมกำลังถูกท้าทายในปัจจุบัน
- ชุดความคิดแบบจริยธรรมนิยม
ลักษณะเด่น : ชุดความคิดนี้จะไม่สนใจเรื่องโลกหน้า อภินิหาร หรือแม้แต่ประเพณีทางศาสนา แนวคิดหลักของกลุ่มนี้คือสอนว่าคนที่มีคุณธรรม จริยธรรมคือ ผู้มีเกียรติ สมควรได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไป ชุดคุณธรรมสำคัญก็เช่น เมตตา ( เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก ) , สัจจะ ( ไม่หลอกลวง ไม่ทุจริตคดโกง ) , กล้าหาญ ( กล้าปฏิเสธหรือต่อต้านสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ) , ขันติ ( อดทน ข่มใจไม่แสดงกิริยาที่ไม่ดีไม่งาม ) , ปัญญา ( แยกแยะได้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ) , วินัย ( เข้มงวดในการอบรมตนเองเพื่อให้เข้าถึงคุณธรรมข้ออื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ) พ่อแม่กลุ่มนี้จะไม่เข้มงวดด้วยกำลังมากนัก และไม่เอาโลกหน้ามาขู่ แต่จะสอนประโยชน์ของการมีคุณธรรมว่าจะได้รับการยกย่องอย่างไร? เป็นบัณฑิตบ้าง วีรชนบ้าง ( อนึ่ง! ผู้เขียนเติบโตมากับชุดความคิดนี้เป็นหลัก )
จุดอ่อนที่ถูกท้าทาย : ชุดความคิดนี้กำลังถูกท้าทายในแง่ที่ว่า คุณธรรมเพื่อใคร? กล่าวคือมีนักคิดบางส่วนบอกว่า ศาสนาก็ดี จริยธรรมก็ดี ล้วนเป็นเครื่องมือในการรักษาสถานะทางอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้อาวุโสที่ผู้เขียนได้เคยสนทนาด้วย ได้ยกเรื่องประเด็นโลกร้อนขึ้นมาถามผู้เขียนว่า ได้ยินว่าปกติเห็นไฟเปิดทิ้ง น้ำเปิดทิ้งก็ไปปิดใช่ไหม? กระดาษก็ใช้ 2 หน้าตลอดถ้าทำได้ใช่ไหม? ผู้เขียนตอบว่าใช่เพราะต้องการลดการใช้ทรัพยากรโลก ถึงคนอื่นไม่ทำก็ช่างมัน ผู้เขียนจะทำเท่าที่ทำได้ ผู้อาวุโสผู้นั้นก็กล่าวว่า น่าเสียดาย! รู้ไหม การลดโลกร้อนน่ะเขาให้คนทั่วไปลด พวกชนชั้นนำน่ะไม่มีใครลดหรอก เปิดแอร์แรงๆ ขับรถหรูๆ กินทิ้งกินขว้างทั้งนั้น แล้วก็มาสร้างกระแสให้คนชั้นกลางชั้นล่างช่วยกันลด เพื่อให้พวกนี้กอบโกยทรัพยากรไปใช้เองมากๆ และยังพาดพิงไปถึงเรื่องการเมืองทำนองที่ว่า ไพร่พลใช้ศีรษะตนเองให้ขุนศึกเหยียบขึ้นไปสู่อำนาจเงินทอง โดยเอาคำว่า วีรชน และเหรียญกล้าหาญมาล่อ และเราอดทน เกรงใจกันก็เพื่อให้กระบวนการคิดได้ทำความเคยชินว่าเมื่อเราเจอชนชั้นนำ เรายิ่งต้องอดทนและเกรงใจเป็นเท่าทวีคูณ โดยมีนัยยะแอบแฝงคือให้เป็นเครื่องประดับบารมีของชนชั้นนำ ( ผู้ใดได้รับความเกรงใจมาก ก็แสดงว่ามีบารมีมาก? )
- ชุดความคิดแบบเห็นอกเห็นใจนิยม
ลักษณะเด่น : ชุดความคิดนี้จะคล้ายกับชุดความคิดจริยธรรมนิยม แต่จะยืดหยุ่นมากกว่าโดยเน้นสอนในแง่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยให้คิดว่าอะไรที่เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเรา เราก็อย่าไปทำแบบนั้นกับคนอื่น โดยสรุปคือชุดความคิดนี้มีแนวคิดสั้นๆ ว่า ทำอะไรทำไป อย่าไปสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นก็พอ
จุดอ่อนที่ถูกท้าทาย : ด้วยเหตุที่แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผู้อาวุโสท่านดังกล่าวได้ตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าไม่รู้ ก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม? ถ้างั้นทำอะไรทำได้หมด อย่าให้คนอื่นรู้ก็พอ? แล้วก็ยกตัวอย่างเรื่องชู้ เรื่องกิ๊ก เรื่องสวิงกิ้ง ( การแลกคู่นอน ) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัว โดยบอกว่าปัญหาเรื่องนี้เกิดเพราะฝ่ายที่มีชู้ มีกิ๊กทำอะไรเป็นพิรุธใช่ไหม? หรือพลาดท่าถูกจับได้ใช่ไหม? ถ้าไม่ถูกจับได้ หรือไม่ถูกสงสัย อีกฝ่ายก็ไม่เดือดร้อน ก็ยังคงรักและภักดีกันต่อไป? ก็เช่นเดียวกับการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าไม่ถูกจับ ไม่มีหลักฐาน ก็ไม่ผิด ก็ทำต่อไป โกงต่อไป ก็เท่านั้น เพราะไม่มีใครเดือดร้อนหรือสงสัยจนนำมาสู่การจับกุมและยึดทรัพย์? และสรุปว่าทำอะไรทำได้ แต่จงเลือกเป้าหมายและสถานการณ์ที่จะทำ เพราะถ้าประเมินผิด นั่นละความผิดจะเกิด แต่ถ้าประเมินถูก เราก็จะเป็นคนดีในสังคมต่อไปโดยที่ไม่มีใครรู้อะไรเลย? อนึ่ง! มนุษย์ชอบการเปรียบเทียบและเลียนแบบเป็นปกติอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่ำรวย มีอำนาจ ก็ย่อมเป็นแบบอย่างของคนทั่วไปได้มหาศาลทีเดียว ดังนั้นหากคนทำไม่ดีแล้วรวย ดัง มีอำนาจ คนมากมายก็อยากเอาอย่าง?
- บทสรุป : ปัญหาการสอนของผู้ปกครองไทย เมื่ออำนาจนิยมกำลังจะแทนที่ด้วยตรรกะนิยม
อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย จึงลองตั้งสมมติฐานคำถามเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งเราจะพบการตั้งคำถามกับค่านิยมเดิมๆ โดยความเชื่อใหม่ว่าศีลธรรม ศาสนา จริยธรรมเป็นแค่รสนิยม ( Taste ) เหมือนเสื้อผ้าสักชุด รถสักคันที่มิได้มีคุณค่าต่อกระแสสังคม คือเป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความเป็นจริง ผู้มีศาสนนิยม การทำดีอาจไม่ได้ดี การทำชั่วอาจจะไม่ได้ชั่ว ส่วนผู้มีจริยธรรมนิยม เกียรติยศอาจโดนวิพากษ์ว่าเป็นเรื่องของคนโง่เขลา ( มีเรื่อง Joke ในวงเหล้าขำๆ แซวกันว่าชายหนุ่มที่มีหญิงสาวสวยมาหาถึงห้องแต่กลับไม่มีอะไรกัน ชายหนุ่มคนดังกล่าวจะถูกมองว่าโง่และไก่อ่อนมากกว่าจะเป็นสุภาพบุรุษ? ) และผู้ที่ยึดความคิดแนวเห็นอกเห็นใจนิยม จะต้องเกิดการเปรียบเทียบขึ้นในจิตใจว่าเราจะห่วงใยคนอื่นทำไม เพราะไม่เห็นจะมีใครห่วงใยเรา หรือห่วงใยกันและกันเลย มีแต่ลับหลังคนจ้องจะเอาเปรียบ นินทากันและกันทั้งนั้น ส่วนหน้าฉากก็ยิ้มแย้มให้กันต่อไป เราจะพบว่าถ้ามีเหตุต้องมีผล และเหตุกับผลต้องสอดคล้องกันจึงจะเข้าข่าย จริง และนอกนั้นจะกลายเป็น เท็จ ทั้งหมดตามหลักตรรกะนิยม จะศาสนนิยมก็ดี จริยธรรมนิยมก็ดี เห็นอกเห็นใจนิยมก็ดี ล้วนมีความลักลั่น ( Paradox ) ในตัวเองทั้งสิ้น เพราะเหตุและผลมักจะไม่สอดคล้องกันแบบที่เราปรารถนาจะให้เป็น ที่สำคัญจะไปใช้อำนาจนิยมด้วยการออกคำสั่ง หรือใช้สถานะอ้างว่าตัวเป็นพ่อแม่นะ เป็นครูอาจารย์นะ เป็นผู้ปกครองนะก็คงไม่ได้อีกต่อไป เพราะสำนึกของคนยุคนี้ สถานภาพ มิได้มีความสำคัญในเชิงอำนาจมากมายแบบในอดีตอีกต่อไปแล้ว การใช้เหตุผล ต่างหากที่กำลังมาแทนที่
อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด บทความชิ้นนี้ผู้เขียนคงไม่อาจให้คำตอบได้ว่าในโลกใหม่ที่ประเทศไทยของก็หนีไม่พ้นนั้น เราจะสามารถรักษาไว้ซึ่งค่านิยมในจริยธรรมอันดีงามได้อย่างไร? หรือจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระแสของกิเลสนิยม เพราะอย่างหลังเป็นรูปธรรมกินได้มากกว่า ผู้เขียนเพียงคนเดียวไม่อาจจะคิดแก้ปัญหานี้ออกแม้ว่าจะคิดมาหลายปีแล้วก็ตาม ( แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องคิดและหาหนทางต่อไป ) จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาให้ผู้อ่านได้ลองคิดกันเล่นๆ ระดมสมองกันดูว่าเราจะสอนลูกหลานในยุคหน้าอย่างไร?
แล้วพบกันใหม่กับคอลัมน์ เสียงคนวงนอก ตามปกติครับ?
good........thanks จาก : the bier(the bier) 9/6/2554 14:58:36 [202.176.80.202] |
แสดงความคิดเห็นย่อย
|
|