จาก Ganza
อังคารที่ , 12/8/2551
เวลา : 21:09
อ่าน = 498
58.9.1.146
|
ไม่ต้องนั่งยันหรือยืนยันก็เชื่อว่าหลายคนต้องคิดเหมือนผม ว่าบรรดาเหล่าออฟโรดทั้งหลายนั้น ล้วนแล้วแต่มีความแข็งแกร่ง เหนือกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่หลายขุม แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อเทียบกับการใช้งาน แบบเต็มขีดความสามารถบนเส้นทางออฟโรดแล้ว ความแข็งแกร่งที่เห็นและรู้สึกกันนั้น กลับเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาเท่านั้น
เพราะในหลายต่อหลายครั้ง ตัวลุยมาดเข้มต้องสิ้นท่าจอดซ่อมกันกลางทาง แบบเดียวกับนักมวยที่ต้องนอนหมอบ ให้กรรมการนับอยู่กลางเวที และที่ร้ายกว่านั้นคล้ายนักมวยที่ต้องลงเปลก็คือ ต้องลากกันออกมาด้วยซ้ำไป
ในเมื่อใจรักเป็นขาลุยกันทั้งที จะให้ลดแรงออมมือให้กันช่วงต้องแลกหมัดกดคันเร่งส่งขึ้นเนินเต็มกำลังแบบห้ามพลาด แต่อีกใจก็ต้องชั่งใจว่าค่อยๆ ไต่เข้าไปดิ้นอยู่นานสองนานเพราะกอไผ่ขนาดใหญ่ดักรออยู่ในไลน์ที่มีโอกาสลื่นไถลเข้าไปหาเต็มรักแล้ว แบบนี้ดูเหมือนจะทำให้สีสันและอรรถรสของทริปลดลงไปอักโขทีเดียว ของแบบนี้เตรียมตัวกันล่วงหน้าได้ครับ ในเมื่อรู้ตัวล่วงว่าต้องลุย หรือต้องมีการกระทบกระแทกให้แตกหักเสียหาย ก็เพียงแค่หุ้มเกราะในส่วนนั้นไว้ล่วงหน้าเท่านั้น มาดูกันครับว่าเกราะที่ว่ามีอะไรกันบ้าง ?
กันชนหน้า เกราะชิ้นแรกที่มักมีการติดตั้งให้กับตัวลุย มองเห็นกันได้เด่นชัดแต่ไกลก็คือกันชน ซึ่งมีให้เลือกกันหลายแบบ ตั้งแต่เป็นโครงเหล็กเป็นแผงตั้งแต่มุมซ้ายถึงมุมขวา ติดตั้งเพื่อป้องกันความเสียหายของกันชนเดิมจากโรงงาน มีทั้งทำจากเหล็กและอะลูมิเนียม หรือเป็นเพียงบาร์รูปตัว U คว่ำ ป้องกันเฉพาะส่วนกระจังหน้าและหม้อน้ำเท่านั้น
แบบต่อมาเป็นแบบประเภทต้องถอดกันชนเดิมออกแล้วติดตั้งเข้าไปแทน มีทั้งเป็นเหล็กและอะลูมิเนียม แบบนี้จะแข็งแกร่งกว่าแบบแรกมาก และหากต้องการติดตั้งวินช์ด้วยก็ขอแนะนำแบบเป็นเหล็กจะดีกว่า (แม้ว่าจะมีแบบอะลูมิเนียมให้เลือกด้วยก็ตาม) การติดตั้งกันชนประเภทนี้ต้องยึดเข้ากับโครงสร้างหลักของตัวรถก็คือชัสซีส์ สำหรับกันชนที่สร้างขึ้นเองจากอู่ทั่วไป ต้องเช็คเรื่องจุดเชื่อมยึดและวัสดุที่ใช้ตั้งแต่แผ่นเหล็กจนถึงนอต ยึดให้ดีครับ เพราะวินช์กันจนกันชนหลุดจากตัวรถก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว
ข้อควรระวัง : การเปลี่ยนหรือติดตั้งกันชนหน้าเสริมเข้าไป ควรตรวจเช็คตำแหน่งของกันชนเมื่อติดตั้งแล้วว่าทำให้องศาของมุมปะทะแคบลงหรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่อการทำงานของถุงลมนิรภัย ซึ่งอาจทำให้ถุงลมไม่ทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะตัวลุยของคุณเป็นรุ่นใหม่ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้จากโรงงาน การเปลี่ยนติดตั้งกันชนใหม่แทนของเดิม อาจมีกระทบต่อเงื่อนไขการรับประกันได้ น้ำหนักของกันชนเป็นอีกเรื่องที่ต้องนำมาตัดสินใจ เพราะกันชนที่มีน้ำหนักมาก ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนช่วงล่างทั้งคัน อีกทั้งน้ำหนักของกันชนที่อยู่นอกเพลาก็มีผลต่อเรื่องแฮนด์ลิ่งของรถอย่างรู้สึกได้ชัดเจนครับ
กันชนหลัง กันชนหลังก็เป็นอีกส่วนที่มักมีการเปลี่ยนแบบใหม่กันใส่เข้าไป ส่วนมากมักเป็นเหล็กท่อกลมเคลือบสีเพาเดอร์โค๊ท พื้นเหยียบมักทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียมตีนไก่ แถมด้วยจุดยึดพ่วงหรือลากพ่วงอีกหลายแบบครับ กันชนท้ายแบบนี้ผมเห็นมีร้านตกแต่งบ้านเราหลายร้านทำได้ดีไม่แพ้ของนอก แต่ราคาเป็นมิตรกับกระเป๋ามากกว่าครับ
ข้อควรระวัง : การติดตั้งกันชนหลังหากยื่นออกมามากเกินไป จะมีผลให้องศาของมุมลดลง จนอาจทำให้กันชนท้ายไปครูดกับปลายเนิน หรือทางลงจากแรมป์ที่ค่อนข้างชันได้ สำหรับกันชนแบบเหล็กปั๊มขึ้นรูปชุบโครเมียมจนเงางามนั้น ขอให้อยู่ในวิจารณญาณของเจ้าของรถครับ เพราะจากประสบการณ์พบว่าการขับขี่เวลากลางคืนในเขตเมืองนั้น สร้างความรำคาญจากแสงสะท้อนของแสงไฟหน้า ของรถคันที่ตามมาสะท้อนเข้าตาผู้ขับได้ครับ
เช่นเดียวกับกันชนหน้าครับ น้ำหนักนอกเพลามีผลต่อการขับขี่อย่างรู้สึกได้แม้ในน้ำหนักเท่ากันจะมีผลไม่เท่าด้านหน้าก็ตาม
บันไดและการ์ดกันกระแทกด้านข้าง
ด้านข้างเป็นอีกส่วนที่มักมีการติดตั้งกันชน หรือการ์ดกันกระแทกข้าง หรือที่มักเรียกกันว่า ไซด์เรียล มีลักษณะเป็นเหล็กท่อกลมต่อยึดจากกันชนโอบตามซุ้มล้อลงมาขอบตัวถังด้านล่าง เพื่อป้องกันส่วนของซุ้มล้อและตัวถังด้านข้าง พร้อมทำให้เป็นขอบชายบันไดไปในตัว การติดตั้งส่วนบันไดข้างนี้ ทั้งจะมีไซด์เรียลหรือไม่มีก็ตาม ควรพิจารณา 2 ประการสำคัญคือ ตำแหน่งการติดตั้งว่าจะต่ำเกินไป (ต่ำกว่าชัสซีส์) จนอาจทำให้เป็นจุดด้อยของรถ หรือสูงและเยื้องออกมาด้านข้างเพื่อให้เป็นบันไดมากเกินไปหรือไม่ จนทำให้ไม่สามารถป้องกันส่วนของตัวถังขอบประตู ซึ่งหากได้รับการเสียหายแล้ว การซ่อมแซมจุดนี้จะยุ่งยากพอสมควร
ข้อควรระวัง : นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากรถของคุณเป็นตัวถังแบบโมโนค็อค, ยูนิบอดี้ หรือชัสซีส์ ออน เฟรม แบบจี๊ป เชอโรกี ฯลฯ การติดตั้งไซด์เรียล หรือบันไดข้าง จะทำให้คุณสมบัติการให้ตัวของตัวถัง ซึ่งเป็นจุดเด่นของตัวรถ และมีผลต่อการขับขี่ทั้งแบบออนโรดและออฟโรด เสียไป
Credit:ชนินทร์ พงษ์เสือ
|