คำตอบที่ 2
อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย
ความเป็นมา : ในปี 2519 สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ ความว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชประสงค์สงวนป่าบริเวณตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในบริเวณนี้ประกอบด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาชนิด ราษฎรในแถบนี้และใกล้เคียงได้รับความสมบูรณ์จากน้ำที่เกิดจากพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าแห่งนี้ กรมป่าไม้ควรสงวนไว้เป็นวนอุทยานซึ่ง ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้ว มีบัญชาให้ดำเนินการตามพระราชประสงค์"
กรมป่าไม้จึงได้ประชุมผู้แทนกองต่างๆ พิจารณาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2519 และมีหนังสือให้กองจัดการป่าไม้ กองอุทยานแห่งชาติ และกองอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่งตั้งผู้แทนของกองออกไปร่วมกับป่าไม้เขตตาก และจังหวัดสุโขทัย ดำเนินการตรวจสอบป่าโครงการแม่สิน-แม่สาน (สท.1) ซึ่งเป็นพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันตรวจสอบ และเห็นสมควรให้จัดป่าแห่งนี้บางส่วนเป็นอุทยานแห่งชาติ เฉพาะในพื้นที่ป่าส่วนที่เป็นต้นน้ำลำธาร กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นสภาพโครงการป่าโครงการแม่สิน-แม่สาน ซึ่งได้รับรายงานว่า พื้นที่ ดังกล่าวมีสภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธาร พันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่านานาชนิดน้ำตกหลายแห่ง ตลอดจนทัศนียภาพที่สวยงามมากมาย มีสภาพเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้
กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สินป่าแม่สาน ป่าแม่สูงฝั่งซ้าย และ ป่าแม่ท่าแพ ในท้องที่ตำบลแม่ล้น ตำบลแม่สำ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย และตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 70 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 26 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 213.20 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อน บางตอนเป็นภูเขาหินมีหน้าผาสูงทางทิศตะวันตกของพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสูง เช่น ดอยแม่วังช้าง ดอยแม่มอก มีแนวติดต่อกันจากเหนือจรดใต้ ลักษณะเป็นรูปปีกการอบพื้นที่ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 300-1,200 เมตร โดยพื้นที่มีความลาดชันซึ่งเป็นข้อดีข้อหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการแผ้วถางป่ายึดครองพื้นที่ เพื่อทำการเกษตรกรรมของราษฎรรอบพื้นที่ เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยทรายขาว ห้วยแม่ท่าแพ ห้วยแม่สาน ห้วยผาจ่อ และห้วยมะนาว เป็นต้น มีที่ราบตามริมห้วยช้างและบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย มีลักษณะอากาศคล้ายคลึงกันกับท้องถิ่นใกล้เคียงของจังหวัดในภาคเหนือ สภาพอากาศในฤดูร้อนค่อนข้างร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดือนเมษายน 38oC ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยประมาณ 1,433 มิลลิเมตร และฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัด โดยเฉพาะระหว่างเดือนธันวาคมกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในเดือนมกราคม 16oC อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27oC
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่า ประกอบไปด้วย ป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 93.40 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พบมากในที่ลาดชัน ลาดเขา ริมห้วย พันธ์ไม้ที่พบมากได้แก่ กระเบา สัก คอแลน ชมพู่ป่า แดง มะค่าโมง ไผ่เฮียะ เป็นต้น รองลงมาเป็น ป่าเต็งรัง มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 4.72 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่พบมากได้แก่ เต็ง รัง ประดู่ ตะแบก ตะคร้อ เป็นต้น และพื้นที่ที่เหลือจะเป็น ป่าดงดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อเดือย ก่อนก ยางแดง เหมือด เป็นต้น
เนื่องจากมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณืและมีลำห้วยมากมาย จึงทำให้มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ที่พบเห็นบ่อยได้แก่ เสือไฟ หมูป่า อีเห็นข้างลาย กระรอกหลากสี กระแตเหนือ ค้างคาว เหยี่ยว นกเขาใหญ่ นกจาบคาหัวสีส้ม เต่าเหลือง ฯลฯ ในบริเวณถ้ำธาราวสันต์และถ้ำผาจ่อ ซึ่งเป็นถ้ำหินปูน เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ ค้างคาวมงกุฎมลายู ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ ค้างคาวเล็บกุด นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นแหล่งสร้างรังและเลี้ยงดูตัวอ่อนของนกเอี้ยงถ้ำ ที่หลบภัยตามธรรมชาติของเม่น และที่หาอาหารของหนูฟานเหลือง ในบริเวณริมลำห้วยและในลำธารต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติเป็นที่อยู่อาศัยของ จิ้งเหลนห้วยท้องแดง กบห้วยขาปุ่ม กบทูด เขียดงู ปลาจาด ปลาก้าง ปลาค้อ ปูน้ำตก และหอยเจดีย์ เป็นต้น
ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย
ตู้ ปณ.10 ต.บ้านแก่ง อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130
โทรศัพท์ : 0 5561 9214-5
รถยนต์
จากอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เข้าถึงอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย มีสองเส้นทางหลักด้วยกัน
เริ่มจากอำเภอเมืองมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 สายเลี่ยงเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1113 มาถึงสี่แยกสารจิตรแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1294 ประมาณ 40 กิโลเมตร เข้าสู่อุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 100 กิโลเมตร
เริ่มจากอำเภอเมืองมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย มาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1201 ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงสี่แยกสารจิตรแล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1294 ประมาณ 40 กิโลเมตร เข้าสู่อุทยานแห่งชาติ ระยะทางรวมประมาณ 122 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง
1.จากกรุงเทพโดยรถทัวร์ไปลงที่ อ.ศรีสัชนาลัย รอรถสองแถวเข้าไปที่ทำการอุทยานฯ รถมีวันละ 1 เที่ยว รถออกก่อนเที่ยงวัน
2.จากกรุงเทพ โดยรถทัวร์ไปลงที่สารจิตร โดยบรัษัทวินทัวร์หรือบริษัทขนส่งจำกัด ค่าโดยสารประมาณคนละ 300 บาท ไปถึงประมาณ 05.00 น. และรอรถโดยสารเข้าต่อไปที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ที่พัก-บริการ
ท่านสามารถจองที่พัก-บริการได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต สามารถจองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 3 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือโทรติดต่อเจ้าหน้าที่สำรองที่พักทำการจองให้ที่หมายเลข 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พัก-บริการออนไลน์ในส่วนภูมิภาค หากต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่
# ชื่อที่พัก-บริหาร ห้องนอน ห้องน้ำ คน/หลัง ราคา/คืน สิ่งอำนวยความสะดวก
1 ศรีสัชนาลัย 101 (ราชพฤกษ์ 1) 1 1 2 600 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
2 ศรีสัชนาลัย 102 (ราชพฤกษ์ 2) 1 1 2 600 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
3 ศรีสัชนาลัย 103 (ราชพฤกษ์ 3) 1 1 2 600 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
4 ศรีสัชนาลัย 104 (ราชพฤกษ์ 4) 1 1 2 600 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
5 ศรีสัชนาลัย 105 (ตาดฤาษี 1) 1 1 4 1,000 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
6 ศรีสัชนาลัย 106 (ตาดฤาษี 2) 1 1 4 1,000 มีเครื่องนอน, พัดลม, โต๊ะอาหาร
7 ศรีสัชนาลัย 107 (ริมธาร) 3 2 8 2,000 มีเครื่องนอน, พัดลม, ชุดรับแขก
หมายเหตุ : กรณีที่มีผู้เข้าพักแรมในที่พักเกินจำนวนที่กำหนด ต้องชำระค่าตอบแทนที่พักสำหรับจำนวนที่เกินอีก โดยไม่มีเครื่องนอนหรือของใช้อื่นๆ เพิ่มอีก ดังนี้ ประเภทบ้านพัก ในอัตราคนละ 100 บาท/คน/คืน และ ประเภทค่ายพัก ในอัตราคนละ 50 บาท/คน/คืน สำหรับการจัดโซนและจำนวนที่พัก-บริการ ที่เปิดให้บริการในอุทยานแห่งชาติมีดังต่อไปนี้
แหล่งท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอทุ่งเสลี่ยง จังหวัดสุโขทัย เมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ได้ชื่อว่า เป็นเมืองประวัติศาสตร์เป็นที่รวมของโบราณวัตถุ สถานที่ล้ำค่าและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น วัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร วัดนางพญา แก่งหลวง เตาทุเรียง ซึ่งเป็นเตาเผาเครื่องสังคโลกยังเป็นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อรักษาสภาพป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าสวยงามเป็นมรดกของชาติสืบไปอีกด้วย มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
น้ำตกตาดดาว มีต้นกำเนิดจากห้วยแม่ท่าแพ ตกผ่านหน้าผา สูงประมาณ 30 เมตร มีถึง 3 ชั้น เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามมาก ลักษณะของธารน้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ไหลลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงฤดูที่มีน้ำมาก ละอองของน้ำตกจะฟุ้งกระจายไปทั่ว และสะท้อนแสงแดดเกิดเป็นสายรุ้งงดงาม น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 3 กิโลเมตร ต้องเดินเลียบลำห้วยไป สภาพทางช่วงสุดท้ายค่อนข้างชัน
น้ำตกตาดเดือน เป็นน้ำตกที่อยู่ในห้วยท่าแพ สูงประมาณ 10 เมตร ลำน้ำไหลคดเคี้ยวตกลงแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 300 เมตร
โป่งน้ำเดือด อยู่ห่างจากบ้านป่าคาประมาณ 500 เมตร น้ำใสสะอาด มีลักษณะเหมือนเดือดตลอดเวลา แต่มีกลิ่นคล้ายแก๊สไข่เน่าระเหยออกมาด้วย ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้วโดยพวกเหมืองแร่เหลือแต่น้ำอุ่นในฤดูหนาว
น้ำตกห้วยทรายขาว เกิดจากลำห้วยทรายขาว มี 7 ชั้น ลดหลั่นกันไปอยู่ใจกลางขุนเขาและแมกไม้อันสงบเงียบ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ถ้ำธาราวสันต์ เป็นถ้ำหินปูนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ลักษณะเป็นลานกว้างเป็นชั้นๆ ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่ จากปากถ้ำต้องไต่เขาลงไปในถ้ำตามซอกหิน มีอุโมงค์ทางเดินที่เป็นผนังหินของภูเขาสองลูกมาชนกัน ผ่านอุโมงค์ที่คล้ายธารน้ำไหล ผนังหินเป็นหินที่มีลักษณะคล้ายหินอ่อน และมีบริเวณหนึ่งเป็นหินทรายรูปหัวสิงโต
จากบริเวณนี้จะไปออกพ้นขึ้นเหนือถ้ำบนเชิงหน้าผา และทางด้านซ้ายมือมีทางเดินลงไปในอีกถ้ำหนึ่งซึ่งภายในค่อนข้างมืด เป็นถ้ำโล่ง มีค้างคาวอาศัยอยู่มาก รอบบริเวณพบพรรณไม้และสัตว์ป่าได้ทั่วไป เช่น จันทน์ผา เลียงผา เป็นต้น ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.5 กิโลเมตร โดยไปตามทางร่องน้ำเก่าซึ่งผ่านป่าดงดิบอันร่มครึ้ม บางช่วงจะผ่านป่าสัก
ถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก และเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวนับแสนตัว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกแม่สาน ต้นกำเนิดจากห้วยแม่สาน เป็นน้ำตกหินปูนมีหลายชั้น ไม่สูงมากนัก ลดหลั่นกันสวยงาม อยู่ใกล้กับ ถ้ำแม่สาน บริเวณเขาผาจ่อ ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ภายในถ้ำเป็นที่อยู่ของค้างคาวนับแสนตัว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้หมู่บ้านแม่สาน
น้ำตกปากะญอ เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีหลายชั้น บางชั้นเป็นลักษณะของสไลด์เดอร์ สูงสวยงาม อยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ห่างประมาณ 12 กิโลเมตร ใกล้หมู่บ้านห้วยหยวก
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว 2 แห่ง ได้แก่
-ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
-บริเวณน้ำตกตาดเดือน
ร้านขายเครื่องดื่ม/ร้านกาแฟ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีร้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับบริการนักท่องเที่ยว เปิดบริการตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.30 - 16.30 น.