คำตอบที่ 1
พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ศ. 2522 มาตราที่ 14-30
:: หมวด 2 การควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ
มาตรา 14 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพ ป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่
(1) ทำไม้หรือเก็บหาของป่าตาม มาตรา 15 เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยตาม มาตรา 16 มาตรา 16ทวิ หรือ มาตรา 16ตรี กระทำการ ตาม มาตรา 17 ใช้ประโยชน์ตาม มาตรา 18 หรือกระทำการตาม มาตรา 19 หรือ มาตรา 20
(2) ทำไม้หวงห้ามหรือเก็บหาของป่าหวงห้ามตามกฎหมาย ว่าด้วยป่าไม้ มาตรา 14 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528]
มาตรา 15 การทำไม้หรือการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวน แห่งชาติให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศอนุญาตไว้เป็นคราว ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ
การอนุญาตให้เป็นไปตามแบบ ระเบียบ และวิธีการที่กำหนดใน กฎกระทรวง
มาตรา 16 อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่ง บุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) การเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็น ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณจะอนุญาต โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่เห็นสมควรก็ได้
(2) การเข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมาย ว่าด้วยแร่คราวละไม่เกินสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต เก็บหาของป่าและไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงของป่าตามพระราชบัญญัตินี้สำหรับ แร่ ดินขาว หรือหิน แล้วแต่กรณี
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี
มาตรา 16ทวิ ในกรณีที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดหรือบางส่วน มีสภาพเป็นป่าไร่ร้างเก่า หรือทุ่งหญ้า หรือเป็นป่าที่ไม่มีไม้มีค่าขึ้นอยู่เลย หรือ มีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย และป่านั้นยากที่จะกลับฟื้นคืนดี ตามธรรมชาติ ทั้งนี้ โดยมีสภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณดังกล่าวเป็นป่า เสื่อมโทรม
ถ้าทางราชการมีความจำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดเขตป่าเสื่อมโทรมทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเขต ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ
ในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าบุคคลใดได้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตดังกล่าวอยู่แล้วจนถึงวันที่ประกาศกำหนดตามวรรคสอง
(1) เมื่อบุคคลดังกล่าวร้องขอ และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีความจำเป็นเพื่อการครองชีพ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อไป ในที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้วนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินยี่สิบไร่ต่อหนึ่ง ครอบครัว และมีกำหนดเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี ทั้งนี้ โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคราวแรก คราวต่อ ๆ ไปต้อง เสียค่าธรรมเนียม
(2) บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตาม (1) อาจขออนุญาตปลูกป่าหรือ ไม้ยืนต้นในที่ที่ตนเคยทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ เพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีความสามารถ และ มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะปลูกป่า หรือไม้ยืนต้นตามที่ขอเพิ่มนั้นได้ อธิบดีหรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้ปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นได้แต่ต้อง ไม่เกินสามสิบห้าไร่ต่อหนึ่งครอบครัวและมีกำหนดเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การได้รับอนุญาตตามวรรคสาม มิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิ ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ให้บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตามวรรคสาม (1) และ (2) ได้รับยกเว้น ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า สำหรับไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัว เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้
ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตละทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัย ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตติดต่อกันเกินระยะเวลาสองปี หรือยินยอมให้บุคคลอื่น นอกจากบุคคลในครอบครัวเข้าทำประโยชน์ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และ เงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจ เพิกถอนการอนุญาตนั้น
[ มาตรา 16 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528]
มาตรา 16ตรี ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตาม มาตรา 16ทวิ
ถึงแก่ความตาย ให้บุคคลในครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่กับผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอยู่อาศัย
หรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไปได้ แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่
ผู้ได้รับอนุญาตถึงแก่ความตาย
ถ้าสามี ภรรยา บุตรคนหนึ่งคนใดหรือบุคคลในครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ กับผู้ได้รับอนุญาตและผู้ได้รับอนุญาตได้ระบุไว้เป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนด ให้เป็นผู้สืบสิทธิและหน้าที่ของตนประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ภายในหนึ่งร้อย แปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ได้รับอนุญาตถึงแก่ความตาย
เมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตตามวรรคสองแล้ว ให้บุคคลตามวรรคหนึ่ง อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ต่อไปได้ตามที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอนุญาต
[ มาตรา 16 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528]
มาตรา 17 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือแก่กระทรวง ทบวง กรมหรือบุคคลอื่นใด ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ตามระเบียบที่ อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะสั่งยกเว้น ค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าก็ได้
มาตรา 18 อธิบดีมีอำนาจออกระเบียบการใช้ประโยชน์ในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การเข้าไป การผ่านหรือการใช้ทาง
(2) การนำหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไป
ระเบียบตามวรรคหนึ่ง จะใช้บังคับในเขตป่าสงวนแห่งชาติแห่งใด ให้ประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านใน ท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติแห่งนั้นตั้งอยู่
มาตรา 18 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528]
มาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุง ป่าสงวนแห่งชาติ อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือ เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้
มาตรา 20 ในกรณีป่าสงวนแห่งชาติแห่งใดมีสภาพเป็นป่า เสื่อมโทรมตาม มาตรา 16ทวิ ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตเป็น หนังสือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้น ในเขตป่าเสื่อมโทรมได้ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือ อนุญาต แต่ในกรณีที่จะอนุญาตให้เกิน 2,000 ไร่ ต้องได้รับอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี
รัฐมนตรีอาจกำหนดให้ผู้รับอนุญาตเสียค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาลได้ ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มาตรา 21 ใบอนุญาตทำไม้หรือเก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวน แห่งชาติตาม มาตรา 15 ให้ใช้ได้ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตาม ระเบียบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง
มาตรา 22 ในกรณีใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ยื่นคำขอ ใบแทนใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
การออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบ ระเบียบและวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 23 ใบอนุญาตที่ออกให้ตาม มาตรา 15 จะโอนกันได้ต่อเมื่อ ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
การโอนใบอนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีการที่กำหนดใน กฎกระทรวง
มาตรา 24 ผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจัดให้คนงาน ผู้รับจ้างหรือผู้แทนของผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมี ใบคู่มือสำหรับทำการตามที่ได้รับอนุญาต ตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง
มาตรา 25 เมื่อได้กำหนดป่าใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติและรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาตินั้นแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการ กระทำใด ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฏหรือเหตุ อันสมควรสงสัยว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(2) สั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขต ป่าสงวนแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนดให้
(3) ยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่นเมื่อผู้กระทำผิด ไม่ปฏิบัติตาม (2) ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดหรือรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หาตัว ไม่พบ
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว และ ได้เสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น ให้ผู้กระทำผิดชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายนั้นทั้งหมด หรือให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้ออกขายทอดตลาดหรือขายโดย วิธีอื่นตามที่เห็นสมควร เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายนั้น และให้นำความใน มาตรา 1327 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่เงินที่ได้จากการ ขายทรัพย์สินนั้นโดยอนุโลม
(4) ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
มาตรา 26 การจับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 27 เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต คนงาน ผู้รับจ้าง หรือผู้แทนของผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตกระทำผิดต่อพระราช บัญญัตินี้หรือกฎกระทรวง หรือเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ซึ่งออก ตามพระราชบัญญัตินี้ อันอาจเป็นการเสียหายอย่างร้ายแรง ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พักใช้ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตได้ มีกำหนดไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง
คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามวรรคหนึ่งอธิบดีมีอำนาจ สั่งเพิกถอนคำสั่งหรือเพิ่มหรือลดระยะเวลาที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือหนังสือ อนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ในกรณีที่มีคำสั่งเพิ่มระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะ เพิ่มได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
มาตรา 28 คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตของพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือคำสั่งของอธิบดีตาม มาตรา 27 ผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสือ อนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีโดยยื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 29 ในกรณีที่มีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตแล้ว ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตนั้นได้
มาตรา 30 ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการหรือ สาธารณประโยชน์ หรือเมื่อปรากฏว่าได้มีการอนุญาตไปโดยมิชอบ รัฐมนตรี มีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตรายหนึ่งรายใดทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ในกรณีมิใช่เป็นความผิดของผู้ถูกสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้จ่ายค่า ทดแทนด้วยจำนวนเงินอันเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสั่งเพิกถอนการอนุญาตนั้น