คำตอบที่ 1
ขอบพระคุณครับ
ขอพรนั้นจงส่งผลกลับแต่ผู้มอบและสมาชิกท่านอื่นๆ เป็นร้อยเท่าพันเท่าครับ
ขอฝากคำสอนของ พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ( หลวงพ่อจรัล) ให้อ่านครับ
ประเทศไทยกำหนดเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒
และมาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔
จนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ในแต่ละปี ทุกคนต่างก็มีความหวัง
โดยหวังว่าชีวิตในปีใหม่คงจะดีกว่าปีเก่า
จึงนิยมทำบุญเนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ซึ่งการทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น มีวัตถุประสงค์ดังนี้ :-
๑. เพื่อเป็นการฉลองชีวิตของตน ที่รอดพ้นความตายในปีเก่ามาได้
และเป็นการต้อนรับชีวิตใหม่ในปีใหม่
๒. เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จแห่งกิจการงานต่าง ๆ ที่ดำเนินมาได้
โดยเรียบร้อยราบรื่น ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้
และเป็นการสร้างบุญใหม่สำหรับชีวิตและกิจการในปีใหม่
๓. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษของตน
ตามหน้าที่ของคนดี
๔. เพื่อเป็นการรักษาประเพณีอันดีงาม ให้คงอยู่และเจริญยั่งยืนสืบไป
๕. เพื่อเป็นการร่วมสังสรรค์ระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนบ้าน ได้ทำบุญร่วมกัน
สนุกสนานร่วมกัน เป็นการสร้างความสามัคคี
ความจริงคำว่า ปีเก่าและปีใหม่ เป็นพียงการสมมุติ
เพื่อให้มีสติจะได้ไม่ประมาทในวัยและชีวิต ครั้งหนึ่งเราเคยสมมุติว่าเป็นปีใหม่
เราเคยมีความดีใจและมีความหวัง
และหลายคนคงจะไม่สมหวังในสิ่งที่หวังในปีเก่าที่จะผ่านไป เมื่อไม่สมหวังในปีเก่า
ก็เลยฝากความหวังไว้กับปีใหม่ที่จะมาถึง คิดและทำอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า จัดว่าเป็นคนที่ประมาท
มีคำอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า เจริญวัย ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึงวัยเจริญขึ้น
โดยมุ่งถึงความเจริญงอกงามหรือพัฒนาการทางด้านร่างกาย
แต่ความจริง คำว่า วัย เป็นภาษาบาลี แปลว่า เสื่อมไป
เจริญวัยจึงหมายถึงความเสื่อมเจริญ หรือความเสื่อมเพิ่มขึ้น เช่น เจริญวัยได้ ๓๙ ปี
ก็หมายถึงสภาพร่างกายมีความเสื่อมไปเพิ่มขึ้น ๓๙ ปี
หรือมีวัย ๖๘ ปี ก็หมายถึงมีความเสื่อมไป ๖๘ ปี เป็นต้น
ซึ่งปีใหม่นั้นมันก็เกี่ยวข้องกับอายุหรือวัยของคนเรา
เพราะทำให้คนเรามีอายุหรือวัยเพิ่มขึ้นตามปีที่ผ่านไป
ชีวิตของคนแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะต้น ระยะกลาง และระยะสุดท้าย
ระยะต้นของชีวิต เรียกว่า ปฐมวัย กำหนดตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๒๕ ปี
ระยะกลางของชีวิต เรียกว่า มัชฌิมวัย นับตั้งแต่อายุ ๒๖ - ๕๐ ปี
ระยะสุดท้ายของชีวิต เรียกว่า ปัจฉิมวัย นับตั้งแต่อายุ ๕๑ ปีขึ้นไป
นักปราชญ์ท่านสอนคนเราให้พยายามสร้างประโยชน์แก่ตัวเองตามวัยทั้ง ๓ ดังนี้
๑. ปฐมวัย ให้รีบเร่งศึกษาหาความรู้ใส่ตัว
๒. มัชฌิมวัย ให้เร่งก่อสร้างตัวและสร้างฐานะเป็นหลักฐาน
๓. ปัจฉิมวัย ให้เร่งสร้างคุณงามความดี คือทำบุญไว้ เพื่อเป็นเสบียงเครื่องเดินทางต่อไปของตน
และเป็นตัวอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง
ผู้ที่ไม่สร้างประโยชน์ตามวัย ย่อมเสียใจและเสียดายเมื่อผ่านพ้นจากวัยนั้น ๆ แล้ว
เช่นเป็นเด็กไม่สนใจในการศึกษาเมื่อเติบโตขึ้นไม่มีวิชาความรู้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต
ยามที่มีกำลังไม่รีบเร่งสร้างฐานะเมื่อหมดกำลังแล้วย่อมกลายเป็นคนอนาถา
คือไม่มีที่พึ่งถึงวัยใกล้ตายควรรีบเร่งทำบุญแต่กลับประมาทมัวเมาในเรื่องอื่น ๆ เสีย
จะต้องโศกเศร้าสงสารตัวเองเมื่อจวนจะสิ้นใจ
ปีที่จะผ่านไปเราจะเรียกว่า ปีเก่า ปีที่จะมาถึงที่เราจะเรียกว่า ปีใหม่ นั้น
ขอให้มาพิจารณาถึงปีที่ผ่านมาว่า ตนเองได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง
มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบ้างโดยเฉพาะให้พิจารณาตัวเองว่าเป็นมนุษย์จำพวกไหน
ในมนุษย์ ๔ จำพวก คือ
๑. มนุสฺสเปโต ได้แก่ มนุษย์เปรต
หมายถึงคนที่มีร่างกายพิกลพิการมีอาการไม่ครบ ๓๒ ต้องขอทานเลี้ยงชีวิต
เป็นอยู่ลำบากและอด ๆ อยาก ๆ ซึ่งคล้ายกับลักษณะและความเป็นอยู่ของเปรต
๒. มนุสฺสติรจฺฉาโน ได้แก่ มนุษย์ดิรัจฉาน
หมายถึงคนที่มีร่างกายสมประกอบ มีอาการครบ ๓๒ มีกำลังเรี่ยวแรง สติปัญญา
แต่ไม่ทำการงานเลี้ยงชีพเอง คอยแต่อาศัยผู้อื่นกินไปวัน ๆ มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยง
๓. มนุสฺสเนรยิโก ได้แก่ มนุษย์สัตว์นรก
หมายถึงคนที่มีความประพฤติหยาบช้ากระทำการทารุณเบียดเบียนฆ่าฟันผู้อื่น
หากินโดยโจรกรรม ฉ้อสงฆ์ บังศาสน์ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง ประกอบอาชีพไม่สุจริต
จนในที่สุดต้องติดคุกติดตะรางเหมือนสัตว์นรก
๔. มนุสฺสภูโต ได้แก่ มนุษย์แท้
หมายถึงคนที่มีความประพฤติดีงาม รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัด
ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น
๕. มนุสฺสเทโว ได้แก่ มนุษย์เทวดา
หมายถึงคนที่มีความประพฤติดีเยี่ยม มีหิริ คือความละอายต่อบาป
โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป
ทั้งมีนิสัยบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาประพฤติตนดีเลิศคล้ายเทวดา
เมื่อได้พิจารณาดูตัวเองในรอบปีที่ผ่านมาว่าตนเองเป็นมนุษย์จำพวกไหน
ถ้าเป็นจำพวกที่ไม่ดีก็พยายามเร่งสร้างคุณงามความดี ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์
ซึ่งแปลว่าผู้มีใจสูง คือสูงด้วยคุณธรรม แต่หลายคนอาจจะนึกน้อยใจว่าในรอบปีที่ผ่านมา
ตนเองได้พยายามทำแต่ความดี แต่ทำไม่จึงไม่ได้รับผลแห่งความดี ที่จนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม
ชีวิตไม่มีอะไรดีขึ้น ถึงกับบางคนต้องพูดว่า ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดี มีถมไป
การทำดีที่จะให้ได้รับผลของความดีตอบแทนนั้น ต้องประกอบด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ทำดีให้ถูกเวลา
๒. ทำดีให้ถูกสถานที่
๓. ทำดีให้ถูกบุคคล
๔. ทำดีให้ติดต่อกัน
คนที่ทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น ส่วนมากทำกันผิดหลัก เพราะทำดีไม่ถูกเวลาบ้าง
ทำดีไม่ถูกสถานที่บ้าง ทำดีไม่ถูกบุคคลบ้างและทำดีไม่ติดต่อกัน
เมื่อไม่ได้รับผลของความดีสมความมุ่งหมาย จึงเสียใจน้อยใจ
ถึงกับบ่นตาม ๆ กันว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี
ก็ขอให้พิจารณาถึงการกระทำของตนเองก่อนว่าที่ตนทำดีแล้วนั้น
ถูกต้องตามหลักการทำความดี ๔ ประการหรือไม่
ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยไหน เป็นมนุษย์จำพวกไหน ได้ทำดีแล้วหรือยังก็ตาม
ข้อคิดที่อยากจะฝากไว้เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เป็นข้อคิดอันดับสุดท้ายก็คือ
ข้อที่บุคคลควรพิจารณาอยู่เสมอ พิจารณาอยู่บ่อย ๆ เพื่อทำใจให้ยอมรับความจริง
ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ภาษาพระท่านเรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ คือ
๑. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีกรรมเป็นของตัวเอง เราทำดีก็จะได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว
คนเรานั้นโดยมากอายุไม่ถึง ๑๐๐ ปี เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้
ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ต้องมีกรรม คือการกระทำ และมีวิบาก คือผลของการกระทำ
ตราบนั้นคนเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ และเมื่อเกิดมาแล้วสิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือ
ความแก่ ความเจ็บ และความตาย โดยเฉพาะเรื่องของความแก่ เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ที เราก็แก่ไปอีกปี
นึก ๆ ดู ๑ ปี มี ๓๖๕ วัน นั้นช่างรวดเร็วเหมือนกับกาลเวลามันติดปีกจรวดบิน
บางทียังไม่ได้ทันทำอะไรเลย ก็หมดไปแล้วอีก ๑ ปี เราก็แก่หรืออายุมากขึ้นอีก ๑ ปี
ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย คืออายุเลยเลข ๕ ไปแล้ว จะรู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี
จึงมีคำถามที่ถามกันเล่น ๆ ว่า อะไรเอ่ย? เรายิ่งหนี มันยิ่งตาม
คำตอบก็คือความแก่ เพราะความแก่นั้นไม่มีใครต้องการหลายคนจึงพยายามวิ่งหนี
แต่จะหนีอย่างไร ก็ไม่มีทางหนีพ้นแต่อาจชะลอได้ คือชะลอไม่ให้แก่เร็วหรือแก่เกินวัย
เช่น เมื่อมีรอยตีนกาเกิดขึ้นบนใบหน้าเมื่อเวลายิ้มก็หาเครื่องสำอาง
หรือเครื่องประเทืองผิวมาทาตรงบริเวณที่เกิดรอยตีนกาก็จะไม่ปรากฏชัด
คนสมัยก่อนท่านสอนไว้ดีมากในเรื่องของการชะลอความแก่ โดยการเป็นคนร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอ
ถึงกับมีคำพูดว่า ยิ้มวันละนิดจิตแจ่มใส คนที่ร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอนั้น จะดูเป็นคนที่อ่อนกว่าวัย
หน้าไม่ทรยศเจ้าของ ตรงกันข้ามกับคนที่เคร่งเครียด หน้าบึ้ง จะดูเป็นคนที่แก่เกินวัย หน้าทรยศเจ้าของ
และมีคำถามที่ถามกันว่า อะไรเอ่ย ? เรายิ่งตามมันยิ่งหนี คำตอบก็คือ ความหนุ่ม ความสาว
เพราะความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น ใคร ๆ ก็ปรารถนา แต่ความหนุ่ม ความสาวนั้นเรายิ่งตาม
มันก็ยิ่งหนีเราไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นจึงฝากไว้เป็นข้อคิดคือ ควรพิจารณาถึงความเป็นจริงว่า
คนเรานั้นมีความแก่ ความเจ็บและความตายเป็นธรรมดา
ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้ คนเราจะต้องพลัดพรากจากของที่เรารัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
และคนเรานั้นมีกรรมเป็นของตนเอง ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว.