จาก BPPA IP:122.154.100.67
พุธที่ , 9/10/2556
เวลา : 08:05
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
หากกล่าวถึงโรงไฟฟ้า ทุกคนคงนึกถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป จำพวกฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง แต่อาศัยแหล่งกำเนิดจากพลังงานธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทราบหรือไม่ว่าวัสดุที่เหลือใช้จากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปนั้น สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน
ชีวมวล (Biomass) คือ สิ่งที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่เหลือทิ้งทั้งจากภาคเกษตรกรรม หรือกากที่เหลือจากกระบวนการการผลิตจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานได้ เช่น แกลบ ชานอ้อย กาบมะพร้าว ซังข้าวโพด ตอซังข้าว เศษไม้ รวมทั้งเศษขยะจากครัวเรือน ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งนิยมกำจัดวัสดุเหล่านี้โดยการเผา หรือการฝัง ซึ่งเป็นการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและต่อชุมชนเอง ชีวมวลซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศนั้นเป็นแหล่งเชื้อเพลิงราคาถูก หากมีการนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้กันอยู่ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล อาจใช้วัสดุชนิดเดียวกัน หรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ ซึ่งคุณสมบัติของวัสดุแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันไป เช่น แกลบ มีความชื้นต่ำ จึงให้ค่าความร้อนสูง กระบวนการผลิตไฟฟ้าทำได้โดยการเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion) หลักการทำงานของการเผาไหม้โดยตรงนั้น จะนำชีวมวลมาเผาไหม้ เมื่อได้พลังงานความร้อนจะนำไปต้มน้ำจนได้ไอน้ำ ไอน้ำที่ได้จะถูกส่งไปหมุนกังหัน (Turbines) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนไอน้ำที่ผ่านเครื่องกังหันไอน้ำแล้วยังคงมีความร้อนเหลืออยู่จะถูกนำไปผ่านเครื่องควบแน่น (Condenser) เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำนำกลับมาเติมหม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำไปใช้ในระบบอีกครั้ง ส่วนน้ำหล่อเย็นที่รับความร้อนมาจากเครื่องควบแน่น จะถูกส่งไปยังหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพื่อระบายความร้อนและนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อเป็นน้ำหล่อเย็นในระบบอีกครั้ง และขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้มีการนำมาใช้เป็นวัสดุปรับหน้าดิน หรือนำมาทำเป็นอิฐมวลเบาใช้ในการก่อสร้าง
จะเห็นได้ว่าในทุกกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นได้กำจัดของเสียให้หมดไปจากทุกขั้นตอนทำให้ไม่มีมลพิษหรือของเสียเหลือ นับเป็นพลังงานทดแทนทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อ่านต่อได้ที่...https://www.facebook.com/BPPA.TH > แก้ไขเมื่อ : 12/10/2556 8:55:26
แก้ไขเมื่อ : 12/10/2556 13:24:55
|