คำตอบที่ 16
ความคิดเห็นที่ 97
เรื่องราคาก๊าซครับผม.....ไปอ่านเจอมาครับ....
โดย
อ.วีระชัย ถาวรทนต์ weerachais@yahoo.com
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
มีคำถามมากมายในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่จะลดราคาก๊าซหุงต้มว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงนโยบายในการหาเสียงแบบประชานิยมเลียนแบบพรรคไทยรักไทย
ก่อนอื่นต้องขออนุญาตย้อนไปในสมัยที่ยังทำงานในฐานะอนุกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้เคยให้ความเห็นต่อผู้แทนของกระทรวงพลังงานมาโดยตลอดว่า ผู้ส่งออกก๊าซหุงต้มตามมาตรา 7 นั้นมีกำไรเกินควร โดยสูงมากเกือบกิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่เมื่อขายในประเทศมีค่าการตลาดเพียง 3.25 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินกำไรส่วนเกินปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท
ทำไมไม่เก็บภาษีส่งออกหรือหาวิธีการอื่นๆ ที่จะนำกำไรส่วนเกินเหล่านั้นซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมาช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ในประเทศให้ได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่ถูกลง แต่กลับไม่มีคำตอบใดๆจากกระทรวงพลังงานเลย ในวันที่ 3 มิถุนายน 2549
ผมก็ได้เรียกร้องเรื่องนี้ผ่านรายการวิทยุอีกครั้งในคลื่น 90.5 โดยผมคิดว่าคนไทยน่าจะได้รับทราบความจริงกันบ้าง ดังนั้น จึงเป็นที่มาของบทความฉบับนี้ที่จะบอกกล่าวให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างแท้จริง
ก๊าซหุงต้ม (LPG) มาจาก 2 ทาง กล่าวคือ เป็นผลพลอยได้ (by product) ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันในสัดส่วนประมาณ 40% ส่วนที่เหลือประมาณ 60% ซึ่งเป็นส่วนหลักนั้นได้จากผลพลอยได้ (by product) ที่เหลือมาจากการแยกก๊าซธรรมชาตินั่นเอง
โดยหลักการของการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปากหลุมนั้น ใช้วิธีคิดจากต้นทุน หรือ cost plus นั่นคือเอาต้นทุน บวกด้วยกำไรพอสมควร เป็นหลักการที่ใช้มาตลอดและเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น ราคาก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. ขายให้การไฟฟ้า คิดจากราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม บวกกับค่ากำไร หรือ margin แล้วบวกกับต้นทุนส่วนเพิ่มที่คิดบนค่าผ่านท่อ
ประเด็นก็คือว่า ก๊าซหุงต้ม (LPG) เมื่อเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ หรือผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมัน ต้นทุนส่วนเพิ่มจริงๆ นั้นเกือบไม่มีเลย เพราะการคิดต้นทุนการแยกก๊าซธรรมชาติ กับกำไรบางส่วนได้รวมอยู่ในราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้การไฟฟ้า หรือขายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ไปแล้ว
อีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกันต้นทุนต่างๆ ของโรงกลั่นน้ำมันก็ได้สะท้อนอยู่ในค่าการกลั่นน้ำมัน และสะท้อนอยู่ในราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อเป็นดังที่กล่าว ก็อาจพอสรุปได้ว่า ก๊าซหุงต้ม (LPG) มีต้นทุนเพื่อให้ได้มาต่ำมาก เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ได้ถูกสะท้อนไปกับราคาขายก๊าซธรรมชาติ และราคาน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว
แต่โครงสร้างการตั้งราคาขายก๊าซหุงต้ม (LPG) กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับการตั้งราคาขายก๊าซธรรมชาติ โดยเอาราคาประกาศปิโตรมิน ของทางตะวันออกกลาง ที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นเกณฑ์ หักด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากซาอุฯ มากรุงเทพฯ คงที่ที่ 16 US$ ต่อตัน ซึ่งกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 315 US$ ต่อตัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ราคาตามประกาศ ปิโตรมิน (ตั้งเป็นตุ๊กตา) 500 US$/Ton
หักค่าขนส่ง - 16 US$/Ton
คิดที่เพดาน 315 US$/Ton
คิดอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อ US$ เป็น 12.6 บาทต่อกิโลกรัม
ภาษีสรรพสามิต 2.17 บาทต่อกิโลกรัม
ภาษีเทศบาล 0.217 บาทต่อกิโลกรัม
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ชดเชย) -2.5301 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ 12.4569 บาทต่อกิโลกรัม
(รัฐต้องชดเชยค่าขนส่งอีก 2-4 บาทต่อกิโลกรัม)
ค่าการตลาด 3.2534 บาทต่อกิโลกรัม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.0997 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาขายปลีก (รวม VAT) 16.8140 บาทต่อกิโลกรัม
ถึงแม้ว่าจะมีการตรึงราคาอยู่ทำให้รัฐต้องสูญเงินไปโดยเฉลี่ย 5 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับการชดเชยของกองทุนน้ำมันและค่าขนส่ง แต่ค่าการตลาดที่ผู้ค้าได้รับนั้นสูงถึง 3.25 บาทต่อกิโลกรัม เหมือนการันตีกำไรให้เอกชน โดยที่รัฐได้รายได้จากภาษีเพียง 3.4867 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐกลับต้องชดเชยสูงถึงประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม รัฐไม่ได้อะไรเลย
ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นเอกชนผู้ส่งออก ตามมาตรา 7 อาทิเช่น ปิคนิค, ปตท. ,สยามแก๊ส, worldgas, ยูนิค ,คาลเท็กซ์ คงส่งออกกันพอควร (ปตท.อาจจะมีหน้าที่หลักที่จะต้องจัดให้ผู้ใช้ในประเทศมีก๊าซหุงต้มใช้เพียงพอก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจึงส่งออก) วิธีการจัดสรรโควตาส่งออกในอดีตก่อนปี 2549 นั้น ใช้วิธีตกลงกัน จัดสรรกันเองในกลุ่มผู้ค้าตามมาตรา 7 โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นเจ้าภาพในการตกลงกัน
จากตัวเลขเห็นได้เลยว่าได้กำไรขั้นต่ำอยู่แล้วประมาณเกือบ 200 US$/Ton (เพราะราคาต่างประเทศสูงมากกว่า 500 US$/Ton บางช่วงมากกว่า 600 US$/Ton ด้วยซ้ำ) หรือเกือบ 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตกอยู่ในมือเอกชนล้วนๆ รัฐไม่ได้อะไรเพราะการส่งออกไม่มีการเสียภาษี คิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ ส่งออกปีละประมาณ 900,000 ตัน เป็นเงินประมาณ 6,660 ล้านบาทต่อปี (=185 x 40 x 900,000)
คงต้องมีผู้ได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ เป็นประเด็นที่นำสืบต่อไปน่าจะไม่ยาก เพราะผู้ค้าก๊าซหุงต้มตามมาตรา 7 ก็มีจำกัด อาทิเช่น ปิคนิคแก๊ส, ปตท.,สยามแก๊ส, worldgas, ยูนิค, คาลเท็กซ์ เป็นต้น ฉะนั้นน่าจะพอเห็นภาพพอควร และจะสามารถนำไปสู่วิธีที่จะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มลดลงในระยะสั้น และระยะยาวดังนี้
1. จัดเก็บค่าโควตาการส่งออกก๊าซหุงต้ม (LPG) เหมือนกับการเก็บค่าพรีเมียมข้าวในอดีต แล้วออกกฎหมายนำมูลค่าเงินที่เก็บได้นำมาลดราคาค่าก๊าซหุงต้มที่ขายในประเทศ ทดลองคิดเก็บค่าโควตาการส่งออกที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม เอกชนยังได้เยอะอยู่ถ้าส่งออก เพราะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศเลย คำนวณง่ายๆ ดังนี้ เก็บค่าโควตาส่งออกที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 3,000 บาทต่อตัน จากปริมาณส่งออกโดยเฉลี่ยที่ 900,000 ตันต่อปี สำหรับปริมาณการใช้ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านตันต่อปี มีประมาณ 1.155 ล้านตันใช้ในครัวเรือน (55%) ส่วนที่เหลือก็ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และขนส่ง
ถ้านำกำไรส่วนเกินจากการส่งออกดังกล่าวมาชดเชยให้ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนเท่านั้น โดยที่การชดเชยจากกองทุนน้ำมันยังเป็นเหมือนเช่นในปัจจุบัน ผลจะทำให้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนจะลดลง 2.3 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 34.5 บาทต่อถัง สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งใช้ปกติในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันขายอยู่เฉพาะราคาเนื้อก๊าซ (เปลี่ยนถัง) ถังละ 265 บาท ถ้าไม่รวมค่าขนส่ง (ซื้อหน้าร้าน) ก็คิดที่ 255 บาทต่อถัง
ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ก็จะสามารถลดราคาลงได้เท่ากับ 34.50 บาทต่อถัง นั่นคือประชาชนจะสามารถซื้อได้ที่ราคา 220.50 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่งถึงบ้าน) หรือถ้าจะนำกำไรส่วนเกินเหล่านี้มาชดเชยเงินที่กองทุนน้ำมันชดเชยอยู่ก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้ไม่ต้องอ้างว่าขณะนี้รัฐได้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ผลก็คือสามารถปล่อยลอยตัวได้เลยและประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ
2. ในระยะยาว เห็นจะต้องเข้าไปสู่การปรับโครงสร้างการตั้งราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยคณะกรรมการจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาถกเถียงกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอาศัยหลักการการตั้งราคาที่ให้สะท้อนต้นทุนส่วนเพิ่มที่แท้จริง ไม่ใช่กำหนดเพดานไว้ที่ 315 US$/Ton ผมเชื่อว่าต้นทุนการผลิตก๊าซหุงต้มจริงๆ ต่ำมาก เพราะเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันและการแยกก๊าซธรรมชาติ
ในเมื่อโครงสร้างก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ต้นทางจากอ่าวไทยนั้นใช้หลักการต้นทุนเป็นตัวตั้งราคา แต่พอมาเป็นก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นผลพลอยได้แท้ๆ กลับเปลี่ยนไปใช้ราคาที่แพงขึ้น หรือเป็นราคากลางที่ซาอุฯ เหล่านี้ไม่เป็นธรรมกับคนไทยเจ้าของประเทศอย่างแน่นอน
3. ค่าการตลาดที่สูงถึง 3.25 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 1.625 บาทต่อลิตรนั้น ควรจะพิจารณาทบทวนลดลง เพราะสูงมากเมื่อเทียบกับน้ำมันสำเร็จรูปที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อลิตร อีกทั้งบางช่วงยังไม่ถึง 1 บาทต่อลิตรเลย ทำไมต้องทำให้เอกชนที่เป็นผู้ค้าก๊าซหุงต้มมีกำไรเกินปกติด้วย
กล่าวโดยสรุปพวกเราคนไทยน่าจะพอคิดได้ว่าการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศนั้น มีผลประโยชน์ซ่อนอยู่กลับกลุ่มคนบางกลุ่ม ไม่ใช่เป็นประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ น่าจะถึงเวลาแล้วที่พวกเราคนไทยควรที่จะเรียกร้องการปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจัง เอาไว้ในบทความต่อๆ ไป จะเริ่มตีแผ่โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างค่าไฟฟ้ากันต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
credit จาก www.cefiro-ff-club.com ครับ