คำตอบที่ 4
กรุงเทพฯ 25 ก.พ. - ปตท.กำไร 97,800 ล้านบาท จากราคาและปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 ขณะที่ปีนี้ คาดราคาผลิตภัณฑ์ผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลก ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัวราคาสูง75-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
บมจ.ปตท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในปี 2550 มีกำไรสุทธิ 97,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิ 95,600 ล้านบาท มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมี กำไรสุทธิที่ 96,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 23.2 มาที่ 1.49 ล้านล้านบาท โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3.3% มาที่ 147,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมา จากปริมาณขายและราคาขายผลิตภัณฑ์น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมถึงมีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน เพิ่มขึ้น 18.2 % เป็น 8,430 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย เพิ่มขึ้น 62.4% มาที่ 31,100 ล้านบาท โดยในปี 2550 สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวจาก บมจ.ไอ อาร์พีซี (IRPC) ได้เต็มทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ปตท.ระบุว่าในปี 2550 บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายในการโอนทรัพย์ สินบางส่วนคืนให้กระทรวงการคลัง และการเช่าใช้ทรัพย์สินย้อนหลัง ตามคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด ประมาณ 2,820ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 45.7 % โดย PTT จะจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งหลังของปี 50 ในอัตราหุ้นละ 6.50 บาท
ปตท.ระบุว่าปริมาณการใช้ปิโตรเลียมที่เป็นเชื้อเพลิงในปี 2550 เพิ่มขึ้น 1.8 %จากปีก่อน โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม (รวม NGV) ขยายตัวสูงสุด 26.2% รองลงมาคือการใช้ LPG ขยายตัว 14.3% เนื่องจากยังมีการให้การสนับสนุนราคา LPG ตามนโยบายของภาครัฐ ในขณะที่การใช้น้ำมันเตาลดลงถึง 27.9% เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อทดแทนน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นภายหลังการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 แล้วเสร็จ สำหรับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อน ส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศยังคงขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และยังสามารถส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการในการบริโภคสูง เช่น จีน
กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ปี 2550 รายได้จากการขายของธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น 213,627 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.5% โดยมีปริมาณขาย เพิ่มขึ้น 11,789 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้น 22.0% จาก 53,613 ล้านลิตร หรือเทียบเท่า 923,898 บาร์เรล/วัน ในปี 2549 เป็น 65,401ล้านลิตร หรือเทียบเท่า 1,127,037 บาร์เรล/วันในปี 2550 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการค้าสากล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปริมาณขายน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และ แนฟทา นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นยังเป็นผลจากราคาขายน้ำมันเฉลี่ยในปี 2550 ที่สูงกว่าราคาขายน้ำมันเฉลี่ยในปี 2549 อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิตและก๊าซธรรมชาติ มีรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 22,725 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2549 หรือเพิ่มขึ้น 9.3% เนื่องมาจากปริมาณการจำหน่าย เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจำนวน 188 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน จาก 3,084 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เป็น 3,272 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือเพิ่มขึ้น 6.1% โดยเป็นการขายที่เพิ่มขึ้นในลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งนี้เป็นผลมาจากความสามารถในการจัดส่งก๊าซเพิ่มขึ้นจากระบบท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติในทะเลเส้นที่ 3 ระยะที่ 1 ระบบท่อส่งก๊าซวังน้อย-แก่งคอย และระบบท่อส่งก๊าซไทรน้อย-พระนครใต้ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี 2550
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ยังได้รับคืนเงินชดเชยค่า ไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) จาก กฟผ.จำนวน 6,367 ล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่ในปี 2549 ปตท.ได้ให้ส่วนลดค่า FT แก่ กฟผ.สุทธิ 2,067 ล้านบาท และ ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมของโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้นจาก 3,668,042 ตันในปี 2549 เป็น 3,944,103 ตันในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้น 7.5% ตามความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบและความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์โรงแยกก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการ LPG ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการนำ LPG ไปใช้ในภาคขนส่ง อย่างไรก็ตามปริมาณขายอีเทน (Ethane) ลดลง จากการที่โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 หยุดซ่อมบำรุงตามแผนงาน เป็นเวลา 18 วันใน Q1/2550 และ13 วันใน Q2/2550 ตามแผนการหยุดโรงงานเพื่อการขยายกำลังการผลิต การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงเครื่องจักรของ PTTCH ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่ซื้ออีเทน
ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รายได้ของ บมจ.ปตท.สผ. มีรายได้รวม 81,530 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนจำนวน 76,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,111 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% เนื่องจากราคาขายละปริมาณเพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี มีรายได้ 70,749 ล้านบาท ลดลงจาก ปี2549 จำนวน 5,927 ล้านบาทหรือลดลง 7.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปิดโรงโอเลฟินส์ ในเครือปิดซ่อม ในขณะที่ปริมาณขายและราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการคาดการความต้องการน้ำมันในตลาดโลก ปี2551 คาดว่ากำลังผลิตและความต้องการจะมีความสมดุลกันที่ระดับ 86.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยอุปทาน น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1.6 ล้านบาร์เรล/วันจากการเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มนอกโอเปกเป็นสำคัญที่ประมาณ 1.0 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนอุปสงค์น้ำมันจากประเทศในกลุ่มโอเปกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 0.8-1.0 ล้านบาร์เรล/วัน หากแต่ความกังวลด้านอุปทานอันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากและอยู่ในระดับสูง การขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญในธุรกิจสำรวจและผลิต ลัทธิชาตินิยมในประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งส่งผลให้การพัฒนาแหล่งพลังงานเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันสำคัญในแถบตะวันออกกลาง อาทิ ไนจีเรีย อิรัก และอิหร่านกอปรกับการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในภาวะที่ตลาดเงินและตลาดทุนโลกมีความปั่นป่วน จะเป็นแรงหนุนให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทรงตัวอยู่ในระดับสูงและผันผวนในช่วง 75 - 85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่อาจมีแนวโน้มลดต่ำลงหากเศรษฐกิจโลกและ/หรือเศรษฐกิจของสหรัฐ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้อุปสงค์น้ำมันปรับลดลงซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าการกลั่นและระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับสูงถึงแม้ธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มเข้าสู่ช่วงวัฎจักรขาลง โดยได้แรงหนุนจากการเลื่อน/ชะลอโครงการผลิตใหม่ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชีย อย่างไรก็ตาม จุดต่ำสุดของวัฎจักรนี้คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2553 - 2554
ส่วนสถานการณ์ในประเทศ จากการที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวในระดับ 4.5 -5.5% การใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศคาดว่าจะขยายตัว 0.5 - 1.5% การใช้ก๊าซธรรมชาติจะขยายตัว 12 - 14% เพื่อใช้ในภาคขนส่ง การผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนน้ำมันเตาและภาคอุตสาหกรรม ส่วนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี คาดว่าจะขยายตัว 6.0 - 7.5% .-LogisticNews
http://www.logisticnews.net/modules.php?m=newsupdate&op=detailnewsupdate&NUID=3788&PHPSESSID=171d2367a917c0c22f6e28ec51998ee5