คำตอบที่ 10
ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 13 กรกฎาคม 2552 08:03 น.
ข่าวเชิงวิเคราะห์ ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย (1) โดย...ทีมข่าวพิเศษ - ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก
ASTVผู้จัดการรายวัน ความร่ำรวยระดับติดกลุ่มบริษัทรวยที่สุดในโลกของ ปตท. ด้วยยอดรายได้รวมราว 2 ล้านล้านบาท มีคำถามว่ามาจากการโก่งราคาน้ำมันขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนคนไทยใช่หรือไม่ การผูกขาดธุรกิจน้ำมัน-ก๊าซฯ และควบคุมไม่ให้การเคลื่อนไหวของราคาและการแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีโดยหว่านผลประโยชน์ให้ข้าราชการระดับสูงของรัฐเพื่อครอบงำตลาด เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นเรื่องที่กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา สรุปผลตรวจสอบว่าเกิดขึ้นจริง แฉจะจะความผิดปกติของราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มไม่ปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
นิตยสารฟอร์จูน ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยการจัดอันดับ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกปี 2552 ปรากฏว่า บริษัท ปตท. เป็นบริษัทเดียวของไทยที่ติดรายชื่อและมีอันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยอยู่ในอันดับที่ 118 ด้วยรายได้รวม 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.01 ล้านล้านบาท) ขยับขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วซึ่งอยู่ในอันดับที่ 135 ด้วยรายได้ 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.73 ล้านล้านบาท)
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา สรุปผลตรวจสอบการกำหนดราคาซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปพบความไม่โปร่งใส มีลักษณะผูกขาดโดยผู้ค้ารายใหญ่ควบคุมไม่ให้การเคลื่อนไหวของราคาและการแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ชี้ ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ก๊าซฯ มีสิทธิควบคุมนโยบายผ่านคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐเพื่อครอบงำตลาดได้ อนาคตด้านพลังงานของคนไทยทั้งชาติจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ปตท. เป็นหลัก
สถานการณ์ปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมากและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซฯ ข้อกังขาคือเมื่อราคาน้ำมันหรือก๊าซฯในตลาดโลกปรับขึ้น ดูเหมือนผู้ค้าน้ำมันก็จะขึ้นราคาทันที แต่เมื่อราคาน้ำมันลง ราคาน้ำมันในประเทศกลับถูกตรึงไว้ให้คงที่ หรือไม่ได้ลดลงให้สอดคล้องตามราคาตลาดโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐบาล รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศในร่างของบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน จึงได้หยิบยกประเด็นเรื่อง ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ขึ้นมาตรวจสอบ
จากการตรวจสอบข้อมูลและสถานการณ์เบื้องต้น ค้นพบว่า การกำหนดราคาซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซต่างๆ มีความไม่โปร่งใส มีลักษณะการผูกขาดโดยไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของราคาและการแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน จึงควรที่จะมีการตรวจสอบอย่างครอบคลุมเพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่สาธารณะ
เช่น กลไกการกำหนดราคาน้ำมันในปัจจุบันเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้ ทำไมการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยจึงต้องอ้างอิงราคาของตลาดสิงคโปร์ ทำให้คนไทยทุกวันนี้ต้องจ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแพงกว่าประชาชนในสิงคโปร์ เหตุใดสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมันที่มีการกลั่นหรือผลิตในประเทศได้แล้วกลับไม่มีราคาถูกลงเช่นสินค้าชนิดอื่นที่ผลิตได้ในประเทศ
หลังจากคณะกรรมาธิการฯ ใช้ปีกว่านับจากเดือนพ.ค. 51 ศึกษาประเด็นต่างๆ ข้างต้น จึงได้สรุปผลตรวจสอบเสนอต่อประธานวุฒิสภา เมื่อเดือนมิ.ย. 52 ที่ผ่านมา
กล่าวเฉพาะประเด็นเรื่องราคาน้ำมัน รายงานผลการตรวจสอบ สรุปว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยอิงราคานำเข้าจากตลาดสิงคโปร์และบวกเพิ่มค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยต้องซื้อพลังงานด้วยราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือต้องซื้อในราคานำเข้าไม่ใช่ราคาผลิตได้ในประเทศ
ที่สำคัญ ธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ทำให้ราคาสินค้าพลังงานไม่ได้เคลื่อนไหวโดยกลไกตลาดเสรี หากแต่เป็นไปตามการกำหนดโดยผู้ค้ารายใหญ่ภายในประเทศเอง ด้วยเหตุนี้ราคาค้าปลีกน้ำมันของไทยจะปรับราคาลงช้ากว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ในยามที่ราคาตลาดโลกปรับขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยจะปรับราคาขึ้นเร็วกว่าการปรับราคาลง
สูตรการกำหนดราคาน้ำมันของประเทศไทยอิงตามราคานำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ ทำให้คนไทยต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปแพงกว่าราคาที่ต่างชาติซื้อจากโรงกลั่นไทย ซึ่งถือเป็นกลไกตลาดเทียมที่ไม่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ
ผลตรวจสอบ ได้แจกแจงรายละเอียดการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปอิงตามราคานำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยต้องซื้อพลังงานด้วยราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็นและไม่เป็นธรรมเพราะ 1) ราคาที่คนไทยซื้อน้ำมันเป็นราคาที่ต้องบวกค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทย
2) การผลิตพลังงานของไทยไม่ได้พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเป็นวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงถูกกว่าราคา ณ ระดับของการนำเข้าทั้งหมด
ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วกว่า 50 แหล่ง สามารถผลิตพลังงานรวมกันได้ถึงวันละ 115 ล้านลิตร และสามารถพึ่งตนเองได้ในการกลั่นน้ำมันมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้มีการส่งออกอย่างต่อเนื่องและในปี 51 มูลค่าการส่งออกพลังงานของไทยมีมูลค่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพียง 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้จากการส่งออกพลังงานของไทยมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกน้ำมันของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปก
3) ธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ทำให้ราคาสินค้าพลังงานไม่ได้เคลื่อนไหวโดยกลไกตลาดเสรี หากแต่เป็นไปตามการกำหนดโดยผู้ค้ารายใหญ่ภายในประเทศเอง ดังจะพบได้ว่า ราคาค้าปลีกน้ำมันของไทยจะปรับตัวลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาก แม้ว่าในยามราคาน้ำมันโลกขึ้นจนราคาในประเทศจะขึ้นตามด้วยก็ตาม ราคาน้ำมันที่ขายกันตามปั๊มต่างๆ จึงไม่ใช่ราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคหรือผู้ใช้น้ำมัน
ในทางกลับกัน โรงกลั่นไทยส่งออกน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายให้คนไทย เพราะโรงกลั่นต้องส่งออกตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ลบด้วยค่าโสหุ้ยในการขนส่ง ค่าสูญเสียในการขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าปรับปรุงคุณภาพ เนื่องจากเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริง ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คนไทยจ่ายแพงกว่าที่ควรเป็นเพราะกลไกตลาดเทียม คือประมาณ 2 เท่าของค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูประหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ (1) คนไทยจ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าคนสิงคโปร์ และ (2) สินค้าพลังงานเมื่อมีการกลั่นหรือผลิตในประเทศได้แล้ว กลับมิได้มีราคาที่ถูกลงเช่นสินค้าชนิดอื่นที่ผลิตได้ในประเทศเลย เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้ใช้ราคาอิงตลาดสิงคโปร์บวกด้วยค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นกลไกตลาดเทียมดังที่กล่าวมาแล้ว
ภาครัฐใช้สูตรการกำหนดราคาเช่นนี้โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการตั้งโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถกลั่นน้ำมันได้ภายในประเทศมากเกินความต้องการของคนไทยมากว่า 11 ปีแล้ว จึงควรต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์
ปัจจุบัน บมจ. ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งจากโรงกลั่นขนาดใหญ่ 6 แห่งในประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ ปตท. มีสิทธิควบคุมนโยบายผ่านคณะกรรมการบริษัทเพื่อครอบงำตลาดได้ ดังนั้น อนาคตด้านพลังงานของคนทั้งชาติจึงขึ้นกับการตัดสินใจของ บมจ. ปตท. เป็นสำคัญ
ประสาท มีแต้ม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งติดตามเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในประเด็น ความผิดปกติ ของราคาน้ำมัน โดยยกราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเปรียบเทียบการขึ้น-ลง ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ค่าการกลั่นและค่าการตลาดมีการปรับขึ้น-ลง ตามการกำหนดของผู้ค้ารายใหญ่อย่างไร รวมไปถึงภาษีและกองทุนที่จัดเก็บในแต่ละช่วงของรัฐบาลเป็นอย่างไร เงินที่เราจ่ายไปแต่ละลิตรแต่ละบาทนั้นเข้ากระเป๋าของรัฐในรูปภาษีและพ่อค้าน้ำมันฝ่ายละเท่าใด
ประสาท ได้เลือกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งเป็นประเภทน้ำมันที่คนใช้มากที่สุดวันละประมาณ 50 60 ล้านลิตร โดยเลือกเอาช่วงเวลา 8 ต.ค. 13 พ.ย. 51 (รวม 26 วัน บางวันไม่มีข้อมูล) และช่วง 12 พ.ค. 15 มิ.ย. 52 (รวม 24 วัน) มาศึกษาโดยใช้ราคาน้ำมันดิบของตลาด WTI (West Texas Internediate ซึ่งเป็นราคาที่ท่าเรือ) พบว่า แต่ละช่วงค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 68.76 และ 64.50 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินไทยแล้ว พบว่า ราคาน้ำมันดิบของสองช่วงเวลาเฉลี่ยลิตรละ 15.02 และ 14.06 บาท ตามลำดับ
แต่เมื่อนำราคาตลาดโลกมาเทียบกับราคาขายปลีกหน้าปั๊มที่กรุงเทพฯ รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ของราคา พบว่า ราคาหน้าปั๊มแทบไม่มีความแตกต่างกัน
คำถามถึง ความผิดปกติ คำถามแรก จากตารางจะเห็นความแตกต่างหรือ ความผิดปกติ ที่ชัดเจนอยู่ 2 รายการ คือ ราคาค่าการตลาด และค่าภาษีและกองทุน ซึ่งภาษีและกองทุนเป็นเรื่องเชิงนโยบายของรัฐบาล แต่ค่าการตลาดซึ่งกำหนดโดยผู้ค้าน้ำมัน มีคำถามว่า ทำไมช่วงแรก (8 ต.ค. 13 พ.ย. 51) จึงสูงกว่าในช่วงหลัง (12 พ.ค. 15 มิ.ย. 52) ถึง 2 เท่าตัว หรือสูงกว่าถึงลิตรละ 1.68 บาท
คำถามที่สอง ในช่วงดังกล่าว คนไทยใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 1,500 ล้านลิตร ดังนั้นมูลค่าที่เกินมานี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท (เฉพาะในเดือนดังกล่าว) คือการสมคบกันระหว่างพ่อค้าพลังงานกับนักการเมืองที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน ใช่หรือไม่
คำถามที่สาม ค่าการกลั่นที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมบอกข้อมูลนี้ (ช่วงเวลา 12 พ.ค. 15 มิ.ย. 52) ประชาชนผู้บริโภคต้องการคำอธิบาย
คำถามที่สี่ ค่าการกลั่นลิตรละ 2.43 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อแปลงเป็นตัวเลขของต่างประเทศ จะเท่ากับ 11.12 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศในช่วงเดือนก.ย. ต.ค. 51 พบว่า ในกลุ่มยุโรป จะอยู่ที่ 8.93 และ 6.18 เหรียญต่อบาร์เรล (สำหรับการกลั่นชิดที่แพงที่สุดแล้ว) นั่นหมายความว่า ค่าการกลั่นของไทยแพงเสียยิ่งกว่า (ที่มา : WWW.oilmarketreport.org International Energy Agency ฉบับที่ 13 November 2008
คำถามที่ห้า เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ราคาน้ำมันในประเทศลดลงหรือไม่ ตอบว่า มีทั้งลดและไม่ลดลง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลงตาม ราคาขายปลีกจะถูกตรึงไว้ให้คงที่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนต่างของราคากลับไปเพิ่มให้เป็นค่าการตลาดหรือค่าการกลั่น
ขั้นตอนการค้าน้ำมันโดยย่อ
1. พ่อค้าซื้อน้ำมันดิบจากตลาดกลาง โดยราคาน้ำมันดิบดังกล่าวยังไม่รวมค่าขนส่งนำมากลั่นในประเทศ
2. เมื่อน้ำมันดิบมาถึงโรงกลั่น หลังกลั่นเสร็จแล้วจะมีการกำหนด ราคาหน้าโรงกลั่น ในอดีต (ก่อน 9 ธ.ค. 51) กระทรวงพลังงานจะรายงาน ค่าการกลั่นเฉลี่ย แต่หลังจากนั้น ไม่มีการรายงานโดยไม่ทราบเหตุผล
ความหมายของ ค่าการกลั่น คือ ผลต่างของราคาน้ำมันดิบ(ในตลาดโลก)กับราคารวมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่กลั่นมาได้ เช่น ถ้าราคาน้ำมับดิบบาร์เรลละ 60 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อกลั่นเสร็จแล้วขายได้ 67 เหรียญสหรัฐฯ ค่าการกลั่นจะเท่ากับ 7 เหรียญสหรัฐฯ
3. ภาษีมีหลายประเภท ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีค่ากองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
4. ค่าการตลาด คือ ผลต่างระหว่างราคาหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ กับราคาหน้าโรงกลั่น โดยหักภาษีและค่ากองทุนออกไปด้วย (ส่วนราคาหน้าปั๊มในต่างจังหวัดที่สูงกว่าในกรุงเทพฯ คือ ต้นทุนค่าขนส่งที่บวกเพิ่มเข้าไป ไม่ใช่ค่าการตลาด)