คำตอบที่ 55
กำแพงที่มองไม่เห็น เป็นอุปสรรคขวางกั้นปัญญา
ขอบพระคุณ อ.วอน ที่ช่วยชี้แนะหนทางสู่นิพพาน...ผมสังเกตอะไรบางอย่างได้อีกแล้ว...นอกจากปัญหาเรื่องกาลเวลา, ลำดับการถ่ายทอด, สื่อการถ่ายทอด (ปากต่อปาก, ตัวอักษร) ที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่านั้นคือ "ภาษา"
ภาษาไทยเราเองเท่าที่มีประวัติจารึกอายุเพียง 700 กว่าปี ที่เป็นคำไทยแท้มีไม่มาก ส่วนใหญ่นำมาจากภาษาอื่น ศาสนาพุทธมีอายุกว่า 2554 ปี คำศัพย์ทางศาสนามาจากภาษาของชาวชมพูทวีปโบราณ เราก็เอามาถ่ายทอดจากคำออกเสียงมาสะกดเขียนตามภาษาของเรา นอกจากเรื่องความหมายตรงตัวเป็นรูปธรรมที่แตกต่างกันแล้ว ยังเข้าใจยากขึ้นไปอีกคือเป็นคำอธิบายเชิงนามธรรม ต้องมีพื้นฐานเข้าใจขั้นหนึ่งก่อน จึงเข้าใจขั้นสอง แล้วจึงเข้าใจคำๆ นั้น เหมือนเด็กที่ต้องเรียนเคมีพื้นฐาน, โครงสร้างอะตอม, พันธะเคมี, สเตอรีโอเคมี ,ฯลฯ แล้วจึงเข้าใจคำว่าเคมิคอล ชิพท์ จู่ๆ จะบอกให้คนไม่มีความรู้พื้นฐานเคมีเข้าใจคำๆ นี้คงเป็นการยาก
เป็นบุญเหลือเกินสุดจะจินตนาการได้ หากได้เกิดในสมัยพุทธกาล ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นเอหิภิกขุ นั่นคือรับฟังพุทธวจนะด้วยภาษาเดียวกัน...ได้รับถ่ายทอดโดยตรงตามจริตของศิษย์ เราๆ ทั้งหลายอยู่ในยุคนี้กาลเวลาห่างถึงสองพันกว่าปี...หลักธรรมคำสอนก็ถูกถ่ายทอดสืบต่อมาหลายรุ่น แยกเป็นหลายนิกาย ถ้ามีบุญได้พบท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบควรเร่งคว้าโอกาสนั้นไว้
คนธรรมดา ชาวบ้านทั่วไปยังไม่เข้าใจกับคำง่ายๆ กันเลย "ขั้นธ์ 5" สำหรับบางกลุ่มคือการนำขันหรือพานที่มีดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรของเขาที่เวลาคนทักว่ามีองค์นะให้ไป "รับขันธ์" ...พอแยกให้ดูว่าขันธ์ 5 มี รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เชื่อเถอะมีคนจำนวนมากเชื่อว่า "สังขาร" คือเนื้อหนังมังสา และ "วิญญาณ" คือ "ผี".....
ตอนนี้เห็นความสำคัญของ "ปริยัติ" เป็นอย่างยิ่งแล้วครับ...และเข้าใจดีขึ้นอีกนิดหนึ่งว่าทำไมพระต้องเรียนภาษามคธ, ภาษาสันสกฤต...ขนาดเป็นพระใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎก, ภาษา ยังต้องใช้เวลามากมาย ถึงตลอดชีพ ถ้าเจอผู้ชี้นำแนวทางสามารถอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย โดยไว ผมว่าคุ้มค่าครับกับการเดินทางไกล
ในใจลึกๆ ของผมอยากบวชอีกครั้ง ผมบวชครั้งแรกทำไปตามประเพณี ช่วงจบอนุปริญญาใหม่ๆ ยังมีเวลาก่อนเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ก็บวชๆ ซะไม่งั้นพอเข้ากรุงเทพ เดี๋ยวเรียนเดี๋ยวทำงานก็ไม่มีเวลา คล้ายกับทำไปงั้นๆ เอง....จะว่าไม่ได้อะไรเลยก็ใช่ที่...การไม่ได้อะไรเลยก็ได้บางอย่างเหมือนกัน...จากวัยรุ่นธรรมดามาเป็นพระ...เมื่อก่อนเวลามาทำบุญกินข้าวในศาลาเคยนั่งข้างล่าง พอมีผ้าเหลืองก็มานั่งข้างบน ฯลฯ และอะไรอีกหลายอย่างที่รู้สึกเหมือนเล่นละคร...พอโกนหัวห่มผ้าเหลืองต้องทำตัวแบบนี้นะ...ตัวผมก็ยังเป็นคนเดิมอยู่...แต่ก็สงสัยหลายอย่าง...วัยรุ่นที่มีความรู้น้อย รู้แค่ว่าเราบวชตามประเพณีให้พ่อแม่ดีใจแค่เดือนเดียวก็อยู่ไปงั้นๆ (ขีดข้างฝา นับวันสึก) แต่พระที่บวชจนแก่ เค้าไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติธรรมเพื่อนิพพานหรือ...ก็วัตรปฏิบัตรมันชวนให้สงสัยนี่ครับ เรื่องความโลภ, การสะสมวัตถุของพระ...ว่าพระไม่ได้นะ...โยมทั้งหลายทำให้พระเป็นแบบนั้นเอง...ผมบวชเป็นพระได้ไม่กี่นาทีพอก้าวเท้าออกจากประตูโบสถ์ ก็มีคนเอาเงินมาใส่ย่ามทันที...ถามภายหลังได้ความว่าที่ทำแบบนั้นเชื่อว่าทำบุญกับพระบวชใหม่ได้บุญสูง เพราะเพิ่งเป็นพระยังไม่ทำผิดไม่อาบัติอะไรทั้งสิ้น เรียกว่ารอเปิดบริสุทธิ์ย่ามพระกันหน้าประตูโบสถ์ทีเดียวเชียวครับ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ...พอพระใหม่เข้ากุฏิแล้วนับเงินในย่าม...โอ้โห...ได้หลายตังค์ (ดีจังเก็บไว้ใช้ตอนสึก) เป็นเหตุให้พระใหม่เกิดยินดีในทรัพย์...ไม่ได้บุญกันซะแล้วมั้งโยม
ตอนนี้อยากให้หมดภาระทางบ้าน อยากตัดกังวลกองใหญ่ออกให้ได้ก่อน ให้แน่ใจว่าลูกเมียอยู่ได้สุขสบายโดยไม่มีเรา แล้วจึงบวช ในใจผมอยากบวชจริงๆ จะทำอีกครั้งให้ดีใช้ชีวิตที่เหลือครองผ้าเหลืองจนตาย ถ้ามีบุญได้ทำก็ทำ แต่ถ้าไม่ได้ทำก็คงเป็นตาแก่ๆ นุ่งขาวอยู่กับบ้าน หรือถ้าจะตายก่อนแก่อย่างน้อยก็ไม่ผิดศีลห้า
กราบขอบพระคุณ อ.วอนอีกครั้งครับ