คำตอบที่ 18
ผู้จัดการออนไลน์ 7 กุมภาพันธ์ 2548 12:01 น. โดย วรพล สิงห์เขียวพงษ์
ปลายปี 2004 API สถาบันใหญ่ด้านปิโตรเลียมในสหรัฐอเมริกา ประกาศรับรองคุณภาพสูงสุดน้ำมันเครื่องเบนซินเกรดใหม่ SM แค่ช่วงไม่กี่สิบวันแรก มีบริษัทน้ำมันเครื่องขอการรับรองแล้วกว่า 400 ราย ที่สำคัญ...มีบริษัทน้ำมันเครื่องของไทยรวมอยู่ด้วย
พร้อมกับลบความเข้าใจผิดเรื่องสัญลักษณ์วงกลม DONUT และตัวอักษร API บนกระป๋องน้ำมันเครื่องที่หลายคนคิดว่าต้องส่งน้ำมันเครื่องไปและผ่านการทดสอบอย่างละเอียดโดย API ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น!
เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หากอ้างอิงตาม API ซึ่งเข้าใจได้ง่าย ก็คือ นำหน้าด้วยตัว S เสมอ ตามด้วยตัวอักษรที่ยิ่งไกลจาก A เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณภาพดี ไล่จาก SA SB SC SD SE SF SG SH SJ SL ข้าม SI SK ไปโดยไม่บอกเหตุผล ล่าสุดเพิ่งออก SM
การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง ควรใช้ระดับใกล้สูงสุดไว้ ในปัจจุบันแนะนำ SM SL SJ ส่วนเกรดต่ำกว่านั้น ไม่น่าสนใจแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสูงสุดเสมอไปใกล้ๆไว้เป็นพอ และถึงจะเป็นน้ำมันเครื่องธรรมดาก็ใช้ได้ถึง 10,000 กิโลเมตร ถ้าเป็นสังเคราะห์ก็ทนได้ถึง 15,000-20,000 กิโลเมตร API หรือ AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE จะมีการประกาศรับรองน้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพสูงสุดมาตรฐานใหม่ทุกประมาณ 3-5 ปี
ล่าสุดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2004 คือ API SM สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน โดยระบุคร่าวๆ ว่าดีขึ้นจากเกรดคุณภาพ SL คือปรับปรุงเรื่องต่อต้านการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน, ปรับปรุงเรื่องป้องกันการเกิดตะกอน, เพิ่มการปกป้องความสึกหรอ, พัฒนาให้ทำงานได้ดีตั้งแต่อุณหภูมิต่ำ และคงประสิทธิภาพที่ดีตลอดอายุการใช้งาน
เพียงช่วงแรกที่ประกาศ API SM ก็มีบริษัทน้ำมันเครื่องได้การรับรองไปแล้วกว่า 400 ราย 1 ในนั้น คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) น้ำมันเครื่อง PTT PERFORMA SUPER SYNTHETIC เกรดความหนืด 0W-40 และทราบมาว่าอีกหลายยี่ห้อก็กำลังดำเนินการและเตรียมออกสู่ตลาดไทยในปีนี้
บริษัทน้ำมันเครื่องส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีใกล้เคียงกัน ดังนั้นการผลิตน้ำมันเครื่องให้มีคุณภาพตามต้องการ
หรือให้ผ่านมาตรฐานการรับรองโดยสถาบันที่ได้รับความเชื่อถืออย่าง API จึงไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ ประเทศเล็กๆ อย่างไทยก็ทำได้ทัดเทียมต่างชาติ
สิ่งที่ยากกว่า คือ การสร้างความเชื่อถือให้ผู้บริโภค เพราะแม้น้ำมันเครื่องจะมีคุณภาพทุกด้านเกือบเหมือนกัน
มีต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกัน แต่ยี่ห้อที่สร้างภาพพจน์ได้ดี จะสามารถตั้งราคาได้แพงกว่า ที่แปลกก็คือ น้ำมันเครื่องระดับคุณภาพเดียวกัน ยี่ห้อที่ไม่ดังและขายถูกกว่า (เพราะต้นทุนจริงไม่แพง และไม่ได้ปั่นราคา) มักถูกมองในแง่ลบว่าด้อยคุณภาพ หลายคนไม่กล้าซื้อใช้ เพราะกลัวใส่แล้วเครื่องโทรมหรือเครื่องพัง
ลบความเชื่อผิดๆ เรื่อง API และ DONUT
หลายคนคิดว่า น้ำมันเครื่องมีมีตราวงกลมคล้ายโดนัท นั่นคือ ได้ส่งน้ำมันตัวอย่างไปให้ API ทดสอบ และผลต้องผ่าน ในเนื้อน้ำมันเดียวกันกับที่ขาย ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ และไม่ได้ส่งเนื้อน้ำมันไปทดสอบ เพราะเป็นแค่การขอการรับรอง โดยกรอกรายละเอียด และเหมือนผู้ผลิตหรือจำหน่ายน้ำมันนั้น เป็นการรับรองตัวเอง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมให้ API โดยไม่ได้ส่งเนื้อน้ำมันให้ API ทดสอบแต่อย่างไร
ส่วนน้ำมันเครื่องที่ไม่ได้มีตราโดนัทข้างกระป๋อง แต่ระบุเกรดคุณภาพเป็นตัวย่อตาม API ถึงจะไม่ได้ขอการรับรองไป แต่ก็เทียบเกรดเองได้ ไม่ว่าน้ำมันเครื่องนั้นจะได้รับตราโดนัทหรือไม่ ก็มีแค่ความเชื่อใจต่อผู้ผลิตหรือจำหน่ายเท่านั้นว่า เนื้อน้ำมันในกระป๋องที่ขายออกมา จะมีคุณภาพตรงตามที่ระบุไว้
น้ำมันเครื่องที่ขาย = น้ำมันพื้นฐาน + สารเพิ่มคุณภาพ
หลายคุณสมบัติพิเศษสำคัญๆ ของน้ำมันเครื่อง ไม่ได้มาจากน้ำมันพื้นฐานหรือ BASE OIL (MINERAL OIL, PAO-POLYALPHAOLEFIN หรือ HYDROCRACK) และขบวนการผลิตเท่านั้น แต่ต้องมีการผสมสารเพิ่มคุณภาพหรือ ADITIVE ลงไปด้วย
ในอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่น มีผู้ผลิต BASE OIL และ ADITIVE เพียงไม่กี่ราย (รายใหญ่ของการขาย ADDITIVE ไม่ถึง 10 รายเท่านั้น) โดยเฉพาะผู้ผลิต ADDITIVE รายใหญ่ๆ ล้วนต้องทดลองผสม ทดสอบเอง และส่ง API ทดสอบมาแล้วว่าถ้านำ BASE OIL ชนิดไหน มาผสมกับ ADITIVE ตัวใด (ใช้หลายตัว) แล้วจะได้น้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพและเกรดความหนืดใด
เนื่องจากผู้ผลิต ADDITIVE รายใหญ่ๆ ล้วนมีการทดสอบด้วยตัวเอง และส่งตัวอย่างน้ำมันเครื่องให้ API และสถาบันอื่นๆ ทดสอบอย่างละเอียดแล้ว ทั้งในห้องแล็บและการใช้งานจริง ซึ่งต้องใช้น้ำมันเครื่องจำนวนมหาศาล ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนหรือนับล้านบาท เมื่อทดสอบครบทุกขั้นตอนแล้วจึงกำหนดว่า น้ำมันเครื่องนั้นมีเกรดคุณภาพระดับใด
ดังนั้นเมื่อจะขายสารเพิ่มคุณภาพออกมา ก็เหมือนมีสูตรสำเร็จว่า ถ้าซื้อสารตัวใดนำไปผสมตามกำหนดกับน้ำมันพื้นฐานชนิดใด แล้วจะได้เกรดคุณภาพตาม API เป็นอะไร โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำอีกแล้ว
มาตรฐานการแบ่งเกรดคุณภาพน้ำมันเครื่อง ไม่ได้มีแต่ของ API เพียงรายเดียว และ API เองก็มีการอ้างอิงจากแหล่งอื่นด้วย จึงเหมือนเป็นข้อตกลงของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่น, บริษัทผลิตยานยนต์และเครื่องยนต์ ประกอบด้วย ฟอร์ด เจนเนอรัล มอเตอร์ส และเดมเลอร์ไครสเลอร์, สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น JAMA, และสมาคมผู้ผลิตเครื่องยนต์
ประสิทธิภาพที่ต้องการจากน้ำมันเครื่อง, ขั้นตอนการทดสอบ และข้อจำกัด เป็นการร่วมกันจัดตั้งโดยผู้ผลิตยานยนต์และเครื่องยนต์, สมาคมเทคนิค THE SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS (SAE), THE AMERICAN SOCIETY FOR TESTING AND MATERIALS (ASTM), ชมรมอุตสาหกรรม THE AMERICAN CHEMISTRY COUNCIL รวมทั้ง API
ในเมื่อผู้ผลิต BASE OIL และ ADITIVE ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ได้ผสมน้ำมันเครื่องหลายร้อยสูตร ทดสอบอย่างละเอียด แบ่งเป็นคุณภาพและคุณสมบัติต่างๆ ไว้แล้ว
บริษัทน้ำมันเครื่องที่จำผสมออกขาย ก็เพียงเลือกว่าจะทำตลาดด้วยน้ำมันเครื่องชนิดใดและเกรดคุณภาพใด จากนั้นก็สั่งซื้อ BASE OIL กับ ADITIVE ตามสเปค มาผสมและจำหน่ายในยี่ห้อของตนเอง ไม่ต้องทดสอบซ้ำ ก็พอจะเชื่อได้ว่าได้มาตรฐานตามที่เลือกไว้ ซึ่งต้องเชื่อใจผู้ขาย BASE OIL กับ ADITIVE ว่าจะไม่ตุกติกด้วย
หากต้องการให้ API รับรอง (มีสัญลักษณ์ DONUT STARBURST และ API) ก็เพียงกรอกแบบฟอร์มยืนยันส่วนผสมต่างๆ ของน้ำมันเครื่องนั้นส่งให้ API ไม่ต้องส่งตัวอย่างน้ำมันเครื่องให้ เพราะเหมือนทดสอบซ้ำ สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้ง API ก็ไม่มีเวลาทดสอบได้ครบทุกยี่ห้อ
แบบฟอร์มขอการรับรองจาก API เปรียบเสมือนสัญญารับรองตนเองของผู้ผลิตหรือจำหน่ายน้ำมันเครื่อง ว่าน้ำมันเครื่องมีคุณสมบัติตรงตามที่ให้ข้อมูลไว้จริง โดย API จะมีการสุ่มตรวจเป็นบางรายในภายหลัง ซึ่งก็แทบไม่พบว่ามีการสุ่มตรวจ เพราะมีกว่าร้อยประเทศและมีน้ำมันเครื่องหลายพันรุ่นในโลกที่ขอการรับรอง เทคโนโลยีของน้ำมันเครื่อง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเกรดคุณภาพใหม่ๆ กำหนดขึ้นทุก 3-5 ปี เราไล่ตามหาความรู้ได้ไม่ยาก...ถ้าสนใจ ! และไม่จำเป็นต้องรู้ลึก