คำตอบที่ 125
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจิรํ วต เป็นต้น ความว่า ภิกษุต่อกาลไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน คือจักนอนเบื้องบนแห่งแผ่นดินที่สัตว์นอนแล้วด้วยการนอนปกตินี้.
ด้วยบทว่า ฉุฑฺโฑ พระศาสดาทรงแสดงเนื้อความว่า กายนี้ จักเป็นของชื่อว่าเปล่า เพราะความมีวิญญาณไปปราศ ถูกทอดทิ้งแล้วนอน.
เหมือนอะไร?
เหมือนท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์.
อธิบายว่า เหมือนท่อนไม้อันไร้อุปการะ ไม่มีประโยชน์,
จริงอยู่ พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการด้วยทัพสัมภาระ เข้าไปสู่ป่าแล้ว ตัดไม้ตรงโดยสัณฐานแห่งไม้ตรง ไม้คดโดยสัณฐานแห่งไม้คด ถือเอา (เป็น) ทัพสัมภาระ, แต่ตัดไม้เป็นโพรง ไม้ผุ ไม้ไม่มีแก่น ไม้เกิดเป็นตะปุ่มตะป่ำที่เหลือ ทิ้งไว้ในป่านั้นนั่นเอง มนุษย์พวกอื่นผู้มีความต้องการด้วยทัพสัมภาระมาแล้ว ชื่อว่าหวังถือเอาชิ้นไม้ที่ถูกทิ้งไว้นั้น ย่อมไม่มี,
มนุษย์เหล่านั้นแลดูไม้นั้นแล้ว ย่อมถือเอาไม้ที่เป็นอุปการะแก่ตนเท่านั้น; ไม้นอกนี้ ย่อมเป็นไม้ถมแผ่นดิน๑- อย่างเดียว, ก็ไม้นั้นพึงเป็นไม้แม้ที่ใครๆ อาจจะทำเชิงรองเตียงหรือเขียงเท้า หรือว่าตั่งแผ่นกระดานด้วยอุบายนั้นๆ ได้;
ส่วนว่า บรรดาส่วน ๓๒ ในอัตภาพนี้ แม้ส่วนหนึ่ง ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นของที่จะพึงถือเอาได้ ด้วยสามารถแห่งอุปกรณ์วัตถุมีเชิงรองเตียงเป็นต้น หรือด้วยมุขเป็นอุปการะอย่างอื่น ย่อมไม่มี กายนี้มีวิญญาณไปปราศแล้ว ต่อวันเล็กน้อยเท่านั้น ก็จักต้องนอนเหนือแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น ดังนี้แล.
๑- ปฐวีคตํ.