คำตอบที่ 1445
ไม่ใช่ 100% ไม่เวิร์คนะครับ ใช้ได้ดีทีเดียว แต่แรงไม่เท่าดีเซลเท่านั้นเอง....
--------------------------------
เอามาฝากทุกท่านอีกครับ
--------------------------------
สิทธิบัตรเลขที่ 10764
"การใช้น้ำมันปาล์ม กลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล"
--------------------------------
เปิดสูตร 'ปาล์มดีเซล' 'สิทธิบัตร'ประวัติศาสตร์ พระอัจฉริยภาพ'ในหลวง'
(มติชน 7 พ.ค.44)
หมายเหตุ - สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจดสิทธิบัตรการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ต่อมารัฐบาลได้สนองพระราชดำริโดยเร่งผลิตน้ำมันดีเซลจากปาล์มในเชิงพาณิชย์
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดการประดิษฐ์ 'ปาล์มดีเซล' ในสาขาวิทยาการวิศวกรรมเครื่องยนต์ (ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล) อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ 'ในหลวง'
ภูมิหลังของศิลปวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและมีสารตกค้างในไอเสียที่เป็นของก๊าซน้อยกว่าเครื่องยนต์ออตโต (เครื่องยนต์เบนซิน) มีข้อไม่พึงประสงค์อยู่คือ ควันดำ สารตกค้าง และสารพิษอื่นที่ปล่อยออกมา ไฮโดรคาร์บอน โลหะ น้ำมันหล่อลื่น และซัลเฟต ช่วงที่เครื่องยนต์ทำงานภาระปานกลางมีปริมาณสารแข็ง 1/5 เท่าของช่วงที่เครื่องยนต์ทำงานภาระเต็มที่ เมื่อสารตกค้างมีขนาดเล็กมาก ต่ำกว่า 1 ไมครอน (Micron) สามารถที่จะเข้าไปในส่วนลึกของปอดได้ง่าย ปัจจุบันนี้สารตกค้างนี้ถูกจัดให้อยู่ในจำพวกสารพิษ และพบว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
น้ำมันดีเซลเป็นสารเคมี เมื่อถูกไฟเผาไหม้จะทำให้เกิดสารพิษและฝุ่นเขม่ามาก เป็นพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ *** สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เพราะมีกรดกำมะถันปนออกมากับไอเสีย น้ำมันดีเซลเป็นสารที่สลายตัวยาก แหล่งที่มาของน้ำมันดิบอยู่ในเขตที่มีปัญหาทางการเมืองและข้อพิพาท ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามสถานการณ์ น้ำมันดิบที่นับวันจะมีน้อยลงและอีกไม่กี่สิบปีก็จะหมดไป ทำให้ราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จึงไม่เป็นสิ่งที่ปรารถนาที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้นจึงประสงค์จะหาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากแหล่งอื่นจากกรรมวิธีอื่นมาทดแทน น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือเรียกกันว่า Palm Olein เป็นน้ำมันพืชที่สกัดจากผลปาล์มตามกรรมวิธี ใช้ปรุงอาหารได้
การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับเครื่องยนต์ดีเซลเพราะน้ำมันปาล์มเป็นผลผลิตมาจากผลปาล์ม ซึ่งมีวัตถุดิบมาจากต้นปาล์มที่สามารถปลูกทดแทนและเพิ่มจำนวนได้ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จึงไม่มีกรดกำมะถัน
ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
วัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์ คือการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล โดยการนำมาใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลทุกชนิด ได้ทุกอัตราส่วน ตั้งแต่ 0.01-99.99% โดยปริมาตร หรือใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลได้ 100% โดยปริมาตร โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันดีเซล
การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
การประดิษฐ์นี้เกิดขึ้นจากผลที่ได้ศึกษาที่จะแก้ไขทำให้เขม่าและสารพิษในไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลลดลงได้ถึง 4 เท่า คือถึง 33% (ค่าที่ได้จากการทดลอง) โดยเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลธรรมดา การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิง เพราะว่าเป็นสารทางชีวภาพสลายตัวได้ง่าย ไม่เป็นสารไวไฟอันตราย (จุดวาบไฟอยู่ที่ประมาณ 170 องศาเซลเซียส) มีคุณสมบัติให้การหล่อลื่นสูง ไม่ต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมระบบการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ต้องใช้เครื่องกรองและกำจัดไอเสีย ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ของเครื่องยนต์และระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มกำลังให้กับเครื่องยนต์โดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องอัดอากาศ (Turbo) ผลิตในประเทศไทย
การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงคือทางเลือกหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ผลปาล์ม และทดแทนนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้
น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ R.B.D.PALM OLEIN ที่มีคุณสมบัติดังนี้
- ค่าของกรดไขมันอิสระ FFA (% as oleic acid) 0.15 max.
- เปอร์ออกไซด์มิลลิกรัมสมมูลของออกซิเจน/1ก.ก. PV.(Pressure Volume) milli equivalent/kilogramme 3.00 max.
- น้ำและสิ่งที่สารที่ไม่ละลายในน้ำมัน M&I (%) 0.01 max.
- ไอโอดีนแบบวิจส์ IV (Wijs) 54-59 %
- จุดมัว Cloud Point (A.O.C.S.,C) 10 max.
- สี Color (Lovibond 5.25 inch. cell) 30Y 3R max.
ตัวอย่างการทดลอง
1.การทดลองใช้น้ำมันปาล์มเดินเครื่องยนต์ดีเซลเล็กการเกษตร
2.การทดลองใช้น้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซล นิสสัน 4 สูบ
3.ทดลองกับเครื่องยนต์ รถยนต์ปิกอัพ โตโยต้า 4 สูบ ขนาด 2500 ซีซี
4.การทดสอบกำลังงานของเครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า เพื่อหาค่าเปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันดีเซลธรรมดา
5.ทดลองกับเครื่องยนต์ รถยนต์ตู้ โตโยต้าไฮแอซ (Toyota Hiace) ขนาด 2500 ซีซี ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยใช้ส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 50% กับน้ำมันดีเซลธรรมดา 50% ใช้งานปกติ ระยะทาง 2,700 ก.ม. และ
6.ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% ใช้งานปกติ ระยะทาง 10,000 ก.ม.
ตัวอย่างการเปรียบเทียบค่าควันดำของไอเสีย
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 100% - ค่าควันดำของไอเสีย 45-15%
น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 50% +น้ำมันดีเซล 50% - ค่าควันดำของไอเสีย21.2-17.5%
น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% - ค่าควันดำของไอเสีย4-10%
สังเกตได้ว่าค่าควันดำของไอเสียที่ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์น้อยกว่า การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 50% ผสมกับน้ำมันดีเซล 50% และการใช้น้ำมันดีเซล 100%
ตัวอย่างที่ 1
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับเครื่องยนต์ดีเซลเล็กการเกษตร
ทำการทดลองโดยใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับเครื่องยนต์ดีเซลเล็กการเกษตร เช่น เครื่องยนต์เล็กยันมาร์ ตามอัตราส่วนต่างๆ คือ 10 20 30 40 50 60 70 80 90% ผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อทดลองเดินเครื่องยนต์ และใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% ทำการทดลองเดินเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ทำงานปกติ
ตัวอย่างที่ 2
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับเครื่องยนต์ดีเซล นิสสัน 4 สูบ ขนาดความจุกระบอกสูบ 2500 ซีซี
โดยใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ตามอัตราส่วนต่างๆ คือ 10 20 30 40 50 60 70 80 และ 90% ผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อเดินเครื่องยนต์และใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% เดินเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ทำงานปกติ
ตัวอย่างที่ 3
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับรถยนต์ปิกอัพ เครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า ขนาดความจุกระบอกสูบ 2500 ซีซี
ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ในอัตราส่วน 50% ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 50% เดินเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ทำงานปกติได้ระยะทาง 500 ก.ม.
ตัวอย่างที่ 4
การทดลองและการวัดกำลังของเครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า 4 สูบ รุ่น 2L สำหรับรถยนต์ปิกอัพ ขนาดความจุกระบอกสูบ 2500 ซีซี โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสามชนิด คือ
1.น้ำมันดีเซลธรรมดา 100% ตารางและกราฟแสดงการวัดกำลังเครื่องยนต์ดีเซล ตามรูปที่ 1-3
2.น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 50% ผสมกับน้ำมันดีเซล 50%
3.น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% ตารางและกราฟแสดงการวัดกำลังเครื่องยนต์ดีเซล ตามรูปที่ 7-9
จากการทดลอง ใด้พบว่าการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 50% ผสมกับน้ำมันดีเซล 50% หรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% ทำให้เครื่องยนต์มีแรงบิดเพิ่มขึ้นและมีผลทำให้กำลังงานเพิ่มมากขึ้น กราฟเปรียบเทียบการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสามชนิด ตามรูปกราฟ
ตัวอย่างที่ 5
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับรถยนต์โตโยต้าไฮแอซ (TOYOTA Hiace) เครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า 4 สูบ ขนาดความจุกระบอกสูบ 2500 ซีซี
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ตามอัตราส่วน 50% กับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 50% เดินเครื่องยนต์ใช้งานได้ปกติ การทดลองระยะทาง 2,700 ก.ม.
ตัวอย่างที่ 6
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับรถยนต์ตู้โตโยต้าไฮแอซ (TOYOTA Hiace) เครื่องยนต์ดีเซลโตโยต้า 4 สูบ ขนาดความจุกระบอกสูบ 2500 ซีซี
ทำการทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% กับเครื่องยนต์ใช้งานได้ปกติการทดลอง ระยะทาง 10,000 ก.ม. พร้อมแสดงผลการวัดและการเปรียบเทียบความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
1.การตรวจวัดควันไอเสีย ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 70% ผสมกับน้ำมันดีเซล 30% ตรวจวัดหาค่าควันดำไอเสียได้
1) 42% 2) 38% และ 3) 28% ตามลำดับ
2.วัดความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงผสมปาล์มบริสุทธิ์ 99.99%+ ดีเซล 0.01%
2.1 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 50 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.40 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 12.5 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 8 ลิตร/100 ก.ม.
2.2 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 2,700 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 90 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 050 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 10.0 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 10 ลิตร/100 ก.ม.
2.3 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 3,600 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 120 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 1.30 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 7.69 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 13 ลิตร/100 ก.ม.
2.4 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 4,300 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 145 ก.ม./ชม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 097 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.15 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 19.4 ลิตร/100 ก.ม.
*หมายเหตุ น้ำมันดีเซล 0.01% คือน้ำมันดีเซลที่ค้างในระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะที่ทำการตรวจสอบ
3.ตรวจวัดหาค่าควันดำไอเสียได้ 1) 10% 2) 5% และ 3) 7% ตามลำดับ
4.ตรวจวัดความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 0.01% ผสมกับน้ำมันดีเซล 99.99%
4.1 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 50 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.40 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 12.5 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 8 ลิตร/100 ก.ม.
4.2 ที่ความเร็วรองเครื่องยนต์ 2,700 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 90 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.50 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 10.0 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 10 ลิตร/100 ก.ม.
4.3 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 3,600 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 120 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.65 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 7.69 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 13 ลิตร/100 ก.ม.
4.4 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 4,200 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 140 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.90 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.5 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 18 ลิตร/100 ก.ม.
4.5 ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 4,200 รอบ/นาที ความเร็วคงที่ 140 ก.ม./ช.ม. ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.90 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.5 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 18 ลิตร/100 ก.ม.
4.6 ความเร็วตามสภาพการจราจรในอำเภอหัวหิน (การจราจรในเมือง) ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม 0.6 ลิตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 8.3 ก.ม./ลิตร หรือตามสูตร DIN 12 ลิตร/100 ก.ม.
*หมายเหตุ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 0.01% คือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ค้างในระบบขณะที่ทำการตรวจสอบ
5.ความเร็ว รอบ/ความเร็วในการขับเคลื่อน/ความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการตรวจวัดที่ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันดีเซลธรรมดาไม่มีค่าแตกต่างกัน
จาก อ้วน น้ำมันพืช 61.7.141.185 ศุกร์, 4/8/2549 เวลา : 19:12