คำตอบที่ 4
ซื้อรถมือสองต้องปรับสภาพ?
หลังซื้อรถมือสอง ไม่ว่าเดิมจะมีสภาพพร้อมใช้หรือถูกปรับสภาพมาอย่างหยาบๆ หากต้องการใช้งานได้ดี ก็ควรเสียเงินเสีย เวลาปรับสภาพรวดเดียว เพื่อจะได้ใช้งานอีกยาวนาน ดังนั้นบท ความฉบับนี้ โดยคอลัมนิสต์ของเรา "วรพล สิงห์เขียวพงษ์ ได้เขียน แนะนำการปรับสภาพรถมือสอง พร้อมเหตุผลรองรับที่ควรทำ ใคร สนใจรถมือสอง หรือกำลังจะซื้อ ลองอ่านดูเพื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ทำไมต้องทำ ?
ไม่ว่าจะซื้อรถเต็นท์ ที่จอดอยู่ไม่รู้กี่วัน หรือซื้อรถบ้านจากเจ้าของโดยตรงที่ใช้งานเป็นปกติอยู่ แต่ในเมื่อเป็นรถใช้แล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะมีอะไรใกล้หมดสภาพในอีกไม่นาน
เต็นท์มีการปรับสภาพก็จริง แต่มักเป็นการทำโดยผิวเผินอย่าง หยาบๆ หรือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ผู้ซื้อดูดี แต่เสียค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพน้อยที่สุด
ส่วนรถบ้าน ถ้าส่วนที่เสียหรือกำลังจะเสีย ไม่เป็นที่สังเกตเห็น จนน่าเกลียดหรือขับแล้วรู้เลย ก็มักจะไม่เสียเงินซ่อมก่อนขาย ปล่อย ให้เป็นภาระแก่ผู้ซื้อ หรือแม้แต่มีส่วนที่เสียที่ชัดเจน ก็มักจะใช้วิธีลดราคาให้ผู้ซื้อไปซ่อมเอง
โดยส่วนใหญ่รถมือสองที่แม้ผู้ขายจะบอกว่ามีสภาพพร้อมใช้ แค่เติมน้ำมันแล้วก็ขับได้เลย หลังซื้อมาก็ควรจะตรวจสอบหรือปรับสภาพเพื่อให้ใช้งานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ระยะทางบนหน้าปัด
หรือเรียกกันว่าเลขไมล์ (ทั้งที่หน่วยเป็นกิโลเมตร) ผู้ขายโดยเฉพาะเต็นท์มักจะเขี่ยหรือปรับลดไมล์เพื่อให้ดูเป็นรถใช้น้อย สามารถเพิ่มราคาหรือเพิ่มความน่าสนใจขึ้นได้ และปัจจุบันนี้ไม่ใช่เฉพาะเต็นท์เท่านั้นที่ทำอย่างนี้ เจ้าของรถบ้านที่รู้มากหลายคนก็ทำเช่นกัน เพราะมีประกาศรับบริการในราคาไม่แพงตามนิตยสารรถรายสัปดาห์ทั่วไป
ถ้าเป็นคันที่ถูกปรับลดเลขระยะทางบนหน้าปัดลงไปโดยผู้ซื้อไม่ทราบ นับว่าน่ากังวล เช่น ระยะทางที่ใช้จริง 100,000 กิโลเมตรซึ่งต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิงแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแล้วถูกลดเลขบนหน้าปัดเหลือ 70,000 กิโลเมตร อย่างนี้ก็เสี่ยงมากกับสายพานที่จะขาด หากใช้ต่อไปอีก 30,000 กิโลเมตร
ระยะทางที่แท้จริงของรถที่ถูกลดเลขไมล์ สามารถทราบได้ยาก นอกจากจะบังเอิญว่า รถคันนั้นเข้าศูนย์บริการเป็นประจำและสมุดคู่มือยังอยู่ ก็สามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่ศูนย์บริการนั้นได้ว่า เคยซ่อมอะไรมาบ้าง และระยะทางล่าสุดเท่าไรเมื่อไร
ขัดสี
รถที่ผ่านการใช้งานมา แม้จะได้รับการดูแลรักษาที่ดี แต่ก็ต้องมีคราบสกปรกเกาะบ้างไม่มากก็น้อย จึงไม่ใช่แค่ขัดเคลือบด้วยตัวเอง แต่ แนะนำให้เข้าอู่สีให้ขัดสีใหม่ทั้งคัน เอาคราบไคลสกปรกออกแล้วเคลือบ น้ำยา ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท แล้วค่อยนำกลับมาเคลือบเงาเองด้วยน้ำยากระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท (ไม่ต้องเลือกที่แพงมาก)
เปลี่ยนของเหลว
ของเหลวทุกชนิด ยกเว้นน้ำกลั่น+น้ำกรดในแบตเตอรี่ และน้ำฉีดกระจก ควรเปลี่ยน น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ น้ำหม้อน้ำ
สารพัดไส้กรอง
ไส้กรองอากาศที่จะมีผลต่อการหายใจเข้าของเครื่องยนต์, ไส้กรอง น้ำมันเครื่องต้องเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเครื่องอยู่แล้ว, ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการไหลของน้ำมันที่คล่องตัว
สายพานต่างๆ
ถ้าจะตัดปัญหาก็ควรเปลี่ยนให้ครบทั้งสายพานนอกเครื่อง และสายพานไทม์มิง (ถ้ามี) หากสายพานเดิมมีสภาพยังดี ก็ใส่ถุงเก็บสำรอง ไว้ท้ายรถเพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
ยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์
ถ้าร้าวหรือขาด ให้เปลี่ยนใหม่ ส่วนจะเป็นของใหม่แท้จากศูนย์บริการ ของเทียบใช้หรือของเชียงกงก็ตามสะดวก สำหรับรถญี่ปุ่น ยาง แท่นเครื่องเชียงกงที่มีสภาพดีๆ ก็น่าสนใจ เพราะมีราคาถูกมาก แต่ใช้งานได้ดีอีกนานพอสมควร
ท่อยางหม้อน้ำ
ถ้าดูที่อยางที่ติดรถมาแล้วมีสภาพไม่น่าไว้ใจ เริ่มแข็งกรอบหรือร้าว ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ในราคาไม่แพง สำหรับของเทียบคุณภาพดี แล้วเก็บของเดิมไว้ท้ายรถเพื่อเป็นอะไหล่เมื่อเดินทางไกล
ระบบเบรกและผ้าเบรก
รถแล่นได้ ก็ต้องหยุดได้ดีและปลอดภัย ในการเปลี่ยนน้ำมันเบรก ต้องไล่น้ำมันเก่าออกจากลูกสูบเบรกที่ทุกล้อ ให้ตรวจสอบการรั่วซึมของ ลูกยางเบรก สายอ่อนเบรก และการเปื่อยขาดของยางกันฝุ่น ผ้าเบรกใกล้หมดหรือยัง ถ้าบางแล้วก็ควรเปลี่ยน โดยสามารถเลือกได้หลายยี่ห้ออย่างรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าเบรกแท้จากศูนย์บริการเท่า นั้น
ระบบช่วงล่าง
เป็นปัญหาที่พบบ่อยในรถมือสองทั่วไป ช่วงล่างมีเสียงดัง แข็งกระด้าง หรือยวบยาบ ถ้าไม่ได้สนใจจุดนี้เป็นพิเศษ ก็แค่ทดลองขับดูว่ามีเสียงรบกวนไหมและการทรงตัวดีหรือไม่ แต่ถ้าอยากใช้งานให้สมบูรณ์จริงๆ ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งแบบถอดล้อขึ้นแม่แรง โยกชิ้นส่วนดู หรือถอดออกมาจากรถเพื่อตรวจสภาพอย่างละเอียด หากเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นที่มีอะไหล่เชียงกงในราคาไม่แพง หลายชิ้นอาจตัดปัญหาโดยซื้อเปลี่ยนยกชุดเลยก็เป็นได้
ราคาของปีกนก โช้กอัพและอะไหล่ปลีกย่อยของรถญี่ปุ่นบางรุ่น มีราคาของเชียงกงรวมแถวๆ หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น เปลี่ยนแล้วแม้จะขับแล้วไม่เหมือนรถใหม่ 100%แต่ก็ดีขึ้นเยอะและใช้งานต่อไปได้อีกนาน
การตัดสินใจเปลี่ยนชิ้นส่วนของช่วงล่างแบบยกชุดหรือไม่ ขึ้นอยู่ กับสภาพของชิ้นส่วนเดิมและราคาของชิ้นส่วนใหม่ หากไม่แพงก็ยกชุด ไปเลย หากแพงก็ตัดสินใจจากสภาพของชิ้นส่วนเดิมอย่างรอบคอบ
เพลา และยางหุ้มเพลา
รถขับเคลื่อนล้อหน้ามีเพลาขับ 1 แท่ง ( 4 หัวเพลา)เลี้ยววงแคบ แล้วมีเสียงดังก็อกๆๆ หรือไม่ ถ้ามีเสียงดังต้องเปลี่ยนเพลา จะเลือกของแท้จากศูนย์บริการ เทียบใช้เฉพาะตัวหัวเพลา หรือของเชียงกงก็ตามสะดวก ถ้ายางหุ้มเพลาขาด ต้องถอดมาทำความสะอาด เปลี่ยนยางหุ้มเพลาพร้อมจารบีใหม่ ยางหุ้มเพลาของเทียบใช้อันละไม่กี่ร้อยบาง บางยี่ห้อก็น่าใช้ เพราะทนทานคุ้มค่ากับราคา
ตู้แอร์
ดูว่าลมแรงและมีกลิ่นหรือไม่ หากไม่แน่ใจว่าสกปรกหรือไม่ ล้างตู้แอร์ไปเลยก็ดี เพราะเกี่ยวข้องกับความสะอาดของอากาศที่จะหายใจเข้าไป
เบาะและพรม
ทำความสะอาดเองได้ไม่ยาก โดยใช้โฟมสเปรย์ฉีดแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดโฟมและคราบสกปรกออก แต่ถ้าไม่อยากทำเอง ก็สามารถเข้ารับบริการได้ตามคาร์แคร์ทั่วไป
ฟิล์มกรองแสง
ดูสภาพทั้งความใสและฟองอากาศของฟิล์มกรองแสงเดิมที่ติดอยู่ (ถ้ามี) การเปลี่ยนฟิล์มกรองแสงใหม่ ต้องเสียเงินหลายพันบาทก็จริง แต่การขับรถที่มีฟิล์มฯ มัว ก็ไม่ปลอดภัยและขาดความสวยงาม
ลดค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ
ถ้าสะดวก มีความรู้เรื่องรถพอสมควรและมีอู่ที่ยินดีให้ซื้ออะไหล่ ไปเองได้ ก็สามารถแวะไปร้านอะไหล่ตามห้องแถวทั่วไป หรือเชียงกง เพื่อซื้ออะไหล่ หรือถ้าไม่สะดวกซื้ออะไหล่เอง ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการเลือกซื้ออะไหล่อย่างรอบคอบว่า ชิ้นใดควรซื้ออะไหล่แท้ เทียบ เทียม หรือเชียงกง
บทความนี้ อาจดูเหมือนยุ่งยากในทางปฏิบัติ
เพราะโดยทั่วไปหลังซื้อรถมือสองมาแล้ว ก็ใช้ไปซ่อมไป อะไรเสีย ก็ถึงจะซ่อม อย่างมากก็เปลี่ยนแค่น้ำมันเครื่องเท่านั้น อ่านบทความแล้ว ลองพิจารณาดูว่าอะไรสะดวกที่จะทำ เพราะหากยอมเสียเงินเสียเวลาในครั้งเดียว แล้วก็จะใช้งานได้อย่างสบายใจมากขึ้น