WeekendHobby.com


ไปถ่ายรูปขบวนเรือกันดีไหมครับ
baron
จาก von Richthofen
ศุกร์ที่ , 2/6/2549
เวลา : 10:14

อ่าน = 1071
61.47.105.126
       ผมกับคุณอีธานและผู้ติดตามแบกรีเฟล็กกระเป๋ากล้องอีกสองคนเป็นตัวยืน จากการที่หาที่มาสักพักใหญ่เห็นว่าที่ของคุณหญิงสุภัทราน่าจะดีที่สุดเพราะอยู่ตรงกันข้ามกับวังหลวงและไม่ห่างจากจุดที่คณะกษัตริย์ประเทศต่างๆดูที่กองทัพเรือ


ตอนแรกจะเอาตรงปากคลองบางกอกน้อยแต่เป็นมุมที่เห็นธรรมศาสตร์ไม่สวยเลย จะเอาที่ รพ.ศิริราชตรงตึกเรียนก็เกรงใจต้องรบกวนภริยาหลวงคุณ CC ให้จัดการให้ จะเอาที่เดิมที่ผมเคยไปอาคารของ FAO ตรงท่าพระอาทิตย์ก็ติดวาตามตัวท่านทูตไทยประจำ UN ไม่ได้และไม่แน่ใจว่าได้มากหรือน้อยเพราะต้องไปกินที่ของฝรั่งบรรดาทูตทั้งหลายที่มาดูด้วย

ที่ของคุณหญิงคิดราคา วันซ้อมใหญ่ 300บาท วันจริง 500บาท ผมจะไปจองที่ไว้ก่อนอยากทราบจำนวนโดยด่วนใครจะไปก็ลงชื่อเอาไว้ครับ ช้าอาจจะหมดอดดูได้




เครื่องมือในการใช้งาน website =>> สมัครสมาชิก | Login | Logout | เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อโฆษณา         View stat by Truehits.net


   
   

คำตอบที่ 1
       ไปด้วย ครับ............



a_anan จาก a pct195  203.118.120.90  ศุกร์, 2/6/2549 เวลา : 10:27   


คำตอบที่ 2
       เมื่อ 25ปีก่อนผมถ่ายรูปได้เปิ่นเทิ่นมันเทศอะไรอย่างนี้ก็ไม่รู้

รูปนี้ผมใช้ Nikon FE ออกใหม่ๆ ค่าตัวบอดี้หมื่นแปด เลนส์อีกชุดเกือบหมื่น สิริรวมแล้ววายวอดไปสองหมื่นกว่าบาทปลายๆ สมัยนั้นรถโตโยต้าใหม่ป้ายแดงคันละแสนกว่าบาท


แต่ก็ได้ความทรงจำใส่ขวดโหลไว้เชยชมอีกหลายพันภาพคุ้มค่าจริงๆ





baron จาก von Richthofen   ศุกร์, 2/6/2549 เวลา : 10:34   


คำตอบที่ 3
       วันไหนครับ



Boy_Pajero จาก Boy_Pajero  203.170.228.172  ศุกร์, 2/6/2549 เวลา : 14:22   


คำตอบที่ 4
       อยากดูมาก ๆ เลยค่ะ



จาก แม่บ้าน PCT172  58.8.84.86  ศุกร์, 2/6/2549 เวลา : 14:54   


คำตอบที่ 5
      
12 มิถุนายน เวลาขบวนเรือประมาณ 17.00 น. ครับ คาดว่าน่าจะต้องเดินทางเข้าสถานที่ที่จะหาได้ก่อนขบวนเรือมาหลายชั่วโมงครับ.........



Ethan_Hunt จาก Ethan_Hunt  203.188.41.51  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 01:25   


คำตอบที่ 6
       เข้าเมืองสงสัยจะลำบาก รอดูรูปผ่าน Web นี้ ขอรับ ขอบคุณล่วงหน้ามาก ๆ เลยขอรับ



Rin จาก Rin  202.12.118.36  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 09:30   


คำตอบที่ 7
       จะดูภาพเคลื่อนไหวที่ทีวี ส่วนภาพนิ่งขอดูในนี้ครับ



จาก pajeromans  58.8.23.14  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 10:07   


คำตอบที่ 8
      

แจ้งว่าที่นั่งของสุภัทราราคา 500 เป็นเก้าอี้นั่งบริเวณท่าเรือด่วนครับ การตั้งกล้องอาจจะโดนคนที่นั่งแถวหลังปาหัวด้วยกระป๋องน้ำได้ ที่บริเวณบ้านริมน้ำให้เฉพาะ VIP และแขกของตระกูลเท่านั้น ผมเลยไม่จองที่นั่ง


ที่ริมน้ำ รพ.ศิริราช ผมไปดูมาแล้วต้องถ่ายลอดรั้วค่าตั๋วถูกมากแต่ไม่สะดวกเลย วันซ้อมมีขาตั้งกล้องซุกในรูรั้วเป็นแถวน่าจะต้องไปจองรูกันตั้งแต่บ่าย ไม่สะดวกอีกเหมือนกัน


ร้านอาหารแถวนั้นขายตั๋วโต๊ะริมน้ำราคา 3500บาทไม่รวมอาหาร ผมว่าเอาเงินไปซื้อบัตรดูดนตรีคลาสสิกดีๆจะคุ้มกว่า


เริ่มหนทางตัน ไม่รู้ว่าจะหาที่ตั้งกล้องได้ที่ไหนแล้วครับ


von Richthofen on tour



Ruj จาก Ruj  124.121.111.54  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 12:14   


คำตอบที่ 9
       มิเป็นไร ขอรับ หากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาไว้ถ่าย จุดพลุก็ได้ กำลังหาสถานที่ ๆ เหมาะอยู่ ครับ (คาดว่างานนี้ อาจต้องอาศัย พี่หมีขาวครับ)...........



a_anan จาก a pct195  124.121.47.178  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 13:42   


คำตอบที่ 10
       สวนเบญจา รง. ยาสูบ ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตย์หรือที่เกาะลอยศรีราชาก็มีแข่งขันจุดพลุครับ ลองหาข้อมูลที่บอร์ดพันทิพ(โต๊ะกล้อง ครับ)



มดดำ จาก มดดำ  203.151.140.121  เสาร์, 3/6/2549 เวลา : 14:30   


คำตอบที่ 11
       ภาพถ่ายของ อ.วอน น่าจะเป็นเมื่อตอนฉลอง 200 ปีใช่ไหมครับ ตอนนั้นผมไปตั้งกล้องฝั่งบางกอกน้อยเพราะคนไม่เยอะ และตัวเรือสะท้อนกับแสงได้ภาพที่สวยงามครับ ผมก็ใช้ NIKON FE เหมือนกันครับแต่เป็น BODY สีดำครับ ไม่ได้จับมาประมาณ 4-5 ปีแล้วครับ ครั้งนี้ขอรอชมผลงานของ อ.วอนและคนอื่นๆดีกว่า โพสกันมาเยอะๆนะครับ



จาก earthwind  202.57.183.123  อาทิตย์, 4/6/2549 เวลา : 10:29   


คำตอบที่ 12
      
ท้องฟ้าคงหลัวรูปจืดๆเหมือนเมื่อ 25ปีก่อนนี้ครับ คุณ Earthwind ตอนนั้นผมตั้งกล้องที่องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติฝั่งตรงข้ามโรงเหล้าบางยี่ขันครับ

วันซ้อมใหญ่อีก 2รอบ ผมจะไปตรวจสถานที่ด้วยตัวเองอีกครั้งว่าพอจะซุกกล้องได้ที่ไหนบ้าง เพื่อนๆจะหิ้วกล้องไปกันวันซ้อมกับผมเลยดีไหมครับ ถ้าอับจนจริงๆอย่างน้อยๆก็ได้ที่ริมรั้วศิริราชกับคลองบางกอกน้อยเป็นที่สำรอง


ผมว่ารูปวันซ้อมกับวันจริงไม่น่าแตกต่างเพราะเป็นซ้อมใหญ่เหมือนจริง ผมก็จะซ้อมถ่ายเหมือนจริงเหมือนกัน


ผมอาจจะเก็บรูปขบวนเรือวันซ้อมใหญ่ แต่วันจริงไปพึ่งคุณหมีขาวเก็บพลุกับคุณa ก็เข้าท่าดีนะครับ

von Richthofen on tour



Ruj จาก Ruj   อาทิตย์, 4/6/2549 เวลา : 14:06   


คำตอบที่ 13
       รูปของคุณ Von เป็นสมัยฉลองรัตนโกสินทร์ 200 ปีครับ และผมเอาบทความมาฝากครับ

ประวัติพระราชพิธีการเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค
ยุคแรกเริ่มของกระบวนเรือ

การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่บุราณกาลมา นอกจากการเสด็จฯทางบกที่เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค” แล้ว ยังนับว่าการเสด็จฯ ทางน้ำ คือ “พยุหยาตราชลมารค” ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน

ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแรกของไทยเรา ก็ปรากฏว่า พระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลดคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมาทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏมีการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา

ยามบ้านเมืองสุขสงบว่างเว้นจากการงาน ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นที่เอกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเมื่อจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่ ดังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่มาก จัดออกเป็น ๔ สาย และริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยลำ ระหว่างการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคมจนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ “กาพย์เห่เรือ” ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็กลายเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนเท่าทุกวันนี้
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองในรัชสมัยนั้นจึงเจริญรุ่งเรืองมิใช่น้อย และเนื่องด้วยพระองค์มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองละโว้หรือลพบุรีให็เป็นราชธานีรองจึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นล่องตามแม่น้ำป่าสักอยู่เป็นเนืองนิจ และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯให้จัดกระบวนเรือหลงงออกมารับคณะราชฑูต และแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองลพบุรี ตามบันทึกของนิโคลาส แชว์แวส์ ราชฑูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ได้บรรยายไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า

“ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน…”

ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชฑูตเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิด ซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่ง คือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม” ในตอนหนึ่งเล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า

“…มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนายมาในเรือทั้งสองลำเพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่งและไม่มีเรือลำใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวงแลเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น”

บาทหลวงตาชาร์ดยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการในวันที่เดินทางออกจากรุงศรีอยุธยาไปยังลพบุรีอีกว่า

“ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามืดมาคอยชมขบวนยาตราอันมโหฬารนี้อยู่”
เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์


ก่อนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์อันมีราชธานีอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่มีนามว่า “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบันนี้ พม่าได้เผาผลาญทำลายกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเรือรบโบราณและเรือพระราชพิธีที่งดงามไปแทบหมดสิ้น หลังจากนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้ ก็ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่ใช้ในการรบพุ่ง เพราะรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม

เมื่อปฐมบรบราชวงศ์จักรี คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่อีก ๖๗ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซ ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาสีรังทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือแตงโม และเรืออีเหลือง เป็นต้น

ในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก คือ รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้าง ๒ ลำ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง ๒๔ ลำ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง ๗ ลำ รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเพียงลำเดียว และในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างอีก ๒ ลำ จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นอีกเลย เรือที่สำคัญๆ และตกทอดมาถึงปัจจุบันอันได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกครั้งในรัชกาลที่ ๖ เรือเอนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๖

เรือพระราชพิธีในรัชกาลก่อนๆ คงตกทอดมาถึงรัชกาลปัจจุบันทั้งสิ้น แต่การเสด็จฯกระบวนพยุหยาตราชลมารคมิได้มีบ่อยครั้งนัก เนื่องจากเมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา อู่เรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นมาจึงมีการซ่อมแซมเรือ และโอนเรือพระราชพิธีจำนวน ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธี ปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือดั้ง เรือตำรวจ เรือแซง กองทัพเรือคงเก็บรักษาไว้

สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในรัชกาลปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นการเสด็จฯ ไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม นอกจากนั้น ก็จะเป็นการเสด็จในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น เสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อเป็นการเลียบพระนคร กระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ การเสด็จฯ พยุหยาตราชลมารค ทอดผ้าพระกฐิณ ณ วัดอรุณราชวราราม พ.ศ. ๒๕๑๐, พ.ศ. ๒๕๓๐ และในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕



จาก toni_pajero  58.147.37.173  อาทิตย์, 4/6/2549 เวลา : 20:22   


คำตอบที่ 14
      



เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  จันทร์, 5/6/2549 เวลา : 07:17   


คำตอบที่ 15
       เมื่อวันซ้อมใหญ่วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาเห็นมีคนไปตั้งกล้องบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าน่าจะได้วิวสวยกว่าที่อื่น ๆ หรือถ้ากลัวติดรั้วของ ร.พ.ศิริราช ก็เห็นมีคนปีนขึ้นไปนั่งบนรั้ว ร.พ. เพื่อเก็บภาพกัน แต่ต้องมาเร็วหน่อยจะได้หาที่ได้เหมาะ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย แต่ไม่มีอาหารให้ทานเท่านั้น กินบรรยากาศแล้วกัน แต่ไม่ทราบว่ามีการจุดพลุวันไหนบ้างเท่านั้น อยากทราบเหมือนกันค่ะ ถ้าจะมา ร.พ.ศิริราชวันนี้ก็มาเร็ว ๆ หน่อยนะ ยินดีต้อนรับ



จาก YCT  202.28.180.201  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 09:06   


คำตอบที่ 16
       แบบว่าเอามายั่วต่อมความอยากก่อนหนีไปเที่ยวลาว





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:47   


คำตอบที่ 17
       พอดีมีเวลา แล้วก็อยู่ไกล้ด้วย ห้ามอิจฉานะครับ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:48   


คำตอบที่ 18
       รีบหาทำเลกันได้เลยนะครับ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:50   


คำตอบที่ 19
       ฝนตกทำให้อากาศมัวไปหน่อยนึงครับ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:51   


คำตอบที่ 20
       มัวจริงๆ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:54   


คำตอบที่ 21
       ฝนเริ่มซา ฟ้าเริ่มใส





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 18:55   


คำตอบที่ 22
       ใครมีเวลาก็มาหามุมถ่ายภาพแล้วกันนะครับ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 19:00   


คำตอบที่ 23
       รูปสุดท้ายครับ เดี๋ยวกลับไปแพ็คกระเป๋าก่อนนะครับ





เจ้าหมีขาว 212 จาก เจ้าหมีขาว PCT_212  61.19.54.130  อังคาร, 6/6/2549 เวลา : 19:02   


คำตอบที่ 24
       "กาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี"
ท่วงทำนองความงดงามแห่งภาษาไทย

บทที่ 1
สรรเสริญพระบารมี

ยอกรเหนือเกศก้ม กราบยุคล
แทบบาทองค์ภูมิพล ผ่านฟ้า
หกสิบวัสสานุสนธิ์ เสวยราชย์
เชิญเทพอวยชเยศหล้า โลกพร้องพรถวาย

ยอกรขึ้นเหนือเกศ กราบบทเรศองค์ภูมิพล
หกสิบวัสสาดล เป็นมงคลครองแผ่นดิน
เดชะพระบารมี จำเจริญศรีจำเริญสิน
เย็นจิตอยู่อาจิณ ทุกธานินทร์เทิดพระนาม
คือแสงทิพย์ที่ส่องไทย คือสายใยแห่งทวยสยาม
ยิ่งยาววันยิ่งแวววาม ยิ่งยาวยามยิ่งร่มเย็น
หัตถ์ทิพย์แห่งท่านไท้ กำจัดไข้กำจัดเข็ญ
ถอนทุกข์ขุกลำเค็ญ เย็นทั่วหน้ามาทุกฉนำ
แผ่นดินที่ทรงครอง แผ่นดินทองแผ่นดินธรรม
คราวเข็ญเข้าครอบงำ ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน
เหน็ดเหนื่อยนั้นหนักนัก ทรงงานหนักอเนกอนันต์
วักพักเพียงสักวัน ก็แสนน้อยดูนานเกิน
วังทิพย์คือท้องทุ่ง ม่านงานรุ้งคือเขาเขิน
ร้อนหนาวในราวเนิน มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์
ย่างพระบาทที่ยาตรา ยาวรอบหล้าฟ้าสากล
พระเสโทที่ถั่งท้น ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย
ทรงธรรมโดย“ทรงทำ” พระทรงนำอเนกนัย
ยึดรอยยุคลไคล ย่อมคว้าชัยให้โลกชม
ยามภัยพิบัติเบียน จำจนเจียนจวนจ่อมจม
ทรงเสกชีวิตตรม ให้กลับฟื้นขึ้นยืนตน
ถิ่นโหยระหายหิว ที่เหือดแห้งทุกแห่งหน
ย่อมชื้นด้วยหยาดชล ที่ทรงชุบให้ฉ่ำทรวง
คือธารเมตตาธรรม อันลึกล้ำทะเลหลวง
เอิบอาบกำซาบปวง ทุกลมปราณด้วยปรานี
แผ่ผายข่ายการุณย์ เบิกบัวบุญพระบารมี
คุ้มครองป้องธาตรี ให้บานชื่นรื่นเริงชนม์
ทศธรรมล้ำสถิต ทศทิศไร้ทุกข์ทน
พระเดชอดุลย์ดล ทั้งสากลจึงเกริกไกร
ข้าเจ้าเหล่านาวิน ข้าแผ่นดินสำนึกใน
น้อมธรรมที่นำไทย ถวายชัยธิราชา
ศีลสัตย์คือสายสร้อย บรรจงร้อยแทนมาลา
บุญผองบำเพ็ญมา น้อมบูชาเป็นราชพลี
เดชะพระไตรรัตน์ พระปรมัตถบารมี
เทวาทุกราศี อัญเชิญช่วยอวยชัยถวาย
ขอจงทรงพระเจริญ พระชนม์เกินร้อยปีปลาย
อาพาธพินาศหาย ภัยพาลพ่ายพระภูมิพล
จงพระเสวยสวัสดิ์ พูนพิพัฒน์ผองศุภผล
พระหฤทัยไกลกังวล ทุกทิพาราตรีกาล
พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ
ดำรงรัชย์ชัชวาล ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ

บทที่ 2
ชมเรือกระบวน

ลอยลำงามสง่าแม้น มณีสวรรค์
หยาดโพยมเพียงหยัน ยั่วฟ้า
สายชลชุ่มฉ่ำฉัน เฉกทิพย์ธารฤๅ
ไหลหลั่งโลมแหล่งหล้า หล่อเลี้ยงแรงเกษม

เรือเอยเรือพระที่นั่ง พิศสะพรั่งกลางสายชล
ลอบลำงามสง่ายล หยาดจากฟ้ามาโลมดิน
สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
นารายณ์ทรงสุบรรณบิน ลินลาศฟ้าอ่าอวดองค์
อนันตนาคราช งามผุดผาดวาดแวววง
อเนกชาติภุชงค์ ลงเล่นน้ำงามเลิศลอย
กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย
เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์
อสุรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสุรปักษิน
พายยกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน
เรือแซงแข่งเรือดั้ง พร้อมสะพรั่งกลางสาบชล
เรือชัยไฉไลล้น ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา
ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย แลลวดลายล้วนเลขา
รูปสัตว์หยัดกายา พาโผนเผ่นเป็นทิวแถว
เรือน้อยลอยน้ำไหล ล้อมเรือใหญ่ไหววับแวว
พร่างพราวราวเพชรแพรว พายพลิ้วกวักพรักพร้อมพาย
งามริ้วทิวทางแถว ธงเพริศแพร้วแผ่วปลิวปลาย
งามเรือเหลือลวดลาย คล้ายเทพทิพย์หยิบลายผจง
อาภรณ์ผ้าแพรพรรณ สวยสีสรรสวมทรวดทรง
พลพายพายเรือลง ทิวธงถ้วนล้วนเฉิดฉัน
เสนาะศัพท์ขับเพลงเห่ เสียงเสน่ห์น้ำสนั่น
เพลงทิพย์ไป่เทียมทัน กลั่นจากทรวงปวงนาวี
ศิลปกรรมล้ำเลิศเหลือ ลวดลายเรือล้วนโสภี
ท่อนไม้ไร้ชีวี มีชีวิตคิดเหมือนเป็น
นาวาสถาปัตย์ ช่างเชี่ยวชัดชาญเชิงเช่น
ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย
สมบูรณ์สมบัติชาติ ควรประกาศเกียรติเกริกไกร
ฝีมือลือเลิศใคร ไม่เทียบเทียมเยี่ยมนิยม
ควรสืบควรรักษา ควรคู่ค่าควรเมืองสม
ควรเชิดควรชื่นชม ควรภูมิใจไทยทั้งมวล
แม้นสิ้นจากถิ่นไทย ห่อนเห็นใครมาคู่ควร
แบบบทหมดกระบวน ล้วนเลิศแล้วแพรวพริ้งพราย
ขวัญเอยเป็นขวัญเนตร ศิลป์พิเศษยังสืบสาย
ลูกหลานวานอย่าวาย อย่าดูดายศรีแผ่นดิน
ฝากโลกให้รู้จัก ฝากศรีศักดิ์วิญญาณศิลป์
ฝากชื่อลือธรณินทร์ ฝากศิลป์ซับไว้กับทรวง
เห่เอยเห่เรือสวรรค์ เพลงคนธรรพ์ลั่นลือสรวง
ฝากหาวเดือนดาวดวง อย่าลับล่วงอยู่นิรันดร์เทอญ

บทที่ 3
ชมเมือง

สยามเอยอุโฆษครื้น คุณขจร
สุขสถิตสถาพร ผ่านฟ้า
ไตรรงค์ลิ่วลมสลอน อวดโลก
ตราบเมื่อนี้เมื่อหน้า เมื่อโน้นนิรันดร์เกษม

สยามเอย สยามรัฐ งามร่มฉัตรทัดเทียมโพยม
กิตติศัพท์ขับประโคม โครมครืนครั่งลั่นหล้าคง
สุโขทัยไกลสุด ถึงอยุธยายง
ธนบุรีลอยฟ้าลง ทรงศักดิ์ฟื้นคืนคุณขจร
รัตนโกสินทร์ศิลป์ สืบระบืออันบวร
แม่นแม้นแดนอมร ถอนจากฟ้ามาเมืองดิน
เจ้าเอย เจ้าพระยา ถั่งธารามาเรื่อยริน
ทวยไทยได้อาบกิน ลินลาศลุ่มขุมกำลัง
งามเอย งามระยับ แวววาววับวัดเวียงวัง
ย่ำค่ำย่ำระฆัง วังเวงหวานซ่านซึ้งเสียง
เจดีย์ศรีสูงเหยียด เสียดยอดท้าฟ้ารายเรียง
ปรางค์ยอดทอดเงาเคียง เลี้ยงตาเมืองเรื้องเรืองรมย์
พืชพันธุ์ธัญญาผล เลี้ยงชีพชนดลอุดม
นาสวนชวนชื่นชม ร่มรื่นรมย์ร่มพฤษ์ไพร
เจ้าเอย เจ้าพระยา ถั่งธารามานานไกล
เอิบอาบกำซาบใจ หล่อเลี้ยงไทยแผ่นดินทอง
รวงทองเหลืองท้องทุ่ง แดดทอรุ้งเหนือเขื่อนคลอง
ข้าวปลามาเนืองนอง เรือขึ้นล่องล้วนเริงแรง
วัดวาทุกอาวาส พุทธศาสน์ธรรมทอแสง
น้ำใจจึงไหลแรง ไม่เคยแล้งจากใจไทย
พิสุทธิ์พุทธศาสน์ ธรรมประกาศมานานไกล
ถึงถิ่นแผ่นดินไทย ประจักษ์ใจว่าสัจจริง
ทรงภพอุปถัมภก ทรงยอยกเป็นยอดยิ่ง
เผ่าไทยได้พักพิง จึงผุดผ่องผองภัยพาล
ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เฉกร่มฉัตรรุ่งเรืองฉาน
เป็นถิ่นแห่งศีลทาน ทุกหย่อมย่านจึงร่มเย็น
ดินแดนแห่งกาสาว์ คือสมญาโลกย่อมเห็น
ศีลธรรมที่บำเพ็ญ ช่วยดับเข็ญทุกคราวครัน
บัวบุญจึงเบ่งบาน อยู่กลางธารหทัยธรรม์
รอยยิ้มย่อมยืนยัน ถึงน้ำใจและไมตรี
นบไหว้พระไตรรัตน์ บำรุงศาสน์บำรุงศรี
วิหารลานเจดีย์ ล้วนรุ่งโรจน์โบสถ์ศาลา
พระแก้วอยู่เหนือเกล้า ทุกค่ำเช้าเฝ้าบูชา
ศีลทานสารศรัทธา เปรมปรีดาด้วยความดี
ราชันขวัญสยาม ปิ่นเพชรงามปักธานี
ร่มพระบารมี ศรีไผทฉัตรชัยชน
ไตรรงค์ธงชัยโชค ลอยอวดโลกโบกลมบน
ขวัญฟ้าขวัญตายล ล้นเลิศหลักศักดิ์ศรีสยาม
เมื่อนี้ตราบเมื่อหน้า คงคู่หล้ากล้าเกียรติงาม
ใครบุกรุกเขตคาม ตามหาญหักรักษ์แผ่นดิน
ฟ้าเอย ฟ้าสยาม งามกว่าฟ้าทุกธานินทร์
เพลงสยามทุกยามยิน วิญญาณปลื้มดื่มด่ำใจ
ห้ารอบเสวยราชย์ ประชาชาติถวายชัย
ร้อยรักภักดีไท้ เทิดทูนไว้จักรีวงศ์
เทพไทถวายทิพย์ พระเลิศลิบลุประสงค์
เกษมสุขทุกพระองค์ ขอจงทรงพระเจริญเทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย : ผู้ประพันธ์




จาก toni_pajero  58.147.13.36  เสาร์, 10/6/2549 เวลา : 11:27   


      

Since 22, Feb 2001 hit counter View My Stats  Truehits.net      วัน<%=WeekdayName(Weekday(Date))%>,<%=formatdatetime(date(),1)%> (Online <%=Application("OnlineUsers")%> คน)
                                       

เพื่อลดภาระของ ฐานข้อมูล ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เพราะเวบเปิดมากว่า 10 ปี
จึงทำให้เวบช้าลงมาก ทีมงานจึงขออนุญาต แปลงข้อมูลจาก ฐานข้อมูลหลักเป็น SHTML File
เพื่อลดภาระการทำงานของ ฐานข้อมูลหลักครับ การแปลงฐานข้อมูลนี้ จะทำให้กระทู้นี้
ไม่สามารถตอบคำถามได้อีกต่อไปครับ แต่จะสามารถค้นหาชื่อกระทู้ และ Link ตรงมาที่หน้านี้ได้เหมือนเดิมครับ

ด้วยความนับถืออย่างสูง ทีมงาน Weekendhobby.com


Convert on : 25/8/2554 21:23:55

Error processing SSI file