คำตอบที่ 60
วัตถุประสงค์
- เพื่อสืบสานงานช่างศิลป์ไทย และเผยแพร่ความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
- เพื่อจัดเป็นสถานที่ที่เก็บรักษาพระพุทธรูปและศิลปวัตถุให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้รับการดูแลในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปลอดภัย ด้วยความมุ่งหวังไม่ให้โบราณวัตถุเหล่านี้ออกนอกประเทศ
- ด้วยความประสงค์ที่จะให้สถานที่ที่เก็บรักษาเหมาะสมกับพระพุทธรูปและศิลปวัตถุ จึงได้สร้างสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ตามคติโลกทัศน์ของคนตะวันออก
การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณริเริ่มมาจากความคิดของ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ซึ่งตัวช้างเอราวัณทำมาจากแผ่นทองแดงที่มีความหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร แต่หลากหลายขนาด โดยการนำแต่ละแผ่นมาเผาไฟแล้วนำมาเคาะขึ้นรูปด้วยมือ แล้วนำมาเชื่อมต่อประกอบกันกับโครงสร้างเหล็กที่ขึ้นโครงไว้ โดยใช้ช่างเคาะประมาณ 270 คน เป็นประติมากรรมช้างสามเศียรลอยตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ศิลปะหลากหลายรูปแบบมาตกแต่งผสมผสานกันภายในตัวอาคารให้สวยงามตามคติความเชื่อตามหลักไตรภูมิ และการเข้าชมภายในตัวอาคารนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ชั้นที่ 1 ชั้นบาดาล
เป็นชั้นที่ใช้เก็บโบราณวัตถุ เช่น เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ถ้วยน้ำชาจีน ปั้นชาจีน สังคโลก หยก ฯลฯ ซึ่งก็จะมีหลายสมัย เป็นของสะสมของคุณเล็ก วิริยะพันธ์ และปัจจุบันนี้โบราณวัตถุทุกชิ้นงานอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธ์ และในส่วนของบริเวณตรงกลางห้องมีมนุษยนาคนั่งอยู่เพื่อจัดแสดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ดูแลนครบาดาล
ชั้นที่ 2 ชั้นโลกมนุษย์
เป็นชั้นของงานศิลปะ ซึ่งก็จะมีทั้งศิลปะ ไทย จีน ยุโรป เขมร ฯลฯ
- กระจกสี ซึ่งเป็นผลงานงานของศิลปินชาวเยอรมันนี จะประกอบด้วย แผนที่โลกโบราณ บริเวณรอบๆ เป็นภาพจักราศี 12 ราศี และรูปหน้าอารมณ์ของคนบนโลก ที่มีความแตกต่างกัน เปรียบกระจกสีนี้เหมือนกับหลังคาโลก
- งานสลักดุนแผ่นดีบุก เสาทั้ง 4 ต้นในตัวอาคารชั้นนี้จะใช้แผ่นดีบุกดุนลายกล่าวถึงศาสนาหลักที่ค้ำจุนโลก ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ( เสาหน้าด้านซ้าย ) เสาศาสนาคริสต์ ( เสาหน้าด้านขวา ) เสาศาสนาฮินดู ( เสาหลังด้านซ้าย ) และ เสาศาสนาพุทธนิกายมหายาน ( เสาหลังด้านขวา ) เกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม แต่ละต้นใช้เวลาทำประมาณ 3 ปี ช่างจากนครศรีธรรมราช
- งานปูนปั้นประดับเบญจรงค์ เป็นส่วนของงานที่นำเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หลายขนาดตกแต่งลวดลายตามบันไดทั้งสองสี ซุ้มเก๋งจีน และภายในตัวอาคาร ฝีมือช่างจังหวัดเพชรบุรี เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี บันไดสีขาวทางขึ้น ( บันไดเงิน ) บันไดสีชมพูทางลง ( บันไดทอง ) ภายในซุ้มเก๋งจีนตรงกลางระหว่างบันไดประดิษฐานด้ยองค์เจ้าแม่กวนอิมเป็นหินแกะสลัก บนยอดเก๋งจีนคือพระเกตุ สัญลักษณ์ผู้ดูแลโลกมนุษย์
ชั้นที่ 3 ชั้นสวรรค์ (ภายในท้องช้าง)
เป็นชั้นที่ใช้เก็บพระพุทธรูป องค์เล็กด้านบนคือพระพุทธสิหิงค์ปางสมาธิ องค์ใหญ่ด้านหน้าคือพระพุทธรูปปางลีลา ส่วนในตู้กระจกด้านซ้ายและขวาเป็นองค์เก่าแก่ตั้งแต่ศิลปะสมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในส่วนบนเพดานจะเป็นภาพวาดสีฝุ่นเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลซึ่งเป็นฝีมือของศิลปินชาวเยอรมัน ( Mr. Jacob Schwarzkopf )
สร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเมื่อ พ.ศ. 2537 ( ค.ศ. 1994 )
เปิดให้เข้าชม พ.ศ. 2546 ( ค.ศ. 2003 )
ความสูงทั้งตัวช้างและอาคาร 43.60 เมตร (ประมาณตึก 14 ชั้น )
ความกว้าง 12 เมตร
ความยาว 39 เมตร
น้ำหนักทั้งตัวและเศียรช้าง 250 ตัน ( 250,000 กิโลกรัม )
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท
เด็กอายุ 6-15 ปี 50 บาท
เปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00 - 18.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-3733135 - 6
E-maill erawan_museum@yahoo.com
guide_erawan@hotmail.com