คำตอบที่ 41
โครงการประกวดภาพถ่าย
หัวข้อ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม หนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ
--------------------------------------------------------------------------------
หลักการและเหตุผล
โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในการแก้ไขปัญหาจราจร อันเนื่องมาจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งเข้าตัวเมืองทำให้เกิดปัญหาการจราจร จึงได้มีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมรองรับรถบรรทุกที่วิ่งระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการกับบริเวณท่าเรือคลองเตย โดยไม่ต้องวิ่งเข้าไปยังตัวเมืองที่มีการจราจรคับคั่งอยู่แล้ว
จุดเด่นของโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม คือ สะพานขึงด้วยสายเคเบิ้ลสองระนาบ แบบสมมาตร จำนวน 2 สะพานต่อเนื่องกัน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือบริเวณถนนพระรามที่ 3 และด้านทิศใต้บริเวณปลายถนนปู่เจ้าสมิงพราย ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างสองสะพาน มีทางแยกต่างระดับส่วนกลาง สูงจากพื้นดินประมาณ 45 เมตร โดยเป็นจุดศูนย์กลางกระจายรถไปสู่ 3 ทิศทาง เปรียบเสมือน วงแหวนและหัวแหวนที่เปล่งรัศมีพร่างพรายไปทั่วทุกสารทิศ รูปแบบเสาสูงของสะพานจึงออกแบบเป็นเหลี่ยมเพชรรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โดยส่วนยอดของเสาแสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของยอดเจดีย์หรือยอดชฎาแสดงความพิสุทธิ์สูงค่า เปรียบประดุจพระธำมรงค์เพชรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระเมตตาแก่ทวยราษฎร์ของพระองค์
ดังนั้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ก่อสร้างโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยประโยชน์มหาศาล และเก็บรวบรวมภาพอันเป็นประวัติศาสตร์ ของคนไทยไว้ กระทรวงคมนาคมจึงจัดโครงการประกวดภาพถ่าย หัวข้อ "ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม หนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ" ขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเฉลิมฉลองและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
2. เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านวิศวกรรมขนส่งและจราจร ที่ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
3. เพื่อถ่ายทอดความงดงามของโครงการวงแหวนอุตสาหกรรมในมุมมองที่หลากหลายของช่างภาพ และนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ในบริเวณโครงการฯ
4. เพื่อส่งเสริมศิลปะการถ่ายภาพให้เป็นที่แพร่หลาย
5. เพื่อนำภาพที่ชนะการประกวดไปเผยแพร่ในสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะของภาพที่กำหนด
1. เป็นภาพถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ในมุมมองต่าง ๆ ที่สื่อให้เห็นถึงความสง่างาม หรือ ประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่ง
2.เป็นภาพกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการเดินเทิดพระเกียรติฯ "60 ปี เฉลิมฉัตรกษัตรา"ที่จัด ขึ้นบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
คุณสมบัติของผู้ส่งผลงาน
บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดอายุ หรือช่างภาพมืออาชีพ / สมัครเล่น
กติกาการประกวด
1. ไม่จำกัดจำนวนภาพที่ส่งเข้าประกวด และไม่จำกัดประเภทกล้องที่ใช้
2. ผลงานที่ส่ง เป็นภาพขยาย ภาพสี หรือ ขาวดำ ขนาดภาพ 8 x 10 นิ้ว
3. ภาพถ่ายประเภทฟิล์ม Negative และ ฟิล์ม Slide ส่งภาพถ่ายพร้อมแนบฟิล์ม
4. ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ส่งภาพถ่าย พร้อม File เป็นแผ่น CDภาพ
5. ที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีการตกแต่งด้วยเทคนิคพิเศษใด ๆ จนผิดจากความเป็นจริง
6. ภาพที่ส่งเข้าประกวดไม่เคยได้รับรางวัลจากที่ใดมาก่อน
7. เขียน ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ที่ด้านหลังภาพทุกภาพ
8. ภาพถ่ายทุกภาพที่ส่งเข้าประกวด ถือเป็นสิทธิ์ของกระทรวงคนนาคม
9. ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีสิทธิ์ส่งภาพเข้าประกวด
10. ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นข้อยุติ ไม่รับการอุทธรณ์ใด ๆ
11. ผู้ส่งภาพเข้าประกวด จะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และเข้าพื้นที่โครงการฯ เพื่อถ่ายภาพตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ หากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ โครงการฯ จะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
การส่งภาพเข้าประกวด
ส่งใบสมัครพร้อมผลงานด้วยตนเอง หรือ ทางไปรษณีย์มายัง กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม เลขที่ 38 ถนนราชดำเนินนอก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 หมายเลขโทรศัพท์ 02-2829559, 02-2829476, 02-2833138 โดยสามารถ download ใบสมัครได้จาก www.dor.go.th หรือ www.mot.go.th
ระยะเวลาประกวด
1. เปิดให้เข้าพื้นที่เพื่อบันทึกภาพ* 10 - 12 กันยายน 2549
2. ส่งผลงาน 13-15 กันยายน 2549
3. ตัดสินผลงาน 22 กันยายน 2549
4. ประกาศผลและมอบรางวัล 25 กันยายน 2549
*ช่วงระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2549 เวลา 18.00-24.00 น. จะเปิดไฟประดับสะพานเพื่อการบันทึกภาพประกวด
รางวัล
รางวัลชนะเลิศ โล่ประทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเงินสด 100,000 บาท
รองชนะเลิศลำดับที่ 1 เกียรติบัตร และเงินสด 50,000 บาท
รองชนะเลิศลำดับที่ 2 เกียรติบัตร และเงินสด 30,000 บาท
รางวัลชมเชย 5 รางวัล เกียรติบัตร และเงินสด 10,000 บาท
คณะกรรมการตัดสิน
1. นายวันชัย ศารทูลทัต ปรึกษาคณะกรรมการ
ปลัดกระทรวงคมนาคม
2. นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ประธานคณะกรรมการฯ
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท
3. นายสงคราม โพธิ์วิไล กรรมการ
กรรมการสมาพันธ์สมาคมการถ่ายภาพแห่งประเทศไทย
4. นายดำรง จุลถาวรทรัพย์ กรรมการ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมถ่ายภาพสยามคัลเล่อร์สไลด์
5. นายวิทยา รัตนพรสุข กรรมการ
นายกสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเล่อร์สไลด์
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ กรรมการ
คณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
7. ผู้แทนอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
8. นายทวีชัย เจาวัฒนา กรรมการ
หัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์ THE NATION
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนทุกหมู่เหล่าตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพอันสูงยิ่งในด้านวิศวกรรมขนส่งและการจราจร
2. ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน มีความภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสสัมผัสความโดดเด่นงดงามของสะพานขึงสายเคเบิ้ลสองระนาบ และเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความงดงามสู่สายตาประชาชน
3. รวมรวบภาพที่งดงามของวงแหวนอุตสาหกรรมไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของโครงการ พร้อมนำไปใช้ในกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง
--------------------------------------------------------------------------------
ข้อแนะนำสำหรับการบันทึกภาพบนสะพาน
1) ไม่ให้ใช้ยานพาหนะอื่นใดนอกจากการเดินเท้าหรือจักรยานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
2) รักษาทรัพย์สินของโครงการ ระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายกับ สะพานและส่วนประกอบ ไม่ขูด ขีด เขียน พ่นสี ทำเครื่องหมายใดๆ ที่โครงสร้างสะพานและส่วนประกอบ
3) ไม่ให้นำอาหารและเครื่องดื่มและสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบริเวณเส้นทาง
4) รักษาความสะอาดให้กับโครงการ ไม่ทิ้งสิ่งของหรือขยะลงบนพื้นสะพานและไม่ทิ้งสิ่งของหรือขยะลงใต้สะพาน
5) ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ไม่ควรสวมรองเท้าแตะหรือส้นสูง ไม่ปีนป่ายราวกันตก ระมัดระวังตัวเองจากการตกจากที่สูง
6) เนื่องจากบนสะพานมีลมแรง จึงต้องระมัดระวังไม่ให้วัสดุสิ่งของปลิวกระจัดกระจาย
จากเว็บนี้ครับ
http://www.news.mot.go.th/motc/Portal/winner/pic.htm