คำตอบที่ 80
พระธาตุบังพวน
ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด หนองคาย
สถานที่ตั้ง เลขที่ ๑๗๒ บ้านพระธาตุบังพวน หมู่ที่ ๓ ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ประวัติความเป็นมา
เจดีย์พระธาตุบังพวนสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๐๐ ดังปรากฏในคัมภีร์ใบลานชื่ออุรังคธาตุหรืออุรังคนิทานว่ามีพระอรหันต์ ๓ รูป คือ พระรักขิตเถระ พระธรรมรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยศิษย์ซึ่งเป็นพระอรหันต์อีก ๕ รูป เดินทางไปประเทศอินเดียอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวน ๔๕ พระองค์ มาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ ๔ แห่ง คือ
ที่พระเจดีย์พระธาตุบังพวน ๒๙ องค์
ที่พระธาตุกลางน้ำ เมืองหล้าหนองคาย ๙ องค์
ที่พระธาตุโพนจิกเวียงงัว (ธาตุบุ๋) ๓ องค์ และ
ที่พระธาตุหอผ้าหอแพร ๔ องค์
ในปีพุทธศักราช ๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวงพระบางมาสร้างใหม่ที่เมืองเวียงจันทน์ ได้มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยได้สร้างเสริม พระธาตุบังพวนให้ใหญ่โตขึ้น โดยก่ออิฐโลมต่อออกไปอีก และได้ก่อสร้างกำแพงรอบวัด ซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศ ในบริเวณลานพระธาตุ สร้างอุโบสถ วิหารพระประธาน และพระนาคปรก รวมทั้งศิลาจารึกไว้ที่ข้างพระประธานในวิหาร ทรงสร้างสระน้ำ และบ่อน้ำในบริเวณวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๑๐ มีเขตวิสุงคามสีมาขนาดกว้าง ๔.๒๐ เมตร ยาว ๑๒.๖๐ เมตร
วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา เจดีย์พระธาตุบังพวนได้พังทลายลง เนื่องจากเกิดพายุและฝนตกหนักรัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหม่ในเวลาต่อมา สิ้นงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาส มหาเถระ) เสด็จเป็นองค์ประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๐และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการยกฉัตรขึ้นสู่ยอดองค์พระธาตุบังพวน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
ปัจจุบันทุกวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปี ประชาชนในตำบลพระธาตุบังพวนจำนวน ๑๒ หมู่บ้าน จะร่วมใจกันจัดงานเทศกาลนมัสการพระธาตุบังพวน ๕ วัน ๕ คืน พร้อมกับเทศกาลนมัสการองค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือก ๑ กระบุง หรือ ๑๒ กิโลกรัม ไปถวายเพื่อเป็นการบูชาองค์พระธาตุ เรียกว่า "ข้าวพุทธทาส" เพื่อเป็นการอธิษฐานขอศีลขอพรจากพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าได้โปรดให้ความคุ้มครองปลอดภัยและอยู่ดีมีสุขในปีต่อ ๆ ไป
ลักษณะของเจดีย์พระธาตุบังพวน
สภาพของเจดีย์พระธาตุบังพวน เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม สร้างด้วยอิฐเผาและศิลาแลงฐานสูงจากผิวดิน ๑ เมตร มีฐานทักษิณ ๓ ชั้น รูปบัวคว่ำ ๒ ชั้น ต่อด้วยรูปปรางค์สี่เหลี่ยม บัวปากระฆังคว่ำ บัวสายรัด ๓ ชั้นรับดวงปลี บัวตูม และตั้งฉัตร ๕ ชั้น เนื้อทองแดงปิดทองคำ ส่วนฐานล่างแต่ละด้านกว้าง ๑๗.๒๐ เมตร ขนาดสูงสุดถึงยอดฉัตร ๓๔.๒๕ เมตร รูปทรงศิลปะท้องถิ่น ลักษณะจากเชิงบัวคว่ำรับองค์ปรางค์ ซุ้มชั้นบนเหมือนกับพระธาตุพนม จากบัวคว่ำลงมาถึงฐาน มีลักษณะเหมือนพระธาตุหลวงที่นครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หลักฐานที่พบ
นอกจากเจดีย์พระธาตุบังพวน ๑ องค์ พระปรางค์ ๓ องค์ เจดีย์เล็ก ๗ องค์ พระพุทธรูปใหญ่ ๑ องค์ พระนาคปรก ๑ องค์ ศิลาจารึก ๑ หลัก แล้วยังพบ "สัตตมหาสถาน" คือ สถานที่มีความสำคัญ ๗ แห่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์ เพื่อเสวยวิมุตติสุข ๗ แห่ง ๆ ละ ๗ วัน ซึ่งจำลองมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ดังกล่าวนี้พบในประเทศไทยเพียง ๒ แห่ง คือ ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ และที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่วัดพระธาตุบังพวนแห่งนี้สัตตมหาสถาน ครบทั้ง ๗ แห่ง ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือ
๑. โพธิบัลลังก์ หมายถึง สถานที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ตรงกลางหมู่เจดีย์ ก่อด้วยอิฐ เป็นทรงกลม เหมือนรูปโอคว่ำ สูง ๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร
๒. อชปาลนิโครธเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์รูป ๔ เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐถือปูน ตอนบนเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิราบ ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลังก์
๓. มุจจลินทเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโพธิบัลลังก์ เป็นวิหารมุงหลังคาไม่มีฝากั้น ภายในมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ๙ เศียร ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลังก์
๔. ราชายตนเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยมเช่นเดียวกับอชปาลนิโครธเจดีย์ ตอนบนมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิราบ ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลังก์
๕. รัตนเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโพธิบัลลังก์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ไม้สิบสองก่อด้วยอิฐถือปูน มีขนาดใหญ่เท่าเจดีย์องค์อื่น ตอนบนมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิราบผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลังก์
๖. อนิมิสเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยมก่อด้วยอิฐถือปูน มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์องค์อื่น ๆ
๗. รัตนจงกรมเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐถือปูน ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ก่อด้วยอิฐกว้าง ๑ เมตร ทอดยาวไปทางทิศตะวันออกเกือบจดกับอนิมิสเจดีย์ ซึ่งหมายถึงทางเสด็จจงกรมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (แก้ว อุทุมมาลา, ๒๕๓๖)
เส้นทางเข้าสู่วัดพระธาตุบังพวน
โดยเส้นทางหลวงแผ่นดินสายอำเภอท่าบ่อ-หนองคาย ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร