คำตอบที่ 23
fiogf49gjkf0d
ข่าว แอลพีจี จากเวบ http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=T0123317&issue=2331
ความว่า .....
ถังก๊าซติดรถยนต์ขาดตลาด
ด่วน!แอลพีจี.ใช้ได้อีก12วัน
ปตท.ส่งสัญญาณเตือนก๊าซแอลพีจีใช้ได้อีก12วันเท่านั้น เหตุเรือนำเข้าจากซาอุฯ มาไม่ทัน ด้านกรมธุรกิจพลังงานอนุมัตินำเข้าอีก 40,000 ตัน ส่งผลให้ปตท.แบกรับภาระเพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนถังก๊าซติดรถยนต์ขาดแคลนหนัก
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีในขณะนี้ว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคขนส่งมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น โดยจากช่วงเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 52.3 ล้านกิโลกรัมแต่เดือนเมษายน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55.5 ล้านกิโลกรัม และเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มอีก เนื่องจากประชาชนหันไปติดตั้งก๊าซแอลพีจีเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ล็อตแรกนำเข้าเมื่อเดือนเมษายน เพราะปริมาณกำลังการผลิตในประเทศที่มีอยู่ 340,000 ตันต่อเดือนไม่เพียงพอใช้
จากการประเมินสต็อกก๊าซหุงต้มที่นำเข้ามา ขณะนี้เหลืออยู่เพียงประมาณ 4,800 ตัน หรือพอใช้ได้เพียง 12 วัน นับจากวันที่ 14 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป เนื่องจากมีความต้องการใช้ประมาณ 400 ตันต่อวัน เนื่องจากปตท. เว้นการนำเข้าก๊าซหุงต้มมาเป็นเวลา 2 เดือน จากปัญหาความไม่ชัดเจนในขั้นตอนบริหารจัดการว่าภาครัฐจะหาเงินมาคืนปตท.ที่ต้องแบกรับภาระนำเข้าก๊าซหุงต้มโดยวิธีใด แต่เมื่อคณะกรรมการบริหารพลังงาน(กบ.) มีมติที่จะเก็บเงินคืนปตท.โดยปรับราคาก๊าซหุงต้มในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น
-++ปตท.แบกภาระนำเข้าเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน กรมธุรกิจพลังงาน ก็เพิ่งทำหนังสือถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ให้นำเข้าก๊าซหุงต้มในปริมาณ 40,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าแผนเดิมที่วางไว้ 13,000 ตัน เพื่อเผื่อไว้จนถึงเดือนกรกฎาคม ที่ต้องนำเข้าอีก 25,000 ตัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การจะจัดหาแหล่งซื้อก๊าซหุงต้มและเรือที่จะขนมาต้องกินระยะเวลา 4-5 วัน รวมเวลาเดินเรือจากซาอุดิอาระเบียมาถึงประเทศไทยอีกประมาณ 15 วัน ดังนั้น สต็อกก๊าซหุงต้มจากการนำเข้าครั้งก่อนจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการได้ และอาจจะส่งผลให้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2551 เกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ทราบว่ากรมธุรกิจพลังงาน ได้มอนิเตอร์สต็อกก๊าซหุงต้มอย่างใกล้ชิด โดยให้ผู้ค้าก๊าซหุงต้ม แจ้งสต็อกทุกๆ 7 วัน เพื่อให้มีใช้อย่างเพียงพอ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากปริมาณการนำเข้าก๊าซหุงต้ม 40,000 ตัน จะทำให้ปตท.ต้องแบกรับภาระการนำเข้าในล็อตนี้อีกประมาณ 830 ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้มได้ขยับขึ้นไปประมาณ 900 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อบวกค่าขนส่งอีก 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 320 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้มีส่วนต่างที่ต้องรับภาระ 630 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งหากรวมภาระจากการนำเข้าครั้งก่อน ทำให้ปตท.ต้องแบกรับภาระแล้วประมาณ 1,150 ล้านบาท
ส่วนแผนการนำเข้าก๊าซหุงต้ม ในช่วงเดือนสิงหาคม จะไม่มีการนำเข้า แต่จะไปนำเข้าในเดือนกันยายน-ตุลาคม เดือนละ 20,000 ตัน และเว้นช่วงเดือนพฤศจิกายน แล้วไปนำเข้าในช่วงเดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 อีก 20,000 ตัน เดือนกุมภาพั นธ์ และมีนาคมเดือนละ 25,000 ตัน และเดือนเมษายน 40,000 ตัน
+++ถังก๊าซฯติดรถยนต์ขาดตลาด
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจบรรดาผู้ประกอบการที่ติดตั้งถังก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ ไล่เรียงตั้งแต่ ร้านBANANA GAS SERVICE ตั้งอยู่ถ.เกษตรนวมินทร์,ร้าน HONDA HOUSE ในย่านพหลโยธิน และ ร้านGAS DRIVE ย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายกล่าวในทำนองเดียวกันว่าขณะนี้ถังแก๊สแอลพีจีติดตั้งรถยนต์ และ หม้อต้มแก๊ส ขาดตลาดถ้าต้องการติดตั้งแก๊สต้องจองคิวซึ่งบางร้านเก็บค่าใช้จ่ายในการจองคิวล่วงหน้าประมาณ 1,000-2,000 บาท
นอกจากนี้ราคาติดตั้งแก๊ซรถยนต์ระบบหัวฉีดก็มีการปรับราคาจาก 30,000 บาทปรับขึ้นเป็น 37,000 บาท และ ระบบดูด จากราคา 15,000 บาทปรับราคาขึ้นเป็น 18,000-20,000 บาท ในขณะที่ร้านติดตั้งถังแก๊สแอลพีจีในรถยนต์ระบบหัวฉีดย่านลาดพร้าว โชคชัยสี่ มีราคาตั้งแต่30,000-40,000 บาท
++++ติดวันละ5,000คันอุปกรณ์หมด
นายชัยฤทธิ์ กาญจนาเวส นายกสมาคมติดตั้งแก๊สไทย เปิดเผยว่า มีผู้ใช้รถจำนวนมาก แห่ไปติดตั้งระบบก๊าซรถยนต์เพื่อใช้แทนน้ำมัน ทำให้อู่ติดตั้งก๊าซมาตรฐานที่มีอยู่ประมาณ 1,000 แห่งไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยติดตั้งได้เพียงวันละ 800 คัน แต่มีความต้องการสูงถึงวันละ 5,000 คัน
นอกจากนี้ ยังทำให้อุปกรณ์ติดตั้งก๊าซรถยนต์แอลพีจี ไม่ว่าจะเป็นถังก๊าซ หม้อต้ม ท่อทองเหลือง เกิดการขาดแคลนอย่างหนัก และมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเก็งกำไร รอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน สถานบริการติดตั้งหลายแห่งได้ปรับราคาค่าติดตั้งแก๊สแอลพีจี จาก คันละ 35,000 บาท เพิ่มเป็น 38,000 บาท ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆที่เป็นเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง ปรับราคาขึ้นอีก 20 % ส่วนค่าถังก็ปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 1,000 บาท
"ปัจจุบัน มีรถยนต์ในไทยประมาณ 19 ล้านคัน ติดตั้งระบบก๊าซรถยนต์แล้วประมาณ 1.2 ล้านคัน เหลือที่ยังไม่ติดตั้ง 17.8 ล้านคัน เมื่อน้ำมันมีราคาแพงขึ้นจนยั้งไม่อยู่ ทุกคนก็อยากติดตั้งก๊าซแทนใช้น้ำมัน แตกต่างจากปี 2550 ที่ผ่านมา ที่มีรถมาติดตั้งก๊าซ จำนวน 500,000 ราย แต่ความต้องการที่สูงขึ้นคาดว่า ในปี 2551 จะมีผู้มาติดตั้งก๊าซรถยนต์เพิ่มเป็น 2 ล้านคัน ดังนั้นอุปกรณ์ติดตั้งระบบก๊าซรถยนต์จึงขาดแคลน ซึ่งเป็นเรื่องขอดีมานด์-ซัพพลายที่ไม่สอดคล้องกัน "
++++ขาดวัตถุดิบผลิตถังก๊าซไม่ทัน
นายชัยฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า อุปกรณ์ที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ ถังก๊าซแอลพีจี ที่ส่วนหนึ่ง สามารถผลิตขึ้นในประเทศ แต่กำลังขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต จึงทำให้ถังก๊าซมีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงมีการปั่นราคากันขึ้นบ้าง ส่วนถังก๊าซเอ็นจีวี จะนำเข้ามาจำหน่ายโดย ปตท. ยังไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลน เนื่องจากผู้ใช้รถส่วนใหญ่ไม่นิยม เพราะหาปั้มเติมได้ยากกว่าแอลพีจี ปัจจุบันมีรถติดตั้งระบบก๊าซเอ็นจีวีแล้วประมาณ 100,000 คัน
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ผู้ใช้รถแห่มาติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติมากจนอุปกรณ์ต่างๆมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรอคิวนาน3-4 เดือน หากมีอุปกรณ์และถังมากเพียงพอ สถานบริการที่มีอยู่กว่า 1,000 ราย ก็สามารถให้บริการได้ถึงวันละ 5,000 คัน ซึ่งโดยเฉลี่ยรถ 1 คัน จะใช้เวลาติดตั้ง 1 วัน แต่ละอู่ก็อาจเพิ่มจำนวนช่างให้สามารถติดตั้งเพิ่มเป็นวันละ 5 คันก็ทำได้"
นายจิตติ นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แก๊สไดเร็คเตอร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์ติดตั้งก๊าซรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า ธุรกิจติดตั้งก๊าซรถยนต์กำลังขยายตัวขึ้นมาถึงจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เหมือนก้าวกระโดด จาก 1 มาถึง 100 ปัจจุบัน มีเจ้าของรถโทรศัพท์มาติดต่อถึงวันละ 50 ราย ทำให้อุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งถังก๊าซเกิดการขาดแคลนอย่างหนัก วัตถุดิบอย่างเหล็กก็เกิดการขาดแคลนทั่วโลก จึงไม่สามารถติดตั้งระบบก๊าซได้ทันกับความ หากอุปกรณ์ต่างๆที่สั่งไว้มาไม่ตรงเวลากับที่รับปากลูกค้าไว้ จะทำให้เสียความน่าเชื่อถือได้
นอกจากอุปกรณ์ก๊าซจะปรับราคาขึ้นแล้ว เครื่องยนต์เบนซินรุ่น เจ ของโตโยต้า ก็เกิดการขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้รถกระบะ เครื่องยนต์ดีเซล ในภาคขนส่งเริ่มประสบปัญหาราคาน้ำมันดีเซลพุ่งทะลุลิตรละ 40 บาท จึงหันมาเปลี่ยนเครื่องยนต์เบนซิน และติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจีแทน ซึ่งปกติการวางเครื่องรุ่นเจใช้เงินเพียง 20,000 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาปรับขึ้นเป็น 30,000 บาท และล่าสุดพุ่งมาถึง 50,000 บาทแล้ว
"ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในขณะที่อุปกรณ์มีไม่เพียงพอ ทำให้พ่อค้าคนกลางบางรายเก็งกำไร ปั่นราคาอุปกรณ์และถังก๊าซให้สูงขึ้น และเนื่องจากที่บริษัทมีหลายสาขา จึงสั่งสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก และมีพ่อค้าคนกลางมาขอซื้ออุปกรณ์ต่างๆมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซรถยนต์อาจจะคลี่คลายขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อผู้ประกอบการเริ่มออร์เดอร์อุปกรณ์ต่างๆจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนเกินความต้องการ และกลายเป็นสต็อคค้างโกดังที่อู่แต่ละแห่ง"
.......................................................................................
เอ ตามปั๊มแก็ส จะขาดแคลนเหมือน ซีเอ็นจีป่าววะนี่