คำตอบที่ 109
fiogf49gjkf0d
น้องน้ำถึงนวมินทร์เริ่มท่วมแล้ว พี่เรยอมยกมือสะดีๆ 555
วันนี้ (1 พ.ย.) หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ ตีพิมพ์เรื่องจากปกในหัวข้อ 2 เขื่อนยักษ์ ปริศนาลับ! กำจัดปู! บทพิสูจน์น้ำ หมื่นล้านคิว มาจากไหน? ใครวางงาน? โดยกล่าวว่า ปัจจัยที่ถือเป็นปัญหารุนแรงที่สุดของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ กลไกทุกกลไกของภาครัฐจะต้องประสานรวมกันเป็นหนึ่ง หากยังมีลักษณะต่างคนต่างพาย ยังอยากที่จะเป็นพระเอก คิดจะฉวยโอกาสทางการเมือง และยังมีพวกเสนอหน้าเข้ามาสร้างความวุ่นวาย อาจจะต้องมีรายการลงดาบเล่นงานกันอย่างจริงๆ จังๆ โดยไม่เลือกหน้าไม่เลือกพวกไม่เลือกสีได้แล้ว หากไม่ทำเช่นนั้นรัฐบาลเองที่จะสั่นคลอน
เพราะในเวลานี้ ยังคงมีกลุ่มโซเชียล เน็ตเวิร์ก ที่จ้องด่าจ้องโจมตีรัฐบาลในทุกๆ เรื่องอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่งภาพส่งโพสต์สารพัดข้อกล่าวหาเข้าไปเล่นงานรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนว่ามีประเด็นหรือไม่มีประเด็นก็ตาม ด่าเอาไว้ก่อน ตำหนิเอาไว้ก่อน กล่าวหาเอาไว้ก่อน... ซึ่งจนวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถที่จะแก้เกมหรือรับมือตรงนี้ได้เลย รายงานระบุ
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังอ้างด้วยว่า สำหรับประชาชนผู้ที่เดือดร้อนมีข้อสงสัยว่า น้ำจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรนั้น มาจากไหน ทั้งๆ ที่กระจายไปกว่า 30 จังหวัดแล้ว ยังคงมีมวลน้ำอยู่มากมาย ชนิดที่คนกรุงเทพฯ ยังไม่มั่นใจว่า หากปล่อยให้เข้ามาท่วมกรุงเทพฯ เพื่อช่วยประชาชนในต่างจังหวัดและปริมณฑลแล้ว จะสามารถลดทอนน้ำในที่ต่างๆ ได้แค่ไหน
บางกอกทูเดย์ ไม่ได้ต้องการโทษความผิดให้ใคร แต่ต้องการให้ได้เรียนรู้จากความจริง และใช้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะน้ำจำนวนมหาศาลเป็นหมื่นๆ ล้านลูกบาศก์เมตรในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการบริหารน้ำในเขื่อนสำคัญคือเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ นั่นเอง รายงานระบุ
ในรายงานอ้างว่า ปกติเขื่อนภูมิพล จะต้องมีระดับความจุเก็บกักน้ำต่ำสุด คือ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ความจุเก็บกักน้ำต่ำสุดคือ 2,850 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งก็จะมีปริมาณน้ำที่แม้จะน้อยแต่ก็พอประคองสถานการณ์ภัยแล้งได้บ้าง แต่ในปีนี้การดูแลน้ำในเขื่อนทั้ง 2 เกิดความวิตกในเรื่องภัยแล้งมากจนเกินเหตุ ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีอยู่ที่ความจุ กว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. แล้ว แต่กลับไม่มีการพร่องน้ำเอาไว้เลยแม้แต่น้อย ทำให้ในช่วงเดือน พฤษภาคม มิถุนายน จนถึงกรกฎาคม น้ำในเขื่อนถูกเก็บกักเอาไว้สูงขึ้นเรื่อย
ประกอบกับในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มีการเลือกตั้ง ทำให้เกิดช่วงสุญญากาศทางการเมือง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่จนถึงต้นเดือนสิงหาคม ทำให้การดูแลระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของกรมชลประทาน เนื่องจากกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จะสามารถทำหน้าที่ได้ ก็เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เวลาประมาณ 21.30 น.ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากนั้นในวันที่ 10 ส.ค.นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี จึงได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 14 รพ.ศิริราช
ซึ่งในวันที่ 13 สิงหาคม ตามกราฟจะเห็นว่า เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีความจุน้ำพุ่งขึ้นไปถึง 8,400 ล้าน ลบ.ม.แล้ว ทำให้เมื่อเจอกับพายุเข้า 3-4 ลูกติดๆ กัน น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 จึงขยับขึ้นมาเต็มเขื่อนอย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำในเขื่อนสิริกิติ์แตะระดับ 9,500 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนภูมิพลแตะ 13,500 ล้าน ลบ.ม.ในต้นเดือนกันยายน จึงทำให้เขื่อนต้องเร่งระบายน้ำ และกลายเป็นมวลน้ำจำนวนมหึมาที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั่นเอง และกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ในครั้งนี้ รายงานระบุ
ในรายงานของบางกอกทูเดย์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำคอยบริหารจัดการเขื่อน แต่เพราะความกลัวภัยแล้ง จึงทำให้ไม่มีการพร่องน้ำเอาไว้เลย ทั้งๆ ที่หากเกิดภัยแล้งเชื่อว่าความเสียหายน่าจะมีเพียงในระดับพันล้าน หรือหมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยชดเชยให้ความช่วยเหลือ แต่การเกิดอุทกภัยใหญ่ เพราะเขื่อนจำเป็นต้องปล่อยน้ำ จนเกิดน้ำท่วมใหญ่และเสียหายนับเป็นกว่า 5-6 แสนล้านบาทเช่นนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการทบทวน
ทั้งนี้ จะต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะไม่ว่าอย่างไรหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำควรจะต้องรู้ดีกว่าประชาชนทั่วไป ไม่ควรปล่อยให้เกิดการวางแผนผิดพลาดได้ขนาดนี้ เพราะน้ำหลากน้ำท่วมจากสูงลงสู่ต่ำไปสู่อ่าวไทย สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่มีมานาน ความผิดพลาดครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงอย่างยิ่ง หากในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม มีการสั่งการให้กรมชลประทานพร่องน้ำเอาไว้ที่ระดับประมาณ 3,500-4,000 ล้าน ลบ.ม.ก็จะทำให้เขื่อนสามารถที่จะรับน้ำได้อีกถึงกว่า 5,000-6,000 ล้าน ลบ.ม.ได้อย่างสบายๆ ซึ่งปริมาณน้ำท่วมทุ่ง ก็จะไม่มากมายมหาศาลเท่ากับขณะนี้
ขณะเดียวกัน หากที่ผ่านมา กรมชลประทานมีการดูแลขุดลอกทรายในแม่น้ำ หรือให้สัมปทานดูดทรายขาย ถ้าดูดทรายขึ้นไปได้สักล้าน ลบ.ม.นั่นก็คือ การเพิ่มศักยภาพของแม่น้ำในการที่จะรองรับน้ำได้เพิ่มเป็นล้าน ลบ.ม.ด้วยเช่นกัน กรมชลประทานและบรรดาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำของรัฐ จากวันนี้ไปจึงควรจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดเหมือนในครั้งนี้อีก รวมทั้งในการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ รัฐบาล กองทัพ กรมชลประทาน พยายามรับมือกันสุดกำลัง ทาง กทม.และพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องเลิกหวังชิงจังหวะทางการเมือง แต่ต้องหันมาเร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ เพราะคนที่เดือดร้อนคือประชาชน และเศรษฐกิจที่เสียหาคือเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และประเทศชาติ
สำหรับหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ มี นายเผด็จ ภูริปฏิภาณ เจ้าของนามปากกา พญาไม้ ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นผู้ดูแล และมี นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่า รีสอร์ท เขาใหญ่ และ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทุน ซึ่งที่ผ่านมามีจุดยืนสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดงมาโดยตลอด
ทีวีแดงอัดคน กทม.ด่ารัฐบาลทั้งที่น้ำท่วมแค่ตาตุ่ม
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชีย อัพเดท ซึ่งเป็นสื่อมวลชนในเครือข่ายกลุ่ม นปช.และพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่รายงานพิเศษในหัวข้อ หยุดกวนน้ำให้ขุ่นขวางรัฐบาลแก้อุทกภัย โดย นายบูรพา เล็กล้วนงาม ซึ่งกล่าวว่า นอกจากปัญหาน้ำท่วมที่อ้างว่าได้รับการแก้ไขแล้ว การสร้างสถานการณ์ซ้ำเติมโดยคนบางกลุ่มยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล โดยกล่าวโจมตีว่าคนบางกลุ่มนำประเด็นน้ำท่วม มาเป็นเครื่องมือลดความน่าเชื่อถือของ ศปภ.และรัฐบาล
ทั้งนี้ ประเด็นที่พูดกันบ่อย คือ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการที่นิคมอุตสาหกรรมจมน้ำ ซึ่งเป็นการพูดที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะก่อนหน้าที่น้ำจะไหลมาถึงนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ศปภ.ได้แจ้งเตือนไปแล้ว ถ้านิคมอุตสาหกรรมสร้างคันกั้นน้ำที่มีความแข็งแรงเพียงพอ เช่นเดียวกับคันกั้นน้ำของวัดพระธรรมกาย ความเสียหายคงไม่เกิดขึ้น การที่นิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วม เป็นเรื่องเกินความรับผิดชอบของ ศปภ.
ส่วนกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกประเด็นที่ถูกนำมาถากถางรัฐบาล โดยหยิบยกน้ำท่วมในบางจุดมาใส่ร้าย ทั้งที่รัฐบาลระบุเพียงว่า เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้นที่จะไม่ถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีก คือ พนังกั้นน้ำต้องไม่แตก อีกทั้งพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีในช่วงนี้ และน้ำจะท่วมเฉพาะเวลาที่น้ำทะเลขึ้น และเมื่อน้ำทะเลลดน้ำก็ไม่ท่วม จึงยังไม่เห็นจุดไหนที่รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ตรงกันข้ามในบางปีที่ฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ กินวงกว้างกว่าปีนี้อีก
รายงานพิเศษช่องเอเชียอัพเดทยังกล่าวโจมตีสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยกล่าวว่า การรายงานข่าวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพน้ำท่วมในเวลานี้ดูน่ากลัว เกินกว่าความเป็นจริง ผู้สื่อข่าวจำนวนไม่น้อยไปยืนรายงานข่าวในบริเวณที่น้ำท่วม ทั้งที่มีพื้นที่แห้งให้ยืนรายงานข่าวได้ และอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้เกิดความกังวล ซึ่งขัดกับการรายงานข่าวที่ต้องนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น รวมทั้งยังมีการใช้คำว่า วิกฤต หรือ น้ำท่วมหนัก อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อดูโทรทัศน์ไปเรื่อยๆ ผู้ชมจึงเกิดความวิตก ทั้งที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกน้ำท่วมเลยแม้เพียงระดับตาตุ่ม
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมพูดถึง คือ ความผิดปกติที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ กักเก็บน้ำมากเกินความพอดี เมื่อถึงหน้าฝนจึงต้องปล่อยน้ำออกมา และเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ การกวนน้ำให้ขุ่นและการรายงานข่าวเร้าอารมณ์ความรู้สึก จึงทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นไหวต่อสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่สามารถยุติลงได้ ถ้าไม่ต้องการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายไปกว่านี้
อย่างไรก็ตาม หลังรายงานพิเศษช่องเอเชียอัพเดทถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงการนำกราฟแสดงน้ำที่ใช้ได้ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่นำมาแสดงในรายงานพิเศษ โดยหนึ่งในนั้นคือ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเฟซบุ๊ก Sirichok Sopha ว่า ทางสถานีมีการแก้กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทานเพื่อป้ายสีอดีตรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ตอนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามานั้น น้ำในเขื่อนมีเพียงแค่ร้อยละ 55 เท่านั้น