คำตอบที่ 2
fiogf49gjkf0d
"อ่านเป็นข้อมูล น่าเที่ยวครับงานนี้ ขอบอก"
งานวันเบญจมาศบานในม่านหมอก
เส้นทางการพัฒนาวังน้ำเขียว
สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ
ธวัชชัย ทีฆชุณหเถียร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
ฉบับที่327 15/01/47
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร สินค้าเกษตรที่ส่งออกและติดระดับโลกมีหลายรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง ยางพารา จนรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวของโลก อย่างไรก็ตาม จะพบว่าเกษตรกรรายเล็กส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน เปรียบได้กับเป็นปลาตัวเล็กที่สุดที่ถูกกินเป็นลำดับแรก ทำให้ปลาตัวต่อ ๆ มาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตร จึงเป็นหนทางหนึ่งที่เกษตรกรดิ้นรนหาทางสร้างผลกำไร แต่การตลาดก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรของเราไม่เก่งเอาเสียเลย แต่ก็ยังดีที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสามารถทางด้านการผลิต หากมีผู้ชำนาญการมาช่วยสอนด้านการผลิต แนะนำการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพิ่มเติม ร่วมกับทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ เมื่อเกิดผลผลิตที่ดี ต้นทุนต่ำ ถ้ามีองค์กรรองรับผลผลิตช่วยนำสินค้าไปขายให้ก็จะดีไม่น้อย
หากในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถเกิดเรื่องดังกล่าวได้ง่ายนัก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องหาทางช่วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะเสาะหาต้นแบบแห่งความสำเร็จ แล้วเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการดังกล่าว เพื่อนำภูมิปัญญากลับมาปรับใช้กับไร่นาของตนเอง หากเป็นเช่นนั้นแล้ว วังน้ำเขียวจะเป็นมรกตเม็ดงามแห่งการเกษตร ที่เกษตรกรทั้งหลายควรแวะมาเยี่ยมชม หรือสดับตรับฟังเรื่องราวของการพัฒนาการเกษตรของวิมานดินแห่งนี้ ในเส้นทางของการพัฒนาตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร
วังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา บนทางหลวงสาย 304 นครราชสีมา กบินทร์บุรี จากตัวเมืองนครราชสีมา ผ่านอำเภอปักธงชัย เมืองผ้าไหม ก็จะถึง อำเภอวังน้ำเขียว ประตูเชื่อมภาคอีสานกับภาคตะวันตก ที่หลายคนเคยได้ยินว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์ แดนอีสาน" ทั้งนี้เพราะว่าวังน้ำเขียว แวดล้อมไปด้วยขุนเขา ลอนลูกฟูก ที่สลับซับซ้อน ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา และเกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลายเมื่อได้มาเยือน ด้วยความสูง 400-800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และอยู่ในอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว จึงเป็นแหล่งต้นน้ำ เช่น ต้นน้ำมูล มีความชุ่มเย็น และอากาศดีตลอดปี มีผู้กล่าวว่า วังน้ำเขียวมีระดับโอโซนบริสุทธิ์ ติดระดับโลกเลยทีเดียว
ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้วังน้ำเขียวมีอากาศที่เย็นสบายทั้งปี คืออุณหภูมิเฉลี่ย 19-26 องศาเซลเซียส (ต่ำสุดเฉลี่ย 16.5 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม และสูงสุดเฉลี่ย 36 องศาเซลเซียส ในเดือนมีนาคม) ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในช่วง 80-94 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,249 มิลลิเมตร ต่อปี จำนวนวันฝนตก 129.2 วัน ต่อปี นับได้ว่า วังน้ำเขียวมีทุนทางธรรมชาติเรื่อง ดิน น้ำ และอากาศ ดีเป็นเลิศ เหมาะแก่การเกษตรโดยเฉพาะพืชที่ต้องการอากาศเย็น จึงมีการปลูกพืชผักเมืองหนาว เห็ดหอม และไม้ดอก อย่างเบญจมาศ ได้ผลดี โดยไม่มีปัญหาการตลาดแต่อย่างใด เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ผลผลิตมีคุณภาพดี แต่ไม้ผลที่ปลูกทั่วไปหลากหลายชนิดไม่ได้ราคาเท่าที่ควร
เบญจมาศวังน้ำเขียวขึ้นชื่อลือเลื่องเมืองโคราช
ในอดีตเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้นำเกษตรกรในอำเภอวังน้ำเขียวได้คิดหาทางปลูกพืชแปลกใหม่ที่เหมาะสมกับอากาศที่เย็นสบาย และได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเดินทางไปดูงานตามที่ต่าง ๆ ทางเหนือ และนำพืชที่มีศักยภาพมาปลูกและศึกษาการผลิตและการตลาด ลองกันมาหมดทุกอย่างแล้ว ก็มาลงเอยที่เบญจมาศ ที่ชาวบ้านอยู่ได้และทำกำไรงาม
ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปลูกเบญจมาศ 4 กลุ่ม มีสมาชิกรวมประมาณ 170 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 110 ไร่ ปลูกเบญจมาศ สายพันธุ์ต่างประเทศ ทั้งดอกเดี่ยว ดอกช่อ หลากสีสัน มากกว่า 40 สายพันธุ์ ผลผลิตรวมแต่ละปีประมาณ 190 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 ล้านบาท การตลาดไม่ต้องเป็นห่วงเพราะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ถ้าดอกได้มาตรฐานเป็นรับซื้อหมด และมีบริษัทญี่ปุ่นทำสัญญารับซื้อตลอดปีด้วย นับว่าวังน้ำเขียวเป็นตลาดเบญจมาศ ที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้ามาให้ความรู้ สนับสนุนโรงเรือนและให้การอบรมแก่เกษตรกร เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และในปี 2546-2547 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ร่วมกับเกษตรกรทำการศึกษาปัญหาและแก้ปัญหาเรื่องโรค แมลง ดิน ปุ๋ย และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้การพัฒนาการผลิตไม่ถึงทางตัน และมีความยั่งยืน แนวทางการพัฒนาเรื่องไม้ดอกของวังน้ำเขียวในอนาคต คือการหาสายพันธุ์ที่แปลกใหม่เป็นที่ต้องการของตลาด การพัฒนาคุณภาพของดอกให้บานทน การเพิ่มการผลิตให้ทันกับความต้องการของตลาด และหาไม้ดอกไม้ประดับตัวใหม่เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยว
ผักสลัดเมืองหนาวปลอดสารพิษ ภูมิปัญญาของวังน้ำเขียว
เป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้วิธีการปรับปรุงดินและใช้จุลินทรีย์จากการหมักเศษพืชและสัตว์ ร่วมกับกากน้ำตาล ที่เรียกว่า ปุ๋ยน้ำหมัก หรือน้ำสกัดชีวภาพ มีต้นแบบมาจากวังน้ำเขียว นำมาใช้ในการผลิตผักสลัดเมืองหนาว มีทั้งในระดับปลอดสารพิษ และไร้สารพิษ ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักของเกษตรกรที่ผลิตพืชในเขตต้นน้ำอย่างวังน้ำเขียว ที่ไม่ต้องการให้ต้นน้ำปนเปื้อนสาร ผักสลัดที่วังน้ำเขียวมีหลายพันธุ์ซึ่งเป็นที่นิยมกัน เช่น ผักสลัดแก้ว พันธุ์คอส เรดลีฟเรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค และบัทเตอร์เฮด ผักสลัดวังน้ำเขียวสดกรอบหวานอร่อยกว่าทุกที่ นักท่องเที่ยวจึงนิยมมาชมสวนผัก ศึกษาการผลิตโดยวิธีปลอดสารพิษ และซื้อผักสลัดสด ๆ กลับไปทำสลัดรับประทานที่บ้าน หากวันไหนไม่ได้ผักปลอดสารพิษติดมือกลับไปก็จะรู้สึกผิดหวังมาก
ที่วังน้ำเขียว มีกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษ 4 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 50 คน พื้นที่ปลูกประมาณ 750 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตประมาณ 104 ตัน ต่อไร่ ราคาขายปลีกที่หน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 30 บาท
เห็ดหอม จากงานวิจัยที่ไม่ได้ขึ้นหิ้ง สู่ชุมชน
เห็ดหอม เป็นเห็ดที่มีมูลค่าสูง เชื่อว่าเพาะเลี้ยงได้ในเขตที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น แต่ด้วยผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ได้ค้นพบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดหอมในพื้นที่ที่ไม่หนาวเย็น ได้แก่ การใช้สายพันธุ์ทนร้อน การจัดการความชื้นในก้อนแบบเลียนแบบธรรมชาติ และการกระตุ้นด้วยน้ำเย็นให้ออกดอกในเวลาที่ต้องการ มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับเกษตรกรวังน้ำเขียวสร้างหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและแปรรูปเห็ดหอม 2 หมู่บ้าน ที่หมู่ 2 บ้านสุขสมบูรณ์ และ หมู่ 4 บ้านบุไทร ปัจจุบันมีสมาชิก กว่า 50 คน โรงผลิตเห็ดหอมของแต่ละหมู่บ้าน ผลิตเห็ดหอมได้ปีละไม่น้อยกว่า 384,000 ก้อน ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีผลผลิตประมาณ 57.6 ตัน มีกำไรรวมปีละ 5.7 ล้านบาท
การทำโครงการต้นแบบหมู่บ้านเห็ดหอม ทำให้พบว่า วังน้ำเขียวมีทุนธรรมชาติคืออากาศที่ดี ที่เห็ดหอมชอบ จึงทำให้การผลิตมีผลสำเร็จ มีผลผลิตสูง โดยเกษตรกรดูแลเอาใจใส่ให้ถูกต้องเท่านั้นก็จะได้ผลผลิตอย่างงาม นอกจากนี้ เห็ดหอมเหมาะกับแหล่งต้นน้ำเพราะไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการผลิต เหมาะกับผู้ไม่มีที่ทำกิน เนื่องจากใช้พื้นที่น้อยในการผลิต ต้นทุนต่ำเพราะใช้วัสดุเหลือใช้ในการผลิต ได้แก่ ขี้เลื่อยเป็นหลัก การผลิตใช้แรงงานเด็ก สตรี และคนชราได้ เป็นงานเบาไม่ต้องตากแดดตากฝน ฝนตกมากเห็ดยิ่งชอบ
เนื่องจากเห็ดหอมเป็นที่ยอมรับได้ง่ายของผู้บริโภค โดยทราบกันมาว่าเป็นอาหารพิเศษในราชสำนักจีน เห็ดหอมมีรสชาติอร่อย ทำอาหารได้หลายอย่าง และมีคุณค่าทางอาหารคือ มีโปรตีนสูง ต้านมะเร็งและเนื้องอก ไม่มีคอเลสเตอรอล สมาชิกกลุ่มเห็ดจึงขยายกิจการโดยการทำอาหารแปรรูปจากเห็ดจำหน่าย เปิดร้านอาหารจากเห็ด และจัดทำบ้านพักโฮมสเตย์ บริการที่พัก และอาหารจากเห็ดบริการนักท่องเที่ยว ทำรายได้อย่างงามให้แก่ผู้เพาะเห็ด
กิจกรรมเดินป่าในอุทยานแห่งชาติ
การเดินป่าท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยม ในเขตวังน้ำเขียว ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีบริการเดินป่าศึกษานิเวศและมีลานกางเต็นท์พักแรมในป่า 3 แห่ง คือ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 13 (สวนห้อม) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 11 (ไทยสามัคคี) และการท่องเที่ยวเขาแผงม้า ให้การเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริง เรียนรู้ประวัติของผืนป่าทับลาน การกลับคืนมาของสัตว์ป่าที่เคยหายไปจากพื้นที่เกือบ 20 ปี การดูนก ในป่าธรรมชาติกว่า 250 ชนิด พันธุ์พืชที่มีอยู่มากมายหลายชนิด รวมทั้งสมุนไพรต่าง ๆ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 13 มีเส้นทางเดินป่า 3 กิโลเมตร ชมทิวทัศน์ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย ที่ยังสมบูรณ์อยู่ กลางคืนนอนดูดวงดาวที่ระยิบระยับบนท้องฟ้า ยามเช้าชมสายหมอกและนกประจำถิ่นออกหากิน มีเส้นทางชมน้ำตกสวนห้อม น้ำตกม่านฟ้า น้ำตกห้วยขมิ้น เหมาะกับการจัดกิจกรรมเป็นหมู่คณะของสถานศึกษา เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายสื่อความหมายธรรมชาติ ค่ายลูกเสือและเนตรนารี
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 11 เป็นการเดินป่าในมูลหลง มูลสามง่าม ต้นน้ำมูล ระยะทาง 4 กิโลเมตร เรียนรู้ร่องรอยของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่าที่ออกหากินดินโป่ง กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า และนกนานาชนิด เช่น นกปรอด นกขุนทอง นกเขียวคราม นกโพระดก นกเงือก ยามกลางคืนมีดวงดาวมากมายในท้องฟ้า
เขาแผงม้า การเที่ยวเขาแผงม้าจะเน้นการศึกษาการฟื้นตัวของป่าที่ถูกทำลาย กิจกรรมอนุรักษ์ เช่นการทำแนวกันไฟ ปลูกป่าเสริมพืชอาหารสัตว์ ทำโป่งเกลือ ทำแหล่งน้ำให้กระทิง การเดินป่ามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เลือก 3 เส้นทาง ตั้งแต่ 1.8, 2.5 และ 4 กิโลเมตร และที่จะพลาดไม่ได้คือการเฝ้าดูฝูงกระทิงออกหากินยามเย็น
กรมส่งเสริมการเกษตร ดันวังน้ำเขียวสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ
ด้วยจุดเด่นของวังน้ำเขียวในเรื่องการเกษตรที่พิเศษและการฟื้นตัวของป่าและการกลับมาของสัตว์ป่าให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ พบว่ามีผู้มาเยือนวังน้ำเขียวในรูปแบบของผู้มาศึกษาดูงานการเกษตรนิเวศ และการมาพักผ่อน หาความสงบ ปีละประมาณ 40,000 คน สัญญาณการเรียกร้องของผู้ต้องการนี้ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรอนุมัติโครงการประจำปี 2545 เพื่อสนับสนุนให้วังน้ำเขียวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยก่อสร้างศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวทางเกษตรของอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี ภายในอาคารมีข้อมูลแหล่งผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาก่อนดูของจริง มีห้องน้ำและลานจอดรถที่รองรับรถทัศนาจรได้มากกว่า 20 คัน มีซุ้มจำหน่ายสินค้าชุมชนไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อของฝากกลับบ้าน การเกษตรที่จัดให้เป็นจุดศึกษาดูงานคือ การปลูกเบญจมาศ การเพาะเห็ดหอม และการปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ
มทส. ร่วมบูรณาการการท่องเที่ยววังน้ำเขียวให้ยั่งยืน
ตั้งแต่ปี 2545 ที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้มีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาของประชาชนในระดับรากหญ้า จากการเข้ามานิเทศงานโครงการหมู่บ้านเห็ดหอมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จึงได้เห็นศักยภาพของวังน้ำเขียวด้านการเกษตรและควรพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ จึงได้ตัดสินใจดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่นี้ โดยเลือกตำบลไทยสามัคคีเป็นต้นแบบ ทั้งนี้คณะทำงานได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง มทส. กับชุมชน และหน่วยราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าชุมชนได้คัดเลือกการพัฒนาตำบลไทยสามัคคีในด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาด้านสาธารณสุขศาสตร์
โครงการย่อย จนถึงปี 2546 มีรวม 8 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำชุมชนในการจัดการการพัฒนาชุมชนและทำความเข้าใจในการดำเนินการทำแผนแม่บทชุมชน โครงการส่งเสริมการเพาะและแปรรูปเห็ดหอม โครงการพัฒนาระบบต้นแบบหมู่บ้านผลิตและแปรรูปเห็ดหอม โครงการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปเครื่องดื่มจากผลผลิตทางการเกษตรวังน้ำเขียว โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ดอก โครงการพัฒนาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเหมาะสม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โครงการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว ตำบลไทยสามัคคี ทั้งนี้จะเห็นว่าโครงการย่อยทั้งหมดมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาให้วังน้ำเขียวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศที่ยั่งยืน
การพัฒนาการท่องเที่ยว ตำบลไทยสามัคคี ตลอดระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา ได้อบรมให้ความรู้ ระดมสมองเพื่อร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นระบบ และในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อรักษาวังน้ำเขียวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศที่ยั่งยืน ไม่ถูกทำลายไปเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ การดำเนินการมีการจัดอบรมด้านการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ การจัดการที่พักแบบโฮมสเตย์ การอบรมธุรกิจร้านอาหารกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น ในที่สุดโครงการก็สามารถพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ได้สำเร็จ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 20 ราย ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสำหรับกลุ่มผู้นำสตรี 6 ประเทศ จำนวน 28 คน เข้าพักและศึกษาดูงานการเกษตรของวังน้ำเขียว
ขณะที่การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวสู่เป้าหมายคือความยั่งยืน มีการเผยแพร่ข้อมูลจากรายการโทรทัศน์มากมาย และจากการบอกเล่าจากปากต่อปากถึงมนต์เสน่ห์ของวังน้ำเขียว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนวังน้ำเขียวเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี ชุมชนจึงได้ตระหนักว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวในดินแดนแห่งนี้จะรอช้าไม่ได้แล้ว การพัฒนาที่ผิดทิศทางและการบริการที่ขาดคุณภาพจะทำให้นักท่องเที่ยวที่มีระดับจากหายไป และแหล่งท่องเที่ยวนี้จะถูกทำลายไปเช่นเดียวกับหลายที่ที่เกิดขึ้นแล้ว คาดว่าการบูรณาการโครงการที่ผ่านมาจะจุดประกายให้จังหวัดได้บรรจุการพัฒนาวังน้ำเขียวเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศที่ยั่งยืนเป็นแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดต่อไป เท่ากับเป็นการเจียระไนมรกตเม็ดงามแห่งขุนเขาเม็ดนี้ให้โดดเด่นในวงการ
จากเบญจมาศลือเลื่องสู่งานเบญจมาศบานในม่านหมอก
เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลการผลิตทางการเกษตรของวังน้ำเขียวและการพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจ เหมือนจะประกาศให้ผู้มาเยือนได้ทราบว่าวังน้ำเขียวเป็นหนึ่งในวงการเบญจมาศ เห็ดหอม ผักปลอดสาร และการศึกษาธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ ชุมชนไทยสามัคคี จึงได้ร่วมกันจัดงานเบญจมาศบานในม่านหมอก มา 2 ปีแล้ว สำหรับปี 2547 จะจัดเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 23-25 มกราคม 2547 และมีกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547
งานนี้เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติคล้ายกับวังน้ำเขียวที่กล่าวมาข้างต้น จะได้มาศึกษาดูงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตพืชที่มีศักยภาพดังกล่าวได้อย่างไม่ต้องสงสัย วังน้ำเขียวได้ทำต้นแบบให้ท่านได้มาศึกษาแล้ว หากมีการตลาดที่ดี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ การพัฒนาชุมชนของท่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศที่ยั่งยืนย่อมทำได้แน่นอนเช่นกัน การเกษตรต้องสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ จึงจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก วังน้ำเขียวรอการมาเยือนที่ท่านจะไม่รู้ลืม
ข้อมูลงานเบญจมาศบานในม่านหมอก เทศกาลเที่ยววังน้ำเขียว 23-25 มกราคม 2547 ณ อบต. ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ชมแปลงเบญจมาศ 20 สายพันธุ์ กว่า 60,000 ต้น ศึกษาการเพาะเห็ดหอมด้วยวิธีการกระตุ้นการออกดอกด้วยน้ำเย็นทุกขั้นตอน เรียนรู้เคล็ดลับการปลูกผักปลอดสารพิษ การประกวดเบญจมาศและประกวดจัดกระเช้าดอกไม้ ซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่คัดสรรแล้ว กิจกรรมแข่งขันวิ่งเพื่อสุขภาพ "วังน้ำเขียวมินิมาราธอน ครั้งที่ 1"24 มกราคม 2547 เส้นทางงดงามด้วยขุนเขา ลำน้ำ แมกไม้ และสายหมอก แข่งขันจักรยานเสือภูเขา "ปั่นเพลินเนินเขาและพงไพร" 1 กุมภาพันธ์ 2547 เส้นทางผ่านเนินเขาและทิวทัศน์ ห้วยใหญ่ใต้ ผาชมตะวัน อ่างเก็บน้ำคลองกระทิง ไร่องุ่น ฟาร์มเห็ด สวนผักผลไม้ และแปลงเบญจมาศหลากสีสัน ค้างคืนในผืนป่า ศึกษาพงไพร 6-8 กุมภาพันธ์ 2547 แพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ กางเต็นท์นอนในป่าลานผืนสุดท้ายของอุทยานแห่งชาติทับลาน ศึกษาร่องรอยสัตว์ป่าที่เริ่มกลับมา ชมนกกว่า 250 ชนิด และดูดาวยามค่ำคืน
ติดต่อสอบถาม อบต. ไทยสามัคคี (044) 249-654 และ (044) 228-238 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (044) 224-700