คำตอบที่ 81
ลายแทงขุมทรัพย์กรุงอโยธยา เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2
พอดีได้รับฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์การเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อพศ. 2310 จากคำบอกเล่าในรายการวิทยุ เห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าสู่กันฟังนะคับ
เมื่อครั้นที่พม่าทำศึกกับกรุงอโยธยา โดยแยกกำลังเป็น 2 สาย บุกเข้ายังเมืองชั้นใน และสามารถตีกรุงอโยธยาแตกเมื่อปี พศ. 2310 นั้น พม่าได้ตั้งค่ายเพื่อรวบรวม ตีชิง ปล้นทรัพย์สมบัติ ช้างม้าวัวควาย แก้วแหวนเพชรนิลจินดา อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งทองคำแท้ประดับวัดวาอารามเพื่อกวาดต้อนเก็บกลับไปที่กรุงอังวะ
โดยใช้เวลาอยู่ราว 3 เดือน ก็รวบรวมได้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเหลือคณา ขนใส่เกวียนและเรือเพื่อเดินทางกลับประเทศพม่า กำลังส่วนนึงเดินบกผ่านทางกรุงธนบุรีและบางกอก แลบางส่วนก้อบรรทุกใส่เรือใหญ่ล่องมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกอ่าวไทย
ครานั้นปรากฎว่ามีชาวไทยผู้รักชาติหลายกลุ่ม ตั้งตัวขึ้นเป็นกองโจร คอยดักปล้นสะดมภ์และทำร้ายกองขนสมบัติของทหารพม่านี้อยู่เนืองๆ สร้างอุปสรรค ขัดขวางและความสูญเสียให้แก่กองกำลังทหารพม่ายิ่งนัก
จนเมื่อคราวประชุมใหญ่ของทัพพม่าครานึง ท่านแม่ทัพใหญ่จึ่งได้มีบัญชา สั่งการให้ทหารที่ทำการขนสมบัติเหล่านั้น กระจายกำลังกันหาที่ลับๆที่เหมาะสม แล้วขุดหลุมฝังซ่อนสมบัติที่ยึดมาเหล่านั้นเสีย ณ. พื้นที่ที่บางกอกและฝั่งธนบุรี
คราใดเมื่อได้เพลาที่เหมาะสม จะได้นำกำลังทัพใหญ่กลับมาจากกรุงอังวะ เพื่อขุดนำทรัพย์สมบัติกลับประเทศพม่าได้อย่างปลอดภัย แลท่านแม่ทัพมีความรอบคอบพอที่จะได้สั่งการให้ทหารเสนารักษ์จัดทำแผนที่แสดงจุดที่ซ่อนฝังสมบัติไว้ถึง 4 ชุด แล้วให้ทหารองครักษ์ประจำตัว 4 คน ถือไว้ เมื่อคราที่นำทัพกลับมาอีกครั้งจะได้ขุดหาไม่ผิดที่ผิดทาง
แต่เหมือนพระเจ้าไม่เข้าข้างพวกอธรรม ราวค่ำ เดือนแรมคืนนึง กลุ่มกบถกองโจรฝ่ายไทยที่ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกแลอาวุธครบมือก็ได้เข้ารบพุ่งหักเอาด้วยกำลังที่ทัดเทียมกัน จนกองกำลังพม่าที่กะลังเดินทางกลับประเทศ (เสียดายสมัยนั้นไม่มี C130 เลยลำบากหน่อย) แตกพ่าย ถอยร่นหนีกลับไปอย่างกระเจิดกระเจิง ท่านแม่ทัพบาดเจ็บสาหัสและหนีรอดกลับไปได้อย่างอัปยศ ส่วนทหารองครักษ์ทั้งสี่ก้อได้เอาชีวิตมาทิ้งเสียในบางกอก ไทยแลนด์นี่เอง
แต่สิ่งที่สำคัญคือแผนที่แสดงที่ตั้งสมบัติที่เหล่าองครักษ์เหล่านั้นเก็บรักษาไว้ได้ถูกหัวหน้ากลุ่มชาวไทยชิงกลับไปได้ โดยพงศวดารฉบับหลวงบริวิตต์ กล่าวว่าฉบับหนึ่งอยู่ที่หลวงอสุนีย์นครา ฉบับนึงอยู่ที่ขุนสื่อสาระศัพท์ อีกฉบับนึงตกแก่หลวงชลทีบุรีรักษ์ และฉบับสุดท้ายอยู่ในมือของพระยาเทพนครามหาบุรีวงศ์ ซึ่งทั้งสี่ท่านก็ได้เก็บรักษาแผนที่ซ่อนสมบัติของกรุงศรีอยุธยาไว้เป็นอย่างดีสืบจนชั่วลูกชั่วหลาน
อีกราวสองร้อยปีต่อมาหลังจากนั้น มีข่าววงในที่เชื่อถือได้ เปิดเผยว่าแผนที่ซ่อนทรัพย์ทั้ง 4 ฉบับได้ตกทอดมาถึงคนในยุคปัจจุบัน และกลุ่มบุคคลที่ได้แผนที่เหล่านี้ไป ลือกันว่า ฉบับของหลวงอสุนีย์นครา กลายเป็นมรดกตกทอดจนถึงมาถึงมือการไฟฟ้านครหลวง ฉบับของขุนสื่อสาระศัพท์ ต่อมากลายเป็นองค์การโทรศัพท์เป็นผู้ครอบครองไป ส่วนแผนที่ของหลวงชลทีบุรีรักษ์นั้น ทายาทโดยนิตินัยที่เป็นผู้ครอบครองได้แก่การประปานครหลวง และสุดท้ายฉบับของพระยาเทพนครามหาบุรีวงศ์ ก็ตกแก่สำนักระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในที่สุด
หลังจากนั้นเป็นต้นมาหน่วยงานที่เป็นทายาทโดยธรรมของคนทั้งสี่ก็เริ่มต้นขุดๆๆๆๆๆ และก้อขุดหาสมบัติตามลายแทงที่ได้มาอย่างจิงจัง จนกรุงเทพและฝั่งธนบุรีพรุนไปทั่ว
บางทีที่ซ่อนเดิม หน่วยงานนึงมาขุดก่อนหน้าไปแล้วก้อจะมีอีกหน่วยงานนึงที่ได้ลายแทงฉบับเดียวกันมาขุดซ้ำอีก (นัยว่าเพื่อให้แน่ใจว่า ขุดดูแล้วไม่มีทรัพย์สมบัติอยู่จิง) หรือบางทีพื้นที่เดียวกัน ต่อยตีกันแย่งกันขุด แย่งกันหาสมบัติก็มี นั่นเป็นเหตุผลต้นเรื่องราวว่าทำไมกรุงเทพถึงชอบโดนขุดถนนกันนัก เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แล............
ปล. อำกันเล่นๆ ใครอยู่หน่วยงานเหล่านี้อย่าถือโทดโกรธกันเลยนะคับ มองขำขำกันนะคับ....อิอิ สวัสดี