จาก Auto 61.90.149.126 IP:61.90.149.126
พุธที่ , 9/7/2551
เวลา : 16:10
อ่านแล้ว = 1713 ครั้ง
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
เข้าตำรา ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หรือเปล่าก็ไม่รู้กับกรณีของเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้กับรถยนต์
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เพราะในขณะที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และ ปตท. ต่างรณรงค์เพื่อให้คนหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV / CNG) กันขนานใหญ่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรลุเป้าหมายแต่อย่างใด คนที่หนีค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงรถยนต์กำลังตะเกียกตะกายหนีตามคำชวนอย่างเต็มกำลัง
จู่ๆ ก็มีเสียงเพรียกบอกออกมาว่า ก๊าซธรรมชาติจะต้องถึงเวลาขึ้นราคากันเสียทีแล้ว เล่นเอาผู้ที่มีส่วนได้เสียกับก๊าซหุงต้ม (LPG) ส่งเสียงเฮขึ้นมาดังสนั่นหวั่นไหวทีเดียว และที่สำคัญที่สุดประชาชนผู้ใช้รถที่เชื่อในภาครัฐ เกิดความสับสนมึนงงขึ้นมาว่า แล้วเขาจะพึ่งพาอะไรต่อไป ก๊าซหุงต้ม หรือ ต้องหันไปรอการพึ่งพาจากน้ำมัน อี 85 ตามที่รัฐบาลวาดฝันให้เขาไว้
ปัญหาเรื่องเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองกันอย่างละเอียด และต้องมองไปถึงอนาคตข้างหน้าอย่างรอบคอบ จงฟังทุกเสียงที่พูดถึงเชื้อเพลิง แต่อย่าเชื่อทุกเสียงที่ได้ยิน จงเชื่อการตัดสินใจของตนเองด้วยข้อมูลที่มากเพียงพอ และหาความเหมาะสมให้กับตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมอยากจะเตือนผู้ใช้รถทั้งหลายให้จำไว้ว่าตลอดเวลาว่า ตัดสินใจช้าแต่ตัดสินใจถูก ยังดีกว่าตัดสินใจเร็วแต่ตัดสินใจผิด เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด ดัดแปลงเครื่องยนต์ไปแล้วหรือเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปแล้ว หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาความเสียหายที่ได้รับจะสูงมาก และยากที่จะแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้
ผมได้รับคำถามเป็นจำนวนมากจากผู้ใช้รถยนต์ปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลว่า ทำไมผม (นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ) ถึงได้แสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปในที่สาธารณะบ่อยครั้งว่า รถยนต์ปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลถึงไม่ควรที่จะนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ก๊าซเดี่ยวๆ ได้ ทั้งที่อู่ซึ่งรับติดตั้งก๊าซทั้งหลายต่างก็บอกว่าสามารถทำได้และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก
เรื่องนี้ขออธิบายดังต่อไปนี้ว่า เครื่องยนต์ดีเซลในรถปิกอัพสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้ก๊าซได้ ทั้งก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติอัด (NGV / CNG) โดย สามารถเลือกระบบการติดตั้งได้ไม่ว่าจะเป็นแบบดูดหรือในอีกชื่อหนึ่งว่าแบบหม้อต้ม อีกระบบหนึ่งที่สามารถทำการติดตั้งได้เช่นกันคือระบบหัวฉีด
ส่วนลักษณะการจ่ายก๊าซนั้นก็สามารถเลือกได้สองลักษณะคือ ลักษณะที่หนึ่งเป็นการจ่ายก๊าซให้เข้าไปเผาไหม้ร่วมกันกับน้ำมันดีเซล ลักษณะนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ ระบบ DDF (Deisel Dual Fuel) เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ แต่มีข้อจำกัดคือมีตัวเลขการประหยัดเชื้อเพลิงไม่มากนัก และมีข้อจำกัดในการใช้งานค่อนข้างมาก เช่น หากไม่มีน้ำมันดีเซลเหลืออยู่ในถัง เครื่องยนต์ก็จะทำงานไม่สะดวกหรือถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้เลย
วิธีที่สองที่ใช้สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเดี่ยว คือการดัดแปลงฝาสูบให้สามารถติดตั้งหัวเทียนได้ และจัดการเพิ่มเติมระบบไฟแรงสูงสำหรับจุดระเบิดเข้าไป ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลมีการจุดระเบิดด้วยประกายไฟจากหัวเทียน วิธีนี้เหมาะสมสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ ที่มีรูปทรงของฝาสูบใกล้เคียงกับฝาสูบของเครื่องยนต์เบนซินมากกว่าเครื่องดีเซลในรถปิกอัพ
ฝาสูบหรือด้านบนของโดมห้องเผาไหม้ในเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะมีระยะห่างจากหัวลูกสูบในตำแหน่งศูนย์ตายบน หรือตำแหน่งที่ลูกสูบเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดไม่มากนัก ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับเจาะทำร่องเกลียวสำหรับใส่หัวเทียนไม่มาก โอกาสที่หัวเทียนจะโดนกับส่วนบนของหัวลูกสูบจึงมีมาก
ด้วยพื้นที่จำกัดของฝาสูบดังกล่าว การเจาะเซาะร่องสำหรับตำแหน่งของเกลียวหัวเทียน จึงถูกลดทอนความแข็งแรงของฝาสูบไปกับเนื้อโลหะที่ถูกขุดเซาะทิ้งไป ในขณะที่แรงอัดในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 18 : 1 สูงกว่าแรงอัดในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เบนซินประมาณสองเท่าตัว เนื่องเพราะเครื่องยนต์เบนซินส่วนใหญ่จะมีแรงอัดในห้องเผาไหม้ไม่เกิน 10 : 1
ดังนั้นส่วนที่เป็นร่องเกลียวของหัวเทียน และตัวหัวเทียนเองต้องรับภาระจากแรงอัดมากกว่าที่เคยได้รับในเครื่องยนต์เบนซิน ความคงทนของเครื่องที่ดัดแปลงในลักษณะนี้จึงมีความทนทานน้อยลงกว่าเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐานมาก
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เอง ผมจึงแสดงความเห็นในทุกสถานที่ตลอดมาว่า เครื่องยนต์มาตรฐานเดิมในรถปิกอัพดีเซล จึง ไม่เหมาะสม กับการดัดแปลงเพื่อใช้ก๊าซ แต่ผมไม่เคยบอกแม้แต่ครั้งเดียวว่า ไม่สามารถทำได้ แต่อย่างใด เพราะการทำในวิธีการแรก (DDF) นั้นสามารถลดค่าเชื้อเพลิงลงไม่มากนักและไม่สะดวก ส่วนวิธีที่สองทำให้อายุเครื่องยนต์สั้นลงกว่าปกติมากจนไม่คุ้มค่าครับ
http://www.bangkokbiznews.com/2008/07/07/news_273417.php
|